ปลาการ์ตูน และการเลี้ยงปลาการ์ตูน

27379

ปลาการ์ตูน (Clown Fishes) เป็นปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงเป็นอันดับต้นๆของโลก เนื่องจากเป็นปลาที่มีสีสัน และลวดลายสวยงาม เลี้ยงง่าย อีกทั้งเป็นที่นิยมในตลาดสามารถเพาะจำหน่ายได้ในราคาสูง

หลังจากมีภาพยนตร์ เรื่อง Finding Nemo ทำให้กระแสการเลี้ยงปลาการ์ตูนมากขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งในประเทศไทยเองก็เป็นที่นิยมเลี้ยงมากเช่นกัน โดยพบว่ามีมูลค่าการซื้อ-ขายปลาการ์ตูนประมาณ 30-40% ของปลาสวยงามทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศ และการจับในทะเลภายในประเทศ รวมถึงแหล่งใหญ่ที่มีการเพาะพันธุ์ในหลายจังหวัดในแถบภาคกลาง

ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มปลาสลิดหิน มีทั้งหมด 28 สกุล (Genus) มีมากกว่า 320 ชนิด (Species) แบ่งได้ออกเป็น 2 สกุล คือ สกุล Amphiprion มีประมาณ 27 ชนิด และ สกุล Premnas ที่มีเพียง 1 ชนิด

อนุกรมวิธาน
Kingdom : Animalia
Phylum : Chordata
Subphylum : Vertebrata
Class : Actinopterygii
Order : Perciformes
Family : Pomacentridae
Subfamily : Amphiprioninae
Genus 1 : Amphiprion
Genus 2 : Premnas

ลักษณะทั่วไป
ปลาการ์ตูนมีลำตัวรูปทรงไข่ (Oval Shape) มีรูปร่างแบนข้าง (compress) หัวค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ลูกตากลมโต เเละโปนเล็กน้อย ส่วนปากอยู่ปลายสุดของจะงอยปากเฉียงขึ้นเล็กน้อย มีฟันแหลมคม

ครีบทุก ครีบมีลักษณะกลม ทำให้ว่ายน้ำได้ช้า ครีบที่เป็นครีบคู่ (Pair Fins) ได้แก่ ครีบอก (pectoral fin) และครีบท้อง (pelvic fin) เพื่อใช้ในการทรงตัว บังคับทิศทาง และว่ายถอยหลัง

ครีบเดี่ยว (Median Fins) ได้แก่ ครีบหลัง และครีบก้น โดยครีบหลังประกอบด้วยส่วนก้านครีบแข็ง (Dorsal Spines) และก้านครีบอ่อน (Fin Rays) เป็นโครงร่างค้ำจุน บางชนิดครีบหลังเว้าลงตรงกลางทำให้คล้ายถูกแบ่งออกเป็น 2 ตอน บางชนิดครีบหลังยาวตลอดจนถึงคอดหาง โดยแบ่งครีบหลังเป็น 2 รูปแบบ คือ ครีบหลังเดี่ยว เช่น ปลาการ์ตูนในกลุ่มปลาการ์ตูนมะเขือเทศ (Tomato Complex) ส่วนครีบหลังสองตอน เช่น กลุ่มปลาการ์ตูนส้มขาว (Percula Complex)

ปลาการ์ตูนใช้ครีบเดี่ยวในการทรงตัว และว่ายตรง ส่วนครีบหางในปลาชนิดอื่นจะใช้ในการว่ายไปด้านหน้า ซึ่งครีบหางเป็นทรงกลมจะทำให้ไม่สามารถใช้เพิ่มความเร็วเพื่อว่ายพุ่งไปด้านหน้าได้ ทำให้ปลาการ์ตูนใช้ครีบเดี่ยว และครีบอกในการเคลื่อนที่

Clown fish

ลำตัวของปลาการ์ตูนปกคลุมด้วยเกล็ด ทำหน้าที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บ และติดเชื้อ บนเกล็ดจะมีชั้นเมือกปกคลุมที่ช่วยในการว่ายน้ำ ป้องกันการติดเชื้อ และยังช่วยป้องกันเข็มพิษจากดอกไม้ทะเล (Wilkerson,1998)(1)

