ตะพาบน้ำ

41367
ตะพาบแก้มแดง

ตะพาบน้ำ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่นิยมนำมาประกอบอาหารรับประทานชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบในอาหารแปลกๆหรืออาหารป่า ซึ่งสามารถหารับประทานได้ในเฉพาะบางร้านเท่านั้น และขายกันในราคาแพงพอสมควร

ลักษณะทั่วไป
ตะพาบน้ำมีกระดองหลังแบนราบ และเป็นรูปรีเล็กน้อย ผิวกระดองเรียบ แต่มีกระดองที่มีลักษณะนิ่มค่อนข้างมาที่ปราศจากแผ่นแข็ง และรอยต่อ ตะพาบน้ำมีหัวค่อนข้างใหญ่ มีคอยาว ปากแหลม มีกามแข็งแรง และมีขากรรไกรแหลมคม ส่วนขามี 4 ขา มีลักษณะใหญ่สั้น แต่ละขามี 3 นิ้ว แต่ละนิ้วมีพังผืดเชื่อมติดกันช่วยทำหน้าที่เป็นใบพายสำหรับว่ายน้ำ ตะพาบน้ำตัวผู้จะมีลักษณะลำตัวเรียวยาว และบางกว่าตัวเมีย รวมถึงส่วนหางจะยาวกว่าตัวเมีย ส่วนตัวเมียจะลำตัวอ้วนใหญ่ และมีกระดองที่สากกว่า แต่มีส่วนหางที่สั้นกว่าตัวผู้ การเจริญพันธุ์ ตะพาบน้ำตัวเมียเริ่มให้ไข่ได้เมื่ออายุประมาณปีเศษ แต่จะให้ไข่ที่สมบูรณ์ และฟักออกมาเป็นตัวได้ดีเมื่ออายุ 1.8 ปี ขึ้นไป หากไข่ผสมเมื่ออายุต่ำกว่านี้ ไข่จะไม่ค่อยสมบูรณ์ การฟักจะมีไข่เสียมาก

การดำรงชีพ
ตะพาบน้ำพบอาศัยในแหล่งน้ำจืดทั่วไปที่เป็นน้ำนิ่ง และมีสภาพเป็นโคลนตม โดยกำดำรงชีพส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในน้ำเป็นหลัก และจะขึ้นมาบนบกในบางครั้ง เพื่ออาบแดด และวางไข่ ขณะอยู่ในน้ำ ตะพาบน้ำจะอาศัยอวัยวะที่เรียกว่า Vascularpharyngeal cavity สำหรับทำหน้าที่คล้ายเหงือกในการหายใจ ตะพาบน้ำเป็นสัตว์ที่ไม่มีอวัยวะสำหรับป้องกันตัวเอง จึงมีนิสัยชอบหลบซ่อนตัวทั้งในน้ำ หรือในโคลนตมหรือดินทรายที่ชอบโผล่เฉพาะส่วนตาออกมาเท่านั้น

การผสมพันธุ์ของตะพาบน้ำจะใช้ตะพาบน้ำตัวผู้น้อยกว่าตะพาบน้ำตัวเมีย ในอัตราส่วน 1 : 5 และอายุของตะพาบน้ำเพียงปีเศษก็เริ่มให้ไข่แล้ว แต่ในระยะดังกล่าวจะให้ไข่ในปริมาณที่น้อย ซึ่งตะพาบน้ำจะสมบูรณ์ให้ไข่เต็มที่ในช่วงอายุ 2 ปี ขึ้นไป

ตะพาบน้ำเมื่อถึงฤดูวางไข่ ตัวผู้ และตัวเมียจะผสมพันธุ์กันในน้ำ และจะเริ่มวางไข่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน โดยตัวเมียที่เริ่มวางไข่จะขึ้นมาบนบก และหาเนินทรายสำหรับการวางไข่ ซึ่งเวลาวางไข่จะอยู่ในช่วงกลางคืน โดยการใช้เท้าหลังขุดหลุมลึกประมาณ 20 ซม. หลุมกว้างประมาณ 25 ซม. และหลังวางไข่เสร็จจะใช้เท้าหลังเขี่ยดินกลบไว้ตามเดิม

