นกพิราบ ประโยชน์ และการเลี้ยงนกพิราบ

35489

นกพิราบ (Rock pigeon หรือ Rock dove) เป็นนกที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การเลี้ยงเพื่อความสวยงาม เลี้ยงเพื่อการสื่อสาร และเพื่อทำเป็นอาหาร ปัจจุบัน พบว่า นกพิราบมีประชากรในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาหาร และแหล่งอาศัยในแถบชนบทถูกจำกัด ทำให้นกพิราบส่วนใหญ่บินเข้าหาอาหาร และอาศัยในเขตเมือง เพราะเป็นแหล่งที่มีอาหารมาก หาได้ง่าย รวมทั้งมีอาคารที่สามารถใช้เป็นแหล่งอาศัยได้ดี

อาหารนกพิราบที่พบในเขตเมือง ได้แก่ เศษขนมปัง และเศษอาหาร อาหารเหล่านี้ จะกระตุ้นการขยายพันธุ์ของนกพิราบทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น และนอกจากนี้ พบว่า เมื่อนกพิราบบินมายังในเขตเมืองจะไม่ค่อยบิน กลับไปยังรังเดิมที่อาศัย ซึ่งทำการสร้างรังตามอาคารสูงที่มีซอกแคบๆ คล้ายดับหน้าผา หรือโขดหินตามธรรมชาติ

• วงศ์ : Columbidae (นกพิราบ และนกเขา)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Columba livia
• ชื่อสามัญ : Rock pigeon หรือ Rock dove

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
นกพิราบมีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป เอเซียตะวันตก และแอฟริกาเหนือ ปัจจุบันพบแพร่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะในแหล่งเมืองหรือชุมชน ซึ่งส่วนมากที่พบเห็นจะเป็นนกพิราบป่า มีจุดเด่น คือ มีขนสีเทาอ่อน

ลักษณะทั่วไป และนิสัย
นกพิราบป่ามีลักษณะทั่วไปคล้ายนกเขา แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่า แต่รูปแบบของขน และสีของลำตัวจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในแต่ละทวีป

นกพิราบมีรูปร่างลำตัวมีขนสีเทาอมฟ้า ปีกแต่ละข้างมีแถบสีดำสองแถบแทรก ขา และเล็บสีแดง เพศผู้มีรูปร่าง ขนาดใหญ่ ตัวสูง มีหัวกะโหลกขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย นิสัยก้าวร้าว ทะเลาะกับตัวผู้ในฝูง แต่ไม่รังแกตัวเมีย ตัวเมียเมื่อยืนอยู่บนพื้นราบเรียบจะเห็นสันกระดูกตรงยาวกว่าตัวผู้ รักความสงบ

เพศนกพิราบ
นกพิราบเพศผู้แตกต่างจากเพศเมีย คือ เพศผู้จะมีลำตัวบึกบึน ตัวใหญ่ และสูงกว่าเพศเมีย รวมถึงมีขนาดของศรีษะที่ใหญ่กว่า และมีนิสัยก้าวร้าว ชอบรังแกนกตัวอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนนกพิราบเพศเมียจะมีแนวสีเส้นด้านหลังทอดเป็นแนวยาวมากกว่าตัวผู้ ส่วนนิสัยนกพิราบเพศเมียจะไม่ก้าวร้าว ยกเว้นช่วงทำรัง และวางไข่ที่มักก้าวร้าวจากการแย่งพื้นที่ทำรัง

สีนกพิราบ เพิ่มเติมจาก[1]
1. สีเทาอ่อนหรือเทาฟ้า เป็นสีพื้นนกพิราบที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในเอเชีย ลำตัวมีสีพื้นหลัง และปีกเป็นสีเทาอ่อนหรือเทาฟ้า และมีแถบสีดำพาดขวางบริเวณปีก


2. สีกระ ลำตัวมีสีพื้นหลัง และปีกคล้ายสีเทาอ่อนหรือเทาฟ้า และมีจุดสีดำกระจายทั่วปีก มีทั้งชนิดที่มีกระดำหนา และบาง


