ห่าน และการเลี้ยงห่าน

68187

ห่าน (Goose/Gander) จัดเป็นสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่มีการเลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อ เนื่องจากเลี้ยงง่าย ลำตัวมีขนาดใหญ่ และให้เนื้อมาก แต่การเลี้ยงเพื่อการบริโภคไม่เป็นที่นิยมมากนัก ส่วนการเลี้ยงเพื่อความสวยงาม เลี้ยงเพื่อขายลูกห่าน และไข่ห่านจะเป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากหาพันธุ์ยาก เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคอยาวเหมือนหงส์ นิสัยดุร้าย แต่รู้จักเจ้าของ รวมถึงการเลี้ยงเพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาทิ เลี้ยงเพื่อคุมฝูงเป็ด และเลี้ยงเพื่อเป็นยามเฝ้าบ้าน เป็นต้น

พันธุ์ห่านแท้
1. Toulous มีลักษณะปากสีส้ม แข้งสีแดงส้ม ขอบตาสีส้ม ขาสั้น ลำตัวอ้วนใหญ่ ขนมีลักษณะพองตัว หนังคอยาน เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้หนักประมาณ 12 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 10 กิโลกรัม

toulouse geese

2. Embden มีลักษณะปาก และแข้งมีสีส้ม ปลายปากมีสีขาวแกมชมพู ขาสั้น ไม่มีโหนกหัว ขนตามลำตัวมีสีขาวหรือสีขาวปนเทา ขนบริเวณคอจับกันเป็นก้อนทำให้มีลักษณะเป็นแผงเกล็ด เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้หนักประมาณ 10 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 7 กิโลกรัม

Embden Goose

3. African มีลักษณะคล้ายพันธุ์จีนสีเทาน้ำตาล แต่มีปมที่ฐานปาก เหนือตานูนเด่น หนังใต้คอหย่อนยานมากกว่าพันธุ์จีน ปาก และโหนกมีสีดำ แข้งสีส้มแก่ ขนมีสีขาวหรือสีเทาน้ำตาล ขนเรียบไม่พองตัว เมื่อโตเต็มที่ ทั้งตัวผู้ และตัวเมียมีขนาดเท่ากัน

African-Goose

4. Chinese มีลักษณะคล้ายพันธุ์ African เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้หนักประมาณ 5.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 4.5 กิโลกรัม มี 2 ชนิด คือ ห่านจีนขาว มีลักษณะขนสีขาวทั้งตัว แข้ง ปาก และโหนกมีสีส้ม ดังภาพด้านล่างสุด และห่านจีนสีเทาปนน้ำตาล มีลักษณะขนสีเทาปนน้ำตาลบริเวณปีก สันคอด้านบน และด้านหน้าท้อง ส่วนก้นมีสีขาว ปาก และโหนกหัวมีสีดำ คอยานเล็กน้อยสำหรับตัวผู้ ไม่มากเหมือนพันธุ์ African เป็นห่านที่พบ และเลี้ยงมากที่สุดในไทย

han3

5. Canada มีลักษณะลำตัวสูงยาว ขายาว ปาก คอ และแข้งมีสีดำ ส่วนใบหน้า และหัวมีสีดำ และมีแถบขาวถัดออกมาบริเวณแก้มถึงคอ ขนมีสีเทาแกมขาว ไม่มีโหนกหัว ใต้คอไม่หย่อนยาน

han-canada

6. Egyptian หัวมีสีเทา ปาก และแข้งมีสีม่วงแดง ปลายปากมีสีดำ ขนขอบตามีสีน้ำตาลแดง มีขนสีสีสันสวยงามแกมกันหลายสี เช่น สีเทา สีขาว สีส้ม สีดำ และสีน้ำตาล เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้หนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 3.5 กิโลกรัม

Egyptian Goose

7. Sebastopol เป็นห่านพันธุ์แฟนซี มีลักษณะขนสีขาวหรือสีขาวแกมเทา ขนบริเวณปีก และหางยาวมาก และบิดงอ ปาก และแข้งมีสีส้ม เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้หนักประมาณ 6.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 5.5 กิโลกรัม

