แมลงสาบ (Cockroach) เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ในยุคคาร์โบนิฟีรัส (Carboniferous) ประมาณ 295-355 ล้านปี มาแล้ว มีจำนวนมากกว่า 4000 ชนิด และพบ 25-30 ชนิดที่เป็นศัตรูแก่มนุษย์
คำว่า สาบ หมายถึง กลิ่นเหม็นสาบ กลิ่นเหม็นอับ ที่เป็นที่มาของชื่อที่คนไทยเรียก เนื่องจากเป็นแมลงที่มีกลิ่นเหม็น สามารถสร้างความเสียหายแก่ข้าวของเครื่องใช้ ผลผลิตทางการเกษตร อาหาร และสร้างความรำคาญ รวมถึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคบางชนิดได้
ฝุ่นจากซากแมลงสาบจัดเป็นสารก่อภูมิแพ้ทำให้เกิดโรคจมูกอักเสบ และโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น หอบหืด โดยก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้จากการสัมผัส การสูดดม และการกิน รวมถึงเป็นสัตว์พาหะนำโรคอื่นๆได้ด้วย
อนุกรมวิธาน
Phylum : Arthopoda
Class : Insecta or Hexapoda
Subclass : Pterygota
Division : Exopterygota
Order : Orthoptera
Family : Blattidae, Blattelidae
ส่วน Genus และ Species จะแตกต่างกันตามชนิดต่างๆ
ลักษณะทั่วไป
แมลงสาบมีลักษณะลำตัวรูปไข่ รูปร่างแบนจากด้านบนลงล่าง มีสีแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ได้แก่ สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ลำตัวมีลักษณะเป็นเงา มีหัวขนาดเล็กอยู่ใต้สันหลัง บริเวณอกปล้องแรกที่มีลักษณะใหญ่ สามารถป้องกันส่วนหัว และปากได้ดี
บริเวณส่วนหัวใต้ตามีหนวดคล้ายเส้นด้าย 1 คู่ เคลื่อนไหวไปมาได้เร็ว ใช้สำหรับทำหน้าที่นำทาง สัมผัสกลิ่น และหาอาหาร ปากมีรูปร่างแบบกัดกินที่ใช้กัดกินอาหารทั้งพืช และสัตว์
ปีกมี 2 คู่ ประกอบด้วยคู่แรกที่มีลักษณะคล้ายหนัง ส่วนคู่หลังมีลักษณะบางๆ สามารถกางออกได้กว้าง และเป็นจีบพับคล้ายพัด เมื่อหุบตัวปีกทั้งสองคู่จะพับเรียบแนบลำตัว ปลายปีกซ้อนทับกันเลยลำตัวเล็กน้อย บางชนิดมีปีกยาวมากกว่าลำตัวมาก และบางชนิดมีปีกคลุมลำตัวไม่มิด
การแยกเพศแมลงสาบสามารถสังเกตได้จากส่วนท้อง โดยเพศเมีย และเพศผู้จะมี cerci เหมือนกัน 1 คู่ แต่เพศผู้จะ styles เพิ่มมาอีก 1 คู่
การดำรงชีพ
แหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงสาบมักพบภายในบ้านหรือบริเวณที่ร้อนชื้น และมีแหล่งอาหารจากเศษอาหาร เช่น ตู้เสื้อผ้า ห้องครัว ห้องเก็บของ ตู้กับข้าว ถังขยะ ท่อระบายน้ำ เป็นต้น บางชนิดพบอาศัยตามโพรงไม้ กัดกินเนื้อไม้เป็นอาหาร ซึ่งมีเพียงไม่กี่ชนิดที่ชอบอาศัย และก่อความรำคาญในบ้านเรือน
ถึงแม้แมลงสาบจะชอบอาศัยในอาคารบ้านเรือน แต่จะสังเกตเห็นตัวได้ยาก เนื่องจากในเวลากลางวันหรือสถานที่ที่มีแสงสว่าง แมลงสาบจะหลบตัวในที่มืดในซอกมุมต่างๆ เช่น หลังตู้ ในตู้เสื้อผ้า ฝ้า เพดาน เป็นต้น และจะออกมาหากินอาหารในเวลากลางคืนหรือในสถานที่ที่ไม่มีแสงเท่านั้น บริเวณที่มีแมลงสาบชุกชุมสามารถสังเกตเห็นมูลของแมลงสาบ มีรอยเปื้อนสีดำหรือมีของเหลวสีดำเกลือนอยู่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีอาหาร ตู้เก็บอาหาร ถังขยะ เนื่องจากแมลงสาบมักชอบกินอาหารพวกแป้ง และน้ำตาล รวมถึงสารที่มีโครงสร้างซับซ้อน เช่น เซลล์ลูโลส อาหารเน่าเสีย เป็นต้น