3. สีน้ำตาลหรือโกโก้ มีลักษณะเด่นที่มีลายพาดขวางบริเวณปีกเป็นสีน้ำตาลอมดำหรือโกโก้ เป็นชนิดนกพิราบที่พบได้น้อย


4. สีดำ มีลักษณะเด่น คือ สีขนลำตัว และปีกมีสีดำสนิททั้งตัว


5. สีขาว เป็นนกพิราบผ่าเหล่า มีลักษณะเด่น คือ สีขนลำตัว และปีกมีสีขาวสนิททั้งตัว นัยน์ตามีสีต่างจากนกพิราบชนิดอื่น โดยมีสีดำทึบ

6. สีผสม เป็นนกพิราบที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ สีขนมีหลากหลายสี

ถิ่นอาศัย และการขยายพันธุ์
นกพิราบตามธรรมชาติจะชอบทำรังอาศัยตามซอกของผาหินหรือโขดหิน สร้างรังบนพื้นแข็งตามชอกต่างๆ ไม่ชอบสร้างรังบนต้นไม้ มีอายุเจริญพันธุ์พร้อมผสมพันธุ์ ประมาณ 6-8 เดือน มีคู่ครองตัวเดียว ไม่จับคู่หลายตัว และไม่ยอมจับคู่แม้ว่าคู่จะตายไปแล้วก็ตาม เพศเมียออกไข่ได้ทั้งปี ครั้งละ 2-3 ฟอง ฟองไข่มีสีขาว ทั้งเพศผู้ และเพสเมียจะช่วยกันดูแลไข่หรือลูกนก

อาหารนกพิราบ
อาหารของนกพิราบ คือ เมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว เมล็ดงา เมล็ดทานตะวัน และกินแร่เสริมหรือวัสดุช่วยย่อยเป็นเปลือกหอยหรือกรวดขนาดเล็ก

ความสามารถพิเศษ
นกพิราบสามารถบินออกหาอาหารได้ระยะทางไกลระยะประมาณ 100 ถึง 1000 กิโลเมตร/วัน ความเร็ว 80 ถึง 94.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยการบินของนกพิราบจะไม่ใช้แรงลมแต่ใช้หัว และหาง บังคับทิศทาง นอกจากนี้ ยังใช้ตำแหน่งอาทิตย์ แสงอาทิตย์ รวมทั้งตำแหน่งของดวงจันทร์ จดจำทิศทาง และกำหนดทิศทาง จึงเปรียบเสมือนภายในตัวมีนาฬิกาเปรียบเทียบตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ค่อยบอกมุมของอาทิตย์ อีกทั้ง นกพิราบมีสายตาที่ดี มองเห็นภาพในมุมมองกว้าง 340 องศา ไกลถึง 50 กิโลเมตร ประมวลข้อมูลภาพเร็วกว่ามนุษย์ 3 เท่า

ประโยชน์นกพิราบ
1. นกพิราบใช้เลี้ยงเพื่อความสวยงาม และฟังเสียงขัน เพราะนกพิราบบางชนิดมีลำตัว และสีขนสวยงาม เช่น นกพิราบแฟนซี รวมถึงมีเสียงขันไพเราะคล้ายเสียงนกเขา
2. นกพิราบใช้เลี้ยงเพื่อการแข่งขันความสามารถ อาทิ แข่งขันการบินไกล บินทน บินกลับรัง เป็นต้น ซึ่งนิยมมากในปัจจุบัน
3. นกพิราบเลี้ยงเพื่อการสื่อสารที่เลี้ยงกันมาตั้งแต่สมัยโบราณของจีน แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว
4. นกพิราบเลี้ยงเพื่อรับประทานเนื้อ อาทิ พันธุ์ king และพันธุ์ roman เป็นต้น
5. นกพิราบถูกใช้เป็นสัตว์ตัวแทนแห่งสันติภาพ โดยเฉพาะนกพิราบสีขาว

