นกกระจอก และนกกระจอกบ้าน

35916

นกกระจอก เป็นนกที่พบได้ทั่วไปตามป่า ตามบ้านเรือน ถือเป็นนกที่พบมากเมื่อเทียบกับนกชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะนกกระจอกบ้านที่พบเห็นได้ตามบ้านเรือนหรือแหล่งชุมชน โดยมักเรียกรวมนกกระจอกชนิดอื่นว่า นกกระจอก ทั้งนี้ นกกระจอกที่พบในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
1. นกกระจอกบ้าน (Tree sparrow, Passer montanus)
2. นกกระจอกตาล (Passer flaviolus)
3. นกกระจอกป่าท้องเหลือง (Passer rutilans)
4. นกกระจอกใหญ่ (Passer domestricus)

ลักษณะนกกระจอก
นกกระจกมีลักษณะลำตัวตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ มีขนาดความยาวปีกขึ้นอยู่กับขนาดลำตัว รูปร่างปีกมีลักษณะแหลม มีขน primary จำนวน 10 เส้น สีขนมีสีน้ำตาล และปนด้วยสีอื่นๆ เช่น สีเหลือง สีแดง สีดำ และสีเทา จะงอยปากเป็นกรวยแหลมสั้น เหมาะสำหรับการจิก และกะเทาะเมล็ดธัญพืช

นกกระจอกบ้าน (Passer montanus)
นกกระจอกบ้าน เป็นนกกระจอกชนิดหนึ่งที่พบเห็นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะตามบ้านเรือนหรือแหล่งชุมชน รวมถึงแหล่งต้นไม้ใกล้ชุมชน เป็นนกที่ชอบอาศัย หาอาหาร และทำรังใกล้กับแหล่งที่มนุษย์อาศัยจึงเรียกว่า นกกระจอกบ้าน

Tree sparrow

นกกระจอกบ้านมีการกระจายพันธุ์มากในทุกทวีป โดยเฉพาะทวีปยุโรป และทวีปเอเชีย สำหรับประเทศไทย นกกระจอกบ้านถือเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในเขตที่มีการตั้งถิ่นฐานชุมชน

มีการจัดอนุกรมวิธาน ดังนี้
kingdom : Animalia
Phylum : Chordata
Class : Aves
Order : Passeriformes
Family : Pocecidae
Genus :Passer
Species : Passer montanus

ลักษณะรูปร่าง
ลำตัวมีความยาวประมาณ 5.5 นิ้ว ลำตัว และปีกมีลักษณะป้อมสั้น ปลายหางหยักเล็กน้อย ขนที่ปกคลุมลำตัวมีสีดำ บริเวณกระหม่อมมีสีน้ำตาลเข้มทอดยาวไปถึงท้ายทอย บริเวณแก้มมีสีขาว และมีแถบสีดำปนเป็นทางยาวพาดจากใต้คอลงถึงหน้าอก รูปร่างของปากมีลักษณะเป็นจะงอยหนาเหมาะสำหรับการจิก และกระเทาเมล็ดธัญพืช

ลักษณะลำตัว และสีของนกกระจอกบ้านที่พบจะมีลักษณะเหมือนนกกระจอกใหญ่ (Passer domestricus) ซึ่งบางครั้งมักพบอาศัยอยู่รวมกันทำให้สังเกตความแตกต่างได้ยาก แต่สามารถแยกแยะได้ที่ขนาดลำตัวของนกกระจอกบ้านจะมีขนาดเล็กกว่านกกระจอกใหญ่ และบริเวณแก้มของนกกระจอกบ้านจะมีสีดำ ส่วนนกกระจอกใหญ่จะไม่มี ช่วงต่อระหว่างคอกับอกมีสีดำที่เล็กกว่านกกระจอกใหญ่ โดยเพศของนกกระจกบ้านทั้งเพศผู้ และเพศเมียมีลักษณะไม่แตกต่างกัน ส่วนเพศของนกกระจอกใหญ่จะมีลักษณะแตกต่างกัน โดยเพศผู้ที่ส่วนบนสุดของหัวจะมีสีเทา ช่วงต่อระหว่างคอกับอกมีสีดำ ส่วนเพศเมียด้านบนสุดของหัวมีสีน้ำตาล ช่วงต่อระหว่างคอกับอกมีสีดำเหมือนกัน

แหล่งอาศัย
นกกระจอกบ้าน เป็นนกที่สามารถปรับตัวเข้ากับคน และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดี เช่น เมื่อสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจะพบนกชนิดอื่นบางชนิดจะไม่สามารถอาศัยในแถบชุมชนได้จำเป็นต้องอพยพไปอาศัยในแหล่งที่อยู่ใหม่ แต่พบว่า นกกระจอกบ้านยังสามารถอาศัยอยู่บริเวณเดิมได้อย่างปกติ

