ปลาทู

9688

ปลาทู จัดเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยมาช้านาน เนื่องจากเป็นปลาทะเลที่สามารถจับได้มากในประเทศไทย มีราคาถูก คนทั่วไปสามารถหาซื้อรับประทานได้ง่าย และเป็นปลาที่มีรสชาตอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจากนั้น ปลาทูยังเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญของชาวประมงในแถบพื้นที่ติดทะเลที่มีการจับ เพื่อหน่ายในประเทศ และต่างประเทศ สร้างรายได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี

ปลา ทูเป็นปลาผิวน้ำ อาศัยในบริเวณน้ำตื้น โดยเฉพาะเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะอาศัยในระดับน้ำลึกที่เครื่องมือประมงจับได้ยาก ทำให้ชาวประมงส่วนใหญ่ออกจับปลาทูในเวลากลางคืนเท่านั้น โดยใช้เครื่องมือประมงหลัก คือ อวนล้อม และอวนดำ

แหล่งอาศัยของปลาทู ที่เป็นแหล่งประมงสำคัญในประเทศไทยพบมากในอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามันแถบอ่าวพังงา  แต่พบมากที่สุดในอ่าวไทย ซึ่งสามารถจับได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ที่มีแหล่งอาหารของปลาทูอย่างอุดมสมบูรณ์  (ชลิต, 2549)(1)

ประโยชน์ทางโภชนาการ
ปลาทูจัดเป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนสูง และประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายชนิด โดยเฉพาะโอเมก้า 3 ที่พบมากเป็นพิเศษ ทำให้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด ช่วยลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด

ชนิดปลาทู
ปลาทูที่จับได้ในอ่าวไทย แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ (ธัญญารัตน์, 2545)(2)
1. ปลาทูตัวสั้น
– ชื่อสามัญ : Short-bodied mackerel
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Restrelliger brachysoma

2. ปลาทู
– ชื่อสามัญ : Indo-Pacific mackerel หรือ Indo-Pacific chub mackerel
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Restrelliger neglectus

Indo-Pacific-Mackerel

3. ปลาลัง
– ชื่อสามัญ : Indian mackerel
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Restrelliger kanagurtu

Indian-Mackerel

4. ปลาทูปากจิ้งจก
– ชื่อสามัญ : Faughn’s mackerel
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Restrelliger faughni

Faughn's -mackerel

ชนิดของปลาทูสั้น และปลาทู มีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม รวมถึงชาวประมงในท้องถิ่นของทุกประเทศจัดให้เป็นปลาทูชนิดเดียวกัน โดยให้ชื่อสามัญที่นิยมเรียกว่า Indo-Pacific mackerel หรือ Indo-Pacific chub mackerel จัดเป็นชนิดปลาทูที่พบ และทำการประมงมากที่สุดในแถบเอเชียอาคเนย์

ปลาลังมีความคล้ายกันกับปลาทูมาก จึงทำให้ในบางท้องที่ในภาคใต้ของไทยมีความเข้าใจว่าปลาทู และปลาลัง เป็นปลาชนิดเดียวกัน โดยเรียกรวมให้ชื่อว่า ปลาลัง แต่กรมประมงได้ศึกษา และจัดจำแนกความแตกต่างของปลาทู และปลาลังไว้ดังนี้
1. ปลาทูมีลำตัวกว้างมากกว่าปลาลัง
2. ความกว้างที่สุดของลำตัวปลาทูมีความยาวใกล้เคียงกับความยาวของส่วนหัว ส่วนปลาลังมีความกว้างของลำตัวน้อยกว่าความยาวของส่วนหัว
3. ปลายจมูกของปลาทูมีลักษณะกลมทู่ และสั้น ส่วนปลาลังมีลักษณะยื่นแหลม
4. ปลาลังมีขนาดลูกตาใหญ่กว่าปลาทู
5. ปลาทูมีจุดสีดำบริเวณใต้ฐานครีบหลัง ส่วนปลาลัง 12-14 จุด ส่วนปลาลังจะมี 16 จุด
6. เมื่อจับขึ้นจากน้ำใหม่ ปลาลังจะมีแถบสีน้ำตาลหรือสีเหลืองพาดตามความยาวของลำตัวส่วนบน 4-5 เส้น เมื่อปลาตาย และทิ้งไว้นานแถบสีเหล่านี้จะซีดหายไป ส่วนปลาทูจะมีแถบสีชมพูเรื่อๆพาดผ่านตามความยาวของลำตัว
7. ปลาทูมีนิสัยชอบหากินอาหารบริเวณใกล้ฝั่ง ส่วนปลาลังจะหากินห่างจากฝั่ง
8. อาหารของปลาทูจะเป็นแพลงก์ตอนพืช ส่วนอาหารปลาลังจะเป็นแพลงก์ตอนสัตว์