ลำตัวของปลาการ์ตูนมีสีสันหลายสี ได้แก่ สีส้ม แดง ดำ เหลือง ชมพู และมีแถบสีขาวพาดขวางลำดัว 1 – 3 แถบ แบ่งลักษณะแถบพาด ได้แก่
– หากมีแถบขาวเพียงแถบเดียวจะพบมักพบบริเวณหัว
– หากมีแถบพาด 2 แถบ มักพบบริเวณหัว และลำตัว โดยขอบหลังของแถบนี้จะอยู่แนวเดียวกับรูก้นหรือหน้าครีบก้น
– หากมีแถบพาด 3 แถบ มักพบแถบที่ 3 บริเวณคอดหาง

ปลาการ์ตูนบางชนิดอาจไม่มีแถบพาดขวางลำตัว และบางชนิดอาจมีแถบพาดบริเวณสันหลังมาจรดปลายปาก เเละปลาการ์ตูนชนิดเดียวกันอาจมีสีลำตัวอาจแตกต่างกัน ขื้นอยู่กับอายุ และถิ่นอยู่อาศัย (วรวุฒิ เกิดปราง, 2549)(2)

ลักษณะการอาศัย
ในทะเลจะปลาการ์ตูนอาศัยอยู่กันเป็นคู่บริเวณดอกไม้ทะเลเป็นหลัก โดยในดอกไม้ทะเลหนึ่งดอกจะมีคู่ปลาการ์ตูนเพศผู้ เพศเมีย 1 คู่ และมีปลาการ์ตูนขนาดเล็กอาศัยร่วมด้วยประมาณ 1-4 ตัว

ลูกปลาการ์ตูน มักฟักออกจากไข่ในช่วงกลางคืน ลูกปลาที่ฟักออกใหม่จะมีขนาดประมาณ 2 มม. ลำตัวมีลักษณะโปร่งแสง และชอบว่ายขึ้นผิวน้ำในวันที่มีแสงจันทร์ หลังจากนั้น 7-21 วัน จะเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะลูกปลา ขนาดตัว 10-12 มม. ในระยะนี้ลูกปลาจะว่ายลงพื้นท้องทะเลเพื่อหาแหล่งอาศัยที่เป็นดอกไม้ทะเล กลุ่มดอกไม้ทะเลที่มีปลาการ์ตูนตัวอื่นอาศัยอยู่แล้ว ในระยะลูกปลามักจะถูกไล่กัดจากปลาการ์ตูนเจ้าบ้านจนต้องออกหาแหล่งดอกไม้ ทะเลอื่น แต่หากเกิดการยอมรับก็จะสามารถอยู่ร่วมอาศัยได้

เมื่อลูกปลา มีอายุ 1 เดือน ขนาดประมาณ 4 ซม. ซึ่งเป็นระยะที่มีลักษณะเหมือนพ่อ และแม่ปลาทุกประการ แต่ยังเป็นทั้งเพศผู้ และเพศเมียที่ยังแยกเพศยังไม่ได้ จนถึงอายุประมาณ 4 เดือน จึงจะสามารถแยกเพศได้จากการสร้างอสุจิ และประมาณ 12 เดือน จากการเปลี่ยนแปลงเป็นเพศเมีย

การเปลี่ยนแปลงเพศของปลาการ์ตูนเป็นแบบ Protandrous Hermaphrodite ที่เกิดจากการเปลี่ยนเป็นเพศผู้ก่อนของอวัยวะโกนาดที่เปลี่ยนเป็นอัณฑะ และปลาตัวอื่นค่อยเปลี่ยนเป็นเพศเมียเมื่ออายุที่มากขึ้น ในบางครั้ง กลุ่มปลาการ์ตูนที่ไม่มีเพศเมียหรือมีเพศเมียน้อยเกินไปจะสามารถทดแทนเพศเมียได้จากการเปลี่ยนอัณฑะเป็นรังไข่ของเพศผู้ตัวที่พร้อมมากที่สุด

ปลาการ์ตูนที่พบในประเทศไทย
กุลวิทย์ ลิ่มจุฬารัตน์, 2551(3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับที่ได้รายงานปลาการ์ตูนที่พบในประเทศไทยทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่
1. ปลาการ์ตูนส้มขาว (False Clown Anemonefish)
ปลาการ์ตูนส้มขาว เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม นิยมนำมาเป็นปลาตู้ ลำตัวมีสีส้ม หรือน้ำตาล มีแถบสีขาว 3 แถบคือบริเวณส่วนหัว 1 แถบ บริเวณลำตัว 1 แถบ และบริเวณหางอีก 1 แถบ แถบสีขาวแต่ละแถบนั้นตรงขอบจะตัดด้วยสีดำ
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10-11 ก้าน และก้านครีบอ่อน 13-17 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 11-13 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 16 -18 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 34-48 อัน
– จำนวนซี่กรองบนเหงือกอันนอกสุด 15-17ซี่

