แมงดานา และการเลี้ยงแมงดานา

24567

แมงดานา ถือเป็นแมงอาหารที่นิยมนำมาประกอบอาหารชนิดหนึ่ง เนื่องจากให้กลิ่นเฉพาะตัวที่หอม เมื่อนำมาใส่อาหารจะช่วยเพิ่มหรือปรับปรุงกลิ่นของอาหารให้น่ารับประทานมากขึ้น อาหารที่นิยมใช้แมงดานาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ น้ำพริกแมงดา ซุปหน่อไม้ อาหารประเภทยำ เป็นต้น

แมงดานาจัดอยู่ใน Order Memitera ใน Family belostomatidae มีลักษณะรูปร่างรูปไข่ ลำตัวแบนยาว ประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาล มีขนขนาดเล็กปกคลุม มีขา 6 ขา ขาคู่หน้าใช้สำหรับจับเหยื่อ การคุ้ยหาอาหาร ส่วนขา 2 คู่ หลังใช้สำหรับการว่ายน้ำ และการเดิน

อาหารของแมงดานา คือ ลูกอ๊อด ลูกปลาขนาดเล็กหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก เวลากลางคืนชอบบินเข้าหาไฟ โดยเฉพาะไฟสีม่วง

แมงดานา

ประโยชน์
1. ทางด้านอาหาร
แมงดานาถือเป็นแมงที่เป็นอาหารที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่มาจาก gland liquid ที่เป็นฟีโนโมนเพศสำหรับดึงดูดตัวอีกฝ่ายในการผสมพันธุ์ ที่ประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น trans-2-hexan-1-yl acetate สารที่มีกลิ่นหอมนี้จะมีทั้งตัวผู้ และตัวเมีย แต่จะพบมีกลิ่นแรงที่ตัวผู้มากกว่าตัวเมีย และจะมีเฉพาะตัวที่แก่เต็มวัยที่เข้าสู่วัยผสมพันธุ์เท่านั้น ตำแหน่งของ gland liquid ที่เป็นบริเวณให้กลิ่นหอมจะอยู่ตรงบริเวณช่วงท้องค่อนไปด้านหลัง มีลักษณะเป็นท่อยาวสีขาว ห่อหุ้มด้วยเยื่อเมือก

ด้วยความมีเอกลักษณ์ของกลิ่นที่มีกลิ่นหอม คนไทยจึงนิยมนำแมงดานามาประกอบอาหาร เพื่อให้มีกลิ่นของอาหารที่น่ารับประทาน โดยเฉพาะการทำน้ำพริกแมงดาหรือผสมในอาหารอย่างอื่นเพื่อเพิ่มกลิ่นหรือปรับปรุงกลิ่น เช่น ใส่ในซุบหน่อไม้ เป็นต้น

การนำแมงดานามาประกอบอาหาร นิยมนำแมงดานามาเผาไฟให้สุกก่อน เพื่อให้ความร้อนกระตุ้นให้มีกลิ่นมากขึ้น แล้วจึงมาตำผสมกับอาหารหรือบดแล้วคลุกใส่อาหาร นอกจากนั้น ยังสามารถเก็บแมงดานาให้สามารถเก็บได้นานด้วยวิธีการดองเค็มกับน้ำปลาหรือน้ำเกลือ

เนื่องจากแมงดานาในปัจจุบันเป็นที่หายาก จึงมีการสังเคราะห์สารเลียนแบบ trans-2-hexan-1-yl acetate ซึ่งจะให้กลิ่นเหมือนกลิ่นแมงดานา มาใช้สำหรับปรุงอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทำน้ำพริกแมงดาที่ต้องใช้ในปริมาณมาก

2. ด้านนิเวศวิทยา
แมงดานาพบได้ทั่วไปในนาข้าวหรือบริเวณแหล่งน้ำขนาดตื้น จะพบมากในช่วงต้นฤดูทำนาหลังจากน้ำขังในแปลงนาในต้นฤดูฝน แมงดานาถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในแปลงนาหรือแหล่งน้ำ มีอาหารสำคัญที่เป็นลูกอ๊อดของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก จึงถือเป็นผู้ล่าชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ระบบนิเวศในแหล่งนั้นสมดุล

การเลี้ยงแมงดานา
การสร้างโรงเรือน และการเตรียมบ่อ
บ่อน้ำถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสำคัญของแมงดานา นิยมสร้างด้วยการก่อบ่อซีเมนต์หรือซื้อบ่อซีเมนต์สำเร็จรูป หากก่อเอง ควรก่อบ่อเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 2-3 เมตร ยาว 4-5 เมตร ก่ออิฐสูงประมาณ 0.8-1 เมตร หรืออาจเพิ่มขนาดหรือลดขนาดตามความเหมาะสม

สำหรับโรงเรือนจะใช้ในกรณีที่เลี้ยงจำนวนหลายบ่อหรือเลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่ ปลูกด้วยเสาไม้หรือเสาปูนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือตามลักษณะบ่อที่ก่อ และคลุมด้วยมุ้งลวดหรือตาข่ายขนาดตาถี่ที่แมงดาไม่สามารถลอดผ่านได้

หากต้องการประหยัดเงินทุนมักนิยมก่อบ่อให้สูง 1-1.2 เมตร แล้วใช้มุ้งลวดหรือตาข่ายคลุมปิดบนบ่อแทน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนก็ได้

ส่วนการใช้ถังซีเมนต์สำเร็จรูปหรือถังพลาสติก ควรให้มีความสูงอย่างน้อย 1 เมตร ขึ้นไป หรืออาจต่ำกว่านี้หากหาไม่ได้ แล้วใช้ตาข่ายหรือมุ้งลวดปิดคลุมด้านบนเหมือนกัน