การวางไข่แต่ละครั้ง ตัวเมียจะวางไข่ได้ประมาณ 5-7 ฟอง/หลุม แต่ละฟองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 ซม. ใช้เวลาการวางไข่ประมาณ 20 นาที และ 1 ช่วงฤดูวางไข่จะวางไข่ได้ประมาณ 100-200 ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์เพศของตัวเมีย หลังจากวางไข่แล้ว

ไข่จะฟักเป็นตัวประมาณ 90 วัน หลังวางไข่ มีน้ำหนักแรกฟักประมาณ 6.8 กรัม ขนาดลำตัวประมาณ 2 ซม. หลังจากฟักออกแล้วลูกตะพาบน้ำจะวิ่งลงสู่แหล่งน้ำทันที

อาหารตะพาบน้ำจะเป็นสัตว์หน้าดิน และสัตว์น้ำขนาดเล็กต่างๆ อาทิ ไส้เดือน กุ้ง หอย ปลาขนาดเล็ก เป็นต้น นอกจากนั้น ตะพาบน้ำยังกินซากสัตว์เน่าเปื่อยต่างๆ รวมถึงพืชบางชนิด เช่น ผักบุ้ง เป็นต้น สำหรับการหาอาหารจะชอบอยู่นิ่ง และหดหัวเข้าในกระดองเพื่อคอยหุบเยื่อ โดยใช้ส่วนหัวที่ยืดยาวได้ และยื่นหุบเหยื่ออย่างรวดเร็ว

พันธุ์ตะพาบน้ำ (รัชนี ทุมวงศ์, 2546)(1)
ตะพาบน้ำมีมากว่า 36 ชนิด แต่พบในประเทศไทยเพียง 6 ชนิด คือ
1. ตะพาบน้ำ หรือ เรียกชื่ออื่น เช่น ตะพาบสวน และปลาฝา (ภาคเหนือ) เป็นตะพาบชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทย และพบได้ในทุกภาค

2. ตะพาบข้าวตอก หรือ ตะพาบดาว เป็นชนิดที่พบได้น้อย และพบได้เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น

3. ตะพาบแก้มแดง หรือภาคอีสานมักเรียกเหมือนตะพาบน้ำของภาคเหนือว่า ปลาฝา ถือเป็นตะพาบน้ำที่มีขนาดลำตัวเล็กที่สุด พบได้มากในภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคอีสาน ซึ่งในภาคอีสานจะมีสีคล้ำกว่าทางภาคใต้

ตะพาบแก้มแดง
ตะพาบแก้มแดง

4. ตะพาบหัวกบหรือเรียกชื่ออื่น กริวดาว และกราวเขียว เป็นตะพาบที่มีขนาดใหญ่ และพบได้ในที่ลุ่มในทุกภาค

ตะพาบหัวกบ
ตะพาบหัวกบ

5. ตะพาบน้ำม่านลาย หรือชื่ออื่น อาทิ กริวลาย และกราวด่าง เป็นตะพาบชนิดที่มีขนาดลำตัวใหญ่ที่สุด และเป็นตะพาบชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบได้ในแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี และแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นตะพาบที่มีลำตัวสวยงาม

ตะพาบม่านลาย
ตะพาบม่านลาย

6. ตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวัน ตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวันมีกระดองรูปรีเล็กน้อย โครงร่างแบน ผิวกระดองเรียบ มีกระดองส่วนที่นิ่ม (เชิง) ค่อนข้างมาก ส่วนหัวใหญ่ และมีคอยืดยาวได้มากจนเกือบสุดกระดองหลัง ส่วนปากมีลักษณะแหลม มีกรามที่แข็งแรง และฟันแหลมคม ที่นิ้วมีพังผืดเป็นใบพาย

