เขียด เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่นาข้าว ป่าเขา และสวนรกร้าง รวมถึงพบได้ตามชุมชน ชนิดที่พบมาก ได้แก่ เขียดอีโม้ เขียดจะนา เขียดตะปาด เขียดขาคำ และเขียดแลว ซึ่งเขียดบางชนิดมีความสำคัญสำหรับเป็นอาหารของคนเรา เช่น เขียดอีโม้ เขียดจะนา และเขียดขาคำ
ประโยชน์ของเขียด
• เขียดอีโม้ บางท้องที่ โดยเฉพาะในภาคอีสาน นิยมนำมาประกอบอาหาร อาทิ เขียดอีโม้ปิ้ง เขียดอีโม้ทอดกรอบ ต้มส้มเขียดอีโม้ หมกเขียดอีโม้ อ่อมเขียดอีโม้ แกงเขียดอีโม้ เป็นต้น
• เขียดจะนา หรือ เขียดอีนา บางท้องที่นิยมนำมาปรุงอาหารเช่นกัน ซึ่งมีเมนูคล้ายกันกับการประกอบอาหารของเขียดอีโม้ แต่ไม่นิยมนำมาปิ้งย่าง หรือนำมาทอด เพราะมีขนาดเล็ก ส่วนมากจะนิยมนำมาหมกหรือทำแกงต่างๆ
• เขียดขาคำ หรือ เขียดอีคำ บางท้องที่นิยมนำมาปรุงอาหารเช่นกัน มีเมนูคล้ายกับเขียดจะนา เพราะมีขนาดลำตัวใกล้เคียงกัน
• เขียดทุกชนิดถือเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศที่ช่วยรักษาสมดุลของแมลง
1. เขียดตะปาด
เขียดตะปาดเป็นเขียดที่พบอาศัยใกล้กับมนุษย์ โดยสามารถพบเห็นได้ตามบริเวณของบ้านที่มีน้ำขังหรือสภาพชื้นแฉะ เป็นชนิดเขียวที่ไม่นำมารับประทานเป็นอาหาร อาจเนื่องจาก อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มาก และที่สำคัญมีรูปร่างลักษณะที่น่าเกลียด
อนุกรมวิธาน
Phylum : Chordata
Subphylum : Vertebrata
Superclass : Tetrapoda
Class : Amphibia
Order : Anura
Family : Rhacophoridae
ลักษณะเขียดตะปาด
เขียดตะปาดมีลักษณะลำตัวค่อนข้างแบน ลำตัวมีสีเหลืองแกมน้ำตาล บางชนิดมีลายเป็นแถบตามความยาวของลำตัว และสามารถเปลี่ยนสีได้ตามสภาพแวดล้อม ส่วนหัวมีลักษณะสามเหลี่ยม ริมขอบปากบานโค้งขึ้นเล็กน้อย ทำให้มองเห็นเป็นร่องบริเวณแก้ม ส่วนตามีขนาดใหญ่ ตาอยู่ห่างกันมาก
ผิวหนังทั่วลำตัวค่อนข้างบาง ส่วนขามี 4 ขา ขาหน้าเล็กกว่าขาหลัง แต่ละขามีนิ้วยาว ด้านล่างของนิ้วมีตุ่มจับสำหรับยึดเกาะ ระหว่างนิ้วมีพังผืดช่วยให้ว่ายน้ำได้ดี
แหล่งที่พบ
เขียดตะปาด มักพบได้ตาป่าร้างที่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่ชื้นแฉะ และเป็นชนิดเขียดที่พบได้บ่อยตามชุมชนบริเวณที่ชื้นต่างๆ บางชนิดพบได้ตามลำห้วย ลำน้ำ และพื้นที่ภูเขา แต่ไม่ค่อยพบตามบริเวณทุ่งนาที่แห้งแล้งในบางฤดูกาล
อาหาร
แหล่งอาหารของเขียดตะปาดที่สำคัญ ได้แก่ แมลงที่มีปีก และไม่มีปีกเกือบทุกชนิด รวมถึงสัตว์หน้าดิน และสัตว์น้ำขนาดเล็ก
2. เขียดอีโม้