ลักษณะทั่วไปของปลาทู
ปลาทูมีลักษณะลำตัวเพรียวแบบกระสวย ลำตัวแบนข้าง ปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กละเอียดจำนวนมาก เกล็ดบริเวณอกมีขนาดใหญ่กว่าบริเวณอื่น ม่านตาเป็นเยื่อไขมัน ปากมีขากรรไกรที่ประกอบด้วยฟันซี่ขนาดเล็กจำนวนมาก ซี่เหงือกมีลักษณะยาว เมื่อจับอ้าปากจะมองเห็นซี่เหงือกที่แผ่ออกคล้ายแผงขนนก ครีบประกอบด้วยครีบหลัง 2 อัน ครีบหลังอันแรกเป็นก้านแข็ง อันถัดมาเป็นก้านครีบอ่อนเหมือนครีบอื่นๆ ยกเว้นครีบท้องที่มีก้านครีบแข็ง 1 อัน โดยด้านหลังมีก้านครีบฝอย 5-6 อัน ครีบหลัง และครีบก้นจรดกันที่โคนหาง ส่วนครีบอกมีฐานครีบกว้างปลายครีบเรียว

วงจรชีวิต และกาวางไข่
ปลาทูเป็นปลาที่วางไข่ตลอดทั้งปี ทำให้ชาวประมงสามารถจับได้ตลอดทั้งปี ปลาทูสายแรกในแถบจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี เรียกว่า ปลาทูสายตะวันตก ถือเป็นแหล่งประมงปลาทูสำคัญของประเทศ ส่วนอีกสายจะอยู่บริเวณภาคตะวันออกแถบจังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เรียกว่า สายตะวันออก โดยปลาทูจะมีการวางไข่มากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม โดยปลาทูสายตะวันตกบริเวณปากอ่าวไทยจะว่ายน้ำลงไปวางไข่บริเวณนอกฝั่งแถบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร  และสุราษธานี และจะกลับขึ้นมามาหากินอีกครั้งบริเวณปากอ่าวไทยในเขตพื้นที่ดังกล่าว (ชลิต, 2549)(1) ส่วนปลาทูสายตะวันออกจะว่ายน้ำไปวางๆไข่บริเวณเกาะช้างหรือเกาะกง

ปลา ทูขนาดเล็กที่ออกหาอาหารบริเวณใกล้ฝั่งจนตัวเต็มวัยถึงวัยผสมพันธุ์จะเดิน ทางกลับสู่แหล่งเกิดที่เป็นแหล่งวางไข่ เพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่ตามฤดูกาล โดยตัวเมียจะมีไข่เต็มท้อง และตัวผู้จะมีปริมาณอสุจิที่พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์

แม่ ปลาทูจะว่ายลงลึกวางไข่บริเวณท้องทะเลที่ความลึกประมาณ 20 เมตร เมื่อตัวเมียวางไข่เสร็จ ตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ทันที หลังจากนั้น ไข่จะลอยไปตามกระแสน้ำ และฟักตัวออกเป็นตัวอ่อนในระยะเวลา 10 วัน หลังการวางไข่

ปลาทูเมื่อแรกเกิดจะมีถุง อาหารพองเป็นอาหารสำรองประมาณ 3-5 วัน และจะเริมกินอาหารเมื่อถุงอาหารเริ่มยุบตัว ซึ่งระยะนี้จะมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โดยการหาอาหารของลูกปลาจะว่ายเข้ารวมกลุ่มกันเป็นฝูง  และหาอาหารบริเวณผิวน้ำตื้นบริเวณชายฝั่งของปลาทูทั้ง 2 สาย ที่มีสาหร่าย ปะการังหรือแนวกำบัง ในระยะการหาอาหารนี้ปลาทูจะมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร

ปลาทูในระยะแรกจะมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว เมื่ออายุได้ประมาณ 3 เดือน จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร และเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน จะมีลำตัวยาวประมาณ 14-16 เซนติเมตร และอายุประมาณ 6-7 เดือน จะมีลำตัวยาวประมาณ 18-20 เซนติเมตร และจะเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ และวางไข่อีกครั้ง โดยจะเดินทางลงด้านใต้ที่เป็นแหล่งวางไข่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และวางไข่ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม โดยปลาทู 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 7 ครั้ง/ปี แม่ปลาทู 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 20,000 ฟอง  แหล่งวางไข่ขนาดใหญ่อยู่บริเวณหาดแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์, อ.เมือง และ อ.หลังสวน จ.ชุมพร และเกาะสมุย เกาะพงัน จ.สุราษธานี

