โรค และวัคซีนโค

30841

โรคโค เป็นโรคที่เกิดกับโคที่มักทำให้โคมีอาการเจ็บป่วย การเจริญเติบโตช้า และหากเป็นโรคที่มีความร้ายแรงอาจทำให้โคเสียชีวิตได้ง่าย ซึ่งทำให้เกษตรกรสูญเสียโคหรือขายโคในราคาถูก

โรคที่เกิดกับโคบางชนิดสามารถติดได้กับสัตว์อื่นๆ เช่น กระบือ สุกร รวมถึงบางชนิดสามารถแพร่เชื้อโรคมาสู่คนได้ เช่น โรคแอนแทรกซ์ หากไม่มีการป้องกันอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาด และติดต่อสู่คนได้ง่าย

โรคที่เกิดกับโค ได้แก่
1. ท้องอืด

สาเหตุ
โคกินหญ้าอ่อน ใบมันสำปะหลัง พืชตระกูลถั่ว กินยูเรีย หรือกินอาหารข้นมากเกินไป

อาการ
ท้องอืดตึง ไม่กินอาหาร เดินกระวนกระวาย น้ำลายไหลเป็นฟอง ไม่เคี้ยวเอื้อง ลุกขึ้น และนอนลงอยู่บ่อยๆ หายใจลำบาก หากมีอาการเป็นมาก โคจะนอน และลุกไม่ได้ มีอาการท้องบวมโต หายใจไม่ออก และตายในที่สุด

SAMSUNG CAMERA PICTURES

การรักษา
หากอาการไม่เป็นมาก ควรให้โคเดินบ่อยๆ ไม่ให้โคนอน หรือให้กรอกน้ำมันพืช 1-2 ลิตร หรือน้ำธรรมดาก็ได้ หากเป็นมาก มีอาการท้องบวม จะใช้วิธีการเจาะเอาก๊าซออก ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือสัตวแพทย์

2. โรคไข้เห็บ และเยี่ยวแดง
โรคทั้งสองนี้มีสาเหตุการเกิด และอาการป่วยที่คล้ายคลึงกันมาก จึงยกไว้ในข้อเดียวกัน
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อพยาธิที่อาศัยอยู่ในเห็บโค เมื่อโคถูกเห็บที่มีเชื้อดูดเลือด เชื้อพยาธิจะปนกับน้ำลายเข้าสู่เส้นเลือด และเชื้อจะไปเพิ่มจำนวนในเลือด ทำลายเม็ดเลือดแดง โรคนี้มักระบาดในช่วงต้นฤดูฝนที่มีแมลงดูดเลือดชุกชุม

อาการ แบ่งเป็น 3 แบบ
1. แบบเฉียบพลัน
โคจะมีไข้สูง (ประมาณ 105-108 ฟาเรนไฮต์) หายใจหอบ และจะตายอย่างรวดเร็ว โดยที่เจ้าของอาจไม่ทันสังเกตอาการผิดปกติใดๆ โรคนี้มักเกิดกับโครุ่นมากที่สุด

2. แบบธรรมดา
ระยะแรกโคจะมีอาการซึม ไม่กินอาหาร น้ำลายไหลมาก มีไข้สูง ขนลุก เยื่อเมือกบริเวณตา เหงือก และในช่องเพศมีสีแดงเข้ม ต่อมาโคจะมีอาการโลหิตจาง (เม็ดเลือดแดงแตก) คือ เยื่อเมือกซีดขาว หรือซีดปนเหลืองแบบดีซ่าน ตาเหลือง หายใจหอบ และยังคงมีอาการมีไข้สูงอยู่ โคจะผอม ไม่กินอาหาร และอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว จนทำหให้ตายได้เพราะขาดเลือด ถ้าเป็นแม่โคตั้งท้องมักจะแท้งเสมอ

อาการเด่นของโรคไข้เห็บ คือ สีของปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม และเยื่อเมือกมีสีเหลืองแบบดีซ่านชัดเจน

