ปลากระดี่หม้อ ปลากระดี่นาง ปลากระดี่สี และการเลี้ยงปลากระดี่

35093

ปลากระดี่ เป็นปลาน้ำจืดท้องถิ่นของไทยที่พบได้ในแหล่งน้ำทุกประเภท แต่ส่วนมากจะพบในแหล่งน้ำนิ่งหรือไหลค่อย นิยมจับด้วยแห การยกยอ การลากอวนผ้าที่จับได้ร่วมกับปลาขนาดเล็กอื่นๆ ปลากระดี่ที่จับได้นิยมนำมาประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ แกงป่า แกงส้ม หรือแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง รวมถึงใช้ทำปลาร้า

ชนิดปลากระดี่ที่นิยมจับหรือเลี้ยง
1. ปลากระดี่หม้อ (Trichogaster tricopterus)
2. ปลากระดี่นาง (Trichogaster microlepis)
3. ปลากระดี่มุก (Trichogaster leeri)
3. ปลากระดี่สี/ปลากระดี่แคระ

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ปลากระดี่ เป็นปลาท้องถิ่นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย เป็นปลาน้ำจืดที่พบได้มากในแหล่งน้ำนิ่งของทุกจังหวัด อาทิ สระน้ำ อ่างเก็บน้ำ หนองบึงต่างๆ รวมถึงแม่น้ำ ลำห้วยหรือลำคลองต่างๆ

ปลากระดี่ เป็นปลาที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำได้ดี สามารถอาศัยอยู่ได้ในแหล่งน้ำที่มีมลพิษหรือมีออกซิเจนต่ำ เพราะสามารถใช้ปากหุบเอาอากาศแทนการหายใจด้วยเหงือกได้ โดยเฉพาะแหล่งอาศัยที่มีออกซิเจนต่ำ จึงทำให้เป็นปลาที่ทนต่อสภาพน้ำเน่าเสียได้

ลักษณะนิสัยของปลากระดี่
ปลากระดี่ทุกชนิดชอบอาศัยรวมกันเป็นฝูง แต่เมื่อเข้าฤดูผสมพันธุ์ ปลากระดี่จะจับคู่ และแยกคู่ออกจากกลุ่มเพื่อหาแหล่งวางไข่ ซึ่งจะชอบวางไข่ตามริมฝั่งที่มีหญ้าหรือพรรณไม้น้ำขึ้นปกคลุม โดยจะก่อหวอดเป็นฟองอากาศลอยเกาะพืชน้ำอยู่ด้านบน

อาหารปลากระดี่
ปลากระดี่เป็นปลากินเนื้อ มีอาหารสำคัญ ได้แก่ ไรแดง ลูกน้ำ ไรน้ำ ลูกปลาขนาดเล็ก ลูกปูขนาดเล็ก และแมลงชนิดต่างๆ

ปลากระดี่หม้อ
อนุกรมวิธาน (4)
Kingdom : Animalia
Phylum : Chordata
Class : Osteichthyes
Order : Perciformes
Family : Belontiidae
Genus : Trichogaster
Species : Trichogaster trichopterus

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichogaster tricopterus (Pallas) (1)
• ชื่อสามัญ :
– Blue gourami
– Three spot gourami
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง
– ปลากระดี่
– ปลากระดี่หม้อ
ภาคเหนือ
– ปลาสลาก
– ปลาสลาง
ภาคอีสาน
– ปลากระเดิด

