ม้าน้ำ ปลาที่หน้าตาเหมือนม้า

8667
ม้าน้ำตัวเมีย

ม้าน้ำ เป็นปลาทะเลกระดูกแข็ง แต่มีรูปร่างที่ไม่เหมือนปลา นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากในแถบอเมริกา และยุโรป ส่วนในแถบเอเชียมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามบ้าง แต่ไม่นิยมนัก แต่นิยมจับมาตากแห้งเพื่อใช้ปรุงอาหารหรือใช้เป็นส่วนผสมของยาจีน

ม้าน้ำเป็นที่รู้จักของชาวประมง และนักเดินเรือมาช้านาน โดยเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่เป็นลูกหลานของม้าที่มาจากดาวเนปจูน ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล โดยมีตั้งชื่อสกุลว่า Hippocampus ในภาษากรีก ที่แปลว่า ม้า หรือ สัตว์ประหลาด

อนุกรมวิธาน
Kingdom : Animalia
Phylum : Chordata
Class : Osteichthyes
Order : Gasterosteiformes
Family : Syngnathidae
Genus : Hippocampus

ลักษณะทั่วไป
ม้าน้ำประกอบด้วยส่วนหัว ลำตัว และหาง โดยส่วนหัวมีลักษณะนูนเป็นมงกุฎหรือเป็นตุ่มหนาม ส่วนปากมีลักษณะยื่นยาว โคนปากใหญ่ และค่อยเล็กลงเล็กน้อย จนถึงส่วนปลายที่มีลักษณะโค้งขึ้น ส่วนดวงตาจะอยู่ใต้มงกุฎ ดวงตากลมโต และโปนออกมาเล็กน้อย ทำให้เหลือบมองได้รอบทิศทาง โดยตาขวาอาจเหลือบมองด้านบน แต่ตาซ้ายอาจเหลือบมองด้านล่างได้ ถัดมาจะเป็นเหงือกที่เรียงตัวเป็นกระจุกอยู่ถัดจากดวงตา และใต้มงกุฎ ถัดมาก่อนถึงลำตัวจะเป็นครีบหู 1 ครีบ คนละข้าง

ม้าน้ำตัวเมีย
ม้าน้ำตัวเมีย

ส่วนลำตัวมีเกล็ดที่เปลี่ยนเป็นแผ่นกระดูกแข็งหุ้มทั่วลำตัว ผิวลำตัวมีลักษณะขรุขระ ผิวลำตัวมีสีหลายสีตามชนิด และสามารถเปลี่ยนสีได้ตามสภาพแวดล้อม และม้าน้ำบางชนิดมีหนามบนลำตัวหรือมีหนาวกลายเป็นก้านยื่นยาวคล้ายใบไม้ เช่น ม้าน้ำมังกร ส่วนบริเวณสันลำตัวมีครีบหลัง 1 ครีบ มีก้านครีบจำนวนมาก และมีเฉพาะก้านครีบอ่อน ส่วนหน้าท้องมีลักษณะเป็นลูกคลื่นที่เป็นวงแหวนเรียงกันห่างๆเรื่อยมาจนก่อนถึงหน้าท้อง ซึ่งจะมีครีบก้น 1 ครีบ ถัดมาเป็นหน้าท้องที่มีช่องเปิดสำหรับบรรจุไข่ และถัดมาเป็นส่วนหางที่มีลักษณะเป็นข้อปล้องเรียงกันถี่ มีโคนหางใหญ่ และค่อยเรียวเล็ก ส่วนปลายหางม้วนงอ หางมีลักษณะแข็งแรงที่ทำหน้าที่จับเกาะ และช่วยทรงตัว รวมถึงใช้เป็นหางเสือคล้ายกับครีบปลาทั่วไป

การแยกเพศ
ม้าน้ำเพศผู้จะมีถุงหน้าท้องที่พองออกได้ ซึ่งจะใช้สำหรับรองรับไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว ส่วนเพศเมียจะไม่มีหน้าท้องพองโต แต่จะมีหน้าท้องยุบเว้าลง

