ปลาเทโพ และประโยชน์จากปลาเทโพ

47914

ปลาเทโพ (black ear catfish) เป็นปลาน้ำจืดที่ปัจจุบันเหลือน้อยลงมาก มักจับได้ตามแม่น้ำสายหลัก อาทิ แม่น้ำมูล แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง เป็นต้น ซึ่งพบการจับเพียงบางฤดูกาล และมีปริมาณน้อย ทำให้มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 80-150 บาท ทั้งนี้ ในบางจังหวัดมีการเลี้ยงปลาชนิดควบคู่กับการเลี้ยงปลาสวายหรือปล่อยเลี้ยงร่วมกับปลาอื่นๆ

การแพร่กระจาย
ปลาเทโพ พบอาศัยในแม่น้ำสายต่างๆ อาทิ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อาทิ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ นอกจากนี้ ยังพบแพร่กระจายอยู่ในแถบประเทศเพื่อบ้าน อาทิ ประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม เป็นต้น

• วงศ์ : Pangasiidae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pangasius larnaudii (Bocoust)
• ชื่อสามัญ : black ear catfish
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง
– ปลาเทโพ
ภาคเหนือ
– ปลาเต๊าะ
ภาคอีสาน
– ปลาหูหมาด
– ปลาปึ่ง

ที่มา : (2)

ลักษณะทั่วไป
ปลาเทโพ มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาสวาย คือ หัวมีขนาดใหญ่ และใหญ่กว่าปลาสวาย หัวมีรูปทรงแบนราบลงไปด้านหน้า มีซี่กรองเหงือกสั้น จำนวน 12-16 อัน ปากอยู่ค่อนไปด้านล่างของจะงอยปาก ริมฝีปากหนา และโค้ง ปากมีขนาดใหญ่ และอ้าได้กว้าง ฟันบนเพดานปาก มี 2 แถบ แต่ละแถบอยู่ห่างกัน และโค้งยาวตามเพดานปาก ลำตัวมีลักษณะป้อม พื้นลำตัวมีสีเทาคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างมีสีเทาจาง บริเวณท้องมีสีเงินอมชมพู และอูมใหญ่ และยาวได้มากกว่าร้อยละ 30 ของความยาวลำตัว ส่วนครีบก้นมีแถบสีคล้ำตามยาว ครีบหลัง ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้น มีปลายครีบยื่นเป็นริ้วยาว หางเว้าลึกเป็นแฉก หางมีแถบคล้ำทั้งตอนบน และตอนล่าง แถบครีบหางมี 28-32 แถบ และมีลักษณะเป็นฟันเลื่อย คล้ายกับปลาเทพา

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b9%82%e0%b8%9e

ข้อแตกต่างระหว่าปลาเทพกับปลาสวาย (1)
1. ปลาเทโพมีขนาดหัวที่ใหญ่กว่าปลาสวาย
2. ปลาเทโพมีบริเวณครีบอกเป็นจุดสีดำอย่างชัดเจน ขณะที่ปลาสวายไม่พบแต้มสีดำนี้
3. ปลาเทโพมีครีบหู และครีบท้องเป็นสีแดงสด ซึ่งแตกต่างกับปลาสวายอย่างชัดเจน
4. ปลาเทโพจะมีปลายครีบของครีบหลัง ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้น ยื่นเป็นริ้วยาว ส่วนปลาสวายจะไม่มีริ้วยาว
4. ปลาเทโพมีโครโมโซมเป็น 2n = 60 เท่ากัน แต่ต่างกันที่
– ปลาเทโพมีเมตาเซนตริก 12 คู่ ซับเมตาเซนตริก 10 คู่ ซับเทโลเซนตริก 2 คู่ อะโครเซนตริก 6 คู่ และมีแขนโครโมโซม เท่ากับ 104
– ปลาสวายมีเมตาเซนตริก 10 คู่ ซับเมตาเซนตริก 6 คู่ ซับเทโลเซนตริก 2 คู่ อะโครเซนตริก 12 คู่ และมีแขนโครโมโซม เท่ากับ 92

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b9%82%e0%b8%9e1

อาหาร และการกินอาหาร
ปลาเทโพ เป็นปลาที่กินทั้งพืช และสัตว์ รวมถึงซากเน่าเปื่อยต่างๆ แต่ขณะเป็นลูกปลาขนาดเล็กจะกินแมลงหรือสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร

การผสมพันธุ์ และวางไข่
ปลาเทโพที่อาศัยในแม่น้ำ จะมีการอพยพจากท้ายน้ำขึ้นไปผสมพันธุ์ และวางไข่บริเวณต้นน้ำ ซึ่งจะเริ่มว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม หรือช่วงที่มีน้ำหลาก หลังจากนั้น จะวางไข่ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ในบริเวณต้นน้ำ

ไข่ปลาเทโพมีลักษณะกลม สีเหลืองอ่อน ขนาดไข่ประมาณ 1.23 มิลลิเมตร ไข่ที่ถูกฉีดออกมา และผสมกับน้ำเชื้อแล้วจะจมลงสู่พื้นท้องน้ำ เป็นไข่ชนิดจมติดกับวัสดุ และฟักภายใน 1 วัน หลังจากนั้น จะใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน สำหรับกินอาหาร และเติบโตจนมีลักษณะเหมือนกับปลาเทโพตัวเต็มวัย (2)

ประโยชน์ปลาเทโพ
1. ปลาเทโพมีลำตัวเรียวยาว เนื้อมีสีชมพูใส คล้ายเนื้อปลาสวาย เนื้อไม่มีก้างแทรก มีรสมัน นิยมใช้ทำต้มยำ ห่อหมก และ แกงป่า เป็นต้น รวมถึงแปรรูปเป็นปลาร้า และปลาเค็ม
2. ปลาเทโพ ใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื่องจากหายากมากขึ้นทุกวัน

%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b9%82%e0%b8%9e

ขอบคุณภาพจาก Pantip.com, BlogGang.com, fisheries.go.th/

เอกสารอ้างอิง
(1) วิเชียร มากตุ่น และธวัช ดอนสกุล, 2531, คาริโอไทพ์ของปลาเทโพและปลาสวาย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
(2) จิตราภรณ์ ฟองอิสสระ, 2550, ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาเทโพ-
(Pangasius larnaudii) ในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.