ไก่งวง และการเลี้ยงไก่งวง

19446

ไก่งวง (Turkey) เป็นไก่ที่ชาวต่างชาวนิยมรับประทาน โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่นิยมนำมาประกอบอาหารอย่างมากในวันเทศกาลต่างๆ เช่น วันคริสต์มาส และวันที่เรียกว่า Thanksgiving Day ซึ่งเป็นวันที่ชาวอเมริกันทำการรำลึกถึงคุณของพระเจ้า โดยวันนี้จะตรงกับวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งในวันนี้มักมีไก่งวงจำหน่ายไม่เพียงพอกับความต้องการ

อนุกรมวิธาน
• Class : Aves
• Order : Galliformes
• Family : Meleagrididae
• Genus : Meleagris
• Species : gallopavo

ประวัติไก่งวง
ไก่งวงดั้งเดิมเป็นไก่ป่า ที่พบ 2 ชนิด คือ Meleagris gallopavo พบบริเวณตอนเหนือ และตอนกลางของทวีปอเมริกา และ Agriocharis ocellata พบบริเวณประเทศเม็กซิโก และอเมริกากลางตอนเหนือ

ลักษณะของไกงวงป่า ตัวผู้จะมีน้ำหนัก 50-60 ปอนด์ บริเวณคอ และหัวมีลาย คอมีเหนียง มีต่างหูสีสดใสห้อยลงมาตั้งแต่จงอยปาก และห้อยลงมาทางด้านข้าง ต่างหูนี้สามารถหดหรือขยายตัวได้ ตัวผู้มีกระจุกขนสีดำแข็งบริเวณตรงหน้าอก ขนลำตัวสามารถพองออกได้เหมือนกับนกยูง ขนเป็นมันเงา บริเวณแข้งมีเดือย

มีการค้นพบซากกระดูกของไก่งวงป่าบริเวณในมลรัฐเทนเนสซี่ของสหรัฐ ซากมีอายุประมาณ 1000 ปี ก่อนคริสกาล

ไก่งวงสีบรอนซ์ถูกนำเข้ามาเลี้ยงครั้งแรกในยุโรปภายหลังจากที่สเปนได้ยึดครองประเทศเม็กซิโก ค.ศ. 1519 จนเป็นที่รู้จักของคนในยุโรป หลังจากนั้น ไก่งวงสีบรอนซ์ก็ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในทวีปอเมริกาอีกครั้ง โดยผู้อพยพชาวอเมริกันชุดแรกผ่านทางรัฐด้านตะวันออกของทวีปอเมริกา

การพัฒนาไก่งวงสีบรอนซ์
ในปี ค.ศ. 1927 ชาวแคนาดาชื่อ Jesse Throsel จังหวัด British Columbia ได้พัฒนาไก่งวงสีบรอนซ์ที่นำมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1920 ให้มีสัดส่วนเนื้อที่กินได้มากขึ้น จนได้พันธุ์ที่เรียกว่า Broad Breasted Brown (B.B.B) ที่มีสีเอกลักษณ์ คือ สีบรอนซ์ออกน้ำเงิน ซึ่งจัดเป็นไก่งวงพันธุ์ใหญ่

ในปี ค.ศ. 1935 สหรัฐอเมริการได้นำเข้าไก่งวงพันธุ์ B.B.B มาเลี้ยง จนถึงปี ค.ศ. 1939 ได้มีการเลี้ยงมากเกือบทุกมลรัฐ และมีการพัฒนาพันธุ์มาเรื่อยจนได้พันธุ์ Broad Breasted Large White (B.B.L.W) และพันธุ์ Beltsville Small White White (B.S.W) ซึ่งทั้ง 3 พันธุ์เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากในสหรัฐ และสมาคมสัตว์ปีกแห่งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดลักษณะมาตรฐานของไก่งวงไว้ 7 ชนิด ได้แก่ บรอนซ์ (Bronze), ไวท์ฮอล์แลนด์ (White Halland), บอร์บอนเรด (Broubon Red), นาราแกนแซท (Naragansett), ดำ (Black), สาเลท (Slate) และเบลท์สวิลล์ (ฺBeltsville) (เทอดศักดิ์ และคณะ, 2530)(1)

พันธุ์ไก่งวงที่นิยมเลี้ยง
การเลี้ยงไก่งวงในประเทศไทยยังถือว่าไม่ค่อยนิยม เนื่องจาก คนไทยไม่นิยมรับประทานเนื้อไก่งวง สำหรับไก่งวงที่เลี้ยงในปัจจุบัน เป็นพันธุ์ที่พัฒนามาจากไก่งวงป่าชนิด Meleagris gallopavo

พันธุ์ไก่งวงที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย ได้แก่ นอร์ฟอล์กแบล็ค แมมโมท, อเมริกันบรอนซ์, เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์, บริทิชไวท์ และไก่งวงพันธุ์ผสม

ไก่งวงอเมริกันบรอนซ์ (American Bronze)
ไก่งวงพันธุ์นี้จัดเป็นไก่งวงสายพันธุ์ใหญ่ มีขนสีบรอนซ์ปนน้ำตาลดำ ปลายขนสีขาวเล็กน้อย แข้ง และนิ้วเท้าสีเทาอ่อนปนชมพูซีด ตามีสีน้ำตาล จงอยปากมีสีเทาอ่อน มีความสามารถอาศัยหากินตามธรรมชาติได้ดี มีอาหารตามธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร แมลง สัตว์ในดิน และหญ้า ให้ผลผลิตไข่ประมาณ 70 ฟอง/ตัว/ปี เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 9 กิโลกรัม โดยตัวผู้หนุ่มให้น้ำหนักประมาณ 9 กิโลกรัม ตัวเมียสาวประมาณ 7 กิโลกรัม

