ปลาซิว ปลาซิวหนวดยาว และปลาซิวอ้าว

12569

ปลาซิว ในประเทศไทยพบหลายชนิด อาทิ ปลาซิวหนวดยาว ปลาซิวอ้าว ปลาซิวแก้ว และปลาซิวหางกรรไกร

ปลาซิว โดยส่วนมากจะเข้าถึงปลาซิวชนิดที่นำมาปรุงอาหาร โดยชนิดปลาซิวที่นิยมนำมาปรุงอาหารมี 2 ชนิด คือ ปลาซิวหนวดยาว และปลาซิวอ้าว โดยปลาซิวหนวดยาวเป็นชนิดปลาซิวที่พบมากที่สุดในทุกชนิดของปลาซิว ซึ่งพบได้ตามบ่อดินขุด แอ่งน้ำ แม่น้ำ และลำคลองตามธรรมชาติ

ประโยชน์ปลาซิว
• นำมาประกอบอาหาร เช่น ปลาซิวทอด หมกปลาซิว แกงปลาซิว และก้อยปลาซิว เป็นต้น
• ใช้เป็นอาหารมีชีวิตสำหรับเลี้ยงปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลากะพง เป็นต้น
• นำมาแปรรูปเป็นปลาร้า ปลาจ่อม น้ำปลา กะปิ เป็นต้น
• ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์สำหรับแหล่งเสริมโปรตีน และแคลเซียม
• ปล่อยเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ปลาซิวหนวดยาว
ปลาซิวหนวดยาว เป็นชนิดที่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารมากที่สุดเหมือนกับปลาซิวอ้าว นิยมรับประทานทั่วไปในทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสาน ในเมนูต่างๆได้หลายอย่าง

ปลาซิวหนวดยาว กับ ปลาซิวอ้าว มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่แตกต่างกันที่ปลาซิวหนวดยาวจะมีหนวด แต่ปลาซิวอ้าวจะไม่มีหนวด และปลาซิวอ้าวที่โคนหางไม่มีสีหรือมีสีเหลืองอ่อน ส่วนปลาซิวอ้าวจะมีจุดดำบนครีบหาง และครีบหางออกสีแดงส้ม

ปลาซิว

อนุกรมวิธาน (เจริญ ผานิล, 2505)(1)
Order : Eventognathi
Family : Cyprinidae
Sub Family : Rasborinae

ลักษณะทั่วไป
ปลาซิวหนวดยาวมีรูปร่างเรียวยาว มีหนวดเรียวยาว 2 คู่ หนวดคู่ล่างยาวมากกว่าหนวดคู่บน ความยาวหนวดยาวได้ถึงครีบท้อง และอาจยาวได้ถึงรูก้นด้านล่างลำตัว หรือจรดครีบก้น มีริมฝีปากล่างต่ำกว่าริมฝีปากบน ไม่มีปุ่มที่ปลายปาก ภายในปากไ่ม่มีฟัน แต่มีฟันที่คอหอย 1 ชุด

ส่วนเกล็ดมีลักษณะกลม สีเงินประกายแวววาว แต่ลำตัวบางส่วนมีเกล็ดน้อยหรือไม่มีเลย มีเส้นข้างลำตัวทอดยาวจากด้านบนของครีบท้องจนถึงโคนครีบก้น และค่อยๆจางลง

ปลาซิว1

ปลาซิวหนวดยาวมีครีบอกขนาดใหญ่ มีก้านครีบ 13 อัน ใช้สำหรับทรงตัว และใช้กระโดดขึ้นเหนือน้ำ ส่วนครีบหลังสั้น ก้านครีบส่วนหน้าแข็งมีหยัก โคนหางมีสีเหลืองหรือไม่มีสี

