ปลาทอง และการเลี้ยงปลาทอง

18164

ปลาทอง  (Carassius auratus) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และญี่ปุ่น ถูกนำไปเลี้ยงในยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 17 และในอเมริกา ในศตวรรษที่ 19  ปลาทองพันธุ์ดั้งเดิมมีลักษณะคล้ายปลาไน (Cyprinus carpio) มีลำตัวยาว และแบนข้าง หัวสั้นกว้าง หางสั้นเหมือนปลาไน จนมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะเด่นที่สวยงามมากขึ้น

ปลาทอง เป็นปลาที่อดทน กินอาหารได้เกือบทุกชนิด แพร่พันธุ์ได้เร็ว มีสีหลากหลายตั้งแต่สีแดง สีทอง สีส้ม สีเทา สีดำ และสีขาว หรือมีหลากหลายสีในตัวเดียวกัน เป็นปลาสวยงามที่มีขนาดพอเหมาะกับการเลี้ยงในภาชนะแคบ ๆ เช่น ตู้กระจกหรือบ่อขนาดเล็กได้ จึงได้มีผู้พยายามผสมพันธุ์ และคัดพันธุ์ปลาทองจนได้ลูกปลาที่มีลักษณะแปลก ๆ สีสวย ๆ

อนุกรมวิธาน
Phylum: Chordata
Subphylum: Vertebrata (Craniata)
Superclass: Gnathostomata
Division: Teleostei
Subdivision: Euteleostei
Superorder: Ostariophysi
Order: Cypriniformes
Family: Cyprinidae
Genus: Carassius
Species: auratus

ปลาทอง

ลักษณะทั่วไป
1. หัว เริ่มตั้งแต่ปากจนถึงเหงือก ประกอบด้วย
1.1 ตา แบ่งเป็น 4 แบบ คือ
– ตาปกติ ได้แก่ ปลาทองธรรมดา ปลาทองโคเมท ปลาทองริวกิ้น ปลาทองออแรนดา และปลาทองเกร็ดแก้ว เป็นต้น
– ตาโปนด้านข้าง ได้แก่ ปลาทองตาโปนต่างๆ และปลาทองเล่ห์
– ตาหงายขึ้นด้านบน ได้แก่ ปลาทองตากลับ
– ตามีขอบโป่งพองคล้ายถุงน้ำด้านข้าง ได้แก่ ปลาทองตาลูกโป่ง

1.2 ปาก ทำหน้าที่กินอาหาร และส่งอาหารเข้าสู่กระเพาะ

1.3 จมูก อยู่บริเวณเหนือริมฝีปากขึ้นมาเล็กน้อย มีรูป 2 รู สำหรับดมกลิ่นอาหารไม่ใช่สำหรับการหายใจ บางพันธุ์รูจมูกมีลักษณะเป็นเยื่อยื่นออกมา เช่น ปลาทองปอมปอน

1.4 เหงือก เป็นแผ่นกระดูกอยู่บริเวณแก้ม ทำหน้าที่กรองออกซิเจนเข้าสู่ระบบกระแสเลือด มีแผ่นปิดเหงือกป้องกันอันตรายต่อเหงือก

1.5 วุ้นหรือโหนก เป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะกลมคล้ายฟองสบู่ อยู่บริเวณด้านบนของหัว เป็นก้อนเนื้อเยื่อที่ประกอบด้วยชั้นไขมันหนารวมกัน พบในปลาทองบางชนิด มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่
– โหนกคล้ายหัวเรือ พบในปลาทองพันธุ์วากิง พันธุ์ริวกิ้น
– โหนกกลมรี พบในปลาทองพันธุ์ออแรนดาหัววุ้น
– โหนกทรงกลมครึ่งเหรียญ พบในปลาทองพันธุ์หัวสิงห์

2. ลำตัว เริ่มตั้งแต่แผ่นปิดเหงือกจนถึงโคนครีบหาง ประกอบด้วย
2.1 เกล็ด เป็นแผ่นบางใส เรียงซ้อนกันบนผิวหนัง ทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายในลำตัว และป้องกันการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ส่วนที่ผิวเกล็ดปกคลุมด้วยเมือกใส เหนียว ที่ขับออกมากจากต่อมใต้ผิวหนัง ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันโรค และลดการเสียดสีของลำตัวกับวัสดุหรือปลาตัวอื่น ขณะว่ายน้ำหรือเคลื่อนที่