ตะพาบน้ำไต้หวันเมื่อวัยอ่อนจะมีกระดองสีเขียวเข้ม ส่วนท้องมีสีส้ม และดำสลับกัน 5-6 แถบ เมื่อโตเต็มวัยจะมีกระดองสีเหลืองอมเขียว ตรงกลางกระดองมีรอยขีดขวางในแนวเฉียง 6-7 ขีด และด้านท้องจะอ่อนนุ่ม มีสีขาวอมชมพู หรือสีเหลืองอ่อน และมีนิสัยค่อนข้างดุร้าย

ตะพาบน้ำไต้หวัน

ตะพาบน้ำที่พบในประเทศไทย 4 ชนิด ยกเว้นตะพาบหรือปลาฝา และตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวัน อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ จึงถูกจัดให้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์น้ำสงวนและคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทยที่นิยมเลี้ยงมี 2 พันธุ์ คือ ตะพาบน้ำพันธุ์ไทย Trionyx cartilageneus หรือ ที่คนไทยเรียกกันว่า “ตะพาบ” และตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวัน Pelodiscus sinensis

ประโยชน์ทางอาหารตะพาบน้ำ
1. กระดองตะพาบน้ำ การแพทย์แผนจีนเชื่อว่ากระดองตะพาบมีธาตุยางเหนียว โปรตีนไอโอดีน และวิตามินต่างๆ มีสรรพคุณแก้ร้อนใน สมานตับแก้การแข็งตัวเป็นตุ่มไตและมักเป็นตัวยาสำคัญในตำราแก้มะเร็งด้วย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณแก้ตับแข็ง แก้ถุงน้ำดีบวมอักเสบควบคุมกำหนดการมีประจำเดือน ตลอดจนประจำเดือนออกไม่หยุด บรรเทาการสะดุ้งกลัวของทารก
2. เนื้อตะพาบ มีสรรพคุณบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง เพิ่มกล้ามเนื้อและทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เป็นประเภทยาอายุวัฒนะ
3. เลือดตะพาบ มีสรรพคุณบำรุงโลหิตและร่างกายรักษาโรคหัวใจ ใจสั่น หายใจไม่สะดวก วิงเวียน ตาลาย แก้โรคกระเพาะลำไส้ แก้เด็กตัวร้อน ผอมเหลือง แก้ปอดอักเสบ รูมาติซัม ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับย่อยอาหาร แก้อาการจับไข้ เป็นบิด ท้องร่วง หูรูดทวาร หย่อนยาน แก้โรคโลหิตขาว โลหิตจาง หน้าเขียว ตัวเย็นเพราะขาดเลือด นอกจากนี้ยังใช้เลือดตะพาบน้ำ ทาใบหน้าเพื่อรักษาโรคประสาทหน้าชาไม่มีความรู้สึกการแพทย์ญี่ปุ่นใช้เลือดตะพาบน้ำผสม น้ำผึ้งรับประทาน แก้โรคเบาหวาน
4. เครื่องใน เครื่องในของตะพาบน้ำใช้ปรุงเป็นยารักษาโรค บางชนิด โดยเฉพาะโรคทางเดินระบบหายใจ เช่น หอบหืด ดีของตะพาบน้ำในตำหรับไทยโบราณ แก้ลมวิงเวียน

ประโยชน์ตะพาบน้ำในทางการค้า
1. ลูกตะพาบน้ำ สำหรับผู้เลี้ยงภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ
2. ตะพาบน้ำมีชีวิต ผู้บริโภคในประเทศและส่วนใหญ่ส่งต่างประเทศ
3. ตะพาบน้ำอบแห้งทั้งตัว เป็นการแปรรูปด้วยการผ่าเอาเครื่องในทั้งหมดออกแล้วอบแห้งทั้งตัว (ตะพาบน้ำมีชีวิต : ตะพาบน้ำอบแห้ง = 4:1 ) ผลิตภัณฑ์ประเทศนี้มีบริโภคในประเทศญี่ปุ่น
4. ตะพาบน้ำแปรรูปเป็นผงและบรรจุแคปซูลเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