American Bronze

ไก่งวงเบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ (Beltsville small White)
เป็นพันธุ์ไก่งวงขนาดเล็กถึงปานกลาง หนัง และขนมีสีขาว แข้ง และนิ้วเท้ามีสีชมพูซีด ตามีสีน้ำตาล จงอยปากมีสีเทาอ่อน หน้าอกมีขนาดใหญ่ ไก่งวงพันธุ์นี้มีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมาก และให้รสชาตที่อร่อย เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติได้ดี ปริมาณไข่ 80 ฟอง/ตัว/ปี น้ำหนักที่เติบโตเต็มที่ของตัวผู้ประมาณ 7.7 กิโลกรัม ตัวเมีย 5 กิโลกรัม โดยตัวผู้วัยหนุ่มมีน้ำหนักประมาณ 6.7 กิโลกรัม ตัวเมียวัยสาวประมาณ 4 กิโลกรัม

Beltsville Small White

การเลี้ยงไก่งวง
1. การเลี้ยงตามธรรมชาติ
เป็นรูปแบบการเลี้ยงไก่งวงด้วยการปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ด้วยการเลี้ยงในแปลงหญ้าหรือการปล่อยเลี้ยงตามทุ่ง แต่จะให้อาหารเสริมบ้างในบางครั้ง เช่น รำข้าว ข้าวโพด ปลาขนาดเล็ก หรืออาหารสำเร็จรูป รวมถึงอาหารหรือเศษอาหารจากครัวเรือน โดยอาจมีการผสมกับพืชผักที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ผักบุ้ง หยวกกล้วย ซึ่งในบางท้องที่มักเลี้ยงไก่งวงร่วมด้วยกับการเลี้ยงไก่ประเภทอื่น

ตัวอย่างอาหารทีี่เกษตรกรเสริมให้แก่ไก่งวง ได้แก่ การใช้หญ้า ผักบุ่ง และหยวกกล้วย อย่างละ 1 ส่วน ผสมกับมันสำปะหลัง 1 ส่วน รำ 4 ส่วน และปลาป่นหรือปลาขนาดเล็ก 1 ส่วน นอกจากนั้น อาจใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสมด้วย เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน เหงือกปลาหมอ เป็นต้น

2. การเลี้ยงในโรงเรือน
การเลี้ยงไก่ในโรงเรือน เป็นรูปแบบการเลี้ยงด้วยการจำกัดบริเวณภายในโรงเรือน โดยเกษตรกรต้องคอยอาหารให้แก่ไก่งวงเป็นประจำ โดยมีอัตราการปล่อยเลี้ยงที่ 1 ตัว/ตารางเมตร พื้นโรงเรือนให้รองด้วยวัสดุ เช่น แกลบ ฟางสับหรือขี้เลื่อย ปูหนา 2-3 นิ้ว และจัดหารางน้ำประจำในแต่ละจุด

การอนุบาลลูกไก่งวง
ลูกไก่งวงจะฟักออกจากไข่หลังใช้เวลาฟักประมาณ 30 วัน เมื่อลูกไก่งวงฟักแล้ว 1-2 วัน ให้นำลูกไก่แยกออกจากแม่ไก่ใส่ในคอกอนุบาลที่มีหลอดไฟ รางอาหาร และรางน้ำเตรียมไว้ ทั้งนี้ ให้จัดหาวัสดุสำหรับคลุมคอก และเปิดไฟทิ้งไว้ในเวลากลางคืน โดยอาหารในระยะนี้จะให้อาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก แต่หากเกษตรกรมีทุนไม่สูงก็จะให้รำผสมกับพืชผักสับ และปลาสับ และเมื่อเลี้ยงไปแล้ว 15-20 วัน ก็สามารถนำออกปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติหรือปล่อยเลี้ยงในโรงเรือนได้

อาหารใช้เลี้ยงไก่งวง
อาหารใช้เลี้ยงไก่งวงในโรงเรือนจะเหมือนกับอาหารเสริมที่ให้แก่ไก่งวงที่เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ได้แก่ การผสมพืชผักตามธรรมชาติกับรำข้าว และปลาป่น นอกจากนั้น อาจใช้อาหารเลี้ยงไก่สำเร็จรูปก็ได้

สูตรอาหารไก่งวงระยะเล็ก
– ปลายข้าว 30 กิโลกรัม
– รำละเอียด 10 กิโลกรัม
– รำหยาบ 3 กิโลกรัม
– กากถั่วเหลือง 50 กิโลกรัม
– ปลาป่น 4 กิโลกรัม
– พืชผักสับ 3 กิโลกรัม
– เปลือกหอย 1 กิโลกรัม
– เกลือแกง 0.5 กิโลกรัม
– แร่ธาตุ และวิตามิน 0.5 กิโลกรัม

ผลผลิต
สำหรับกการเลี้ยงไก่งวงจะให้ผลิตไข่ได้เมื่ออายุประมาณ 30 สัปดาห์ ขึ้นไป หรือมีอายุประมาณ 8 เดือน ส่วนการจับชำแหละเนื้อก็สามารถจับได้ในระยะเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

2