อาการเด่นของโรคเยี่ยวแดง คือ สีปัสสาวะมีสีแดงเข้ม หรือสีน้ำตาล น้ำเป๊ปซี่) และเยื่อเมือกมีสีแดงเข้ม ต่อมาจะซีดหรือเหลือง

3. แบบเรื้อรัง หรือไม่แสดงอาการ
มักพบอาการแบบนี้ในโคพื้นเมืองที่ปรับตัวได้จนสามารถมีเชื้ออยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการให้เห็น จนกว่าร่างกายทรุดโทรมหรืออ่อนแอลง จึงจะแสดงอาการออกมา แต่ก็ไม่รุนแรงถึงตาย

การรักษา
ยาที่ใช้รักษามีหลายชนิด แต่การรักษาจะได้ผลดีต้องรักษาในระยะแรก และที่สำคัญ ควรหมั่นกำจัดตัวนำโรค เช่น เห็บ และแมลงดูดเลือดทุกชนิด รวมถึงฉีดพ่นยากำจัดเห็บ การสร้างมุ้งครอบ เป็นต้น

3. โรคไข้ขาแข็ง

โรคไข้ขาแข็ง
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส ที่เข้าสู่ร่างกายโคโดยแมลงดูดเลือด

อาการ
มีอาการอย่างรุนแรง คือ มีไข้สูงมาก ( 105-107 ฟาเรนไฮต์ ) น้ำมูก น้ำลายไหลยืด ขอบตาบวม นัยน์ตาลึก ไม่กินอาหาร นอนซม ถ้าไล่ให้ลุกหรือเดิน จะแสดงอาการเจ็บปวดที่ขา เวลาเดินขาจะแข็ง หลังโก่ง แต่ไม่พบบาดแผลที่ขาหรือที่กีบเท้า แต่โรคนี้จะค่อยๆ หายเป็นปกติในเวลา 3-4 วัน ถ้าไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน แต่ควรระวังในเรื่องการเดิน และการหกล้ม ซึ่งอาจทำให้ขาหักหรือขาพิการได้

การรักษา
โรคนี้จะรักษาเพียงเพื่อให้อาการทุเลาลง เช่น การให้ยาลดความเจ็บปวดของข้อขา การให้ยาลดไข้เป็นต้น เพราะโคจะหายเองในไม่กี่วัน แต่หากโรคเกิดกับโคแล้วทำให้โคล้มนาน ๆ อาจทำให้เสียโคตัวนั้นได้ จึงควรรีบรักษาก่อนที่โคจะลุกไม่ได้ และช่วยหมั่นพลิกโคไปมาหรือพยุงช่วยให้ลุกโดยเร็ว

4. วัณโรค
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชอบอาศัยตามต่อมน้ำเหลือง สามารถแพร่จากบริเวณติดเชื้อไปยังส่วนต่าง ๆได้ และมีผลทำให้อวัยวะนั้นทำงานผิดปกติ การติดเชื้อในโคเกิดได้จากการกินหญ้าหรืออาหารที่เปื้อนสิ่งขับถ่ายจากโคที่กำลังป่วย เช่น  น้ำลาย น้ำมูก เชื้อนี้สามารถติดต่อสู่คนได้

อาการ
มีหลายแบบ บ่งบอกได้ยากว่าเป็นโรคนี้ เพราะโคป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการเฉพาะให้เห็น  นอกจากร่างกายผอม ไม่ค่อยกินอาหาร มีไข้ และอาจแสดงอาการทางปอด เช่น ไอบ่อยๆ หายใจลำบาก เวลาหายใจจะมีเสียงดังผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองในช่องอกโต

เชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น ปอด ลำไส้ ตับ ฯลฯ เพราะสามารถกระจายโดยผ่านทางท่อน้ำเหลืองได้ ทำให้อวัยวะนั้นทำงานไม่ได้ตามปกติ มักพบต่อมน้ำเหลืองใกล้บริเวณติดเชื้อบวมโต