การใส่น้ำเข้าบ่อ
ปริมาณความสูงของน้ำที่ใช้เลี้ยงแมงดานา จำเป็นต้องให้มีระดับความสูงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่แมงดานาเลือกวางไข่ ที่ความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร โดยไม่ควรให้น้ำต่ำหรือสูงกว่านี้

วัสดุวางไข่
โดยธรรมชาติ การวางไข่ของแมงดานาจะวางไข่บนลำต้นของพืชหรือกิ่งไม้เหนือน้ำ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวางวัสดุสำหรับการวางไข่ เช่น ไม้ไผ่ กิ่งไม้ แต่หากให้ดี ควรปลูกพืชน้ำในกระถาง เช่น ข้าว กก ไหล ธูปฤาษี แล้วนำมาวางในบ่อจะดีที่สุด

ไข่แมงดานา

การปล่อยพ่อแม่พันธุ์
พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้เลี้ยง ควรมีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป โดยสังเกตได้จากสีของปีกที่มีลักษณะสีน้ำตาล ปนด้วยหลายแถบสีดำเข้ม อัตราการปล่อย ตัวผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 2 ตัว โดยตัวเมีย 1 ตัว ควรให้มีพื้นที่ประมาณ 2 ตารางเมตร เพราะตัวเมีย 1 ตัวจะออกไข่ และฟักเป็นตัวได้ประมาณ 100-200 ฟอง ดังนั้น หากบ่อมีขนาด 2 x 5 เท่ากับ 10 ตารางเมตร จะใช้ตัวเมียประมาณ 4-5 ตัว ตัวผู้ประมาณ 2-3 ตัว สำหรับบ่อซีเมนต์หรือถังพลาสติกทรงกลมมักมีขนาดเหมาะสำหรับ ตัวเมีย 1 ตัว และตัวผู้ 1 ตัว เท่านั้น

การปล่อยพ่อแม่พันธุ์จะเริ่มปล่อยหลังการนำน้ำเข้าบ่อประมาณ 2-3 วัน เพื่อปรับคุณภาพน้ำก่อน โดยเฉพาะบ่อที่สร้างใหม่จะต้องขังน้ำ 14 วัน ถึง 1 เดือน ก่อน แล้วปล่อยน้ำทิ้ง ก่อนนำน้ำเข้าใหม่

การเลี้ยง และดูแล
การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ และเริ่มเลี้ยงจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน ที่มีอากาศ ความชื้น และปริมาณฝนตกที่สามารถกระตุ้นให้แมงดานาเริ่มการผสมพันธุ์

อาหารที่ให้จะเป็นลูกปลาขนาดเล็ก กุ้ง ลูกอ๊อด ลูกน้ำ ม้าน้ำจืด หรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยการปล่อยเลี้ยงในบ่อเพื่อแมงดานาจับกินอาหารเองตามธรรมชาติ

ตัวอ่อนแมงดานา

เมื่อแมงดานาออกไข่ และฟักเป็นตัวหมดแล้ว ให้จับพ่อแม่พันธุ์แยกออกเลี้ยงต่างหาก หรือจับจำหน่าย หลังจากนั้น จึงเริ่มอนุบาล และเลี้ยงลูกแมงดานาให้โตเต็มวัย

การจับแมงดานา
แมงดานาที่โตเต็มวัยพร้อมที่จะจับจำหน่ายจะมีอายุประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี โดยให้จับจำหน่ายในช่วงก่อนเริ่มฤดูฝนในปีถัดไป

การจับแมงดานาตามธรรมชาติ
แมงดานาในธรรมชาติมักพบได้ตามแหล่งน้ำตื้น ที่เป็นแหล่งน้ำขังใหม่ เช่น ทุ่งนา ทุ่งนาร้าง บ่อที่มีน้ำตื้น และพื้นที่น้ำขังใหม่ต่างในช่วงต้นฤดูฝน

การจับแมงดานาธรรมชาติจะเริ่มจับประมาณเดือนฤษภาคม-กันยายน ที่เป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่ ซึ่งช่วงนี้แมงดานาจะมีกลิ่นหอมแรงกว่าช่วงอื่นๆ เนื่องจากมีการปล่อยสารฟีโรโมนออกมามาก วิธีการจับแมงดานาตามธรรมมี 2 วิธีที่นิยม คือ
1. การงม
การจับจะเริ่มด้วยการหาแหล่งน้ำตื้นตามทุ่งนา และแหล่งน้ำขังตื้นๆ โดยให้มองหาไข่แมงดาที่ติดกับต้นหญ้าหรือต้นข้าว หากพบไข่ให้แล้วจะใช้วิธีการมองหาแม่แมงดาในน้ำ (หากน้ำใสพอ) แต่หากน้ำขุ่นจะใช้วิธีการงมหาด้วยการกวาดมือเบาๆ งมตามพื้นรอบต้นหญ้าที่มีไข่อยู่ ซึ่งจะงมเจอได้ง่าย แต่ควรระวังการเดินลงน้ำต้องค่อยๆเดิน และการกวาดมืองมต้องค่อยงมหาเช่นกัน

2. หลอดไฟล่อแมลง
เป็นการใช้หลอดไฟล่อแมงหรือแมลงต่างๆ เช่น หลอดสีม่วง เปิดตลอดเวลากลางคืนเพื่อล่อให้แมลง รวมถึงแมงดานาบินมาหาไฟ และตกลงอ่างที่ใส่น้ำไว้รองรับด้านล่างหลอดไฟ วิธีนี้จะจะบแมงดานาได้มาก และง่ายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด