หิ่งห้อย (Fire fly) จัดเป็นแมลงขนาดเล็กถึงกลางที่สามารถผลิตแสงได้ซึ่งเป็นแสงแบบชีวภาพ โดยจะกระพริบแสงให้เห็นชัดเจนในเวลากลางคืน ทั้งนี้ ขนาด และความสว่างของแสงที่แตกต่างกันตามสายพันธุ์
• Family : Lampyridae
• Genus : Coleoptera
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : ตามชนิดสายพันธุ์
• ชื่อสามัญ :
– Fire fly
– Lightning bug
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– หิ่งห้อย
– แมงแสง
– แมลงไฟ
– มวนฟ้าแลบ
– แมงดาเรือง
– ถ่วงดับ
ภาคอีสาน
– แมงทิ้งถ่อน (เพราะพบมากในต้นทิ้งถ่อน)
– หนอนกระสือ
ชนิด และการแพร่กระจาย
หิ่งห้อยมีการค้นพบแล้วทั่วโลกกว่า 2,000 ชนิด พบแพร่กระจายทั้งในทุกทวีปทั่วโลก ซึ่งจะพบชุกชุมมากในแถบประเทศเขตร้อนทั้งในเอเชีย และแอฟริกา โดยเฉพาะพื้นที่ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน และพื้นที่ชุ่มน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำต่างๆ แต่จะไม่พบในพื้นที่ทะเลทรายที่แห้งแล้ง และภูเขาสูงที่มีหิมะหรืออากาศหนาวเย็นมาก
สกุลหิ่งห้อยที่พบมากที่สุดในโลก และมากที่สุดในประเทศไทย คือ สกุล Luciola มีประมาณ 290 ชนิด ส่วนประเทศไทยพบหิ่งห้อยประมาณ 10 สกุล ซึ่งรวมกันแล้วน่าจะมากกว่า 100 ชนิด ได้แก่
1. Diaphanes
2. Lamprigera
3. Lucidina
4. Luciola
5. Pteroptyx
6. Pyrocoelia
7. Pyrophanes
8. Rhagophthalmus
9. Stenocladius
10. Vesta
ทั้งนี้ แบ่งเป็นที่พบในภาคกลาง และภาคตะวันออก ประมาณ 8 สกุล รวม 55 ชนิด ส่วนในภาคอีสาน ประมาณ 7 สกุล รวม 21 ชนิด
ลักษณะทั่วไปของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยมีลักษณะเด่น คือ ลำตัวมีรูปร่างทรงกระบอก โครงสร้างลำตัวอ่อนนิ่ม และมีขนเล็กๆขึ้นปกคลุม ขนาดกว้างประมาณ 5-25 มิลลิเมตร ลำตัวแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง โดยส่วนหัวจะมีหนวดแบบเส้นด้ายตรง หรือเป็นเส้นหยักแบบฟันเลื่อย ส่วนตาจะเป็นตาประกอบที่ประกอบด้วยเลนส์ขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้ตาหิ่งห้อยมองเห็นได้หลายทิศทางพร้อมกัน บริเวณส่วนอก เป็นแผ่นแข็ง ส่วนท้องมีปล้องประมาณ 11 ปล้อง
ส่วนปีกประกอบด้วยปีกนอก และปีกใน โดยปีกนอกจะเป็นแผ่นแข็งที่ทำหน้าที่ปกป้องตัวเอง ซึ่งมีหลายสีแตกต่างกันตามชนิด อาทิ สีเหลือง สีน้ำตาล และสีม่วง เป็นต้น ส่วนปีกในมีปีก 2 คู่ มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ และอ่อนนุ่ม พับราบอยู่ใต้แผ่นปีกนอก โดยปีกคู่หน้าไม่ได้ใช้งาน ส่วนปีกคู่หลังมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ซ้อนกันอยู่ใต้ปีกคู่หน้า และทำหน้าที่ในการบิน ซึ่งขณะบินจะกางออก และมีความเท่าปลายท้องปล้องสุดท้ายพอดี
วงจรชีวิต
หิ่งห้อยมักวางไข่เป็นกลุ่ม ประมาณ 20-100 ฟอง ซึ่งจะชอบวางไข่บนดินที่ชื้นแฉะตามริมน้ำหรือใบไม้ตามริมน้ำ ซึ่งจะเข้าสู่วงจรชีวิต ดังนี้
ระยะไข่