วิธีพิสูจน์ว่าโคตัวกำลังป่วยเป็นวัณโรค คือ การทดสอบที่ผิวหนัง ทำโดยการฉีดสารบางอย่างเข้าที่หนังบริเวณโคนหางด้านล่างหรือแผงคอ แล้วคอยดูอาการ 3-4 วัน หากโคเป็วัณโรค ผิวหนังบริเวณที่ฉีดจะบวมหนาเป็นตุ่มใหญ่

5. โรคแอนแทรกซ์
สาเหตุ
เป็นโรคที่เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายสัตว์ทางบาดแผล หรือการกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน โรคนี้จัดเป็นโรคอันตรายที่สามารถติดต่อเข้าสู่คนได้

อาการ
อาการเริ่มปรากฏหลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1-2 วัน 2 สัปดาห์ สัตว์ตายอย่างฉับพลันโดยไม่แสดงอาการให้เห็น สัตว์มีอาการล้มชัก กล้ามเนื้อกระตุก ตากลอก เคี้ยวฟัน หายใจขัด และตายอย่างรวดเร็ว มีเลือดสีดำไหลออกมาทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะสืบพันธุ์ เลือดที่ไหลออกมาจะไม่แข็งตัว เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

โคที่เป็นโรคนี้อย่างไม่เฉียบพลัน จะแสดงอาการไข้สูง ซึมมาก กล้ามเนื้อสั่น หูตก ชีพจร และการหายใจถี่เร็ว รวมถึงมีอาการท้องผูก มีเลือดไหลออกทางทวารต่างๆ และตายในที่สุด

การป้องกัน
1. นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนโรคแอนแทรกซ์ ร่วมด้วยกับการจัดการสุขาภิบาลในฟาร์มที่ดี

6. โรคปาก และเท้าเปื่อย

โรคปากเท้าเปื่อย
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสที่ระบาดมากในช่วงต้นฤดูฝน การระบาดเกิดจากการสัมผัสกัน การกินอาหาร และน้ำที่มีเชื้อไวรัสปะปน รวมถึงการสัมผัสน้ำลาย สิ่งขับถ่าย ตลอดจนน้ำนมของสัตว์ป่วย

อาการ
อาการจะปรากฏประมาณ 2 – 7 วัน หลังได้รับเชื้อ สัตว์จะป่วยมีไข้ หยุดเคี้ยวเอื้อง กระหายน้ำ เบื่ออาหาร น้ำลายไหลยืดเป็นสาย กัดฟัน มีอาการอักเสบของปาก และเท้าอย่างเฉียบพลัน เกิดเม็ดตุ่มที่เยื่อเมือกในช่องปาก เช่น ที่ลิ้น, ริมฝีปาก, เหงือก, เพดาน เม็ดตุ่มมีขนาด 1-2 ซม.  ภายในมีน้ำสีเหลือง เม็ดตุ่มจะแตกภายใน 24 ชม. ทำให้เป็นแผลแดง แผลจะหายภายใน 7 วัน แต่ส่วนใหญ่สัตว์จะตาย เนื่องจากเจ็บบาดแผล ทำให้สัตว์กินอาหารไม่ได้ ซูบผอม ร่างกายอ่อนแอ มีการติดเชื้อโรคอื่นๆ

สาหรับเม็ดตุ่มที่เท้าสัตว์ จะเกิดบริเวณกีบ และซอกกีบภายหลังจากเกิดเม็ดตุ่มที่ปาก 2-5 วัน เม็ดตุ่มนี้จะแตกเหมือนที่ปาก ผิวหนังลอกหลุด เกิดเป็นแผล มีอาการเจ็บปวด เดินขากระเผลก  อาจถึงกับล้มลงนอน เมื่อติดเชื้อแบคทีเรียอื่น บาดแผลจะอักเสบลุกลามมาก กินลึกเข้าในกีบถึงกับทำให้กีบเท้าหลุดได้ มักเกิดโรคแทรก คือ เต้านมอักเสบ