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%ad

ลักษณะทั่วไป
ปลากระดี่หม้อ มีหัวขนาดเล็ก ตามีขนาดเล็กสีแดงเรื่อ ปากมีขนาดเล็ก ริมฝีปากยืดหดได้ ฟันบนขากรรไกรมีขนาดเล็ก ลำตัวแบน และค่อนข้างยาว ขนาดลำตัวยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร หรืออาจพบยาวได้มากกว่านี้ พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว เกล็ดมีขนาดเล็กแนบติดลำตัว ด้านข้างลำตัวมีแถบสีเทาอมน้ำเงินพาดขวางลำตัวเป็นแถบๆ และมีจุดสีดำ 2 จุด คือ บริเวณกลางข้างลำตัว และบริเวณโคนหาง ครีบหลังเริ่มที่จุดกึ่งกลางของลำตัว และมีขนาดสั้นกว่าครีบก้น ครีบท้องยื่นเป็นเส้นยาว 2 เส้น คล้ายหนวด ส่วนครีบก้นยาวติดกันเป็นแผงจนถึงโคนหาง โดยส่วนต้นของครีบก้นจะสั้น และค่อยยาวมากขึ้นเรื่อยไปหาโคนหาง ปลายครีบก้นมีสีส้มหรือส้มอมเหลือง ส่วนครีบหางเว้าเป็นแฉกตื้นๆ ปลายแฉกมน

เพศปลากระดี่หม้อ
ปลากระดี่หม้อตัวผู้ และตัวเมียสามารถแยกแยะได้จากภายนอก ได้แก่
– ปลากระดี่หม้อตัวผู้จะมีจุดสีบริเวณฐานครีบเดี่ยวเข้ม และชัดเจนกว่าปลากระดี่หม้อตัว เมีย
– ปลากระดี่หม้อตัวผู้จะมีครีบหลังยาวกว่าปลากระดี่หม้อตัวเมีย
– ปลากระดี่หม้อตัวผู้จะมีปลายครีบหลังแหลมกว่าปลากระดี่หม้อตัวเมีย
– ปลากระดี่หม้อตัวผู้จะมีครีบก้นยาวมากกว่าปลากระดี่หม้อตัวเมีย

ปลากระดี่นาง
อนุกรมวิธาน
เหมือนกับปลากระดี่หม้อ แต่ต่างกันที่ Species

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichogaster microlepis , Gunther (2)
• ชื่อสามัญ :
– Moonlight gourami
– Moonbeam gourami
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลากระดี่นาง
– ปลากระดี่ฝ้าย

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%87

ลักษณะทั่วไป
ปลากระดี่นาง มีลักษณะลำตัวคล้ายกับปลากระดี่หม้อ แต่ต่างจากปลากระดี่หม้อที่ข้างลำตัวไม่มีจุดสีดำ โดยลำตัวมีลักษณะเด่น คือ หัวมีขนาดเล็ก ตามีขนาดเล็ก นัยน์ตาสีแดงเรื่อ ปากมีขนาดเล็ก ยืดหดได้ ลำตัวมีลักษณะแบน ยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร พื้นลำตัวมีสีเทาอมฟ้าหรือสีตะกั่วอมฟ้า ส่วนหลังมีสีเหลืองอมเขียว เกล็ดมีขนาดเล็ก เรียงแนบติดแน่นกับลำตัว ครีบหลังมีขนาดเล็ก และสั้น ครีบท้องเป็นหนวดยื่นยาว 2 เส้น ครีบก้นเป็นแผงยาวจนถึงโคนหาง ครีบหางเว้าลึก ทั้งนี้ ทุกครีบมีลักษณะใส

ข้อแตกต่างปลากระดี่หม้อกับปลากระดี่นาง
1. ปลากระดี่นางมีลำตัวป้อม และสั้นกว่าปลากระดี่หม้อ
2. ปลากระดี่นางไม่มีจุดสีดำด้านข้างลำตัว
3. ปลากระดี่นางมีสีพื้นลำตัวสีเทาอมฟ้า ส่วนปลากระดี่หม้อมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว
4. ปลายครีบก้นของปลากระดี่นางไม่มีสี ต่างจากปลากระดี่หม้อที่มีสีแดงเรื่อ

ปลากระดี่สี/ปลากระดี่แคระ
ปลากระดี่สี หรือบางคนอาจเรียก ปลากระดี่แคระ ยังไม่พบเอกสารกล่าวแน่ชัดว่าเป็นปลากระดี่ชนิดใด แต่พบเรียกชื่อนี้ในแวดวงการเลี้ยงปลาสวยงาม ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นปลากระดี่คนละชนิดที่พบในประเทศไทย เพราะเป็นปลากระดี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%b5

