แพะ และการเลี้ยงแพะ

21519

แพะ (Goat) เป็นสัตว์ให้เนื้อ และให้นมที่นิยมเลี้ยงชนิดหนึ่ง เนื่องจากนมแพะที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ใกล้เคียงหรือสูงกว่านมโค กระบือ และมนุษย์ มีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ โมเลกุลไขมันมีขนาดเล็ก ทำให้ง่ายต่อการย่อย และการดูดซึมง่ายในระบบทางเดินอาหารสามารถนำใช้บริโภคแทนนมมนุษย์ได้ดีกว่านมโคและนมกระบือ นอกจากนี้ แพะเป็นสัตว์ให้เนื้อเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ย่อยได้ในระดับสูงกว่าเนื้อโค สุกร และไก่ และมีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ  รวมถึงขน และหนังแพะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ใช้ทำกระเป๋า เสื่อ พรม และเชือก ส่วนมูลแพะใช้ทำเป็นปุ๋ย เขา และกีบนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เลือด และกระดูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์

แหล่งเลี้ยงแพะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอยู่ในภาคใต้ และเป็นแหล่งบริโภคแพะแหล่งใหญ่ของประเทศ เนื่องจากกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามนิยมบริโภคแพะ โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญทางศาสนาที่ต้องใช้ประกอบพิธีกรรม รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

ผลผลิตจากแพะ
1. เนื้อ
เนื้อแพะจัดว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะเมื่อเทียบกับเนื้อของสัตว์เคี้ยวเอื้องทั่วไป เช่น เนื้อโค เนื้อแกะ ฯลฯ จะมีโปรตีนย่อยได้สูงกว่า ในขณะที่มีไขมันต่ำกว่า สำหรับเนื้อลูกแพะอายุก่อนหย่านมที่น้ำหนัก 6–8 กิโลกรัม มีชื่อเสียงว่ามีรสชาติดี แพะสามารถจับขายได้ตั้งแต่อายุ 5–6 เดือน มีน้ำนักประมาณ 25 กิโลกรัม ซึ่งเนื้อแพะในช่วงอายุนี้จะมีความน่ารับประทาน

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อชนิดต่างๆ
1. พลังงาน (กิโลแคลอรี่)
– แพะ : 122
– วัว : 345
– หมู : 310
– แกะ : 235
– ไก : 120

2. โปรตีน (กรัม)
– แพะ : 23
– วัว : 23
– หมู : 21
– แกะ : 22
– ไก : 21

3. ไขมัน (กรัม)
– แพะ : 2.58
– วัว : 16
– หมู : 24
– แกะ : 16
– ไก : 3.5

4. เหล็ก (กรัม)
– แพะ : 3.2
– วัว : 2.9
– หมู : 2.7
– แกะ : 1.4
– ไก : 1.5

ที่มา : วินัย ประลมพ์กาญจน์, 2542.(1)

2. นม
คุณค่าทางอาหารในน้ำนมแพะใกล้เคียงกับน้ำนมโค แต่มีคุณสมบัติที่เด่นกว่า คือ น้ำนมแพะสามารถย่อยได้ง่าย มีเม็ดไขมันขนาดเล็ก ไขมันกระจายตัวดี ย่อยได้ง่าย ร่างกายสามารถดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี น้ำนมแพะประกอบด้วยกรดไขมันที่สำคัญ ได้แก่ กรด Caproic,Caprylic และ Capric ซึ่งมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคในทางการแพทย์ เช่น โรคภาวะการดูดซึมสารอาหารบกพร่อง (Malabsorption Syndrome) นอกจากนั้น น้ำนมแพะยังอุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่สำคัญหลายชนิด เช่น Histidine, Aspartic acid, Phenylalanine ซึ่งกรดอะมิโนเหล่านี้มีประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และเด็กที่แพ้น้ำนมโค

คุณค่าโภชนาการของเนื้อชนิดต่างๆ
1. วิตามินเอ (หน่วยสากล)
– น้ำนมแพะ : 2 ,074
– น้ำนมแกะ : 313.3
– น้ำนมโค : 1,560
– น้ำนมกระบือ : 1,669
– น้ำนมคน : 1,898

2. วิตามินบี 6 (มิลลิกรัม/ลิตร)
– น้ำนมแพะ : 0.07
– น้ำนมแกะ : 0.07
– น้ำนมโค : 0.64
– น้ำนมกระบือ : 0.25
– น้ำนมคน : 0.10

3. วิตามินบี 12 (มิลลิกรัม/กรัม)
– น้ำนมแพะ : 0.0006
– น้ำนมแกะ : 0.0006
– น้ำนมโค : 0.0042
– น้ำนมกระบือ : 0.0004
– น้ำนมคน : 0.003

4. วิตามินดี (มิลลิกรัม/ลิตร)
– น้ำนมแพะ : 23.7
– น้ำนมแกะ : –
– น้ำนมโค : –
– น้ำนมกระบือ : –
– น้ำนมคน : –

5. โปรตีน (ร้อยละ)
– น้ำนมแพะ : 3.7
– น้ำนมแกะ : 5.1
– น้ำนมโค : 2.8
– น้ำนมกระบือ : 3.7
– น้ำนมคน : 1.5