ม้าน้ำตัวผู้
ม้าน้ำตัวผู้

การแพร่กระจาย
ม้าน้ำเป็นสัตว์ทะเลที่พบได้ทั่วโลก และพบชุกชุมมากในแถบเส้นศูนย์สูตรตั้งแต่เอสเตเลีย อินโดเนียเชีย และขึ้นไปทางเหนือจนถึงประเทศญี่ปุ่น และพบต่อเนื่องมาที่มาเลียเชีย ไทย พม่า อินเดีย แอฟริกาตะวันออก แอฟริกาตะวันตก ต่อไปจนถึงประเทศรอยต่อระหว่างอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ส่วนในแถบที่สูงหรือต่ำจากเส้นศูนย์สูตรมักไม่พบ

ส่วนประเทศไทย พบม้าน้ำประมาณ 5 ชนิด ได้แก่
– H. abdominalis
– H. trirnaculatus
– H. histrix
– H. spinossissio
– H. kuda

ส่วนประเทศจีนจะพบหลายชนิด แต่จะพบมาก คือ H. kuda ส่วนชนิดที่นิยมเลี้ยงมากในสหรัฐอเมริกา และยุโรป คือ H. hudsonius ซึ่งเป็นม้าน้ำขนาดใหญ่ มีลำตัวยาวถึง 20 ซม. และอีกชนิดหนึ่ง คือ H. zosterae ซึ่งเป็นม้าน้ำแคระ มีลำตัวยาวเพียง 2.5-5 ซม.

แหล่งอาศัย
ม้าน้ำมีทั้งชนิดที่อาศัยบริเวณน้ำตื้น และชนิดที่อาศัยบริเวณน้ำลึก โดยม้าน้ำที่อาศัยบริเวณน้ำตื้นจะชอบเกาะตามหลักไม้ เสาโป๊ะ หรือ โพงพาง เป็นต้น ส่วนม้าน้ำที่อาศัยบริเวณน้ำลึกจะชอบเกาะตามโขดหิน ปะการัง กัลปังหา และสาหร่าย

การว่ายน้ำ และการกินอาหาร
ม้าน้ำจะว่ายน้ำด้วยการใช้ครีบหลังโบกสะบัดไปมา สำหรับให้ลำตัวเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และมีครีบข้างลำตัว 1 คู่ ใช้ทำหน้าที่พยุงลำตัวให้ตั้งตรง และลอยน้ำ ขณะลอยนิ่งจะทรงตัวในแนวดิ่ง ซึ่งแตกต่างจากปลาทั่วไปที่ลอยตัวในแนวขนานกับพื้นโลก รวมถึงการว่ายน้ำจะว่ายในแนวดิ่งด้วยเช่นกัน โดยใช้ครีบหลังโบกพัดให้เคลื่อนที่ และใช้ส่วนหัว และหางเป็นหางเสือ

อาหารที่สำคัญของม้าน้ำจะเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ เช่น เคอย รวมถึง ลูกปลาขนาดเล็ก ไรน้ำเค็ม และลูกกุ้งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะลูกกุ้งแฉบ๊วย และการกินอาหารนั้นจะใช้ปากที่ยื่นยาวเข้าดูดเหยื่อเข้าในปากอย่างรวดเร็ว

การผสมพันธุ์
โดยทั่วไป ม้าน้ำจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่อมีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นปี และมีขนาดลำตัวประมาณ 12-14 ซม. แต่ม้าน้ำในบางแห่ง เช่น ในแถบทะเลประเทศจีนสามารถเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุเพียง 100 วัน

ม้าน้ำเพศผู้เมื่อถุงช่วงผสมพันธุ์ และหากต้องการผสมพันธุ์กับม้าน้ำเพศเมียจะมีอาการก้าวร้าว และมักต่อสู้กันกับม้าน้ำเพศผู้ตัวอื่นๆเพื่อแย่งผสมพันธุ์ แต่มักจะตื่นตกใจง่ายกว่าปกติ