ข้อเสียนกพิราบ
1. นกพิราบเป็นพาหะนำโรค cryptococcosis ในคนที่เกิดจากเชื้อ C. neoformans.ที่มาจากนกพิราบ มักเกิดกับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ทำให้ปอด และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่หากเกิดในสัตว์อื่น เชื้อโรคจะทำให้ระบบหายใจผิดปกติ มีอาการไอ จาม มีเลือดออกจากจมูก และมักเกิดก้อนเนื้อนูนที่จมูก
2. นกพิราบส่วนใหญ่เข้าอาศัยในเมือง สร้างรังตามซอกอาคารหรือหลังคา ถ่ายมูลกระจายทั่วจนเป็นที่น่ารังเกียจ และเกิดความสกปรก
3. นกพิราบบางส่วนในชนบทมักลงกินเมล็ดข้าวของชาวนาหลังการหว่านข้าว สร้างความเสียหายจนต้องหว่านใหม่

การเลี้ยงนกพิราบ
การเลี้ยงนกพิราบแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. การเลี้ยงเพื่อแข่งในเรื่องการบินหรือบินกลับรัง
2. การเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และเสียงขัน
3. การเลี้ยงเพื่อรับประทานเนื้อ

อุปกรณ์การเลี้ยง
1. กรงเลี้ยง
กรงเลี้ยง เป็นส่วนสำคัญในการกักเลี้ยง ป้องกันไม่ให้นกออกด้านนอก อาจเป็นกรงขนาดเล็กสำหรับเลี้ยงเดี่ยว เช่น ขนาด 1x1x1 เมตร หรือกรงขนาดใหญ่สำหรับเลี้ยงตั้งแต่ 2-3 ตัว ขึ้นไป เช่น ขนาด 2x2x2 เมตร หรือ 2x4x4 เมตร เป็นต้น ด้านบนมุงด้วยสังกะสีหรือสร้างเป็นกรงวางในโรงเรือนขนาดใหญ่ ด้านข้างกรงตอกปิดด้วยมุ้งลวดตาห่าง พื้นด้านล่างเป็นดินทรายหรือโรยด้วยทรายหรือแกลบ

2. รางนอน
รางนอนใช้สำหรับเป็นที่เกาะยืนหรือนอน ทำด้วยแผ่นไม้อัด ขนากว้าง 2-3 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต ตอกพาดกับลำไม้ไว้ตามจุดต่างๆของกรง

3. รังไข่หรือรังหีบ
รังไข่หรือรังหีบใช้สำหรับวางไข่ และกกฟักไข่ ทำด้วยลังไม้ขนาดประมาณ 30x30x30 เซนติเมตร ด้านหนึ่งเจาะรูหรือเปิดเป็นช่องสีเหลี่ยมขนาดพอตัวนกพิราบสำหรับเข้าออก ด้านในรองด้วยเศษหญ้าบางๆ

4. รางอาหาร และรางน้ำ
รางอาหาร และรางน้ำ อาจใช้รางอาหารหรือรางน้ำเลี้ยงไก่ วางไว้บนพื้นเป็นจุดๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนที่เลี้ยง นอกจากนั้น ควรสร้างอ่างน้ำขนาดเล็กหรือใช้ถังปาดก้นวางไว้บนพื้น ก่อนเทน้ำสูงประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใช้สำหรับนกลงเล่นน้ำ

การให้อาหาร และการดูแล
อาหารใช้เลี้ยงอาจเป็นเมล็ดธัญพืชที่หาได้ตามท้องถิ่น เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร เมล็ดข้าวโพดบด เมล็ดถั่วบด และข้าวฟ่าง เป็นต้น หรือใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับนกโดยเฉพาะ ระยะการให้ 2 ครั้ง/วัน วางใส่ถาดอาหาร ส่วนน้ำให้เตรียมไว้ในราง และเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง

ขอบคุณภาพจาก Pantip.com

เอกสารอ้างอิง
[1] บริษัท แอคแซป เอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด, นกพิราบ, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.acceptenvironment.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539324606&Ntype=6/.