2.2 ครีบอกหรือครีบหู เป็นครีบคู่ ตั้งอยู่บริเวณกระพุ้งแก้มหลังแผ่นเหงือกข้างละคู่ ทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่ขึ้น-ลง หรือทรงตัวอยู่กับที่

2.3 ครีบท้อง เป็นครีบคู่ บริเวณท้องถัดจากครีบอกไปทางด้านหลังเล็กน้อย ทำหน้าที่เหมือนกับครีบอก

2.4 ครีบก้น พบมากเป็นครีบเดี่ยวหรือมีครีบเดียว บางชนิดมีรูปร่างคล้ายตัว V เป็นแฉกแยกออกมา หรือบางชนิดเป็น 2 ครีบ ตั้งอยู่บริเวณส่วนด้านล่างสุดของลำตัว ถัดจากครีบหลังไปทางด้านหน้าเล็กน้อย ใกล้บริเวณรูทวารหนัก ทำหน้าที่ช่วยการทรงตัว

2.5 ครีบหลัง ทำหน้าที่ช่วยให้การเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่แน่นอน และรวดเร็วขึ้น เหมือนหางเสือ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
– ครีบหลังแบบเสากระโดงเรือ ตั้งอยู่กลางลำตัว เช่น ปลาทองธรรมดา ปลาทองโคเมท ปลาทองชูบุงกิ เป็นต้น
– ครีบหลังแบบยาว เช่น ปลาทองริวกิ้น และปลาทองออแรนดาหัววุ้น เป็นต้น
– แบบไม่มีครีบหลัง เช่น ปลาทองตาโปน ปลาทองตากลับ ปลาทองหัวสิงห์โต และปลาทองตาลูกโป่ง

3. หาง เริ่มตั่งแต่โคนหางถึงปลายหาง เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ให้ปลาเคลื่อนไปข้างหน้าเหมือนใบพัดเรือ รวมถึงการบังคับเลี้ยว การทรงตัว ถือเป็นอวัยวะส่วนที่ดึงดูดให้ผู้เลี้ยงชื่นชอบ แบ่งลักษณะหางออกเป็น 6 แบบ คือ
– หางซิวสั้น มีลักษณะส่วนปลายหางแยกออกเป็น 2 แฉก มีขนาดสั้น เช่น ปลาทองธรรมดา
– หางซิวยาว มีลักษณะส่วนปลายหางแยกออกเป็น 2 แฉก มีขนาดยาว และแฉกเว้าลึก เช่น ปลาโคเมท ปลาทองชูบุงกิ เป็นต้น
– หาง 3 แฉก มีลักษณะหางด้านบนติดกันเป็นแฉกที่ 1 ส่วนหางด้านล่างแยกเป็น 2 แฉก
– หางดอกซากุระ มีลักษณะหางแยกเป็น 4 แฉก แยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด
– หางนกยูง มีลักษณะเหมือนหางแบบซากุระ แยกออกเป็น 4 แฉก ปลายครีบหางแผ่ตั้งคล้ายหางนกยูง เช่น ปลาทองยิคิง
– หางกลับ มีลักษณะครีบหางด้านบนห้อยลงมากลับกับครีบหางด้านล่าง

พันธุ์ปลาทอง
แบ่งตามลักษณะลำตัวแบน
1. ปลาทองธรรมดา (Common Goldfish) เป็นปลาทองทั่วไปที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีสีเขียว สีส้ม สีทอง และสีขาว และอาจมีจุดหรือลายสีดำ ลำตัวยาว แบน

2. ปลาทองโคเมท (Comet Goldfish) เป็นปลาทองที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลาทอง Common Goldfish มีลักษณะครีบหางยาวเรียว และบางตัวอาจยาวมากกว่าสามส่วนสี่หรือหนึ่งเท่าของความยาวลำตัวเลยทีเดียว ลำตัวมีสีส้ม สีขาวเงิน และสีเหลือง เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เร็วเนื่องจากมีเครีบหางที่ยาว