Sebastopol-goose

8. พันธุ์ฟิลกริม (Pilgrim) หัวมีสีเทาหรือสีขาว ปาก และแข้งมีสีส้ม แข้งมีลักษณะสั้น ปลายปากมีสีชมพูแกมขาว ขนลำตัวมีสีขาวหรือสีเทา ไม่มีโหนกหัว หนังใต้คอไม่หย่อนยาน

pilgrim-goose

ปัจจุบันการเลี้ยงห่านในประเทศไทยจะใช้ห่านพันธุ์จีน ชนิดพันธุ์สีขาว และพันธุ์สีเทาน้ำตาลมากที่สุด เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่หาง่าย เลี้ยงง่าย โตเร็ว โดยพบว่า ห่านจีนสีขาว เมื่ออายุ 60 วัน จะมีน้ำหนักประมาณ 3.1 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 4.6 กิโลกรัม ส่วนห่านจีนสีเทา เมื่อมีอายุ 60 วัน จะมีน้ำหนักประมาณ 3.3 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 4.6 กิโลกรัม

การเลี้ยงห่าน
การเลี้ยงห่านเพื่อการค้าที่เลี้ยงตั้งแต่ 5-10 ตัว ขึ้นไป จนถึงมากกว่า 100 ตัว มักนิยมเลี้ยงด้วยการปล่อยในคอกหรือเลี้ยงปล่อยตามทุ่ง โดยมีสระน้ำหรืออ่างน้ำเพื่อให้ห่านเล่นน้ำ และผสมพันธุ์ เนื่องด้วยพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของห่านมักใช้แหล่งน้ำเป็นสถานที่ผสมพันธุ์

ส่วนแหล่งอาหารจะให้หญ้าชนิดต่างๆเป็นแหล่งอาหาร ทั้งในรูปเก็บหญ้าสดมาให้หรือการปล่อยเลี้ยงในแปลงหญ้า ร่วมกับการให้อาหารข้นเสริมในระยะต่างๆ ได้แก่
1. ระยะหยุดการวางไข่
ระยะหยุดวางไข่จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่เป็นระยะหยุดวางไข่ ซึ่งระยะนี้อาจไม่จำเป็นต้องให้อาหารข้นก็ได้ เพียงให้อาหารหยาบพวกหญ้า และพืชผักต่างๆเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ห่านอ้วนเกินไปก่อนถึงระยะวางไข่

2. ระยะวางไข่
ระยะวางไข่ เป็นระยะที่ห่านต้องการสารอาหารมากขึ้นสำหรับการสร้างไข่ จำเป็นต้องให้อาหารข้นเสริมเป็นหลักนอกเหนือจากอาหารหยาบที่เป็นหญ้า และพืชผัก

อาหารข้นสูตร 1
– รำข้าวหรือข้าวโพดป่น 3 ส่วน
– ถั่วเขียวหรือถั่วเหลืองป่น 1 ส่วน
– ปลาป่นหรือกากถั่ว 7 ส่วน

อาหารข้นสูตร 1
– รำข้าวหรือข้าวโพดป่น 3 ส่วน
– ปลาป่นหรือกากถั่ว 5 ส่วน
– รำหยาบ 7 ส่วน

สำหรับการเลี้ยงโดยไม่มีแปลงหญ้าหรือการเลี้ยงในคอก การให้อาหารข้นมักให้ร่วมกับอาหารหยาบที่หามาให้ ด้วยการสับหญ้าหรือผักต่างๆเป็นชิ้นๆ คลุกผสมกับอาหารข้น ด้วยการผสมน้ำเล็กน้อยพอให้อาหารจับตัวเป็นก้อน

ส่วนการเลี้ยงเพื่อความสวยงาม มักเลี้ยงเพียง 2-4 ตัว ที่เป็นพ่อแม่พันธุ์เท่านั้น โดยการปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติในพื้นที่รอบบ้านหรือตามทุ่งนา ซึ่งผู้เลี้ยงอาจให้อาหารที่สามารถหาได้ง่าย เช่น หญ้าหรือผักชนิดต่างๆ ร่วมกับการให้ห่านหากินเองตามธรรมชาติ

การผสมพันธุ์ และวางไข่
1. อายุผสมพันธุ์ – ห่านสามารถเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้ เมื่ออายุ 5-6 เดือน แต่การเลี้ยง เกษตรมักคัดเลือดพ่อแม่พันธุ์ เมื่ออายุตั้งแต่ 8 เดือน ขึ้นไป โดยแม่ห่านที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้น จะเลิกใช้ผสมพันธุ์

2. อัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย – อัตราตัวผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 3-5 ตัว