6. ขนาดของเม็ดไขมัน (ไมโครมิลลิกรัม)
– น้ำนมแพะ : 3.49
– น้ำนมแกะ : 3.30
– น้ำนมโค : 4.55
– น้ำนมกระบือ : 5.92
– น้ำนมคน : –

7. น้ำตาลแล็กโทส (ร้อยละ)
– น้ำนมแพะ 5.0
– น้ำนมแกะ : 4.8
– น้ำนมโค : 4.6
– น้ำนมกระบือ : 4.8
– น้ำนมคน : 6.5

8. ไขมัน (ร้อยละ)
– น้ำนมแพะ : 4.8
– น้ำนมแกะ : 12.6
– น้ำนมโค : 4.8
– น้ำนมกระบือ : 6.5
– น้ำนมคน : 3.6

9. ไบโอดีน (มิลลิกรัม/ลิตร)
– น้ำนมแพะ : 0.036
– น้ำนมแกะ : 0.004
– น้ำนมโค : 0.031
– น้ำนมกระบือ : 0.13
– น้ำนมคน : 0.002

10. กรดโฟลิก (มิลลิกรัม/ลิตร)
– น้ำนมแพะ : 0.0024
– น้ำนมแกะ : –
– น้ำนมโค : 0.0028
– น้ำนมกระบือ : 0.15
– น้ำนมคน : 0.002

11. กรดแอสคอร์บิก (มิลลิกรัม/ลิตร)
– น้ำนมแพะ : 15.0
– น้ำนมแกะ : 1.97
– น้ำนมโค : 21.1
– น้ำนมกระบือ : 25.4
– น้ำนมคน : 43.0

12. กรดนิโคทินิก (มิลลิกรัม/กรัม)
– น้ำนมแพะ : 1.87
– น้ำนมแกะ : 0.51
– น้ำนมโค : 0.94
– น้ำนมกระบือ : 1.71
– น้ำนมคน : 1.47

13. ไทอามีน (มิลลกรัม/ลิตร)
– น้ำนมแพะ : 0.40
– น้ำนมแกะ : –
– น้ำนมโค : 0.44
– น้ำนมกระบือ : 0.50
– น้ำนมคน : 0.16

14. ไรโบฟลาวิน (มิลลิกรัม/ลิตร)
– น้ำนมแพะ : 1.84
– น้ำนมแกะ : 0.40
– น้ำนมโค : 1.75
– น้ำนมกระบือ : 1.07
– น้ำนมคน : 0.36

15. โคลีน (มิลลิกรัม/ลิตร)
– น้ำนมแพะ : 150
– น้ำนมแกะ : –
– น้ำนมโค : 121
– น้ำนมกระบือ : –
– น้ำนมคน : 90

ที่มา : ชมรมกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ, 2550. โภชนาการของน้ำนมชนิดต่างๆ.(2)

ผลิตภัณฑ์นมแพะ
ครีม (Cream)
นมแพะมีเม็ดไขมันเล็กและกระจายตัวดีกว่านมโค ดังนั้น การปล่อยให้ไขมันลอยตัวแยกเป็นครีมจึงใช้เวลานานกว่า การแยกครีมนมแพะจึงทำได้ยากกว่านมโค อย่างไรก็ตามวิธีการและอุปกรณ์ที่ใช้แยกครีมของนมแพะมีลักษณะเหมือนกับของนมโค

เนยเหลว (Butter)
การนำนมแพะมาทำเนยเหลวไม่ค่อยนิยมทำกัน แต่คนที่เคยชิมเนยเหลวของแพะมักจะติดใจ ดังนั้น จึงน่าจะมีตลาดสำหรับเนยเหลวที่ทำจากนมแพะ เหตุผลที่ไม่ค่อยมีคนทำเนยเหลวนมแพะก็เพราะการแยกครีมจากน้ำนมแพะค่อนข้างยากเนยเหลวได้มาจากการแยกครีมออกจากน้ำนมก่อน แล้วจึงนำมาปั่นด้วยเครื่องปั่นให้ได้เนยเหลวออกมา เครื่องปั่นเนยสำหรับกิจการขนาดเล็กสามารถใช้มือปั่น แต่ถ้าในระดับการค้าต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขณะปั่นเนยต้องมีการเติมน้ำทีละน้อย เพื่อให้ไขมันจับตัวเป็นก้อน เมื่อไขมันจับกันเป็นเม็ดได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วล้างด้วยน้ำ แล้วจึงทำให้เป็นก้อนตามลักษณะที่ต้องการ เก็บไว้ในที่เย็นอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ถ้าต้องการรสชาติเค็มให้เติมเกลือ ในขณะที่ใช้น้ำล้างก่อนที่จะนำเม็ดไขมันมาทำเป็นก้อนเนยเหลวจากนมแพะมีสีขาว บางทีอาจเติมสีลงไปด้วยเพื่อให้น่ารับประทาน

ไอศกรีม (Ice – Cream)
ไอศกรีมนมแพะมีรสชาติอร่อยมาก เป็นการแปรรูปนมแพะให้ได้ราคาสูงขึ้นวิธีหนึ่ง