3. ปลาทองชูบุงกิ (Shubunkin Goldfish) เป็นสายพันธุ์ปลาทองที่มีกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ลำตัวเรียวยาวคล้ายปลาทองธรรมดา แต่มีครีบยาวกว่า ปลายหางกลมมน ลำตัวมีสีส้ม สีแดง สีขาว และสีผสมของที่กล่าวมา

4. ปลาทองวากิง (Wakin Goldfish) เป็นสายพันธุ์ปลาทองที่มีกำเนิดในประเทศจีน ลำตัวแบนยาว มีครีบหางเป็นคู่ ลำตัวมีสีแดงสดหรือ สีขาว

แบ่งตามลักษณะลำตัวกลมหรือรูปไข่
1. ปลาทองริวกิ้น (Ryukin Goldfish)
ลำตัวด้านข้างดูกว้าง สั้น ท้องอ้วนกลม มีโหนกหลังสูง ครีบหลังตั้งขึ้นมีขนาดใหญ่ยาว ครีบหางยาว เว้าลึก เกล็ดลำตัวหนาแข็ง สีลำตัวพบมากมี 4 สี มีสีแดง ขาว ขาวแดง และส้ม และอาจมีสีอื่น เช่น สีส้ม ดำ ขาว และฟ้า

2. ปลาทองพันธุ์ออแรนดา (Oranda Goldfish)
เป็นปลาทองสายพันธุ์ผสมระหว่างปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ และริวกิ้น ลำตัวคล้ายรูปไข่หรือรูปรี ส่วนท้องไม่ป่องมาก ครีบยาวใหญ่ โดยเฉพาะครีบหางที่ยาวห้อยสวยงาม แบ่งย่อยเป็น
– ออแรนดาธรรมดา
มีลำตัวยาวรี หัวไม่มีวุ้น ครีบหางยาวมาก
– ออแรนดาหัววุ้น
ลำตัว และหางไม่ยาวเท่าออแรนดาธรรมดา บริเวณหัวมีวุ้นคลุมอยู่
คล้ายปลาทองหัวสิงห์ แต่วุ้นไม่ปกคลุมทั้งหมด และลักษณะวุ้นที่ผู้เลี้ยงต้องการมาก คือ ต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยม
– ออแรนดาหัวแดง (red cup oranda)
เป็นปลาทองพันธุ์ออแรนดาหัววุ้น แต่เน้นที่สีของวุ้นบนหัว ซึ่งจะสีเฉพาะ คือ สีแดง ขณะที่ลำตัวมีสีขาว เป็นปลาทองที่คัดพันธุ์ได้ในประเทศญี่ปุ่น จากการผสมระหว่างพันธุ์หัวสิงห์และริ้วกิ้น มีลักษณะตัวที่มีขนาดใหญ่ยาวได้ถึง 60 ซ.ม.
– ออแรนดาห้าสี (calico oranda)
มีลักษณะเหมือนออแรนดาหัววุ้น แต่ลำตัวมี 5 สีที่เป็นเฉพาะ คือ สีฟ้า ขาว ดำ แดง และส้ม
– ออแรนดาหางพวง (vailtail oranda)
มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือ มีครีบหางยาวเป็นพวง ครีบหลังยาวพริ้ว หัวมีวุ้นเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ลำตัวใหญ่ ป้อมสั้น ท้องกลม ด้านหลังแบนข้างเล็กน้อย โหนกสันหลังสูง ทำให้ส่วนหัวดูเล็ก ครีบหลังยาวใหญ่

3. ปลาทองตาโปน (Telescope eyes Goldfish)
มีลักษณะลำตัวสั้น ท้องกลม คล้ายพันธุ์วินกิ้ง แต่มีลักษณะเด่นที่ตาทั้งสองข้าง โดยตามีลักษณะยื่นโปนออกมาด้านข้าง ผู้ที่ชื่นชอบปลาทองพันธุ์นี้ หากมีตายื่นโปนออกมามากยิ่งมีราคาสูง แบ่งย่อยเป็น
– ปลาทองตาโปนสีแดง หรือ ขาวแดง มีลักษณะลำตัว และครีบสีแดงเข้ม หรือมีสีขาวสลับแดง และหากมีสีขาว ต้องเป็นสีขาวอย่างเดียวไม่มีสีอื่นแกมผสม