สัตว์ที่เป็นโรคปาก และเท้าเปื่อยจะหายป่วยภายใน 2-3สัปดาห์ แต่ถ้ามีโรคอื่นแทรกอาจกินเวลาหลายอาทิตย์หรือเป็นเดือนกว่าจะหาย

การป้องกัน
1. นำสัตว์ไปฉีดวัคซีนทุก 6 เดือน
2. ทำลายสัตว์ที่ป่วยหรือแยกสัตว์ที่ป่วยออกต่างหาก

7. โรคคอบวม
สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบทั่วไปในน้ำ อาหาร หญ้า หรือแม้แต่ในร่างกายของสัตว์ ทำให้สามารถติดต่อได้ง่าย

อาการ
สัตว์มีอาการไข้สูง อุณหภูมิ 104 องศาฟาเรนไฮต์ขึ้นไป บริเวณใต้คาง คอเหนียง และพื้นท้องจะบวมน้ำ มีน้ำลายไหลยืด ไอ ซึม ต่อมาสัตว์จะตายจากการกินอาหารไม่ได้ และหายใจไม่ออก

การป้องกัน
การจัดการฟาร์มสุขาภิบาลที่ดี ทั้งโรงเรือน และอาหารให้ถูกสุขลักษณะ  สัตว์ที่ป่วยให้แยกออกต่างหาก เพื่อทำการรักษา และฉีดวัคซีนทุก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่สัตว์อายุ 6 เดือน

8. โรควิน (โรคขาดวิตามิน เอ )
สาเหตุ
โคที่ขังในคอกเป็นเวลานานๆ และไม่ได้รับหญ้าสดเป็นอาหาร (เลี้ยงด้วยฟางหรืออาหารข้น) จะทำให้โคขาดวิตาเอ มักเกิดในโคที่มีอายุน้อย

อาการ
โคจะมีอาการน้ำตาไหล และโคไม่ชอบแสง (เพราะจะทำให้น้ำตาไหล) มีอาการเดินสะดุด (สายตาไม่ดี) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หายใจถี่ ชอบล้ม แต่ลุกขึ้นได้ และกินอาหารได้

การรักษา
ทำการฉีดวิตามินเอ และให้อาหารประเภทหญ้าสด

การป้องกัน
ให้โคกินหญ้าเขียวสด เป็นประจำ ร่วมกับอาหารข้นอื่นๆ

9. โรคนิ่ว
โรคนิ่วในโคมักเกิดกับโคเพศผู้ที่ตอน โดยเฉพาะโคขุน เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียโคโรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หาย
สาเหตุ
เกิดจากโคกินราที่ปนเปื้อนในอาหารติดต่อกันนานหลายปี เนื่องจากรามีธาตุฟอสฟอรัสมาก และมีแคลเซียมน้อย ทำให้ตกตะกอนกลายเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงโคที่กินน้ำน้อย การกินพืชที่มีฟอสฟอรัสมาก ก็มักเกิดเป็นโรคนี้ได้

อาการ
โคปัสสาวะไม่ค่อยออก หรือออกเป็นหยดๆ มีอาการกระสับกระส่าย เดี๋ยวนอนเดี๋ยวลุก กินน้ำ และอาหารน้อย มักใช้เท้าเตะท้อง หรือกระทืบพื้นคอก หนังใต้ทวารกระตุก

การรักษา
รักษาโดยการผ่าตัดโดยสัตว์แพทย์

การป้องกัน

หลีกเลี่ยงการให้อาหารที่มีเชื้อราปะปน โดยเฉพาะอาหารประเภทรำข้าวที่เก็บไว้เป็นเวลานาน

10. หนอนไชแผล
สาเหตุ
เกิดจากแมลงวันมาวางไข่ในแผลต่างๆบนร่างกายโค

อาการ
บริเวณบาดแผลมีหนอนซอนไซ คอยกัดกินเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายยาก แผลมีกลิ่นเน่าเหม็น