โยเกิร์ต (Yoghourt)
หลักการทำโยเกิร์ตคือ การเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย เช่น แลคโตแบซิลัส บัลแกริคัส (Lactobacillus Bulgaricus) หรือ สเตรปโตคอกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus Thermophilus) ลงในนม แบคทีเรียดังกล่าวจะทำการเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตสในนมให้กลายเป็นกรดแลกติก ซึ่งจะทำให้น้ำนมจับตัวเป็นก้อนและกรดนี้เป็นตัวสำคัญในการเก็บรักษานมไม่ให้เน่าเสียได้ง่าย โยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวจึงมีอายุการเก็บนานกว่านมธรรมดาการทำโยเกิร์ตจำหน่ายเป็นการค้าต้องการสภาพแวดล้อมที่สะอาด มีหัวเชื้อที่ดี และใช้น้ำนมที่มีคุณภาพ หัวเชื้อที่ใช้มีความสำคัญมาก เพราะจะต้องมีสัดส่วนของจุลินทรีย์ที่ถูกต้องในการทำให้ผลผลิตมีกลิ่น รสสม่ำเสมอ การนำน้ำนมมาผ่านการพาสเจอร์ไรซ์เสียก่อนจะทำให้ได้โยเกิร์ตที่มีคุณภาพสูง เมื่อเติมหัวเชื้อโยเกิร์ตลงในน้ำนมแล้วให้นำไปบ่มที่อุณหภูมิ 37.5-45 °C การบ่มอาจใช้ตู้บ่มที่สร้างขึ้นเฉพาะซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างถูกต้อง โยเกิร์ตจะก่อตัวได้ที่หลังจากบ่ม 6-8 ชั่วโมง จากนั้นนำเข้าตู้เย็นโยเกิร์ตนมแพะค่อนข้างเหลวกว่าโยเกิร์ตนมโค การทำให้มันแข็งตัวมากขึ้นทำได้โดยการเติมนมผงลงไปก่อนบ่ม ในการทำโยเกิร์ตสามารถปรุงแต่งกลิ่นและรสตามต้องการได้อย่างเช่น รสผลไม้ชนิดต่างๆ เป็นต้น

เนยแข็ง (Cheese)
เนยแข็งแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ เนยแข็งสด (Fresh Cheese), เนยแข็งนุ่ม (Soft Cheese ), บลูชีส (Blue Cheese), ฮาร์ดชีส (Hard Cheese) และเวย์ชีส (Whey Cheese)

น้ำนมที่นำมาทำเนยในประเทศฝรั่งเศสมักจะเป็นนมดิบที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพราะกระบวนการผลิตมีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ตามธรรมชาติที่มีในน้ำนม ดังนั้น น้ำนมดิบที่นำมาใช้จึงควรมีความสะอาดปลอดจากแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะโรคแท้งติดต่อ(Brucellosis)

เนยแข็งทำโดยการตกตะกอนโปรตีนในนม (Casein) ด้วยกรดแลกติกและเอนไซม์เรนเนท (Rennet)การรวมตัวกันเป็นลิ่มของโปรตีนในนมอันเนื่องมาจากกรดแลกติกนี้ ทำโดยปล่อยให้เชื้อจุลินทรีย์พวกแลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) ที่มีตามธรรมชาติขยายตัว เปลี่ยนน้ำตาลในนมให้เป็นกรดแลกติก แต่ถ้าใช้นมพาสเจอร์ไรซ์มาทำเนยแข็งจะต้องทำการเติมหัวเชื้อแลคโตบาซิลไลลงไป เพราะเชื้อที่มีอยู่ตามธรรมชาติถูกฆ่าตายหมดแล้ว แบคทีเรียชนิดอื่นๆ และอุณหภูมิมีอิทธิพลต่อการจับตัวเป็นลิ่มของน้ำนมเช่นกันเอนไซม์เรนเนทซึ่งโรงงานเนยแข็งนำมาใช้ในการรวมตัวของโปรตีนนมนี้ แต่เดิมได้มาจากกระเพาะลูกโค แต่ปัจจุบันนี้อาจจะได้มาจากแหล่งอื่นๆ เอนไซม์นี้ควรจะมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อให้ได้คุณภาพที่สม่ำเสมอ เรนเนทจะทำให้โปรตีนจับตัวกันเสมือนเป็นตาข่ายคลุมเนื้อนมเอาไว้

• เนยแข็งสด (Fresh Cheese) ได้จากการนำลิ่มนมที่เกิดจากกรดแลกติก ซึ่งก่อตัวขึ้นประมาณ 24 ชั่วโมง มาไล่น้ำออกจากลิ่มนมแล้วนำไปเข้าแม่พิมพ์เป็นรูปตามต้องการ เนยแข็งสดที่ได้สามารถบริโภคหลังจากที่ทำเสร็จใหม่ๆเนยแข็งนุ่ม (Soft Cheese) วิธีทำคล้ายกับเนยแข็งสด แต่การไล่น้ำออกจากลิ่มนมใช้เวลานานกว่า จากนั้นนำไปบ่มทิ้งไว้ ซึ่งเอนไซม์เรนเนทในนมและจุลินทรีย์จะช่วยส่งผลให้ลิ่มแข็งขึ้น ระยะเวลาในการบ่มประมาณ 5-30 วัน เนยแข็งที่ได้มีคุณสมบัติต่างๆ กันไป ขึ้นอยู่กับวิธีการบ่มและแบคทีเรียที่มีอยู่ในลิ่มนม อาจจะมีการเติมเกลือลงไปเพื่อปรุงรสด้วย