ประเภทการเลี้ยงตะพาบน้ำ
1. การผลิตลูกตะพาบ ฟาร์มเพาะฟักเพื่อการผลิตลูกตะพาบน้ำกระจายอยู่ตามแหล่งที่มีการเลี้ยงค่อนข้างมาก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และชลบุรี การเพาะฟักลูกตะพาบน้ำส่วนใหญ่ใช้พ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีครึ่งขึ้นไปจนถึง 6 ปี ใช้สัดส่วนตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 5 ตัว ปริมาณการออกไข่เฉลี่ยระหว่าง ตัวละ 20-25 ฟอง ใช้ระยะเวลาในการฟักไข่ประมาณครั้งละ 50 วัน ช่วงการฟักหรือผลิตลูกตะพาบน้ำปีละ 8 เดือน (ก.พ-ก.ย) และหนาแน่นในช่วง 3 เดือน คือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ลูกตะพาบน้ำหลังการฟักไข่ มีขนาดประมาร 2 ซม. ทางผู้เลี้ยงจะทำการอนุบาลลูกตะพาบน้ำก่อนการส่งขายให้ผู้เลี้ยงภายในประเทศ และบางส่วนส่งออกไปตลาดต่างประเทศ
2. การเลี้ยงตะพาบเนื้อ มีทั้งการเลี้ยงในบ่อดิน และในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงในบ่อดินมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 8-12 เดือน ผลผลิตตะพาบน้ำตามความต้องการของตลาดโดยทั่วไปมีขนาดตั้งแต่ตัวละ 0.45 กก. ขึ้นไป แต่การซื้อขายตะพาบน้ำในท้องตลาดปัจจุบัน แบ่งออกได้ 3 ขนาดหลัก ขนาดใหญ่ น้ำหนักระหว่าง 0.5-1.0 กก./ตัว ขนาดกลางน้ำหนักระหว่าง 0.3-0.5 กก./ตัว ขนาดเล็กน้ำหนักน้อยกว่า 0.3 กก./ตัว

โรคตะพาบน้ำ
โรคของตะพาบน้ำที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียส่วนใหญ่จะทำให้ตะพาบน้ำมีลักษณะตัวบวม คอบวม ท้องแดงเป็นจ้ำ บางตัวมีเลือดออกจากปากและจมูก บางตัวมีแผล หรือหลุมตามกระดอง ส่วนโรคของตะพาบน้ำที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อราจะทำให้ตะพาบน้ำจะมีปุยสีขาวขึ้นทั้งตัว และมีผลให้ตะพาบน้ำกินอาหารน้อยลง โรคเชื้อราจะรักษาไม่ค่อยหายต้องแยกตะพาบน้ำที่ป่วยออกจากตัวอื่น

โรคของตะพาบน้ำที่มาสาเหตุจากการติดเชื้อรานี้พบในฟาร์มที่ไม่ค่อยเปลี่ยนถ่ายน้ำ มีผักตบชวาเน่าในบ่อมาก ตะพาบน้ำที่ได้รับอาหารที่มีโปรตีนต่ำ (25 – 35%) จะมีลำตัวผอม นอกจากนั้น การเลี้ยงตะพาบน้ำด้วยอาหารสด เช่น ปลาเป็ด หอยเชอรี่ อาจทำให้ตะพาบน้ำเป็นโรคพยาธิภายในได้ ส่วนแบคทีเรียที่พบมากที่สุดบริเวณแผลและอวัยวะภายในของตะพาบน้ำที่มีอาการตัวบวม ท้องแดงเป็นจ้ำ มีแผลหรือเป็นหลุมบนกระดอง คือ Aeromonas Hydrophila

เอกสารอ้างอิง

1