การรักษา
มั่นล้างแผลด้วยยาสีม่วง หรือโรยยาเนกาซันเพื่อฆ่าหนอนเป็นประจำทุกวัน

การป้องกัน

หลีกเลี่ยง และป้องกันการเกิดบาดแผลในโค เช่น การถูสีลำตัว สัตว์ดูดกินเลือด การเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น หากเกิดแผลให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างแผล และหากมีหนอนให้ใช้น้ำยาข้างต้นเป็นประจำ

11. โรควัวบ้าหรือโรคสมองฝ่อ
สาเหตุ
เกิดจากสาร Proteon ที่มีผลทำให้สมองฝ่อ และทำลายระบบประสาท สารนี้มักปนเปื้อนในอาหารที่มีส่วนผสมของสัตว์ป่วย เช่น เครื่องในบดแห้ง กระดูกสัตว์ป่น เป็นต้น

อาการ
โคมีอาการเดินโซเซ สมองฝ่อ โคไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ ล้ม และตายในที่สุด

การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการนำอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรือกระดูกป่นที่มาจากแหล่งแพร่เชื้อหรือสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคสมองฝ่อ

วัคซีนโค
โรคระบาดของโคในประเทศไทยมีอยู่ 5 โรคด้วยกัน คือ โรคปาก และเท้าเปื่อย โรคเฮโมเรยิก เซฟติซีเมีย (คอบวม) โรคแอนแทรกซ์ (กาลี) โรคแบลคเลก (ไข้ขา) และโรครินเดอร์เปสต์ แต่โรคที่ระบาดบ่อยในโค คือ โรคปาก และเท้าเปื่อย และโรคเฮโมเรยิกเซฟติซีเมีย ส่วนโรคอื่นไม่ค่อยมีระบาดมากนัก

1. วัคซีนโรคปาก และเท้าเปื่อย
เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยศูนย์ผลิตวัคซีนโรคปาก และเท้าเปื่อย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้ผลิตวัคซีนโรคปาก และเท้าเปื่อยขึ้นมา 4 ชนิด ด้วยกัน คือ ชนิดโอ ชนิดเอ ชนิดเอเชียวัน สำหรับโค-กระบือ และชนิดโอ สำหรับสุกร

วัคซีนโรคปาก และเท้าเปื่อยสำหรับโค-กระบือ เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยเชื้อไวรัสของแต่ละชนิด (Type) ซึ่งได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเนื้อเยื่อ ทำให้เข้มข้น บริสุทธิ์ และทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสาร B.E.I ที่ระดับอุณหภูมิและเวลาที่กำหนด โดยยังคงมีคุณสมบัติในการสร้างภูมิคุ้มโรควัคซีนปากและเท้าเปื่อยเป็นชนิดเอเควียส (Aqueous vaccine) โดยใช้อะลูมิเนียมเจลและซาโปนินเป็นส่วนประกอบในการผลิต มี 3 ชนิด (Type) คือ โอ เอ และเอเชียวัน สามารถผลิตได้ทั้งแบบชนิดเดียว (Monovalent) ชนิดคู่ (Bivalent) และชนิดรวม 3 ชนิด (Trivalent) โดยวัคซีนจะบรรจุในขวดพลาสติก

วิธีการใช้
เนื่องจากโรคปาก และเท้าเปื่อยที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดโอระบาดมากที่สุด ดังนั้นโรคปาก และเท้าเปื่อยแต่ละชนิดจะต้องใช้วัคซีนแต่ละชนิด โดยเฉพาะ แต่ถ้าต้องการให้ป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยทั้ง 3 ชนิด ก็จำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนทั้ง 3 ชนิดเช่นกัน ใช้ฉีดให้โคครั้งละ 2 ซีซี โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วัคซีนจะมีผลคุ้มกันโรคได้ 6 เดือน

