อึ่งอ่าง (อึ่งบ้าน/อึ่งยาง อึ่งก้นขีด และอึ่งเพ้า/อึ่งปากขวด)

70450

อึ่งอ่าง เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบแพร่กระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ รวมถึงในชุมชนอาศัยของมนุษย์ ชนิดที่พบมากในประเทศไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ อึ่งอ่างบ้าน/อึ่งยาง  อึ่งอ่างปากขวดหรืออึ่งเผ้า และอึ่งอ่างก้นขีด

อึ่งอ่าง จัดเป็นอาหารป่าชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานมากในเกือบทุกภาค อาทิ ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งนิยมนำมาปิ้งย่าง ต้มยำ หรือผัดเผ็ด รวมถึงแปรรูปเป็นปลาร้าอึ่ง

อึ่งอ่างบ้าน/อึ่งยาง
อนุกรมวิธาน
Kingdom: Animalia
Phylum: Chordata
Class: Amphibia
Order: Anura
Family: Microhylidae
Genus: Kaloula
Species: Kaloula pulchra

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaloula pulchra
ชื่อท้องถิ่น : อึ่งอ่างบ้าน,อึ่งยาง

อึ่งอ่างก้นขีด
อนุกรมวิธาน
Kingdom: Animalia
Phylum: Chordata
Class: Amphibia
Order: Anura
Family: Microhylidae
Genus: Glyphoglossus
Species: Glyphoglossus molossus

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glyphoglossus molossus
ชื่อท้องถิ่น : อึ่งอ่างก้นขีด

อึ่งเผ้า/อึ่งปากขวด
อนุกรมวิธาน
Kingdom: Animalia
Phylum: Chordata
Class: Amphibia
Order: Anura
Family: Microhylidae
Genus: Kaloula
Species: Kaloula pulchra

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaloula pulchra
ชื่อท้องถิ่น : อึ่งเผ้า,อึ่งปากขวด

การแพร่กระจายของอึ่งอ่าง
อึ่งอ่างทุกชนิดพบแพร่กระจาย และอาศัยตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ตามหัวไร่ ปลายนา พื้นที่รกร้าง รวมถึงสามารถพบได้ตามแหล่งชุมชนของมนุษย์ แหล่งที่พบมากจะเป็นภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก และพบบ้างในภาคกลาง และภาคใต้

อึ่งอ่างบ้านหรืออึ่งยาง เป็นชนิดอึ่งที่พบได้มากตามป่า หัวไร่ปลายนา รวมถึงเป็นชนิดที่พบได้มากตามบ้านเรือนมนุษย์

อึ่งอ่างก้นขีด เป็นชนิดที่พบได้ตามป่า และหัวไร่ปลายนา พบค่อนข้างน้อยตามชุมชนบ้านเรือน

อึ่งเพ้า หรือ อึ่งปากขวด เป็นชนิดที่พบได้เฉพาะตามป่า และหัวไร่ปลายนา ไม่พบตามบ้านเรือน

ลักษณะทั่วไป
1. อึ่งอ่างบ้าน หรือ อึ่งยาง เป็นชนิดที่พบมากที่สุด แพร่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเป็นชนิดที่พบเห็นได้มากตามที่อับชื้นบริเวณบ้านเรือน ลำตัวมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ ไม่มีขีดเหลืองบริเวณก้น ผิวลำตัวมีตุ่มเมือก ตุ่มนี้จะปล่อยเมือกหรือยางเหนียวลื่นออกมาเมื่อถูกคุมคาม หรือ หากจับจะรู้สึกได้ว่ามียางเหนียวลื่นจำนวนออกมา

อึ่งบ้าน
ขอบคุณภาพจาก www.wikiwand.com

ผิวลำตัวส่วนหลังมีสีเทาอมดำ และมีแถบสีน้ำตาลอมส้มพาดตามแนวยาวจากลูกตามาจนถึงโคนขาหลัง เหนือแถบสีน้ำตาลอมส้มด้านบนมีแถบสีดำขนาดเล็ดพาดตามแนวยาวเรียบไปกับแถบสีน้ำตาลอมส้ม ส่วนตามีขนาดใหญ่ มีรูม่านตากลม มีแผ่นหูซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง ขามีขนาดสั้น นิ้วตีนขาหน้าไม่มีแผ่นพังผืด ปลายนิ้วแหลม

2. อึ่งอ่างก้นขีด เป็นชนิดที่พบน้อย พอๆกับอึ่งเพ้า ลำตัวมีขนาดเล็กกว่าอึ่งบ้าน และอึ่งเพ้า มีลักษณะลำตัวป้อมสั้น หัวมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอึ่งบ้าน ผิวหนังมีตุ่มขนาดเล็ก และมียางน้อยกว่าอึ่งบ้าน ผิวหนังส่วนหลังมีสีเทาอมดำและแดง มีแถบสีเหลืองอ่อนพาดตามแนวยาวจากตาจนถึงโคนขาหลัง และมีอีกแถบพาดเหนือบริเวณส่วนก้นยาวเกือบถึงกลางหลัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอึ่งชนิดนี้ ส่วนตามีขนาดใหญ่ ตาทรงกลม มีแผ่นหูอยู่ใต้ผิวหนัง ขาสั้น ขาหน้าไม่มีพังผืด ปลายนิ้วแหลม