นอกจากนั้น พื้นที่ที่มีแมลงสาบชุกชุมมักจะได้กลิ่นของแมลงสาบ ซึ่งเป็นกลิ่นของสารฟีโรโมนที่ปล่อยออกมาจากแมลงสาบเพศเมีย เพื่อดึงดูดให้เพศผู้เข้ามาผสมพันธุ์ และเพศผู้จะปล่อยสารนี้ออกมาเช่นกันเพื่อให้เพศเมียยอมรับสำหรับการผสมพันธุ์ รวมถึงการอยู่เป็นกลุ่มของแมลงสาบมักจะปล่อยสารฟีโรโมนออกมา เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำกิจกรรมบางอย่างให้แก่ตัวอื่นๆ
แมลงสาบที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทยมี 4 สายพันธุ์ ดังนี้
1. แมลงสาบอเมริกัน (American cockroach/Perplaneta american)
เป็นสายพันธุ์ที่มีแหล่งกำเนิดในแอฟริกา ปัจจุบันแพร่กระจายไปทั่วโลก เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ลำตัวมีขนาดใหญ่ ตัวยาว 35-40 มม. ปีก และลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยจางๆบริเวณ pronotum เพศผู้มีปีกยาวกว่าเพศเมีย ปีกเพศผู้ปกยาวเลยส่วนท้อง ส่วนปีกเพศเมียปกถึงส่วนท้องพอดี
แมลงสาบสายพันธุ์นี้สามารถเข้าสู่ระยะสืบพันธุ์ได้หลังจากเจริญเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 7 วัน วางไข่หลังการผสมพันธุ์ 7-14 วัน ถุงไข่มีลักษณะสีน้ำตาลเข้ม ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร 1 ถุงไข่ มีไข่ประมาณ 15-30 ฟอง โดยเพศเมียจะพาถุงไข่ติดส่วนท้องด้วย และหลังจากนั้น 1 วันจึงปล่อยถุงไข่ตามซอกผนัง แมลงสาบเพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 1000 ฟอง ตลอดช่วงชีวิต ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ประมาณ 30-45 วัน หลังการวางไข่ และมีการลอกคราบประมาณ 7-13 ครั้ง ตลอดช่วงการเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในช่วงชีวิตประมาณ 1-1.5 ปี โดยมักพบอาศัยตามบ้านเรือน พบในมุมอับ ซอกผนัง บริเวณพื้นที่มืด โดยเฉพาะแหล่งอาหารในบ้านเรือน และถังขยะ
2. แมลงสาบเยอรมัน (Blatella germanica หรือ German cockroach)
พบแพร่กระจายทั่วโลก พบมากในเขตอบอุ่น และเป็นชนิดที่พบมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ลำตัวมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 12-16 มม. ลำตัว และปีกมีสีเหลืองอมน้ำตาล มีเส้นดำยาวพาดผ่าน pronotum 2 เส้น แมลงสาบเยอรมันเพศเมียมีลักษณะสีเข้ม ลำตัวใหญ่อ้วนกว่าเพศผู้ เป็นแมลงสาบที่มีความว่องไว และระวังตัวมากกว่าแมลงสาบชนิดอื่นๆ
ลักษณะการสืบพันธุ์ และวางไข่จะคล้ายกับแมลงสาบอเมริกัน ถุงไข่จะประกอบด้วยไข่ประมาณ 30-45 ฟอง ตลอดช่วงชีวิตของเพศเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 30,000 ฟอง ตัวอ่อนฟักออกจากไข่ 2-4 หลังการวางไข่ และลอกคราบประมาณ 5-7 ครั้ง ตลอดช่วงตัวเต็มวัยที่อายุประมาณ 100-150 วันแมลงสาบชนิดนี้มักพบได้ทั่วไปในทุกที่ โดยเฉพาะตามซอกมุมอับต่างๆ แหล่งที่ชื้นแฉะ และมีอาหาร