• บลูชีส (Blue Cheese) ทำมาจากลิ่มนมที่ได้จากกรดและเอนไซม์เรนเนท จากนั้นมีการเพาะเชื้อรา Penicillum Glaucum การบ่มต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ 9-10 °C มีความชื้น 90-95 % บ่มนานถึง 5 เดือนนอกจากบลูชีสแล้วก็ยังมีฮาร์ดชีสที่ต้องใช้เวลาในการบ่มนาน และระหว่างบ่มต้องคอยควบคุมสภาพแวดล้อมด้วย ทำให้ไม่ค่อยมีคนทำ ดังนั้นเนยแข็งทั้งสองชนิดจึงมีไม่มากนักและมักขาดตลาด ในการบ่มฮาร์ดชีสนั้นส่วนใหญ่บ่มในที่มืดใช้เวลาหลายเดือน อุณหภูมิแวดล้อม 8-10 °C และความชื้น 80-90 % การระบายอากาศต้องดีด้วย เพื่อขับไล่ความร้อนจากการบ่มให้ได้สภาพอุณหภูมิที่สม่ำเสมอ

3. ขนแพะ
ขนแพะเป็นผลพลอยได้จากแพะที่ถูกคัดทิ้ง โดยแพะจะถูกปล่อยให้หากินเป็นบริเวณกว้าง และตัดขนปีละสองครั้ง ยิ่งขนแพะมีราคาดีขึ้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการผลิตขนแพะเป็นผลพลอยได้จากฝูงแพะนมที่มีการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ซาแนนกับสายพันธุ์แองกอร่า ลูกของแพะพันธุ์ผสมนี้จะมีรูปร่างที่เหมาะสมที่จะเป็นแพะเนื้อมากกว่าซาแนนพันธุ์แท้ จึงมีแนวโน้มเป็นอย่างมากที่จะนำแพะเลือดแองกอร่าเข้ามาผสมในส่วนหนึ่งของฝูงแพะนมเพื่อไม่เพียงแต่ให้ขนอย่างเดียว แต่ยังช่วยปรับปรุงเรื่องเนื้อด้วย ขนแคชเมียร์นั้นผลิตกันในประเทศจีน ตุรกีและรัสเซีย โดยเป็นผลพลอยได้จากแพะที่เลี้ยงไว้เพื่อเอาทั้งนมและเนื้อ แพะป่าก็พบว่าให้ขนแคชเมียร์เหมือนกัน

4. หนังแพะ
หนังแพะนำมาทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เช่น รองเท้า กระเป๋า และเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์หนังจากลูกแพะจะมีราคาแพงเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ขนแพะ ความต้องการสินค้าที่ได้จากผลิตภัณฑ์หนังแพะสูงในประเทศที่พัฒนาแล้ว

พันธุ์แพะ
แพะพันธุ์ไทย
1. แพะพื้นเมืองในประเทศไทย
แพะพันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงในประเทศไทยจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยแพะพันธุ์พื้นเมืองในภาคใต้มีลักษณะคล้ายกับแพะพันธุ์กัตจังหรือแกมบิง กัตจัง (Katjang หรือ Kacang หรือ Kambing Katjang) ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งแพะทางภาคใต้เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 20-25 กิโลกรัม ความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร โดยมากกว่าร้อยละ 65 ของแพะในภาคใต้จะมีสีดำ น้ำตาล หรือน้ำตาลสลับดำ ที่เหลือมีสีขาวหรือเหลือง มีเขาและขนเกรียน มีติ่งใต้คอ แพะเพศเมียเมื่อโตเต็มวัยจะมีปุ่มที่ขาหน้าอยู่สูงจากขาประมาณ 48.5 เซนติเมตร ส่วนแพะในแถบภาคตะวันตก เป็นแพะมาจากประเทศอินเดีย หรือปากีสถาน มีลักษณะรูปร่างใหญ่ แพะเพศเมียอายุ 1 ปี จะมีน้ำหนักประมาณ 12-13 กิโลกรัม สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี แม่แพะจะให้ลูกประมาณ 2 ตัว/การตั้งท้อง และบางตัวสามารถให้ลูกได้ถึง 2 ครั้ง/ปี ให้ผลผลิตทั้งเนื้อและนมต่ำ

peunm

แพะพันธุ์ต่างประเทศ
1. แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen)
มีถิ่นกำเนิดใน Saanen Valley ทางตอนใต้ของเมือง Canton Berne ในประเทศ Switzerland เป็นแพะนมขนาดใหญ่ ให้นมสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ หนังมีขนสั้น สีขาวครีมหรือน้ำตาลอ่อน ดั้งจมูก และใบหน้าไม่โค้งงุ้ม ใบหูเล็ก และชี้ตั้งไปข้างหน้า ไม่มีเขาทั้งเพศผู้ และเพศเมีย มักพบเพศเป็นกระเทย (intersex) ค่อนข้างสูง โดยมีการตั้งข้องสังเกตว่าลักษณะกระเทยมีความสัมพันธ์กับลักษณะที่ไม่มีเขา เป็นแพะที่มีอัตราออกลูกแฝดสูง ตัวผู้หนักประมาณ 75 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 65 กิโลกรัม สูงทั่วไปประมาณ 70-90 เซนติเมตร เพศเมียมีเต้านมใหญ่ หัวนมเรียวยาว ให้น้ำนมประมาณ 2 ลิตร/วัน ให้นมนาน 240-300 วัน บางตัวสามารถผลิตน้ำนมได้ 2,000 กิโลกรัม/ปี น้ำนมมีไขมันประมาณ 3.5%