โคที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน ควรทำการฉีดวัคซีนโรค
ปากและเท้าเปื่อย 2 ครั้ง โดยทำการฉีดซ้ำครั้งที่สองในระยะ 3 เดือนหลังจากฉีดครั้งแรก และ
หลังจากนั้นให้ทำการฉีดซ้ำทุกๆ 6 เดือน สำหรับโคที่มีอายุน้อยกว่า 5 เดือน ควรทำการฉีด 3 ครั้ง โดยทำการฉีดครั้งที่สองในระยะ 3 เดือนหลังจากฉีดครั้งแรก และฉีดครั้งที่สามในระยะ 3 เดือนหลังจากฉีดครั้งที่สอง หลังจากนั้นให้ทำการฉีดซ้ำทุกๆ 6 เดือน

2. วัคซีนเฮโมเรยิกเซฟติซีเมีย (คอบวม)
เป็นวัคซีนแบคทีเรียที่ใช้ป้องกันโรคเฮโมเรยิก เซฟติซีเมียในโค กระบือ และโรค Pasteurellosis ในแพะและแกะ โดยวัคซีนนี้ผลิตจากเชื้อ Pasteurella multocida type 6 : B สเตรนท้องถิ่น ฆ่าเชื้อด้วยฟอร์มาลิน และใช้ Aluminum hydroxide gel เป็น Adjuvant บรรจุขวดละ 90 ซีซี

วิธีการใช้
เขย่าขวดก่อนใช้ ทำความสะอาดจุกยางและคอขวดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ แล้วดูดวัคซีนด้วยเข็มและกระบอกฉีดยาที่ได้นึ่งหรือต้มฆ่าเชื้อแล้ว โดยวัคซีนนี้ใช้ฉีดให้กับโคหลังหย่านมแล้ว และควรฉีดก่อนต้นฤดูฝน เพราะโรคนี้มักจะระบาดในฤดูฝน นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนนี้ก่อนการเคลื่อนย้ายสัตว์ทางไกลประมาณ 2 สัปดาห์ การฉีดให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังโคตัวละ 3 ซีซี ซึ่งสัตว์จะมีความคุ้มโรคได้เมื่อฉีดไปแล้วประมาณ 15 วัน และจะมีความคุ้มโรคอยู่ได้นาน 4-6 เดือนขึ้นอยู่กับสภาพเฉพาะตัวและอายุสัตว์

3. วัคซีนแอนแทรกซ์ (โรคกาลี)
ลักษณะของวัคซีนแอนแทรกซ์เป็นวัคซีนแบคทีเรียเชื้อเป็น ใช้ป้องกันโรคแอนแทรกซ์ในโค กระบือ แพะ แกะ และช้าง ซึ่งผลิตจากสปอร์ของเชื้อ Bacillus anthracis สเตรน 34 F 2 ขนาดบรรจุขวดละ 20 ซีซี ควรเก็บรักษาไว้ในที่มืด และเย็นหรือตู้เย็น และห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง

วิธีการใช้
วัคซีนนี้ใช้ฉีดสัตว์อายุตั้งแต่หย่านมขึ้นไป และควรฉีดซ้ำทุกปี ส่วนในเขตที่เคยมีการระบาดของโรคนี้ควรฉีดซ้ำทุก 6 เดือน และไม่ควรฉีดให้สัตว์ที่กำลังตั้งท้อง เพราะอาจจะทำให้แท้งได้ โดยก่อนนำวัคซีนมาใช้ให้เขย่าขวดอย่างแรง และนานไม่น้อยกว่า 30 วินาที เพราะวัคซีนที่ตั้งทิ้งไว้นาน สปอร์จะตกและเกาะที่ก้นขวด ทำการฉีดให้โคตัวละ 1 ซีซี โดยวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนังหลังจากฉีดแล้วควรนำเข็ม และกระบอกฉีดยาไปต้มน้ำเดือดอีกครั้งหนึ่ง ส่วนขวดบรรจุวัคซีนให้เผาหรือเปิดจุกออกแล้วต้มฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัคซีน

สัตว์ที่ฉีดวัคซีนจะมีความคุ้มโรคหลังจากฉีดไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ และจะมีความคุ้มโรคอยู่ได้นาน 1 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากฉีดวัคซีนแล้วอาจจะมีอาการบวมเล็กน้อยตรงบริเวณที่ฉีด และสัตว์จะมีไข้เล็กน้อยประมาณ 2-3 วัน

4. วัคซีนบรูเซลโลซีส (แท้งติดต่อ)
ลักษณะของวัคซีนบรูเซลโลซีสเป็นวัคซีนแบคทีเรียเชื้อเป็น ใช้ป้องกันการแท้งลูกอันเนื่องมาจากโรคบรูเซลโลซีสในโค ผลิตจากเชื้อ Brucella abortus สเตรน 19 บรรจุ และทำแข็งภายใต้สุญญากาศ ขนาดบรรจุสำหรับใช้กับลูกโค 5 ตัว พร้อมน้ำยาละลาย 10 ซีซี

วิธีการใช้
ละลายวัคซีนด้วยน้ำยาละลายที่แนบมาพร้อมกับวัคซีนแล้วเขย่าขวดเบาๆนาน 2-5 นาที ดูดวัคซีนด้วยเข็มและกระบอกฉีด แล้วฉีดเข้าใต้ผิวหนังโคตัวละ 2 ซีซี วัคซีนนี้ใช้สำหรับฉีดให้กับลูกโคเพศเมียที่มีอายุระหว่าง 3-8 เดือน ซึ่งสามารถใช้ได้กับลูกทั้งที่เกิดจากแม่โคที่เป็นโรค และไม่เป็นโรค เมื่อฉีดวัคซีนนี้ให้กับลูกโคเพียงครั้งเดียวจะสามารถให้ความคุ้มโรคอยู่ได้นาน 7 ปี และไม่ควรฉีดวัคซีนบรูเซลโลซีสทุกชนิดซ้ำอีก นอกจากนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบโรคบรูเซลโลซีสในโอกาสต่อไป เมื่อฉีดวัคซีนให้ลูกโคแล้วควรเจาะรูที่หูข้างขวาจำนวน 2 รู เพื่อให้ทราบว่าโคตัวนี้ได้ทำการฉีดวัคซีนบรูเซลโลซีสแล้ว

สำหรับข้อควรระวัง คือ วัคซีนนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่สามารถติดต่อถึงคนได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนที่เหลือใช้ ขวดบรรจุ และสิ่งของที่จะทิ้งให้เผาไฟให้หมด และไม่ฉีดวัคซีนให้กับลูกโคภายใน 21 วันก่อนนำไปฆ่าเพื่อบริโภค

ยารักษาโรค
แม้ว่าตามกฎหมายจะกำหนดให้การดูแลรักษาสุขภาพสัตว์เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ก็ตาม ผู้เลี้ยงโคเนื้อก็ควรจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้ยา และเวชภัณฑ์สำหรับโคเนื้อไว้บ้าง เผื่อเกิดความจำเป็นเมื่อสัตว์ป่วยขึ้นมาไม่สามารถตามสัตวแพทย์มารักษาได้ทันท่วงที จะได้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ซึ่งยา และเวชภัณฑ์สำหรับโคเนื้อที่แนะนำให้ผู้เลี้ยงควรมีไว้ประจำฟาร์ม ได้แก่
1. ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน สเตรปโตมัยซิน ออกซี่เตตร้าไซคลิน กาน่ามัยซิน
2. ยาซัลฟา เช่น ซัลฟาไทอาโซล ซัลฟาไดโทเมทโทซีน
3. ยาถ่ายพยาธิ เช่น บิปเปอราซิน โทอะเบนไซล ไทรแดกซ์
4. ยาถ่ายพยาธิภายนอก เช่น เซฟวิน เนกูวอน อาซุนโทรล
5. ยากระตุ้นบำรุงประสาท ได้แก่ แอมเฟตามิน
6. ยาแก้อักเสบ ได้แก่ คอติโซนอาซิเตท
7. ยาแก้การแพ้ ได้แก่ อดรินารีน
8. ยาระงับประสาท ได้แก่ คลอราลไฮเดรท
9. ยาแก้พิษฆ่าแมลง ได้แก่ อาโทรปีนซัลเฟต
10. ยาแก้พิษยูเรีย ได้แก่ กรดน้ำส้ม
11. ยาระบาย เช่น คาบาคอล ดีเกลือ
12. ยาลดไข้ เช่น แอสไพริน
13. ยาแก้ท้องขึ้น เช่น กรดซาลิไซลิน น้ำมันสน