ไข่มีลักษณะทรงกลม ผิวเปลือกเรียบ สีขาว สีเหลือง หรือไม่มีสี ขนาดประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และมักพบเมือกเหนียวติดที่ผิวไข่สำหรับยึดติดกับวัสดุ ไข่ของหิ่งห้อยบางชนิดสามารถเรืองแสงได้ 2 หรือ 3 วัน และไข่จะฟักเป็นตัวหนอน ภายใน 13-27 วัน
ระยะหนอน
หลังจากที่ฟักออกจากไข่แล้ว ตัวอ่อนระยะนี้เรียกว่า หนอน มีลำตัวเรียวยาว ลำตัวแบ่งเป็นปล้องชัดเจน โดยแต่ละปล้องจะมีแผ่นแข็งปกคลุม ด้านล่างมีขา 3 คู่ ปลายหางมีอวัยวะเป็นพู่ และปล้องช่วงท้ายเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เรืองแสง โดยมีปล้องที่ 8 ทำหน้าที่เรืองแสงต่อเนื่อง ไม่ทำแสงกระพริบ ทั้งนี้ ในระยะหนอน แสงที่กระพริบออกจะเป็นแสงเตือนระวังภัย ไม่ใช่แสงที่ทำขึ้นเพื่อจับคู่เหมือนกับหิ่งห้อยตัวเต็มวัย โดยเฉพาะเวลาที่ตัวหนอนสัมผัสแรงสั่นสะเทือนได้
อาหารในระยะตัวหนอน ส่วนใหญ่จะเป็นหอยฝาเดียวที่อยู่ตามริมน้ำที่มีใบไม้ปกคลุม ซึ่งสามารถกินได้เกือบทุกชนิดที่พบ นอกจากนั้น ยังกินสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีลักษณะลำตัวไม่แข็ง เช่น แมลงน้ำ และตัวอ่อนของแมลงน้ำชนิดต่างๆ ทั้งนี้ ตัวหนอนจะเร่งกินอาหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเติบโต และพัฒนาอวัยวะด้วยการลอกคราบ และเมื่อใกล้ถึงช่วงเข้าดักแด้ ตัวหนอนจะหยุดกินอาหารพร้อมกับหาแหล่งพักตัวในโพรงใต้ดินหรือโพรงไม้ผุเพื่อเข้าสู่วัยดักแด้
ระยะดักแด้
ระยะดักแด้ จะเป็นช่วงตัวอ่อนหิ่งห้อยที่ไม่มีการกินอาหารเลย ตัวดักแด้มีลักษณะทรงกระบอกที่ไม่มีเปลือกหุ้ม เป็นเพียงผนังลำตัวอ่อนนุ่ม สีขาวหรือขาวอมเหลือง หุ้มไว้เท่านั้น ซึ่งสามารถมองเห็นส่วนหัว ส่วนปีก และอวัยวะอื่นๆได้ ทั้งนี้ หากมีภัย ดักแด้หิ่งห้อยบางชนิดจะเรืองแสงเตือนภัยได้ และสามารถเปลี่ยนสีลำตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่ออำพรางตัวได้เช่นกัน โดยระยะดักแด้จะใช้เวลาประมาณ 1-3 อาทิตย์ ตามชนิด และเพศ อาทิ ดักแด้ของหิ่งห้อยตัวผู้จะใช้เวลาพักตัวนานกว่าตัวเมีย สอดคล้องกับลักษณะทั่วไปที่ว่า ดักแด้ตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าตัวผู้
ระยะตัวเต็มวัย
ระยะนี้มีลักษณะตามที่กล่าวในหัวข้อ ลักษณะทั่วไปของหิ่งห้อย
สภาพนิเวศการอาศัย
1. หิ่งห้อยตัวเต็มวัย เป็นแมลงที่หากินในเวลากลางคืน ส่วนช่วงเวลากลางวันจะหลบซ่อนอยู่ตามกอหญ้าหรือพุ่มไม้ กาบเปลือกไม้บริเวณชายน้ำ ส่วนช่วงกลางคืนจะออกบินหาคู่ผสมพันธุ์ และวางไข่ (ไม่กินอาหาร แต่อาจกินน้ำหวานดอกไม้) ซึ่งจะพบได้เฉพาะบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ และไม่มีมลพิษ
2. หนอนหิ่งห้อย
– หนอนหิ่งห้อยที่อาศัยอยู่บนบก พบอาศัยตามพื้นดินที่มีใบไม้ร่วงล่น รวมถึงพบได้บนต้นไม้ กิ่งไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำที่ความชื้นสูง และพื้นที่โดยรอบมีความร่มรื่น
– หนอนหิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ในน้ำ พบอาศัย และหากินใต้น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง และน้ำไม่มีมลพิษ
อาหาร และการกินอาหาร
หิ่งห้อยมีอาหารแตกต่างกันในแต่ละช่วงชีวิต ได้แก่
1. ระยะตัวหนอน