Saanen

2. แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน (Anglo-Nubian)
เป็นแพะที่นำเข้ามาโดยกรมปศุสัตว์ ลำตัวมีขนาดใหญ่ น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 2 – 5 กิโลกรัม หย่านมที่ระยะ 3 เดือน ที่น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม จมูกมีลักษณะโด่ง งุ้มลงบริเวณปาก ใบหูยาวเหมือนหูโค เป็นแพะที่ไม่มีเขา แต่บางครั้งอาจพบเขาสั้นๆ ขนมีลักษณะสั้น เป็นมัน ขนมีหลายสี เช่น สีดำ สีเทา สีครีม สีน้ำตาล สีขาว ซึ่งมักพบได้หลายสีบนลำตัว ส่วนขามีลักษณะยาว ทำให้ง่ายต่อการรีดนม ให้นมน้อยประมาณวันละ 1.5 ลิตร ไขมันนม 5% ให้นมนาน 165-200 วัน สามารถเลี้ยงเพื่อผลิตนม และให้เนื้อเป็นหลัก

Anglo-Nubian

3. แพะพันธุ์เบอร์ (Boer)
เ็ป็นแพะที่นำเข้าจากประเทศแอฟริกาใต้ เมือปี พ.ศ.2539 โดยกรมปศุสัตว์ เป็นแพะเนื้อขนาดใหญ่ ลักษณะเด่น คือ มีขาสั้น ขนเรียบสั้นสีขาว แต่บริเวณส่วนหัว และคอจะมีสีแดง มีใบหูยาว ตัวผู้หนักประมาณ 90-100 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 65-70 กิโลกรัม จำนวนลูก 2-3 ตัว/ครอก และมีอัตราการให้ลูกแฝดสูง ให้น้ำนมวันละ 1.3-1.8 กิโลกรัม ให้นมนาน 120 วัน นิยมเลี้ยงเป็นแพะเนื้อมากกว่าแพะนม

Boer

4. แพะพันธุ์ทอกเกนเบอร์ก (Toggenburg)
เ็ป็นแพะที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หุบเขาทอกเกนเบอร์ก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสวิสเซอร์แลนด์ มีลักษณะลำตัวใหญ่ ขนสั้น ขนเพศผู้จะยาวกว่าเพศเมีย ขนมีสีน้ำตาลหรือสีเทาแกมเหลือง ใบหูสั้น และชี้ตั้ง หน้าตรง มีแถบสีขาวข้างแก้ม น้ำหนักแรกเกิด 3.5 กิโลกรัม น้ำหนักเมื่อ 3 เดือน 18 กิโลกรัม ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่หนัก 60-70 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 50-55 กิโลกรัม ให้น้ำนม เฉลี่ย 1.5-2 ลิตร/วัน ไขมันนมประมาณ 3.4% ให้นมนานกว่า 200 วัน

Toggenburg

5. แพะพันธุ์อัลไพน์ (Alpine)
เ็ป็นแพะที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาแอลพ์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และในออสเตรเลีย แบ่งเป็น 4 พันธุ์ คือ สวิสอัลไพน์ (Swiss Alpine), เฟรนซอัลไพน์ (French Alpine), อิตาเลียนอัลไพน์ (Italian Alpine) และบริทิชอัลไพน์ (British Alpine) เป็นแพะที่มีลำตัวขนาดใหญ่ ขนมีลักษณะเรียบสั้น เป็นมัน ขนมีสีน้ำตาลหรือดำ ใบหูเล็ก ชี้ตั้ง มีแถบสีข้างแก้ม หน้า และดั้งจมูกตรง อาจจะมีเขาหรือไม่มีเขาก็ได้ เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 75-80 เซนติเมตร เพศผู้หนัก 65-75 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 55-60 กิโลกรัม เป็นแพะพันธุ์นม พันธุ์นี้เลี้ยงเพื่อผลิตนมเป็นหลักและเนื้อเป็นรอง ให้น้ำนมเฉลี่ย 0.9 -1.3 ลิตร/วันร ให้นมนาน 200-240 วัน เหมาะสำหรับเลี้ยงให้น้ำนม และเนื้อเป็นหลัก

Alpine

6. แพะพันธุ์หลาวซาน (Laoshan)
แพะพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนที่พัฒนามาจากแพะพันธุ์ซาแนน นำเข้ามาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดยรัฐบาลจีน จากจังหวัด Shandong จำนวน 2 คู่ เพื่อถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ  โดยนำไปเลี้ยงที่ และขยายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัย และบำรุงพันธุ์สัตว์ จ. นครราชสีมา แพะพันธุ์นี้มีลักษณะขนสีขาว ยาวเล็กน้อย แต่จะยาวมากกบริเวณแก้ม ส่วนหูมีลักษณะสั้น ชี้ตั้ง เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้หนักประมาณ 80 กก. ตัวเมียประมาณ 60 กก. ผลผลิตนมเฉลี่ย 2.2 ลิตรต่อวัน ระยะการให้นม 200 วัน