ปลาการ์ตูนส้มขาว
ปลาการ์ตูนส้มขาว

ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีลำตัวใหญ่ที่สุด ประมาณ 80 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลหลายชนิด

2. ปลาการ์ตูนอินเดียน (Yellow Skunk Anemonefish)
ปลาการ์ตูนอินเดียน ลำตัวมีสีเนื้ออมเหลืองทอง มีแถบขาวพาดกลางหลังตลอดแนวจรดครีบหาง
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 8-9 ก้าน และก้านครีบอ่อน 17-20 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 12 -14 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 16-18 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 34-45 อัน
– จำนวนซี่กรองบนเหงือกอันนอกสุด 17-20 ซี่

ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีลำตัวใหญ่สุดประมาณ 85 มิลลิเมตร มักอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica และ Stichodactyla mertensii มีการแพร่กระจายในแถบ มหาสมุทรอินเดีย แอฟริกาตะวันออก มาดากัสการ์ ทะเลอันดามัน และหมู่เกาะสุมาตรา

ปลาการ์ตูนอินเดียน
ปลาการ์ตูนอินเดียน

3. ปลาการ์ตูนลายปล้อง (Clark’s Anemonefish)
ปลาการ์ตูนลายปล้อง ลำตัวมีสีดำเข้ม มีครีบอก และหางสีเหลืองทอง มีแถบขาว 3 แถบ ตรงส่วนหัว ลำตัว และโคนหาง
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10-11 ก้าน และมีก้านครีบอ่อน 14-17 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 12-15 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 18-21 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 34-45 อัน
– จำนวนซี่กรองบนกระดูกเหงือกอันนอกสุด 18-20ซี่

ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 100 มิลลิเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลทุกชนิด พบแพร่กระจายบริเวณเขตอินโดจีน-แปซิฟิกตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือถึงออสเตรเลียตะวันตก หมู่เกาะเมลานิเชีย ไมโครนิเชีย ไต้หวัน เกาะริวกิว และทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

ปลาการ์ตูนลายปล้อง
ปลาการ์ตูนลายปล้อง

4. ปลาการ์ตูนแดงดำ (Red Saddleback Anemonefish)
ปลาการ์ตูนแดงดำ (ปานดำ) มีลำตัวสีเหลืองส้ม และมีจุดปานสีดำที่ข้างลำตัว บริเวณตรงกลาง
ค่อนไปทางด้านท้ายลำตัว แต่บางครั้งต้นครีบหางใกล้กับครีบหลังอาจมีสีดำจางๆ ร่วมด้วย
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10 หรือ 11 ก้าน และมีครีบอ่อน 16-18 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 มีก้านครีบอ่อน 13-14 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 18-20 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 31-44 อัน
– จำนวนซี่กรองบนเหงือกอันนอกสุด 16-20ซี่

ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีขนาดลำตัวใหญ่สุดประมาณ 110 มิลลิเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Hetaractis crispa และ Entacmaea quadricolor มีการแพร่กระจายในแถบทะเลอันดามัน อ่าวไทย มาเลเซีย และอินโดนิเซีย

ปลาการ์ตูนแดงดำ
ปลาการ์ตูนแดงดำ

5. ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง (Sebae Anemonefish)
ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ลำตัวมีสีดำ ส่วนหางมีสีเหลืองทอง มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกพาดอยู่บริเวณหลังตา อีกแถบพาดผ่านท้องมายังครีบหลัง
– ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10-11 ก้าน และก้านครีบอ่อน 14-17 ก้าน
– ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 13 -14 ก้าน
– ครีบอกมีก้านครีบ 18-19 ก้าน
– เกล็ดบนเส้นข้างตัว 36-43 อัน
– จำนวนซี่กรองบนกระดูกเหงือกอันนอกสุด 15-17ซี่

ปลาการ์ตูนชนิดนี้มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 120 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลบริเวณทรายที่ฝังตัวยึดได้ ได้แก่ Stichodactyla haddoni มักอยู่เป็นคู่ และมีลูกปลาเล็ก 3-4 ตัว อยู่ด้วย มีนิสัยดุร้ายกับปลาการ์ตูนตัวอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว มีการแพร่กระจายในแถบ มหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ คาบสมุทรอินเดีย ศรีลังกา เกาะมัลดีฟส์ ทะเลอันดามัน และหมู่เกาะสุมาตรา

ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง
ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง

6. ปลาการ์ตูนอานม้า (Saddleback Anemonefish)
ปลาการ์ตูนอานม้า เป็นปลาการ์ตูนชนิดแรกที่ถูกจัดจำแนก โดยถูกระบุชื่อโดย Linnaeus ในปี ค.ศ.1758 ลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำ ส่วนหัว อก และครีบอกมีสีส้มอมเหลือง มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกอยู่บนหัว อีกแถบเริ่มตรงบริเวณส่วนหลังของลำตัว เป็นแถบโค้งพาดเฉียงขึ้นไปที่ครีบหลัง นอกจากนั้นปลาการ์ตูนอานม้ายังมีการผันแปรของรูปแบบลายอานม้า โดยชนิดที่ผันแปรนั้นลำตัวจะมีสีดำ หน้าสีเหลือง ครีบหางมีขอบสีขาว ครีบอกบริเวณขอบด้านนอกจะมีสีเหลืองสด และจะมีแถบรูปอานม้าที่บริเวณหัวและหาง ส่วนตรงกลางลำตัวจะไม่พบแถบอานม้า ทำให้ดูคล้ายกับปลาการ์ตูนชนิด A. sebae

ปลาการ์ตูนอานม้า
ปลาการ์ตูนอานม้า

ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 10 หรือ 11 มีก้านครีบอ่อน 13-16, ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 มีก้านครีบอ่อน 12-14, ครีบอกมีก้านครีบ 18, จำนวนซี่กรองบนกระดูกเหงือกอันนอกสุด 16-19 มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 100 มิลลิเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทรายคือ Hetaractis crispa, Stichodactyla haddonni และ Marcrodactyla doreensis มีการแพร่กระจายในแถบ มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก รวมทั้ง เกาะริวกิว จีน เวียดนาม ไต้หวัน อ่าวไทย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ อ่าวคาเปนทาเรีย นิวกินี นิวบริเทน เกาะโซโลมอน

7. ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง (Pink Skunk Clownfish)
ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง มีลักษณะคล้ายกับปลาการ์ตูนอินเดียน (A. akallopisos) มาก คือ มีสีของลำตัวเป็นสีเนื้ออมเหลืองทอง มีแถบขาวพาดตั้งแต่บริเวณส่วนหัวตรงระหว่างตายาวตลอดตามแนวสันหลังมาจนสุด โคนครีบหลัง แต่แตกต่างจากปลาการ์ตูนอินเดียนเฉพาะที่มีแถบขาวเล็กๆพาดลงมาบริเวณหัว 1 แถบ ส่วนครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 9 หรือ 10 มีก้านครีบอ่อน 16-17, ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 มีก้านครีบอ่อน 12-13, ครีบอกมีก้านครีบ 16-18, เกล็ดบนเส้นข้างตัว 32-43, จำนวนซี่กรองบนกระดูกเหงือกอันนอกสุด 17-20 มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดประมาณ 75 มิลลิเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Hetaractis crispa และ Stichodactyla gigantea เป็นต้น มีการแพร่กระจายในแถบ มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และ ขอบตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย โดยรวมทั้ง ตอนใต้ของญี่ปุ่น เกาะริวกิว ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อ่าวไทย อินโดนิเซียเกาะคริสต์มาส ออสเตรเลียตอนเหนือ นิวกินี นิวบริเทน เกาะโซโลมอน เกาะมาเรียนา เกาะมาร์แชล

ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง
ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง

แหล่งที่พบในไทย
– Amphiprion ocellaris พบมากในจังหวัด พังงา สตูล พบปานกลางในจังหวัด ภูเก็ต
– Amphiprion akallopisos พบมากในจังหวัด พังงา สตูล พบปานกลางในจังหวัด ภูเก็ต ตรัง และพบน้อยในจังหวัด ระนอง
– Amphiprion clarkii พบมากในจังหวัด พังงา และ สตูล
– Amphiprion ephippium พบมากในจังหวัด สตูล พบปานกลางในจังหวัดพังงา – Amphiprion sebae Bleeker, 1853 พบมากในจังหวัด พังงา
– Amphiprion polymnus พบปานกลางในจังหวัด ชลบุรี
– Amphiprion perideraion พบมากในจังหวัดชลบุรี ระยอง พบปานกลางในจังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี

ชนิดปลาการ์ตูนที่ในแนวปะการังของไทย
– Amphiprion ocellaris  พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 31 -80% ของแนวปะการัง
– Amphiprion akallopisos พบปานกลาง มีจำนวนตัวเฉลี่ยระหว่าง 5-64 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 31 -80% ของแนวปะการัง
– Amphiprion clarkii พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 5- 30% ของแนวปะการัง
– Amphiprion ephippium พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 5- 30% ของพื้นที่แนวปะการัง
– Amphiprion sebae พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และอยู่ในระดับหายาก  พบน้อยกว่า 5% ของแนวปะการัง
– Amphiprion polymnus พบน้อย มีจำนวนน้อยกว่า 5 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และอยู่ในระดับหายาก พบน้อยกว่า 5% ของแนวปะการัง
– Amphiprion perideraion พบปานกลาง มีจำนวนประมาณ 5-64 ตัว ต่อ 1 แนวสำรวจ และพบ 31 -80% ของแนวปะการัง

การจำแนกชนิดปลาการ์ตูนที่พบในประเทศไทย
1. ปลาการ์ตูนที่ไม่มีแถบสีขาวคาดผ่านลำตัวในแนวตั้ง
– ลำตัวมีสีแดงหรือแดงคล้ำ ครีบท้องและครีบก้นมีสีแดง หรือสีส้ม เช่น Amphiprion ephippium (อันดามัน)
– ลำตัวสีชมพู มีแถบสีขาวพาดพาดด้านบนตามแนวยาวและไม่พาดเลยมาถึงริมฝีปาก
เช่น Amphiprion akallopisos (อันดามัน)

2. ปลาการ์ตูนที่มีแถบสีขาวคาดในแนวตั้ง 1 แถบ
ครีบท้อง และครีบก้นมีสีชมพูจนถึงสีขาว แถบสีขาวที่พาดแนวตั้งบริเวณหัวแคบกว่าความกว้าง
ลูกตา เช่น Amphiprion perideraion (อ่าวไทย)

3A. ปลาการ์ตูนที่มีแถบสีขาวคาดในแนวตั้ง 2 แถบ
(อาจพบแถบที่หาง แต่สีของแถบนั้นไม่แตกต่างจากสีของหางอย่างชัดเจน)
• แถบสีขาวที่คาดผ่านกลางลำตัวในแนวตั้งพาดไม่ต่อเนื่องหรือเอียง
– บริเวณหางมีสีดำเข้มเป็นรูปลิ่มหรือสามเหลี่ยม Amphiprion polymnus (อ่าวไทย)
– บริเวณหางมีสีเหลือง และไม่มีแถบสีดำ Amphiprion sebae (อันดามัน)

• แถบสีขาวที่คาดผ่านกลางลำตัวในแนวตั้งพาดต่อเนื่องเต็มทั้งตัว
– ครีบหลังมีสีเข้ม หางมีสีสว่าง(เหลือง-ขาว) และแถบสีขาวที่พาดบริเวณหัวไม่แผ่กว้างข้ามไปถึงหน้าผาก Amphiprion clarkii (อันดามัน)

3B. มีแถบสีขาวคาดในแนวตั้ง 3 แถบชัดเจน
• แถบสีขาวที่พาดกลางลำตัวแถบที่ 2 นูนยื่นไปด้านหน้าลำตัวมีสีส้ม แถบสีขาวทั้ง 3 แถบมีขอบสีดำจาง ๆ ก้านครีบแข็งของครีบหลังมี 11 ก้านและมีความสูงของก้านครีบมีค่าประมาณ 30% ของความยาวหัว Amphiprion ocellaris (อันดามัน)

ที่มา : กุลวิทย์ ลิ่มจุฬารัตน์, 2551(3) อ้างถึงในรายงานประกอบการศึกษาหลายฉบับ

การเลี้ยงปลาการ์ตูน
อุปกรณ์การเลี้ยง
1. ตู้ปลา เช่น ตู้กระจก ตู้พลาสติก
2. น้ำทะเล/น้ำทะเลเทียม
– น้ำทะเล สำหรับผู้เลี้ยงที่อาศัยในจังหวัดแถบชายฝั่งทะเลสามารถนำน้ำทะเลมาใช้เลี้ยงได้โดยตรง
– ผู้เลี้ยงที่ห่างไกลจากทะเลหรือไม่สะดวกในการนำน้ำทะเลมาใช้ สามารถใช้น้ำทะเลเทียมแทนก็ได้
การทำน้ำทะเลเทียมทำได้โดยการนำเกลือสมุทรมาละลายน้ำจืดในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ระดับความเค็มใกล้เคียงกับน้ำทะเล
3. เกลือวิทย์ เป็นเกลือสำเร็จรูปสำหรับทำน้ำทะเลเทียม มีจำหน่ายตามร้านขายอุปกรณ์ปลาสวยงามทั่วไป

