ตะกวด ญาติตัวเงินตัวทองที่คนอีสานรับประทาน

28543

ตะกวด (Clouded Monitor) เป็นสัตว์ที่เป็นญาติกับตัวเงินตัวทอง แต่คนมักเข้าใจว่าเป็นตัวเงินตัวทอง เพราะมีขนาดใกล้เคียงกัน และมีลักษณะคล้ายกัน แต่แท้จริงแล้วจะมีจุดแตกต่างกันที่ลาย และสีของหนังลำตัว โดยในประเทศไทยสามารถพบได้ในทุกภาคตามป่าดิบชื้น พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงแปลงนาหรือแปลงเกษตรต่างๆ

อนุกรมวิธาน
• Kingdom : Animalia
• Phylum : Chordata
• Class : Reptilia
• Order : Squamata
• Family : Varanidae
• Genus : Varanus (monitor lizards)
• Species : Varanus bengalensis

ตะกวดมี 2 ชนิด คือ
1. Varanus bengalensis bengalensis
ตะกวดชนิดนี้ มีชื่อภาษาอังกฤษ คือ Bengal Monitor เป็นชนิดที่พบใน บริเวณประเทศอิหร่าน ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล อินเดีย พม่า และเกาะสุมาตรา
2. Varanus bengalensis nebulosis
ตะกวดชนิดนี้ มีชื่อภาษาอังกฤษ คือ Clouded Monitor เป็นชนิดที่พบในประเทศไทย พม่า เวียดนาม และลาว คนอีสานมักเรียกว่า แลน ซึ่งเรียกเหมือนกับ แลนดอน ซึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่งในวงศ์ตะกวดที่มีขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลือง ซึ่งชอบอาศัยบนต้นไม้ตามป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณ

การแพร่กระจาย
ตะกวด Clouded Monitor ในประเทศไทยสามารถพบได้ในทุกภาค โดยชอบอาศัยตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าดิบชื้น แปลงเกษตร ป่าชายเลน ซึ่งชอบปีนป่าย และหลบอาศัยบนต้นไม้ รวมถึงชอบหลบอาศัยในโพรงไม้ขนาดใหญ่

ลักษณะทั่วไป
ตะกวด Clouded Monitor มีลำตัวมีลักษณะเด่น คือ เป็นสัตว์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับตัวเงินตัวทอง ส่วนหัวมีลักษณะแบนราบ และเรียวไปทางปาก ปลายจมูกค่อนข้างยาว มีรูจมูกอยู่ใกล้ตา ลำคอมีขนาดใหญ่ มีลายบั้งสีดำที่ลำคอ 3-4 ลาย ปากมีฟัน 10-12 ซี่ หนังลำตัวจะมีสีเหลืองหม่นหรือดำม่น ปละมีประสีขาวขนาดเล็กทั่วลำตัว ซึ่งจะไม่มีลายดอกขวางลำตัวเหมือนกับตัวเงินตัวทอง และหัวแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะใช้แยกความต่างกันได้ ส่วนหางค่อนข้างยาว มีรูปทรงสามเหลี่ยม

เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดความยาวจากปากถึงโคนหางประมาณ 50-75 เซนติเมตร และมีหางยาวประมาณ 70-100 เซนติเมตร และขนาดลำตัวที่พบทั่วไปในประเทศไทยประมาณ 1.2-1.7 เมตร

ตะกวด

ขอบคุณภาพจาก mblog.manager.co.th

อาหาร และการกินอาหาร
ตะกวด เป็นสัตว์ที่ชอบอาศัย และอาหารบนบกมากกว่า ในน้ำ มีอาหารสำคัญเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พวกกบ อึ่งอ่าง เขียด ปลา จิ้งเหลน กิ้งก่า นก หนู ไส้เดือน และแมลงชนิดต่างๆ ซึ่งจะชอบใช้ปากขุดคุ้ยอาหารอาหาร มักออกหาอาหารเป็นพื้นที่กว้าง และห่างไกลจากแหล่งพักอาศัย

การวางไข่
ตะกวดเป็นสัตว์ที่วางไข่บนดิน โดยเฉพาะบริเวณจอมปลวกขนาดใหญ่ การวางไข่แต่ละครั้งจะวางไข่ประมาณ 10-25 ฟอง ซึ่งจะใช้ขาขุดหลุมลึกก่อนจะวางไข่ และกลบดินถม

ประโยชน์ตะกวด
1. ในบางจังหวัดของภาคอีสานนิยมนำเนื้อตะกวดมาประกอบอาหาร เนื้อค่อนข้างเหนียว มีกลิ่นหอม และรสชาติอร่อย คล้ายกับเนื้อไก่
2. หนังตะกวดใช้ทำกระเป๋าหรือเครื่องหนังต่างๆ
3. บางพื้นที่ของอีสานมักใช้ตะกวดสำหรับทำนายฝนฟ้าว่าจะดีหรือไม่ดี

ข้อเสียตะกวด
1. ตะกวดมักสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรที่เลี้ยงเป็ด ไก่ เพราะตะกวดมักเข้าจับกินเป็ด ไก่ของเกษตรกรเป็นประจำ