อึ่งก้นขีด
ขอบคุณภาพจาก www.wateenorthernstyle.com

3. อึ่งเพ้า หรือ อึ่งปากขวด เป็นอึ่งขนาดใหญ่สุด ผิวหนังเรียบ ไม่มีตุ่ม ผิวหนังส่วนบนมีสีเทา ส่วนหน้าท้องมีสีเทาอมขาว ส่วนหัว และปากมีขนาดใหญ่ มีมุมปากกว้าง หัว และปากมีลักษณะยื่นออกมาจากลำตัว

อึ่งปากขวด

การแยกเพศอึ่งอ่าง
เพศของอึ่งอ่างทุกชนิด หากดูที่ขนาดลำตัว เพศเมียจะมีลำตัวใหญ่กว่าเพศผู้ และพิจารณาที่ถุงเสียงจะพบถุงนี้ในเพศผู้ และคางเพศผู้จะมีสีค่อนข้างดำ แผ่นอกเพศผู้จะนูนมากกว่าเพศเมีย เพราะแผ่นอกนี้จะมีต่อมขับเมือกสำหรับยึดเกาะบนหลังเพศเมียขณะผสมพันธุ์

แหล่งอาศัย
อึ่งในฤดูจำศีลจะขุดฝังตัวเองลึกลงไปในดิน ด้วยการหันหลัง และใช้ขาหลังขุดดิน และดันตัวเองลงด้านล่าง ซึ่งจะไม่ขุดดินออกให้เป็นรูกวาง แต่ดินจะถูกดันออกด้านข้างเพื่อให้ลำตัวแทรกดันลงได้ ทำให้ดินที่ขุดเลื่อนออกมาปิดรูไปเรื่อย ทำให้ดินบริเวณรูมีสีที่แตกต่างจากดินรอบข้างอย่างชัดเจน แต่สีดินจะเริ่มเหมือนกัน หากขุดลึกมาก นอกจากนั้น ดินบริเวณรูที่ขุดจะมีความหนาแน่นต่างจากดินรอบข้างอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ความลึกของรูในช่วงฤดูจำศีล ต้นเดือนพฤศจิกายน-เมษายน จะมีความลึกมาก อาจมีความลึกได้ถึง 1 เมตร ขึ้นอยู่กับความชื้นของดินที่เหมาะสำหรับการพักตัว

สำหรับฤดูวางไข่ และออกหาอาหาร ซึ่งอยู่ในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงปลายฤดูฝน ปลายเดือนเมษายน-ปลายเดือนตุลาคม ความลึกของรูในช่วงนี้จะลึกน้อยมากถึงปานกลาง แต่ส่วนใหญ่จะขุดดินไม่ลึก เพียงแค่ฝังตัวเองหลบในช่วงกลางวันเท่านั้น หรือ อาจหลบตามโพรงไม้ โพรงปลวก กองใบไม้ที่ค่อนข้างชื้นเท่านั้น และจะออกมาหาอาหารในเวลากลางคืน

อาหาร และการหาอาหาร
อาหารสำคัญของอึ่งอ่าง ได้แก่ ปลวก มด และแมลงชนิดต่างๆ ส่วนมากจะกินจำพวกปลวก แมงเม่า และมด เป็นหลัก

การสืบพันธุ์ และวางไข่
การผสมพันธุ์ และการวางไข่จะอยู่ในช่วงต้นฤดูฝน และสามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้งตลอดช่วงฤดูฝน แต่ส่วนมากจะผสมพันธุ์ประมาณ 1-2 ครั้ง เท่านั้น โดยจะมีการผสมพันธุ์มากในช่วงต้นฤดูฝน

หากฝนตกมาครั้งแรกในปริมาณไม่มาก อึ่งจะดันตัวเองขึ้นมาใกล้ผิวดินขึ้นมาเรื่อยๆ หรืออาจออกมาอาศัยตามโพรงหรือกองใบไม้เพื่อรอฝนชุดหลัง แต่หากฝนครั้งแรก หรือฝนตกอีกที่ทำให้มีน้ำนองหรือมีน้ำขังตามแอ่งต่างๆ อึ่งจะดันตัวเองออกจากรู และเดินเข้าหาแหล่งน้ำทันที เพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่

การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นมากช่วงเวลากลางคืน แต่อาจผสมพันธุ์ในเวลากลางวันหากฝนตกกลางวันจนมีน้ำขังมาก และจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในแหล่งน้ำขังใหม่เท่านั้น ซึ่งอึ่งจะไม่เลือกแหล่งน้ำเดิมที่มีน้ำขังจากปีที่แล้ว หรืออาจเลือกหากแหล่งน้ำเดิมมีน้อย และมีการเติมจากฝนของปีนี้มากกว่า โดยก่อนผสมพันธุ์ อึ่งเพศผู้จะพองตัว และลอยน้ำ แล้วส่งเสียงร้องเรียกอึ่งเพศเมีย เมื่อผสมพันธุ์แล้ว อึ่งเพศเมียจะวางไข่ในแหล่งน้ำ และเมื่อก่อนถึงตะวันขึ้น หรือหากผสมพันธุ์ และวางไข่เสร็จ อึ่งก็จะแยกย้ายหาแหล่งขุดรูหรือโพรงหลบซ่อนต่อไป

สำหรับไข่อึ่งอ่าง ในช่วงแรกไข่จะติดกันเป็นแผ่นใหญ่ลอยเหนือผิวน้ำ ซึ่งแตกต่างจากไข่คางคกที่มีลักษณะเป็นเส้นสีดำยาว หลังจากนั้น ไข่จะค่อยแยกตัวกัน และจมลงใต้ผิวน้ำจนฟักออกมาเป็นลูกอ๊อด และเจริญมีขา แล้วอพยพขึ้นบนบกอีกครั้ง

การป้องกันตัวเองของอึ่ง
อึ่งเมื่อมีภัยหรือถูกคุกคามจากสัตว์อื่น เช่น งู ตะขาบ ก็จะใช้วิธีการพองตัวด้วยการสูบลมเข้าท้อง พร้อมขับเมือกเป็นยางเหนียวออกมา ทำให้การจับหรือคาบของสัตว์อื่นมีการลื่นไหล อึ่งจึงสามารถสลัดตัวออกได้ง่าย

สำหรับการจับอึ่ง หากไม่ใส่ถุงมือก็จะทำให้ยางอึ่งเกาะติดเต็มฝ่ามือได้ง่าย

การจับอึ่งอ่าง
การจับอึ่งจะใช้เพียง 3 วิธี เท่านั้น คือ การจับขณะฝนตกกลางวัน การส่องอึ่งกลางคืน และการขุดอึ่ง
1. การจับอึ่งกลางวัน จะจับได้ก็ต่อเมื่อมีฝนตกหนักจนเกิดแหล่งน้ำขัง ซึ่งอึ่งจะออกจากหลบอาศัยแล้วจะคลานหรือกระโดดเข้าหาแหล่งน้ำ ซึ่งคนจับจะคอยดักจับตามแหล่งน้ำนั้นๆ แต่บางพื้นที่ เมื่อฝนตกหนักก็มักจะออกเดินจับตามถนนหรือพื้นที่โล่งที่สามารถมองเห็นตัวอึ่งได้

2. การส่องอึ่งในเวลากลางคืนจะส่องในขณะที่ฝนตกหรือหลังจากฝนหยุดตกแล้ว ซึ่งหากเป็นฝนแรกๆ อึ่งที่ออกมาผสมพันธุ์จะออกมาเพื่อผสมพันธุ์ และหากเลยนั้นไป ส่วนมากจะเป็นอึ่งที่ออกหาอาหาร

สำหรับการส่องอึ่งขณะฝนตก คนจับมักจะคอยดักจับตามแหล่งน้ำขังใหม่ โดยจะมุ่งไปยังแหล่งน้ำตามเสียงที่อึ่งร้อง ส่วนการส่องหลังฝนตก มักจะออกส่องตามโคนต้นไม้ จอมปลวก และตามลานดิน เพราะเป็นบริเวณที่อึ่งจะออกมาคอยดักกินแมงเม่า

3. การขุดอึ่ง ถือเป็นวิธีที่ไม่นิยม เนื่องจากเป็นวิธีที่ต้องหารูอึ่งก่อนขุดรูอึ่งนี้จะหายากมาก เพราะอึ่งมักขุดรูในขณะที่ฝนตกปรอยๆทำให้ไม่เห็นร่องรอยของรูอึ่งได้

แต่บางครั้ง ก็อาจยังเหลือร่องรอยให้เห็นบ้าง ซึ่งรูอึ่งจะมีลักษณะเป็นขุยดินพูนขึ้นมาเล็กน้อย สีขุยดินสีมีแตกต่างจากผิวหน้าดินอย่างชัดเจน เมื่อขุดหน้าดินออกจะพบรอยรูขุดหรือบั้งรูเป็นสีดินจางๆแตกต่างจากดินรอบข้าง ลักษณะรอยรูหรือบั้งจะเป็นวงรีตามขนาดลำตัวของอึ่ง ทั้งนี้ หากขุดลึกแล้วจำเป็นต้องใช้นิ้วแหย่นำเป็นรูบั้งตามทุกครั้ง เพราะหากใช้วิธีสังเกตุความต่างของสีดินจะใช้ไม่ได้ผล เพราะสีดินจะเหมือนกัน นอกจากนั้น จะเป็นการช่วยระวังไม่ให้เสียมสับตัวอึ่งได้