Laoshan

ที่มา : บุญเสริม ชีวะอิสระกุล, 2546.(3)

รูปแบบการเลี้ยงแพะ
1. การเลี้ยงแบบปล่อย
เป็นการเลี้ยงโดยปล่อยให้แพะหากินเองตามธรรมชาติ และผสมพันธุ์เอง ไม่มีการจัดการเลี้ยงดูเป็นพิเศษ  มักเลี้ยงตามบริเวณที่มีหญ้า ในช่วงกลางวันจะต้อนให้อยู่ที่มีร่มเงา มักไม่มีการสร้างคอกหรือโรงเรือน แต่จะปล่อยให้อาศัยตามร่มไม้

2. การเลี้ยงแบบกึ่งขังคอก
ลักษณะคล้ายกับการเลี้ยงแบบปล่อย แต่จะมีการสร้างคอกหรือโรงเรือนสำหรับกักขังในตอนกลางคืน มักโรงเรือนที่มีแต่หลังคาเท่านั้น ตอนเช้าจะต้อนให้แพะออกหากินตามทุ่งหรือที่มีหญ้า

3. การเลี้ยงแบบผูกล่าม
เป็นการผูกล่ามแพะไว้กับที่ อาจเป็นหลักไม้ปักหรือเป็นตอไม้หรือต้นไม้ ที่บริเวณโดยรอบเป็นแปลงหญ้าหรือมีหญ้าให้แพะกินเพียงพอ วันหนึ่งอาจมีการย้าย 2-3 จุด เพื่อให้ได้กินหญ้าได้มาก แต่อาจย้ายบ่อยหากพื้นที่นั้นมีหญ้าน้อย ส่วนตอนเย็นจะย้ายมาขังคอก

4. การเลี้ยงแบบขังคอก
เป็นการเลี้ยงในคอกหรือโรงเรือนตลอดเวลา โดยให้น้ำ และอาหารในคอก แต่อาจมีการปล่อยแพะออกไปหากินข้างนอกบ้าง พื้นคอกมักยกสูง และลาดเอียง หรือาจเป็นพื้นดินธรรมดา แต่มักรองพื้นด้วยแกลบ

การเลี้ยงแพะ
1. สถานที่เลี้ยงแพะ
การเลือกทำเลสถานที่ตั้งโรงเรือนเลี้ยงแพะ ควรเป็นที่เนินหรือเป็นบริเวณที่น้ำไม่ท่วมขังมีแหล่งน้ำสะอาดสำหรับใช้เลี้ยงแพะได้ตลอดทั้งปี มีการคมนาคมสะดวกพอสมควรโดยเฉพาะหากเลี้ยงแพะเพื่อการผลิตน้ำนม มีแหล่งพืชอาหารสัตว์ เช่น ทุ่งหญ้าสาธารณะ แปลงพืชอาหาร ฯลฯ

สำหรับให้แพะได้แทะเล็ม สำหรับขนาดของโรงเรือนหรือคอกสำหรับเลี้ยงแพะจะขึ้นอยู่กับฝูงแพะ
ลักษณะของโรงเรือนแพะ โดยทั่วไปในการเลี้ยงแพะเพื่อผลิตเนื้อนั้น โรงเรือนเป็นเพียงสถานที่ที่อาศัยพักหลักนอนและกักขังแพะในช่วงตอนกลางคืน หรือเมื่อสภาพอากาศแวดล้อมภายนอกไม่เหมาะสมที่จะปล่อยแพะออกไปแทะเล็มหญ้า โรงเรือนและคอกจะมีความสำคัญ และจำเป็นต่อลูกแพะและการเลี้ยงแพะเพื่อผลิตนม อย่างไรก็ดี หลักการสำคัญในการจัดสร้างโรงเรือนแพะ คือ ควรเป็นสถานที่ที่ทำให้แพะได้อาศัยอยู่อย่างสุขสบายสามารถอำนวยความสะดวกต่อการจัดการเลี้ยงดูและการให้การสุขาภิบาลที่ดีแก่แพะได้

ลักษณะโรงเรือนแพะเนื้อมักเป็นโรงเรือนที่มีคอกแบบขังรวม คอกละไม่เกิน 10 ตัว ทั้งนี้ผู้เลี้ยงต้องคัดแพะที่มีขนาดใกล้เคียงกันอยู่ในคอกเดียวกันเพื่อป้องกันการทำอันตรายต่อกัน

สำหรับโรงเรือนแพะนมนั้นภายในควรจัดแบ่งสัดส่วนพื้นที่ออกเป็นส่วนรีดนมและส่วนที่อยู่อาศัยของแพะในช่วงการผลิตต่าง ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับโคนม เช่น แบ่งออกเป็นคอกรีดนม คอก
คลอด คอกผสมพันธุ์ คอกแพะพ่อพันธุ์ และคอกแพะขุน เป็นต้น

2. แหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยงแพะ
แพะเป็นสัตว์ที่หาอาหารกินเองเก่งและสามารถกินอาหารได้หลายชนิด แต่ไม่ชอบกินพืชอาหารชนิดเดียวกันเป็นเวลานาน ๆ จะเลือกกินพืชอาหารหลายชนิดสลับกันไป พืชอาหารบางชนิดที่โคกระบือไม่กิน แต่แพะยังกิน แพะชอบกินใบของไม้พุ่มมาก รองลงไปคือ หญ้าและถั่ว แพะจะเลือกกินใบและยอดอ่อนของพืชก่อน และจะไม่กินก้านหรือลำต้น

แปลงหญ้า ตามปกติแพะจะกินหญ้าสดประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว ปัจจุบันทุ่งหญ้าสาธารณะมีจำนวนลดน้อยลงโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้นผู้เลี้ยงควรวางแผนการจัดหาพืชอาหารสำหรับใช้เลี้ยงแพะ การเลี้ยงปล่อยให้แพะแทะเล็มพืชอาหารโดยตรงนั้นควรจัดเตรียมพื้นที่สำหรับทำแปลงปลูกหญ้าไว้ให้เดินแทะเล็ม ซึ่งพื้นที่แปลงหญ้าขนาด 1 ไร่สามารถเลี้ยงแพะได้ประมาณ 5 ตัว

หญ้าที่ปลูกจะต้องมีความเหมาะสม คือ เป็นหญ้าชนิดที่แพะชอบกินและทนต่อการเหยียบย่ำของแพะ เช่น หญ้าขน กินนี รูซี่ ฯลฯ แปลงหญ้าต้องได้รับการดูแลและจัดการอย่างดี มีการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ การดูแลคุณภาพของดินโดยใช้ปุ๋ยคอกจากมูลแพะ

อาหารข้น ถึงแม้ว่าแพะจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการกินหญ้าและพืชอาหารตามธรรมชาติ แต่การเสริมอาหารข้นก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังให้ผลผลิต เพื่อให้แพะได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อการสร้างผลผลิตได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากพืชอาหารตามธรรมชาติมักมีคุณภาพและปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากการเสริมอาหารข้นแล้ว ควรเสริมแร่ธาตุก้อนแก่แพะด้วย ได้มีรายงานวิจัยว่า การให้อาหารข้นที่ระดับโปรตีนร้อยละ 13.7 เทียบกับการให้อาหารข้นที่ระดับโปรตีนร้อยละ 20.7 แก่แพะพื้นเมืองน้ำหนัก 26 กิโลกรัม จะให้อัตราการเจริญเติบโตไม่แตกต่างกันทางสถิติ คือ 49.5 ± 5 และ 49.5 ± 4.7 กรัมต่อวัน ตามลำดับ

แนวทางการให้อาหารแพะนม
1. แรกเกิด-3 วัน
– นมน้ำเหลือง เต็มที่วันละ 3 – 5 ครั้ง

2. อายุ 4 วัน – 2 สัปดาห์
– (*1) นมสด 0.5 – 1 ลิตรต่อตัว แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
– ไวตามิน + แร่ธาตุ แบบเต็มที่
– น้ำ แบบเต็มที่

3. อายุ 2 – 6 สัปดาห์
– (*1) นมสดหรือนมเทียม – 0.5 – 1 ลิตรต่อตัว แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง
– หญ้าแห้งผสมถั่วหรือหญ้าสด แบบเต็มที่
– ไวตามิน + แร่ธาตุ แบบเต็มที่
– น้ำ แบบเต็มที่
– อาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 22 เริ่มให้วันละน้อยก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น

4. อายุ 4 เดือน – ให้ลูก
– อาหารหยาบ เช่น หญ้าสด แบบเต็มที่
– ไวตามิน +แร่ธาตุผสม แบบเต็มที่
– น้ำ แบบเต็มที่
– (*2) อาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 18-202 แบบเต็มที่ (ให้ได้ถึง 0.5 กก./ตัว)

5. แม่พันธุ์อุ้มท้องแม่พันธุ์ที่หยุดรีดนม และพ่อพันธุ์
– อาหารหยาบ แบบเต็มที่
– ไวตามิน + แร่ธาตุผสม แบบเต็มที่
– น้ำ แบบเต็มที่
– (*3) อาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 16-183 (ให้ 0.2-0.7 กก./ตัว)

6. แม่พันธุ์ระยะให้นม
– อาหารหยาบ แบบเต็มที่
– ไวตามิน + แร่ธาตุผสมน้ำ แบบเต็มที่
– (*3) อาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 16-183 แบบเต็มที่ ขึ้นกับปริมาณน้ำนมที่รีดได้ โดยให้อาหาร 0.3-0.5 กก./น้ำนมที่รีดได้ 1 ลิตร

หมายเหตุ
*1 นมสดอาจเป็นนมแพะหรือนมโค และภายหลังจาก 2 สัปดาห์ แล้วอาจใช้นมเทียม หรือนมผง
ผสมน้ำ แทนนมสดได้

*2. ตัวอย่างสูตรอาหารที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 18–20
– ข้าวโพด 12 กก.
– รำละเอียด 24 กก.
– กากมะพร้าว 40 กก.
– กากถั่วเหลือง 8 กก.
– เนื้อและกระดูกป่น 10 กก.
– กากน้ำตาล 5 กก.
– เกลือป่น 1 กก.