ปลากระดี่สี เป็นปลากระดี่ต่างประเทศชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวมีขนาดเล็ก และสั้น โดยเล็กกว่าปลากระดี่ที่พบในประเทศไทย ขนาดลำตัวยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร พื้นลำตัวมีแถบสีพาดผ่านลำตัวหรือเป็นจุดประทั้งบนลำตัว และบนครีบ อาทิ สีแดง สีขาว สีฟ้า สีมุก สีครีม เป็นต้น (3)

ปลากระดี่มุก

ปลากระดี่มุก
ปลากระดี่มุก

ประโยชน์ปลากระดี่
1. ใช้ประกอบอาหาร อาทิ แกงป่า แกงส้ม นำมาทอด เป็นต้น
2. ใช้แปรรูปเป็นปลาตากแห้งสำหรับนำมาทอด หรือ ใช้ปลากระดี่สดสำหรับทำปลาร้า
3. ใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้ปลา อาทิ ปลากระดี่หม้อ ปลากระดี่นาง และปลากระดี่แคระ โดยเฉพาะปลากระดี่สีหรือปลากระดี่แคระ ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะลำตัวมีสีสันสวยงาม
4. ปลากระดี่ในบางครัวเรือนนิยมจับมาปล่อยในอ่างน้ำหรือถังน้ำในห้องน้ำ เพื่อให้กินลูกน้ำยุง ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของยุง

การเลี้ยงปลากระดี่
ปลากระดี่ เป็นปลาที่ทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของน้ำได้ดี แต่ธรรมชาติโดยทั่วไปจะชอบน้ำสะอาด และใส และเป็นปลาที่ชอบอาศัยบริเวณที่มีพรรณไม้น้ำหรือสาหร่ายขึ้นปกคลุม

ดังนั้น การเลี้ยงปลากระดี่ในตู้กระจก น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด อาทิ น้ำประปา น้ำฝน หรือน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความใสมาก และให้เปลี่ยนถ่ายน้ำในทุกๆ 1 เดือน ส่วนตู้ปลาควรปลูกตกแต่งด้วยพรรณไม้น้ำหรือสาหร่าย เพื่อให้ปลากระดี่สร้างหวอดได้หากมีการวางไข่

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงปลากระดี่ สามารถให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปได้ แต่ควรเป็นอาหารเม็ดประเภทอาหารปลากินเนื้อ นอกจากนั้น ควรเสริมด้วยไรแดง ลูกน้ำ หนอน หรือแมลงขนาดเล็กต่างๆ เป็นระยะ

ขอบคุณภาพจาก fisheries.go.th/, acvariidevis.ro/, BlogGang.com

เอกสารอ้างอิง
(1) การีมา ฮานาฬ และไพบูลย์ ยุติศรี, 2527, การศึกษาหนอนพยาธิในปลากระดี่หม้อ-Trichogaster tricopterus (Pallas)-
ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(2) ธวัช ตอนสกุล และวิเชียร มากตุน, 2548, การศึกษาคาริโอไทพ์ของปลากระดี่นาง-
และปลาสลิดของไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(3) หทัยรัตน์ เสาวกูล, สำเนาว์ เสาวกูล และญาณัท หงษ์เต็งสกุล, 2552, การเลี้ยงปลากระดี่แคระ-
จากขนาดความยาว 1 เซนติเมตร ถึง 4 เซนติเมตร-
ที่ระดับความหนาแน่นแตกต่างกันในถังพลาสติกกลม, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(4) วันทนีย์ ศรีจันทร์, 2551, จุลพยาธิสภาพของเหงือก ตับและไตใน-
ปลากระดี่หม้อ Trichogaster trichopterus และ-
ปลาตะเพียน Puntius gonionotus ในพื้นที่เกษตรกรรม-
คลอง 7 จังหวัดปทุมธานี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.