3. แมลงสาบตะวันออก/แมลงสาบสามัญ (Blatella orientalis หรือ common cockroach)
มีชื่อเรียกอื่น คือ Black beetle พบแพร่กระจายทั่วโลก และพบมากในเขตอบอุ่น เป็นแมลงสาบขนาดปานกลาง ลำตัวเล็กกว่าแมลงสาบอเมริกันเล็กน้อย ลำตัวยาวประมาณ 22-28 มม. ส่วนท้องใหญ่ ลำตัว และปีกมีสีน้ำตาลแดงจนถึงดำ ตามตัวมีลายดำสลับเหลือง ปีกแมลงสาบเพศเมียจะเจริญยาวถึงเพียงปล้องที่สองของส่วนท้อง ส่วนเพศผู้จะมีปีกยาวกว่า แต่จะไม่คลุมปิดส่วนท้องทั้งหมด ซึ่งคลุมยาวประมาณ 3 ใน 4 ของส่วนท้องเท่านั้น เป็นแมลงสาบที่เคลื่อนไหวช้า เนื่องจากมีท้องใหญ่
การสืบพันธุ์สามารถเข้าสู่ระยะสืบพันธุ์ได้หลังจากเจริญเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 4-10 วัน และจะวางไข่หลังการผสมพันธุ์ 8-10 วัน ถุงไข่มีลักษณะสีน้ำตาล 1 ถุงไข่ มีไข่ประมาณ 12-16 ฟอง แมลงสาบเพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 250 ฟอง ตลอดช่วงชีวิต ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ประมาณ 40-50 วัน หลังการวางไข่ และมีการลอกคราบประมาณ 7-10 ครั้ง ตลอดช่วงการเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในช่วงชีวิตประมาณ 215-995 วัน โดยมักพบอาศัยตามบ้านเรือน โดยเฉพาะบริเวณซอกผนัง บริเวณพื้นที่มืดหรือใต้ถุนบ้านที่มีอากาศเย็น และใกล้แหล่งอาหาร และอาจพบภายนอกบ้านตามเปลือกไม้ กองไม้ กองหิน เป็นต้น
4. แมลงสาบคาดสีน้ำตาล (Brown-banned cockroach หรือ Supella supel-lectilium)
มีลักษณะคล้ายแมลงสาบเยอรมัน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีขนาดลำตัวยาว 10-14 มม. ปีกมีแถบขวาง 2 แถบ แถบแรกมีสีเหลืองอ่อนพาดที่โคนปีก ส่วนอีกแถบมีสีเข้มกว่าพาดต่ำลงมาจากแถบแรกประมาณ 1.5 มิลลิเมตร เพศเมียมีรูปร่างอ้วนใหญ่กว่า แต่ปีกสั้นกว่า ส่วนเพศผู้รูปร่างเพรียวเล็ก มีปีกยาวกว่า และคลุมมิดส่วนท้องเล็กน้อย
การสืบพันธุ์สามารถเข้าสู่ระยะสืบพันธุ์ได้หลังจากเจริญเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 5-10 วัน และจะวางไข่หลังการผสมพันธุ์ 10 วัน ถุงไข่มีลักษณะสีน้ำตาลแดง 1 ถุงไข่ มีไข่ประมาณ 16 ฟอง แมลงสาบเพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 250 ฟอง ตลอดช่วงชีวิต ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ประมาณ 50-70 วัน หลังการวางไข่ และมีการลอกคราบประมาณ 7-10 ครั้ง ตลอดช่วงการเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในช่วงชีวิตประมาณ 145-380-995 วัน โดยมักพบตามพื้นที่ทั่วไปบริเวณมุมอับ ที่มืด และใกล้แหล่งอาหาร
วิธีการกำจัด และไล่แมลงสาบ
1. การใช้กับดักกาว
2. การใช้เครื่องไล่แมลงสาบ
3. การใช้สารเคมี เช่น ยากำจัดแมลง ซอล์คกำจัดแมลง เป็นต้น
4. การใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน เช่น แตนหางธง