นกกระจอกบ้านมักพบทำรังตามต้นไม้รอบชุมชนหรือบ้านเรือนที่มีช่องลมหรือช่องว่างของบ้าน และมักบินหาอาหารเป็นคู่ๆ ส่วนการหาอาหารในบางพื้นที่นอกชุมชน เช่น พื้นที่ไร่ นาข้าว หรือทุ่งหญ้า มักพบนกกระจอกบ้านบินหาอาหารรวมกันเป็นฝูงใหญ่

การหาอาหาร และแหล่งอาหาร
อาหารของนกกระจอกบ้านที่สำคัญจะเป็นเมล็ดธัญพืชทุกชนิดที่ไม่มีพิษ โดยเฉพาะเมล็ดข้าวที่สามารถหากินได้ง่ายตามไร่นา จึงถือว่า นกกระจอกบ้านเป็นนกศัตรูข้าวที่สำคัญชนิดหนึ่งของชาวนา นอกจากเมล็ดธัญพืชแล้วยังมีอาหารชนิดอื่น เช่น หนอน และแมลงขนาดเล็กที่ไม่มีพิษ

พฤติกรรมการกินอาหารจะแย่งกัน ในทิศทางที่ไม่แน่นอนตามแหล่งของหาอาหารที่กระจัดกระจาย เมื่อมีสิ่งรบกวนหรือมีภัยเข้าใกล้ตัวจะบินหนีรวมกันเป็นฝูง

การผสมพันธุ์ และการทำรัง
ฤดูผสมพันธุ์ของนกกระจอกบ้านจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ตัวผู้จะทำตัวเป็นจุดเด่น ยืนหัวตั้งตรงเป็นสง่ามีการสั่นปีก และหางยกขึ้น เพื่อดึงดูดตัวเมีย ส่วนตัวเมียจะมีพฤติกรรมอ่อนตัวอยู่ใกล้ตัวผู้ และร้องเสียงเบาๆ ทรี ทรี ทรี  เพื่อยอมรับการผสมพันธุ์ของตัวผู้

การทำรังของนกกระจอกบ้าน มักทำรังตามต้นไม้หรือช่องว่างตามบ้านเรือนทั่วไป รังมีลักษณะไม่ปราณีต เป็นทรงกลม ห่อหุ้มมิดชิด มีช่องเข้าออกขนาดหลอมตัว 1 ช่อง  วัสดุที่ใช้ทำรังจะเป็นหญ้าสดหรือหญ้าแห้ง กิ่งไม้ขนาดเล็ก และขนนก ที่หาได้ง่ายใกล้แหล่งทำรัง

Tree sparrow2

การวางไข่ของนกกระจอกบ้านจะวางไข่ประมาณ 2-8 ฟอง แต่ส่วนใหญ่มักพบมีประมาณ 5 ฟอง และในจำนวนนี้จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนประมาณ 2-3 ฟอง เท่านั้น โดยมีการกกไข่ช่วยกันทั้งเพศผู้ และเพศเมีย ระยะเวลาการกกไข่ประมาณ 10-14 วัน ใน 1 ปี จะวางไข่ประมาณ 2-4 ครั้ง เมื่อไขฟักออกมา พ่อแม่นกกระจอกบ้านจะขนเปลือกไข่ทิ้งออกนอกรังหรือบางครั้งอาจพบจิกกินเป็นอาหาร ส่วนลูกนกที่ออกจากไข่ครั้งแรกจะไม่มีขน และจะได้รับอาหารจากพ่อแม่นกจนมีอายุได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงสามารถบินออกจากรังได้

Tree sparrow1

ประโยชน์ของนกกระจอกบ้าน
– เป็นนกที่คอยจับกินแมลงศัตรูพืชในแปลงเกษตรได้ดี
– สามารถจิกกินเศษอาหารขนาดเล็กทำให้เกิดความสะอาดในสถานที่ต่างๆ
– ในบางพื้นที่มีการนำนกกระจอกมาประกอบอาหาร

ผลเสียต่อมนุษย์
– เป็นนกที่จัดเป็นศัตรูทางการเกษตรชนิด เนื่องจากชอบจิกกินเมล็ดธัญพืชในแปลงเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด งา ถั่ว เป็นต้น
– ชอบทำรังตามซอกภายในบ้านทำให้เกิดความสกปรก และรกรุงรัง รวมถึงเป็นแหล่งล่อสัตว์มีพิษเข้าบ้าน เช่น งู รวมถึงสัตว์อื่นที่กินไข่หรือตัวนกกระจอกเป็นอาหาร
– ชอบถ่ายอุจจาระตามพื้นที่ต่างๆทำให้เกิดความสกปรก
– ชอบส่งเสียงร้องดังจนทำให้เกิดความรำคาญ