*3. ตัวอย่างสูตรอาหารที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 16–18
– กากมะพร้าว 40 กก.
– ข้าวโพด 25 กก.
– กากถั่วเหลือง 15 กก.
– รำละเอียด 10 กก.
– กากน้ำตาล 8 กก.
– กระดูกป่น 1 กก.
– เกลือป่น 1 กก.

ที่มา : กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2549.(4)

3. การจัดการเลี้ยงดูแพะ
การจัดการเลี้ยงดูแพะอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยให้แพะสามารถแสดงประสิทธิภาพการผลิตได้เต็มที่ ซึ่งการเลี้ยงดูแพะก็ไม่ได้มีขั้นตอนและเทคนิคเฉพาะที่ยุ่งยากและแตกต่างไปจากการผลิตโคเนื้อหรือโคนม เพียงแต่ผู้เลี้ยงต้องให้ความเอาใจใส่ต่อการจัดหาปัจจัยการผลิตที่แพะต้องการใช้ในการดำรงชีวิตและการให้ผลผลิต

เนื่องจากเกษตรกรมีเป้าหมายและรูปแบบการเลี้ยงแพะที่แตกต่างกัน ทำให้มีการจัดการดูแลที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี การจัดการเลี้ยงดูแพะในช่วงการเจริญเติบโตระยะต่าง ๆมีการจัดการเลี้ยงดูที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติดังนี้

พ่อพันธุ์ ผู้เลี้ยงควรคัดเลือกแพะเมื่ออายุ 3 เดือน โดยเลือกตัวที่มีลักษณะดี แข็งแรงสมบูรณ์ และไม่มีอาการผิดปกติไว้เป็นพ่อพันธุ์ แล้วแยกเลี้ยงให้มีความสมบูรณ์ แต่จะต้องระวังไม่ให้อ้วนและให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แพะเพศผู้จะเริ่มแสดงอาการเป็นหนุ่มเมื่ออายุ 4 – 5 เดือน แต่จะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุมากกว่า 8 เดือน ช่วงใกล้ฤดูผสมพันธุ์ แพะเพศผู้จะปัสสาวะรดตัวเองโดยเฉพาะบริเวณท้องและอก ต่อมาพ่อแพะจะแสดงอาการม้วนปาก นอกจากนี้ต่อมกลิ่นที่ฐานเขาจะทำงานส่งกลิ่นเพศผู้ออกไป พ่อพันธุ์ที่มีอายุ 1–2 ปี สามารถคุมฝูงแม่พันธุ์ได้ 10–15 ตัว และพ่อพันธุ์ที่มีอายุ 2–5 ปี สามารถคุมฝูงแม่พันธุ์ได้ 20–40 ตัว โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้พ่อพันธุ์ 3 ตัวคุมฝูงแม่พันธุ์ 100 ตัว แม่พันธุ์ แพะสาวจะเริ่มเป็นสัดเมื่ออายุ 3–4 เดือน แต่ในช่วงนี้จะยังไม่ให้ผสมพันธุ์เพราะแพะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จะรอจนกว่าแพะมีอายุประมาณ 8–10 เดือน จึงจะจัดให้มีการผสมพันธุ์

ค่าพันธุ์ และราคาจำหน่าย
1. ค่าพันธุ์แพะ
– พ่อแม่พันธุ์แพะ น้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม ราคาประมาณ 60 บาท/กิโลกรัม
– น้ำหนักเกินกว่า 15 กิโลกรัม ราคาประมาณ 70 บาท/กิโลกรัม
– แพะสายพันธุ์ลูกผสมเลือดมีราคาสูงกว่าพันธุ์บริสุทธิ์
– สำหรับพันธุ์พื้นเมือง น้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม ราคาประมาณ 70 บาท/กิโลกรัม
– น้ำหนักเกินกว่า 15 กิโลกรัม ราคาประมาณ 80 บาท/กิโลกรัม

2. ราคาขาย
– แพะมีชีวิต น้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม ราคาตัวละ 1,500 บาท หรือกิโลกรัมละ 65–75 บาท และผู้บริโภคนิยมแพะพื้นเมืองมากกว่าแพะลูกผสม อาจเนื่องจากซากของแพะลูกผสมมีไขมันมากกว่าแพะพื้นเมือง
– เนื้อแพะ ราคาประมาณ 220 บาท/กิโลกรัม สำหรับเนื้อ และหนัง รวมซี่โครง และกระดูก ราคา 180 บาท/กิโลกรัม
– นมแพะ น้ำนมดิบราคา 60–70 บาท/กิโลกรัม นมสเตอริไลส์ 200 ซี.ซี. ราคา 15 บาท
* 500 ซี.ซี. ราคา 30 บาท
* 1,000 ซี.ซี. ราคา 50 บาท

ทั้งนี้ ราคาต่างๆอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ

ที่มา : วีระยุทธ เชื้อไทย , 2551.(5)

เอกสารอ้างอิง
Untitled