3. อัตราการวางไข่ และขนาดไข่ – ห่านสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปีเหมือนเป็ด แต่จะหยุดการวางไข่ในระยะเปลี่ยนถ่ายขน ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปริมาณไข่ที่วางแต่ครั้งประมาณ 8-15 ฟอง ระยะ 1 ปี จะวางไข่ประมาณ 3-5 รอบ ซึ่งในระยะ 5 ปี แม่ห่าน 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 150-300 ฟอง หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 45 ฟอง สำหรับไข่ห่านจะมีขนาดประมาณ 140-160 กรัม

han

ข้อเสนอแนะวิชาการ
– ห่านจะวางไข่ในปีแรกน้อยกว่าปีที่ 2 และจะค่อยๆลดลงในปีที่ 3 และ 4
– อัตราการเลี้ยงที่มากขึ้นทุกๆ 100 ตัว จะทำให้ปริมาณจำนวนการวางไข่ลดลงเฉลี่ยที่ 2.4 ฟอง
– ช่วงเวลาการได้รับแสงต่อวันของห่านมีผลต่ออัตราการวางไข่ โดยพบว่า การได้รับแสงในช่วงวันที่มากจะทำให้ห่านมีอัตราการวางไข่เพิ่มมากขึ้น จำนวนไข่ต่อครั้งมากขึ้น ห่านสามารถวางไข่ในอายุที่น้อยลง และสามารถวางไข่ได้ก่อนระยะปกติ
– การใช้พ่อพันธุ์ที่มีอายุ 2 ปี กับแม่พันธุ์ที่มีอายุ 2หรือ3 ปี จะให้อัตราการผสมติด และการวางไข่ที่ดีกว่าการใช้พ่อพันธุ์ที่มีอายุมากว่าแม่พันธุ์ อัตราการวางไข่จะสูงในต้นฤดู และต่ำลงในช่วงปลายฤดู
– ช่วงเวลาการวางไข่ของห่านจะพบเข้าวางไข่มากในช่วงเวลา 03.00 น. ถึงเวลา 12.00 น. คิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 จะเข้าวางไข่ในช่วง เวลา 18.00 น. ถึงเวลา 03.00 น.

การเก็บไข่ห่าน และการฟักไข่
การเก็บไข่ห่านเพื่อนำมาฝักในโรงฟัก ควรเก็บหลังการวางไข่ตั้งแต่ 2 ชั่วโมง แต่ไม่ควรมากกว่า 10 ชั่วโมง เข้าเก็บไข่ประมาณวันละ 2-3 ครั้ง

การฟักในตู้ฟัก
– อุณหภูมิที่ใช้ในการฟักที่ 101-102 องศาฟาเรนไฮด์ สำหรับเครื่องฟักที่ไม่มีพัดลมกวนอากาศ
– อุณหภูมิที่ใช้ในการฟักที่ 97-98 องศาฟาเรนไฮด์ สำหรับเครื่องฟักที่มีพัดลมกวนอากาศ
– การกลับไข่ที่ 180 องศา และการนำไข่จุ่มน้ำอุ่น รวมถึงการพ่นน้ำให้แก่ไข่จะช่วยให้อัตราการฟักเพิ่มขึ้น

การฟักแบบวิธีชาวบ้าน/หลุมจีน
เป็นวิธีการฟักไข่ห่านแบบดั้งเดิมที่คิดค้นโดยชาวจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยการขุดหลุมลึกประมาณ 80 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ก้นหลุมรองพื้นด้วยแกลบ หนาประมาณ 20 เซนติเมตร ด้านข้างกั้นด้วยไม้หรือลัง ถัดมา ห่างประมาณ 15 เซนติเมตร กั้นด้วยไม้หรือลังอีกชั้น โดยช่องว่างของชั้นไม้ให้ใส่แกลบ และอัดให้แน่นพอประมาณเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อน แต่ละหลุมใส่ไข่ประมาณ 300-400 ฟอง ด้วยการห่อไข่ใส่ในถุงผ้า ถุงละ 30-40 ฟอง จำนวน 10 ถุง ด้านบนหลุมปิดด้วยฝาไม้ให้มิดชิด ระยะเวลาในการฟักประมาณ 10-20 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพการเก็บความร้อนของหลุม โดยให้นำไข่ออกมากลับด้าน วันละ 2-3 ครั้ง

พื้นที่ในการขุดหลุมจำเป็นต้องเป็นพื้นที่แห้ง ดินไม่ชื้นแฉะ และมีหลังคากันฝน รวมถึงไข่ที่ใช้ในการฟักต้องเป็นไข่ที่มีอายุไล่เลี่ยกัน