วิธีการให้ยาโค
1. การให้ยาทางปาก
วิธีการนี้นิยมใช้กับการให้ยาลดไข้ และยาถ่ายพยาธิ โดยบังคับให้โคยืนนิ่ง แหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย ดึงลิ้นออกมาด้านข้าง แต่อย่าให้แรง และแน่นนัก เพราะโคจะกลืนยาไม่ได้ ในยาชนิดเม็ดให้วางยาลงบนโคนลิ้น (ให้ลึกที่สุด) แล้วหุบปากให้โคกลืนยา ส่วนในยาน้ำ ให้บรรจุยาลงในกระบอกไม้ไผ่ที่ตัดปากเฉียง ไม่ควรใช้ขวด เพราะโคอาจกัดแตกทำให้บาดปากโคได้ สอดปลายกระบอกไม้ไผ่เข้าไปในปากโค แล้วค่อยๆเทยากรอกลงไปจนกระทั่งยาหมด

2. การให้ยาโดยการฉีด
2.1 การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เป็นการฉีดยาบำรุงหรือวัคซีนให้แก่โค ตำแหน่งที่นิยมฉีดให้ก็คือ บริเวณแผงคอ โดยใช้เข็มฉีดยาเบอร์ 18 ยาว 1 นิ้ว แทงฉีดยา (เข็มต้องคม และสะอาด) วิธีการฉีดก็โดยใช้มือดึงผิวหนังบริเวณแผงคอขึ้น แล้วใช้เฉพาะเข็มแทงเข้าไปก่อนขยับปลายเข็มให้ปลายเข็มอยู่ใต้ผิวหนัง จากนั้นก็ทำการเดินยาหมดกระบอก แล้วใช้ก้อนสำลีหรือปลายนิ้วกดตรงจุดที่แทงเข็มก่อนจึงค่อยดึงเข็มออก และเพื่อให้ยากระจายได้ดี และเร็วขึ้น ควรใช้มือคลึงบริเวณที่ฉีดยาด้วย

2.2 การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นการฉีดยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมนบางชนิด ตำแหน่งที่นิยมฉีดก็คือ กล้ามเนื้อบริเวณแผงคอ และกล้ามเนื้อโคนขาหลัง โดยจะใช้เข็มเบอร์ 18 ขนาด 1 นิ้วครึ่ง แทงฉีดยา โดยก่อนจะทำการฉีดยาให้ใช้มือตบลงบริเวณที่จะฉีดสัก 2-3 ครั้ง เพื่อหลอกโค เมื่อโคตายใจก็ให้ปักเฉพาะเข็มลงบนกล้ามเนื้อนั้นอย่างรวดเร็ว เมื่อปักเข็มลงไปแล้วจึงค่อยสวมกระบอกฉีดยาแล้วดูดขึ้นเล็กน้อยดูว่าแทงถูกเส้นเลือดหรือไม่ หากถูกเส้นเลือดจะมีเลือดไหลเข้าไปในกระบอกฉีดยา ถ้าแทงถูกเส้นเลือดให้แทงเข็มฉีดยาในตำแหน่งใหม่แล้วจึงทำการเดินยา เมื่อยาหมดก็ถอนเข็มออกในลักษณะเช่นเดิม