ปลาข้าวสาร/ปลาสายไหม และประโยชน์จากปลาข้าวสาร

26392

ปลาข้าวสาร/ปลาสายไหม (Tiny Anchovy) เป็นลุกปลากระตักที่ชาวประมงนิยมจับสำหรับแปรรูปเป็นผลผิตภัณฑ์ปลา โดยเฉพาะปลาข้าวสารอบกรอบ ปลาข้าวสารทอด เพราะปลาข้าวสารมีขนาดเล็ก ไม่มีก้างหรือกระดูกแข็ง ทำให้รับประทานได้ทั้งตัว

ในอดีตปลาข้าวสารถูกจับด้วยชาวประมงในปริมาณมากจนเกิดผลกระทบทำให้ปลากะตักที่เป็นตัวเต็มวัยมีจำนวนลดลงอย่างมาก แต่ปัจจุบัน การจับปลาข้าวสารมีกฎหมายประมงที่ช่วยลดการจับลงได้ โดยเฉพาะในเรื่องของข้อห้ามการใช้อวนตาถี่ที่น้อยกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งจะช่วยลดการจับปลาข้าวสารที่มีขนาดเล็กได้ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงปลาข้าวสารบางขนาด ดังนั้น การจับปลาข้าวสารจึงยังพบได้ในปัจจุบัน

ปลาข้าวสาร/ปลาสายไหม คือ ลูกปลากระตัก
ปลาข้าวสารกับปลากระตัก แต่ก่อนชาวประมงจะเข้าใจว่าเป็นปลาคนละชนิดกัน แต่เมื่อประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศควบคุมมิให้ชาวประมงจับปลากระตักด้วยอวนที่มีตาถี่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร เพื่อให้ลูกปลากะตัก (ปลาข้าวสารเหลือรอดเติบโตเป็นปลากระตักได้) แต่ชาวประมงเอง กลับมีความเชื่อว่าปลาทั้งสองเป็นปลาคนละชนิดกัน และยังจับกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน และคลายความสงสัย นายประกิต กันยาบาล ขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักวิชาการประมง และชาวประมงเข้ามาร่วมพิสูจน์ความจริงของปลาข้าวสารกับปลากระตัก

IMG_3399

การพิสูจน์ได้แบ่งคณะออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกเข้าเก็บตัวอย่างปลาข้าวสารจากชาวประมงในวันที่ 19 กันยายน 2546 ด้วยการลงเรือเข้าเก็บปลาข้าวสารที่จับได้ด้วยอวนจากชาวประมงในตอนกลางวัน และอีกชุดลงเรือเก็บในวันที่ 30 กันยายน 2546 รวบเก็บปลาข้าวสารได้ทั้งหมด 34 ตัว ขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.3-3.7 เซนติเมตร จากนั้น นำปลาข้าวสารทั้งหมดมาทอลองเลี้ยงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง เป็นเวลา 39 วัน ในระหว่างการเลี้ยงมีการบันทึกเทปวิดีโอไว้ตลอดเวลา จนในวันที่ 28 ตุลาคม 2546 ที่ระยะเวลา 39 วัน ปลาข้าวสารมีการเติบโต และเปลี่ยนแปลงร่างกายจนมีลักษณะเหมือนปลากระตัก จนทำให้ชาวประมงเชื่อว่าปลาข้าวสารก็คือลูกปลากระตักในที่สุด (1)

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stolephorus indicus
• ชื่อสามัญ : Tiny Anchovy
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาข้าวสาร
– ปลาสายไหม
– ปลากระตัก

ลักษณะทั่วไปปลาข้าวสาร/ปลาสายไหม
ปลาข้าวสาร เป็นลูกปลาวัยอ่อนของปลากระตัก มีการอาศัยรวมกันเป็นกลุ่มตามแนวชายฝั่ง มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวมีลักษณะเรียวยาว และแบนข้าง ลำตัวขุ่นขาวหรือค่อนข้างใส คล้ายกับข้าวสาร ส่วนหัวมีขนาดใหญ่กว่าลำตัว ตากลมขนาดใหญ่ ปากมีขนาดเล็ก ส่วนท้องอวบนูน ครีบทุกครีบมีลักษณะใส และอ่อน ครีบหลังอยู่ใกล้กับโคนหาง ครีบท้องเรียงติดกันเป็นแผงยาวจนถึงโคนหาง ครีบหางมีรูปพัด

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3

อาหาร และการกินอาหาร
ปลาข้าวสารหรือปลากะตักในวัยนี้จะกินอาหารจำพวกแพลงก์ตอนขนาดเล็กเป็นอาหาร

ประโยชน์ปลาข้าวสาร/ปลาสายไหม
1. ปลาข้าวสารมีลำตัวขนาดเล็ก มีกระดูกอ่อน เมื่อประกอบอาหารสามารถรับประทานได้ทั้งตัว จึงนิยมแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง ปลาทอดกรอบสำหรับรับประทานหรือปรุงอาหาร อาทิ ยำปลาข้าวสาร หรือ ใส่ส้มตำ เป็นต้น
2. ปลาข้าวสาร เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับทำน้ำปลา น้ำบูดู และปลาป่นสำหรับอาหารสัตว์

%e0%b8%a2%e0%b8%b3%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3

ผลิตภัณฑ์ปลาข้าวสาร/ปลาสายไหม
ปลาข้าวสาร เป็นปลาทะเลขนาดเล็กที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจาก ปลาข้าวสารสามารถทานได้ทั้งตัว มีกระดุกอ่อน และมีโปรตีนสูง แต่เนื่องจาก สามารถจับได้ในบางฤดู จึงจำต้องแปรรูปเพื่อให้เก็บรักษาสำหรับทานได้ตลอดทั้งปี และให้สะดวกต่อการส่งออก

การแปรรูปปลาข้าวสารในปัจจุบันที่นิยมทำ ได้แก่
1. การตากแห้ง หรือการอบแห้ง
2. การทอด

วิธีทำปลาข้าวสารตากแห้ง
1. นำน้ำเค็มใส่ในกระทะ 3 ใน 4 ส่วน จากนั้น ต้มน้ำให้เดือด ก่อนใส่เกลือเพิ่มอีกครึ่งกิโลกรัม
2. นำปลาข้าวสารมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเค็ม จากนั้น นำใส่กระทะในขณะน้ำร้อน พร้อมใช้ไม้คนเบาๆประมาณ 30-40 นาที
3. ตรวจความสุกด้วยการฉีกหัวปลา หากมีเลือดแดง แสดงว่าปลาข้าวสารยังไม่สุก ให้ต้มต่อ หากไม่มีเลือด แสดงว่าสุกได้ที่
4. ตักปลาข้าวสารมาเกลี่ยกระจายลงบนแผงไม้ไผ่ ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วบรรจุใส่ถุง ทั้งนี้ หากช่วงแปรรูปมีฝนตกชุก ให้นำปลาข้าวสารที่ต้มสุกแล้วเข้าเตาอบด้วยแก๊สแทน

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%87

ขอบคุณภาพจาก Aquatoyou.com, ruamtalayhuahin.com,

เอกสารอ้างอิง
(1) วิไลรัตน์ สนิทชน, 2547, การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นกลุ่มสาระการเรียนรู้-
การงานอาชีพและเทคโนโลยีหน่วยการเรียนรู้การแปรรูป-
ปลาข้าวสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6-
ของอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี, มหาวิทยาลัยบูรพา.