ปลาซิวอ้าว (Apollo shark)
ลักษณะทั่วไป
ปลาซิวอ้าวมีลักษณะคล้ายปลาซิวหนวดยาว แต่มีขนาดใหญ่กว่า ขนาดใหญ่ได้มากกว่า 20 เซนติเมตร รูปร่างทั่วไปมีลักษณะเรียวยาว ไม่มีหนวด มีริมฝีปากล่างต่ำกว่าริมฝีปากบน ภายในปากไ่ม่มีฟัน แต่มีฟันที่คอหอย 1 ชุด

ปลาซิวอ้าว

เกล็ดรูปทรงกลม สีเงินมีประกายแวววาว บางส่วนลำตัวมีเกล็ดน้อยหรือไม่มีเลย มีเกล็ดข้างลำตัวตั้งแต่บนส่วนบนของครีบท้องจนถึงปลายครีบก้น มี 13 เกล็ด และมีเส้นข้างลำตัวทอดยาวจากด้านบนของครีบท้องจนถึงโคนครีบก้น และค่อยๆจางลง โดยเส้นข้างลำตัวทั้ง 2 ข้างจะไม่เหมือนกัน และมีลายพาดสีดำจากหลังตาไปจรดโคนหาง เหนือลายพาดสีดำมีแถบสีทองขนานไปตลอดลำตัว มีลายพาดสีดำบริเวณส่วนหางชัดเจนมากกว่าส่วนหัว

ปลาซิวอ้าวมีครีบอกขนาดใหญ่เหมือนกับปลาซิวหนวดยาวเพื่อใช้สำหรับทรงตัว และใช้กระโดดขึ้นเหนือน้ำ ส่วนครีบหลังสั้น มีก้านครีบ 6-16 อัน ก้านครีบส่วนหน้าแข็งมีหยัก ครีบก้นมีก้านครีบ 5 อัน โคนหางมีสีส้ม และมีจุดดำ

การแพร่กระจาย
ปลาซิวหนวดยาว และปลาซิวอ้าว เป็นชนิดปลาซิวที่พบแพร่กระจายมากในประเทศไทย พบได้ทั่วไปตามแอ่งน้ำ สระน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง กระจายทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย พบมากในแถบภาคกลาง เหนือ อีสาน และตะวันออก

การดำรงชีพ
ปลาซิวทั้งสองมักออกหาอาหารรวมกันเป็นฝูง และเป็นปลากินพืช และกินสัตว์ ได้แก่ ลูกน้ำ กุ้ง หอยขนาดเล็ก ตะไคร่น้ำ สาหร่าย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังกินแมลงขนาดเล็กที่อยู่เหนือผิวน้ำ เช่น ริ้น เป็นต้น

การผสมพันธุ์
ปลาซิวหนวดยาว และปลาซิวอ้าว เมื่อเริ่มผสมพันธุ์ ตัวผู้ และตัวเมียจะเอาหัวชนข้างลำตัวกัน เพื่อกระตุ้นการวางไข่ และฉีดน้ำเชื้อ โดยไข่จะมีลักษณะทรงกลม สีเหลืองอ่อน ไข่ที่ผสมแล้วจะร่วงลงสู่พื้นท้องน้ำ และฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 2 วัน

การจับปลาซิว
การจับปลาซิวเพื่อนำมาประกอบอาหาร โดยทั่วไปมักจับตามสระน้ำขุดขนาดเล็กที่อยู่หัวไร่ปลายนา หรือ แอ่งน้ำตามธรรมชาติ แต่มักพบมากในสระน้ำขุด

วิธีการจับที่นิยม ได้แก่ การช้อนด้วยสวิง การช้อนด้วยอวนตาข่ายลากขนาดเล็ก และการวางตาข่าย แต่ที่นิยมมากจะเป็นการช้อนด้วยอวนตาข่ายลากขนาดเล็ก และการวางตาข่าย เพราะสามารถจับได้ครั้งละจำนวนมากในเวลาสั้นๆ และใช้แรงน้อยกว่าวิธีอื่น

เอกสารอ้างอิง
1. เจริญ ผานิล, 2505. ชีวประวัติของปลาซิวหนวดยาว