เขียดอีโม้ (Grass Frog หรือ Rice Field Frog) เป็นเขียดที่พบมากที่สุด และนิยมนำมารับประทานมากที่สุดในประเทศไทย
เขียดอีโม้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fejervarya limnocharis มีชื่อท้องถิ่น ได้แก่ กบหนอง (กลาง) เขียดโม้ เขียดอีโม่ เขียดโม่ เขียดหลังขีด เขียดน้ำนอง เขียดนา (อีสาน/เหนือ บางพื้นที่)
อนุกรมวิธาน
Phylum : Chordata
Subphylum : Vertebrata
Superclass : Tetrapoda
Class : Amphibia
Order : Anura
Family : Ranidae
Genus : Fejervarya
Specie : Fejervarya limnocharis
ลักษณะเขียดอีโม้
ลำตัวยาวประมาณ 30-61 มิลลิเมตร หัวเล็กรูปสามเหลี่ยม มีจมูกแหลม รูจมูกอยู่ชิดปลายปาก ระหว่างตา และจมูก มีสันนูนเด่น มีตาทั้งสองอยู่ใกล้กัน มีขอบที่เยื่อหู มีฟันบริเวณด้านบนเพดานปาก และบริเวณบนกระดูกขากรรไกร มีลิ้นใหญ่ ยืดหดได้ดี
ผิวหนังด้านหลังใกล้กับหัวเรียบ ด้านหลัง และด้านข้างมีตุ่มขนาดเล็ก ผิวหนังมีสีเหลืองแกมน้ำตาล และแกมด้วยจุดลายสีน้ำตาลเข้มกระจายทั่วผิวหนัง บริเวณกลางหลังมีเส้นสีเหลืองลากผ่านจากปลายจมูกจนถึงก้น บางตัวมีแถบใหญ่ สีครีมหรือเหลือง หรือส้ม บริเวณด้านหลังของขาหลัง และขาหน้ามีตุ่มเล็กๆ สีเหลืองแกมน้ำตาล ผิวหนังที่คาง หน้าอก และท้องเรียบ ส่วนผิวหนังของต้นขาหลังมีตุ่มสีขาวกระจายทั่ว เขียดอีโม้เพศผู้ คางจะมีถุงเสียงใต้คางเป็นผิวหนังย่น และมีสีดำ
ขามี 4 ขา ขาหน้าเล็กสั้น ส่วนขาหลังมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยขาหน้ามีนิ้วเท้า 4 นิ้ว ปลายนิ้วพองออกเล็กน้อย มีตุ่มนิ้วเท้าหน้าเห็นชัดเจน ส่วนนิ้วเท้าหลังเรียวยาวมี 5 นิ้ว มีพังผืดระหว่างนิ้วปลายนิ้วมีเล็บแหลมคม (เพิ่มเติมจาก อนงค์ หัมพานนท์, 2526)(1)
แหล่งที่พบ
พบได้ทุกภาคของประเทศไทย พบได้มากตามลำห้วย แม่น้ำ ลำคลอง สระเก็บน้ำ ทุ่งนา ไร่ พื้นที่ราบ ป่า กลางวันจะอาศัยในดิน กอหญ้า ใต้ขอนไม้ ใต้ใบไม้ และพื้นที่ชุ่มต่างๆ
อาหาร
แหล่งอาหารของเขียดตะปาดที่สำคัญ ได้แก่ แมลงที่มีปีก และไม่มีปีกเกือบทุกชนิด รวมถึงสัตว์หน้าดิน และสัตว์น้ำขนาดเล็ก
การกระจายพันธุ์
เขียดอีโม้ มีการกระจายพันธุ์แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ไม่พบอาศัยในพื้นที่ชายทะเล และน้ำกร่อย แต่จะพบได้ในพื้นที่ที่ห่างออกมามากกว่า 1 กิโลเมตร ขึ้นไป และไม่พบบนพื้นที่ภูเขาสูง
เอกสารอ้างอิง
1. อนงค์ หัมพานนท์. 2526. การสำรวจชนิดสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกในเขตอำเภอปราณบุรี
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์.