– ปลาทองตาโปน 3 สี หรือ 5 สี มีลักษณะเหมือนปลาทองตาโปนทั่วไป แต่จะมีสีของลำตัว และครีบ 3 หรือ 5 สี เท่านั้น

4. ปลาทองเกล็ดแก้ว (Pearl scales Goldfish)
มีลักษณะลำตัวอ้วน กลม สั้น ส่วนท้องป่อง มองด้านข้างมีมีลักษณะทรงกลม หัวเล็ก ปากแหลม พันธุ์นี้มีลักษณะเด่นที่เกล็ดที่เป็นที่มาของชื่อ คือ เกล็ดหนามาก มีลักษณะนูนขึ้นเป็นเม็ดกลมๆ เพราะเกล็ดมีสารกัวอานิน (guanin) ที่เป็นองค์ประกอบมาก ลักษณะที่ดีของปลาทองพันธุ์นี้ คือ เกล็ดต้องนูนเด่น และเรียงตัวอย่างสม่ำเสมอ และเป็นระเบียบ ครีบ และหางจะต้องแผ่ออก ไม่หุบงอ สีทีนิยมมาก ได้แก่ สีแดง ส้ม ขาวแดง ขาว เหลือง และดำ พันธุ์ที่ประเทศไทยนิยมเลี้ยง ได้แก่ ปลาทองเกล็ดแก้วหัวมงกุฏ ปลาทองเกล็ดแก้วหน้าหมู และปลาทองเกล็ดแก้วหัววุ้น

5. ปลาทองพันธุ์เล่ห์ (Black telescope eyes Goldfish หรือ Black moor)
ปลาทองพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นที่สีลำตัว คือ จะต้องมีสีลำตัวทุกส่วนดำสนิท ไม่มีสีอื่น และต้องไม่เปลี่ยนสีตลอดอายุ ได้แก่ ปลาทองรักเล่ห์ หรือ เล่ห์

6. ปลาทองพันธุ์แพนด้า (Panda Goldfish)
เป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมากในประเทศจีน เป็นปลาทองที่พัฒนามาจากพันธุ์เล่ห์ ปลาทองพันธุ์นี้มีลักษณะเด่น คือ ครีบทุกครีบ รวมทั้งครีบหางจะมีสีดำสนิท ส่วนสีลำตัวจะเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาวหรือสีเงิน ทำให้มีลักษณะคล้ายกับหมีแพนด้าของจีน

7. ปลาทองพันธุ์ปอมปอน (Pompon Goldfish)
มีลักษณะลำตัวป้อม สั้น แต่ยาวกว่าปลาทองหัวสิงห์ มองจากด้านบนจะมีรูปสี่เหลี่ยมคล้ายปลาทองหัวสิงห์ ผนังกั้นจมูกยื่นยาวออกเป็นพู 2 พู พันธุ์ที่นิยมเลี้ยง คือ ปลาทองปอมปอนสีแดง ไม่มีครีบหลัง

แบ่งตามลักษณะลำตัวกลม ไม่มีครีบหลัง
1. ปลาทองหัวสิงห์ (Lion head) มีแหล่งกำเนิดในประเทศจีน ปลาทองหัวสิงห์เป็นปลาทอง
ชนิดที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้เลี้ยงปลา ปลาชนิดนี้มีรูปทรงสง่างาม มีอยู่ 2 สายพันธุ์คือ สิงห์จีนและสิงห์ญี่ปุ่น สิงห์จีนจะมีลักษณะหัวใหญ่ส่วนใหญ่จะมีวุ้นหนา ลำตัวยาว สิงห์ญี่ปุ่นส่วนหัวจะเล็กกว่าส่วนใหญ่ไม่มีวุ้นลำตัวสั้น หลังจะโค้งมน หางสั้นและเชิดขึ้นดูสง่างาม ปลาทองหัวสิงห์เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินลูกน้ำ ไรแดง ไข่น้ำ การเลี้ยงปลาชนิดนี้ให้ได้ดีควรเลี้ยงในอ่างตื้น ๆ ลึกไม่เกิน 8 นิ้ว จะทำให้ปลามีรูปร่างสวยงาม