การจับ และการประมง
การทำประมงปลาทู ชาวประมงจะหลีกเลี่ยงการจับในช่วงฤดูมรสุม ได้แก่ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม ซึ่งชาวประมงจะออกจับในวันที่ไม่มีพายุ และฝนตกหนัก (ธัญญารัตน์, 2545)(2)

เครื่องมือประมงปลาทู (สมศักดิ์, 2509)(3)
เครื่องจำปลาทูที่มีการใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่
1. โป๊ะ
เป็นเครื่องมือจับปลาทูแบบติดประจำที่ ประกอบจากไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ โดยการปักเสาไม้เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เมตร แล้วล้อมด้วยเผือกให้แน่นหนา บริเวณปากโป๊ะจะทำการปักปีก หันหน้ารับกระแสน้ำ ปีกมีทั้งหมด 5 ปีก ปีกกลาง และปีกใหญ่เป็นปีกที่ยาวที่สุด บางโป๊ะอาจมีความยาวมากกว่า 500-1000 เมตร

การจับด้วยโป๊ะจะทำในวันที่น้ำลง และน้ำขึ้นเต็มที่ โดยใช้อวนโป๊ะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 30-300 เมตร ลึก 8-22 เมตร ที่มีทั้งตาห่าง และตาถี่ หลังจากนั้นจะใช้เรือแล่นเข้าในโป๊ะ แล้วสวมอวนด้านหนึ่งแล่นรอบโป๊ะ และไล่อวนเก็บเพื่อจับปลา

2. อวนตังเก
เป็นเครื่องมือจับปลาแบบเคลื่อนที่ประเภทอวนล้อม เริ่มมีใช้ในช่วงปี 2470-2480 โดยชาวประมงจีน และญี่ปุ่น นำเข้ามาจับปลาในประเทศไทย และเริ่มใช้แพร่หลายในชาวประมงไทยในช่วงปี 2480-2500 ถือเป็นเครื่องมือที่จับปลาทูได้ครั้งละจำนวนมาก

อวนตังเกมีลักษณะเป็นผืนอวน มีทั้งตาถี่ และตาห่าง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 220-250 เมตร อวนลึก 10-50 เมตร โดยใช้เรือ 2 ลำ ในการลากอวน โดยไต้ก๋งจะเป็นผู้มองหาฝูงปลาทู และจะหยุดเรือเพื่อสังเกตทิศทางการว่ายน้ำของปลาทูที่แน่นอน ก่อนใช้เรือทั้ง 2 ลำ วิ่งลากอวนล้อม และกั้นทิศทางการว่ายของปลา แล้งจึงนำเรือมาบรรจบกันเป็นรูปวงกลม ก่อนที่จะนำปลายอวนร้อยเข้ากับรอก และชักสายปิดปากอวนให้ปลาทูรวมกันที่ถุงอวน และยกอวนขึ้นเรือ

3. อวนฉลอมหรืออวนดำ
เป็นเครื่องมือแบบเคลื่อนที่ประเภทอวนล้อม พบมากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย นิยมเรียกว่า อวนฉลอม บางพื้นที่ เช่น สมุทรปราการ เรียกว่า อวนดำ ถือเป็นอวนจับปลาที่มีลักษณะคล้ายกับอวนตังเกมาก แต่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย และใช้เรือเพียงลำเดียวในการลากอวน  อวนชนิดนี้สามารถใช้ได้ที่ความลึก 6-30 เมตร

การจับจะจับในคืนเดือนมืดช่วงแรม 3 ค่ำ – ขึ้น 12 ค่ำ เพื่อให้สังเกตประกายของฝูงปลาในน้ำได้ง่าย การจับชาวประมงจะใช้แพไฟผูกติดกับอวนข้างหนึ่งไว้กับที่ แล้วใช้เรือแล่นทิ้งอวนล้อมรอบฝูงปลา ก่อนชักเชือกปิดอวนให้ปลารวมกันที่ถุงอวน และยกขึ้นเรือ

4. อวนติด
เป็นอวนจับปลาที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีความยาวประมาณ 120-200 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร ตาอวนที่ 4.7-5.2 เซนติเมตร ด้านบนมีทุ่นลอยติดให้อวนลอยน้ำ

การจับ ชาวประมงจะใช้เรือแจววิ่งหาฝูงปลา และวางแนวทุ่นอวนล้อมรอบฝูงปลาเพื่อกั้นทิศที่ปลาว่ายน้ำ ขณะล้อมอวนชาวประมงจะใช้ไม้กระทุ่มน้ำเพื่อให้ปลาวิ่งเข้าติดตาอวน ก่อนจะสาวอวนขึ้นเรือเพื่อปลดปลา

เอกสารอ้างอิง
Untitled