SeaSalt
4. วัสดุตกแต่ง ได้แก่ ปะการัง ดอกไม้ทะเล สาหร่ายทะเล หิน กรวด ทราย
5. เครื่องเติมอากาศ ใช้สำหรับเติมอากาศในตู้ปลาเพื่อเพิ่มออกซิเจน สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ปลาสวยงาม
6. เครื่องกรองน้ำ ใช้สำหรับกรองน้ำในตู้ปลาเพื่อแยกสารแขวนลอยต่างๆ เช่น เศษอาหาร มูลปลา เศษวัสดุตกแต่งตู้ปลา โดยเป็นปั้มน้ำขนาดเล็กดูดน้ำจากตู้ปลาผ่านวัสดุกรอง เช่น เยื่อกรอง กรวดทราย เป็นต้น ซึ่งน้ำที่ผ่านกรองจะไหลเข้าตู้ปลาอีกครั้ง ทำให้ลดการเน่าเปื่อยในตู้ปลา และทำให้น้ำใสตลอดเวลา สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ปลาสวยงาม
7. อาหารปลา เป็นอาหารเม็ดสำหรับปลาขนาดเล็กโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็นเม็ดละเอียดขนาดเล็ก มีทั้งแบบลอยน้ำ และแบบจมน้ำ

ขั้นตอนการเลี้ยง
1. เตรียมวัสดุสำหรับใส่ตู้ปลา เช่น กวาดทราย ปะการังเทียม ด้วยการล้างทำความสะอาด และตากแดดให้แห้ง ส่วนพวกวัสดุมีชีวิต อาทิ สาหร่ายทะเล ให้ล้างด้วยน้ำทะเลหรือน้ำทะเลเทียม

2. จัดวางวัสดุใส่ตู้ปลาในตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งโดยทั่วไปจะวางกวาดทรายรองพื้น และตามด้วยวัสดุตกแต่งพวกปะการังเทียมตรงกลาง ตรงมุม ซึ่งให้เยื้องมาทางด้านหลังตู้ปลา

3. นำน้ำฝนหรือน้ำประปาใส่ โดยค่อยๆเทใส่ไม่ให้วัสดุตกแต่งเคลื่อนที่ ส่วนปริมาณน้ำที่ใส่ให้คำนวณ และจดบันทึกไว้

4. ใส่เกลือวิทย์ โดยใช้ปริมาณในอัตราเกลือ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 25-28 ลิตร ซึ่งโดยทั่วไปเกลือวิทย์จะบรรจุถุงหนัก 1.5 กิโลกรัม ใช้กับน้ำประมาณ 40 ลิตร หรือ 7 กิโลกรัม ใช้กับน้ำประมาณ 200 ลิตร ซึ่งทำให้ได้ค่าความเค็มประมาณ 30-34 ppt ซึ่งเป็นค่าที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาทะเล ทั้งนี้อาจใช้ไฮโดรมิเตอร์วัดความถ่วงจำเพาะที่เหมาะสมด้วย โดยให้มีค่าประมาณ 1.02-1.025

5. หลังจากนั้น ให้ต่อเครื่องให้อากาศใส่ในตู้ปลา และเปิดทิ้งไว้นาน 1-2 วัน ทั้งนี้ อาจเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ด้วยก็ได้

6. นำปลาการ์ตูนปล่อย โดยให้นำน้ำในตู้เติมลงในถุงปลาหรือภาชนะที่ใส่ปลาประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำ ที่ใส่มา และปล่อยไว้ประมาณ 5-10 นาที ก่อนค่อยๆเทปลาลงตู้ โดยไม่ต้องเทน้ำทั้งหมดลงไป

7. ช่วงการให้อาหารจะให้วันละครั้ง และควรล้างตู้ปลาทุกๆ 1 เดือน ร่วมกับใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ทุกครั้งเมื่อล้างตู้ปลา

เอกสารอ้างอิง
6