ปลาสำลี (Black-banded kingfish) เป็นปลาทะเลขนาดใหญ่ที่ชอบอาศัยบริเวณกลางน้ำห่างจากชายฝั่ง พบได้ในทุกจังหวัดติดทะเลของไทย แต่พบมากในแถบจังหวัดระยอง และและประจวบคีรีขันธ์ นิยมนำมาประกอบอาหารทั้งในรูปปลาสด และแปรรูปเป็นปลาเค็ม
• วงศ์ : Carangidae
• อันดับ : Percomorphi
• สกุล : Zonichthys
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Seriolina nigrofasciata (Ruppell)
• ชื่อสามัญ :
– Black-banded trevally
– Black-banded kingfish
– Albacore
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาสำลี
– ปลาช่อลำดวน
ที่มา : (1)
การแพร่กระจาย
ปลาสำลี พบได้ทั่วไปในทะเลแถบประเทศเขตร้อนทั่วโลก แต่พบมากบริเวณเกาะปีนัง หมู่เกาะชะวา ทะเลในแถบมาดากัสการ์ หมู่เกาะประเทศฟิลิปปินส์ หมู่เกาะลังกา หมู่เกาะประเทศญี่ปุ่น แถบทะเลในประเทศจีน เกาหลี ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทยด้วย
ปลาสำลี เป็นปลาที่ชอบอาศัยบริเวณกลางน้ำห่างจากฝั่งในแถบทะเลที่ไม่ลึกนัก โดยเฉพาะบริเวณน้ำขุ่น ทั้งอาศัยแบบโดดๆหรืออาจรวมกันเป็นกลุ่ม โดยในประเทศไทยพบได้ทั้งในฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย และพบมากในจังหวัดระยอง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแถวเกาะสีชัง (1)
ลักษณะทั่วไป
ปลาสำลี มีลักษณะลำตัวยาว และแบนข้าง ปากมีขนาดใหญ่ จงอยปากทู่ ภายในมีฟันขนาดเล็กจำนวนมาก บริเวณปาก และลิ้นมีซี่กรอง 8-9 อัน ลำตัวนิ่ม มีเกล็ดกลมขนาดเล็กปกคลุม เกล็ดหลุดง่าย มีเกล็ดบริเวณหัว มีเส้นข้างลำตัวมีโค้ง และอยู่ในแนวค่อนไปข้างบนของลำตัว เส้นข้างลำตัวถอดยาวไปจนถึงโคนหาง และโค้งขึ้นเป็นสันนูน
ปลาสำลีวัยอ่อนจะมีหัวยาวเท่ากับความสูงของลำตัว ตามีขนาดใหญ่ และเล็กลงเมื่อโตเต็มวัย ส่วนปลาสำลีขนาดใหญ่จะมีหัวยาวเท่ากับ 2 ใน 3 ของความยาวลำตัว
ครีบปลาสำลีทุกอันมีลักษณะอ่อน ครีบหลังมี 2 ส่วน ครีบหลังอันแรกมีก้านครีบแข็งสั้น และอยู่ต่ำครีบหลังส่วนที่ 2 เป็นก้านครีบอ่อนเรียงเป็นแถว แต่ไม่ติดกับครีบหลังส่วนแรก ครีบอกค่อนข้างยาว ยาวประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวของหัว ส่วนครีบก้นเป็นครีบอ่อน โดยปลาสำลีขนาดเล็กจะมีก้านครีบแข็ง 2 อัน อยู่ด้านหน้าก้านครีบก้น และจะหายไปเมื่อมีขนาดลำตัวใหญ่ขึ้น ส่วนครีบหางจะเว้าลึก
ปลาสำลีมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเทาหรือเทาอมน้ำเงิน ส่วนกลางถึงท้องมีสีจางกว่าสีแถบหลัง ทั้งนี้ ลูกปลาสำลีที่มีขนาดเล็กจะมีแถบสีดำ 5-7 แถบ พาดขวางลำตัว และครีบหลังอันแรกจะมีสีดำ ส่วนครีบหางมีสีเหลืองอมเทา ส่วนครีบอื่นๆจะมีสีเทา
ปลาสำลี เป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีลำตัวยาวได้มากถึง 30-50 เซนติเมตร และเคยจับได้ที่ความยาวมากถึง 70 เซนติเมตร แต่ทั่วไปที่จับได้จะมีขนาดประมาณ 15-25 เซนติเมตร ขึ้นไป
อาหาร และการกินอาหาร
ปลาสำลี เป็นปลากินเนื้อ มีอาหารสำคัญเป็นปลา และลูกปลาขนาดเล็ก กุ้ง ปู และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ
การผสมพันธุ์ และวางไข่
ปลาสำลี มีการสืบพันธุ์แบบแยกเพศด้วยตัวเมีย และตัวผู้ โดยการฉีดไข่ และน้ำเชื้อออกมาผสมกันภายนอก ไข่ที่ผสมแล้วจะลอยตามกระแสน้ำไปเรื่อยจนฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งลูกปลาวัยอ่อนจะลอยน้ำปะปนกับสิ่งแขวนลอยในน้ำ และหากินแพลงก์ตอนจนเติบโต
ประโยชน์ปลาสำลี
1. ปลาสำลี มีลำตัวเรียวยาว เนื้อแน่น ไม่มีก้างแทรก มีรสมัน นิยมใช้ทำแกงส้ม ปลาสำลีทอด ปลาสำลีนึ่งซีอิ้ว เป็นต้น
2. ปลาสำลี นิยมแปรรูปเป็นปลาเค็ม ปลาตากแห้ง เป็นต้น
ขอบคุณภาพจาก daf.qld.gov.au/
เอกสารอ้างอิง
(1) ทองดี ปานเนียม, 2510, การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความยาวและน้ำหนัก-
ของปลาสำลี Seriolina nigrofasciata (Ruppell)-
ที่สุมตัวอย่างจากตลาดปลากรุงเทพฯในระหว่างเดือน-
มิถุนายน พ.ศ. 2509 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2509, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.