2. ปลาทองตากลับ (Celestial Goldfish)

3. ปลาทองตาลูกโป่ง (Bubble eyes Goldfish)

การแยกเพศปลาทอง
ปลาทองจะเริ่มสามารถสังเกตเพศได้ตั้งแต่อายุประมาณ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยสังเกตได้ดังนี้
1. รูปร่าง ปลาเพศเมียมีรูปร่างป้อมสั้น โดยเฉพาะช่วงวางไข่ที่มีไข่ในท้องจำนวนมาก ส่วนเพศผู้เพรียวยาวกว่า

2. ผนังท้อง ปลาเพศมเียมีผนังท้องกลม และนุ่ม ส่วนปลาเพศผู้มีผนังท้องแบน และแข็ง

3. กระพุ้งแก้ม ปลาเพศเมียจะมีกระพุ้งแก้มเรียบและลื่น ส่วนเพศผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีตุ่มสิวสีขาวขุ่นเล็กๆ หยาบ และสากมือ

4. ครีบอก ปลาเพศเมียมีครีบอกเรียบ ส่วนเพศผู้มีตุ่มสิวขาวขุ่นที่ครีบ ก้านครีบมีลักษณะแข็ง

5. รูทวาร ปลาเพศเมียมีรูทวานค่อนข้างกลม เมื่อถึงฤดูวางไข่ รังไข่จะโผล่ออกมาอย่างเห็นได้ชัด รอบรูทวารมีสีชมพูเรื่อๆ ส่วนเพศผู้มีรูทวารรูปวงรี ชั้นเดียว

การเลี้ยงปลาทอง
ปลาทองเพศผู้สามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าปลาทองเพศเมีย และโตเต็มวัยสามารถเป็นพ่อแม่ได้เมื่ออายุประมาณ 6-8 เดือน มักผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม และในระยะก่อน และหลังนั้น อาจมีการผสมพันธุ์ และวางไข่บ้างในบางสายพันธุ์
น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาทองอาจเป็นน้ำฝน น้ำบาดาล หรือน้ำประปา แต่ปลาทองจะแพ้น้ำที่มีคลอรีนสูง ทำให้เหงือกอักเสบ โดยเฉพาะในน้ำประปาที่มักมีคลอรีนคงค้างอยู่ หากต้องการใช้น้ำประปาเลี้ยง ควรปล่อยให้คลอรีนอิสระสลายตัวเสียก่อน ด้วยการพักน้ำประปาไว้ประมาณ 3-5 วัน  ปริมาณน้ำที่ต้องการในตู้ปลาอย่างต่ำสำหรับการเลี้ยงปลาทองอย่างน้อยเท่ากับขนาดความยาวของลำตัว โดยมีหน่วยเป็นลิตร เช่น ปลาทองขนาดลำตัวยาว 10 ซม. ควรมีน้ำอย่างน้อย 10 ลิตร แต่ในทางปฏิบัติที่ดีควรให้น้ำมากไว้ก่อน โดยพิจารณาระดับออกซิเจนในน้ำที่เพียงพอร่วมด้วย

ลักษณะนิสัยของปลาทองเป็นปลาที่ชอบว่ายน้ำตลอดเวลาจึงไม่ควรจึงไม่ควรใส่หินหรือของประดับไว้มากมายจนขวางพื้นที่ว่ายน้ำของปลา แต่ควรใช้พวกกรวดทรายวางไว้ด้านล่าง เนื่องจากปลาทองมีนิสัยชอบขุดค้นทรายตามพื้น

อาหาร และการให้อาหาร
อาหารสำหรับปลาทอง ได้แก่

การให้อาหาร มักใช้อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะในระยะการเลี้ยงในตู้ปลาหลังการอนุบาล โดยการแบ่งให้ เช้า-เย็น ในปริมาณ 2-3% ของน้ำหนักตัวปลา และอาหารที่ให้นั้น ปลาจะต้องกินหมดภายใน 10-15 นาที เพื่อป้องกันน้ำเน่าจากเศษอาหาร จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 7 วัน