เมื่อเพศผู้ต้องการที่จะผสมพันธุ์ก็จะว่ายน้ำเข้าใกล้ และคอยตามเพศเมีย พร้อมกับสั่นลำตัว และกระพือครีบหางอย่างรวดเร็วที่แสดงถึงพละกำลังเพื่อดึงดูดความสนใจของเพศเมีย หากตัวเมียก็จะแสดงออกด้วยการเปลี่ยนสีหน้าท้องที่อูมเป่งให้มีสีชมพู และจะเกาะกับปะการังหรือสาหร่ายอยู่นิ่งๆ เพื่อให้ตัวผู้เข้าใช้หางรัดลำตัว แต่การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นจริง เมื่อตัวเมียว่ายน้ำออกไปกลางน้ำ แล้วตัวผู้จะว่ายตาม พร้อมหันหน้าท้องชนกัน และตัวผู้จะเปิดหน้าท้องออก แล้วตัวเมียจะค่อยๆเทไข่ใส่ลงถุงหน้าท้องตัวผู้ผ่านท่อนำไข่ที่หย่อนลงถุง ขณะที่ไข่เทลงถุง ตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และเคลื่อนตัวส่ายไปมา เพื่อให้ไข่ตกลงสู่รกด้านล่าง

ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ ในการฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำเป็นสำคัญ เช่น ที่อุณหภูมิ 25 องศา จะใช้เวลาฟักประมาณ 14 วัน แต่หากอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศา ไข่จะไม่ฟักเป็นตัวหรือหากฟักออกมาก็จะไม่แข็งแรง และตายในไม่นาน ซึ่งในบางครั้งที่มีลูกม้าน้ำตายในท้องจำนวนมากจนทำให้พ่อม้าน้ำตายตามไปด้วย ทั้งนี้ อัตราการฟักเป็นตัวของไข่จะประมาณ 150-800 ตัว/ครั้ง

ประโยชน์ของม้าน้ำ
1. ม้าน้ำตากแห้งนิยมนำมาปรุงอาหารหรือใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยา โดยเฉพาะคนจีนที่นิยมรับประทาน และใช้ทำยาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อว่าเป็นยาชูกำลัง และยาอายุวัฒนะ
2. ม้าน้ำเป็นปลาที่มีรูปร่างแปลก และบางสายพันธุ์มีสีสันสวยงาม ทำให้นิยมเลี้ยงอย่างมากในแถบอเมริกา และยุโรป ซึ่งประเทศในแถบเอเชียจะเป็นผู้ส่งออกเป็นแหล่งสำคัญ
3. ม้าน้ำตากแห้งแล้ว สามารถนำมาทำเครื่องตกแต่ง เช่น ม้าน้ำตั้งโชว์ ส่วนม้าน้ำขนาดเล็กนิยมใช้ทำพวงกุญแจ

ม้าน้ำตากแห้ง

การเลี้ยงม้าน้ำ
น้ำที่ใช้เลี้ยงม้าน้ำ อาจใช้น้ำทะเลจริงหรือใช้น้ำทะเลเทียมที่ได้จากการผสมเกลือทะเลกับน้ำจืด ซึ่งต้องให้มีความเค็มประมาณ 30 ppm และควรให้มีอุณหภูมิในช่วง 26-30 องศา ไม่ควรสูงกว่า 32 องศา หรือต่ำกว่า 15 องศา ส่วนอาหารม้าน้ำนั้น อาจใช้ลูกปลาสดหรือลูกกุ้งสด รวมถึงเคอยแห้งก็ได้ ระยะเวลาให้ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

สำหรับการเลี้ยงม้าน้ำมีความจำเป็นต้องมีการหมุนเวียนน้ำในบ่อหรือตู้กระจก เพื่อรักษาอุณหภูมิ และช่วยกรองกำจัดสิ่งสกปรก ด้วยการติดตั้งปั้มกรองน้ำขนาดเล็ก นอกจากนั้น ควรติดตั้งเครื่องเติมอากาศ และเปิดปิดให้อากาศเป็นระยะ รวมถึงให้จัดสภาพแวดล้อมด้วยการใส่สาหร่ายหรือปะการังเทียมร่วมด้วย