ระยะตัวหนอนของหิ่งห้อยจะกินอาหารได้หลายชนิด ได้แก่ กิ้งกือ ไส้เดือน และแมลงขนาดเล็กต่างๆ โดยมี พฤติกรรมการกินอาหารคล้ายกับแมงมุม ด้วยการใช้กรามที่แข็งแรง กัด และดูดอาหารเข้าสู่ปาก โดยตัวหนอนจะใช้ปากกับเหยื่อ และปล่อยน้ำลายเข้าบริเวณลำตัวที่ถูกกัดไว้ น้ำลายที่ปล่อยมาจะทาให้เหยื่อเป็นอัมพาต และทำให้เนื้อเยื่อของเหยื่อยุ่ย เหมาะสำหรับดูดกินของเหลวเข้าปาก ผ่านตามท่อขากรรไกร และลงสู่หลอดอาหาร พร้อมกับดูดซึมไปเลี้ยงร่างกายต่อไป
2. หิ่งห้อยตัวเต็มวัย จะไม่กินอาหารจำพวกสิ่งมีชีวิต แต่จะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เพียงเพื่อสำหรับพลังงานในการบินหาคู่ และการผสมพันธุ์เท่านั้น และกินน้ำค้างจากใบพืชเป็นครั้งคราว
แสงหิ่งห้อย และการสื่อสาร
หิ่งห้อยเพศผู้จะมีอวัยวะที่ใช้ทำหน้าที่เรืองแสงบริเวณปล้องที่ 7 และ8 ของส่วนท้อง ส่วนเพศเมียจะอยู่ปล้องที่ 8 เพียงปล้องเดียว
แสงกระพริบจากหิ่งห้อย เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของสาร Luciferin ที่หิ่งห้อยผลิตขึ้นมา พร้อมเข้าทำปฏิกิริยากับออกซิเจนบริเวณหลอดลมโดยมีเอนไซม์ Luciferase เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งจะใช้พลังงาน ATP และอิออนแมกนีเซียมในของเหลวที่หลั่งออกมา จนเกิดเป็นแสงกะพริบขึ้น โดยมีลักษณะของแสงเป็นสีเหลืองอมเขียว ไม่มีความร้อน เมื่อมองเห็นจะรู้สึกเย็นตา มีความสว่างประมาณ 1/400-1/500 แรงเทียน ทั้งนี้ ความแรงของแสงกะพริบยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิจากสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย
การที่หิ่งห้อยทำให้เกิดแสงกะพริบ ถือเป็นการสื่อสารเพื่อการหาคู่เพื่อผสมพันธุ์เป็นหลัก ซึ่งเพศผู้มักจะออกบินปล่อยแสงกระพริบเหนือพุ่มไม้เตี้ยๆ หรือจับตามกอหญ้าเพื่อเรียกความสนใจจากเพศเมีย และหากเพศเมียเกิดความสนใจ และต้องการที่จะเข้าผสมพันธุ์ ก็จะตอบรับด้วยการกะพริบแสงเป็นจังหวะที่ช้ากว่าเพศผู้
ประโยชน์หิ่งห้อย
1. หิ่งห้อยในระยะตัวหนอนจะจับกินหอยบางชนิดที่เป็นพาหะนำโรคบางชนิดมาสู่มนุษย์ โดยเฉพาะโรคพยาธิต่างๆ ทำให้ลดปริมาณหอยพาหะ และความเสี่ยงโรคพยาธิที่จะเข้าแพร่กระจายในมนุษย์ได้
2. หิ่งห้อยจะกระพริบแสงหาคู่ในช่วงกลางคืน หากหิ่งห้อยรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่จะทำให้เกิดความสวยงามที่หาชมได้ยาก ทั้งนี้ บางแหล่งที่มีหิ่งห้อยมาก มักจะจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย
3. หิ่งห้อย ทั้งในระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย ถือเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศที่ทำหน้าที่เป็นผู้ล่า ทำให้เกิดความสมดุลของสัตว์ต่างๆในระบบนิเวศได้
4. หิ่งห้อยจะพบอาศัยตามแหล่งน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสะอาดสูง จึงใช้เป็นดัชนีชี้วัดสภาพแหล่งน้ำหรือระบบนิเวศที่สำคัญ
5. การสกัดสารลูซิเฟอริน (luciferin) จากหิ่งห้อย สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็น marker เพื่อยืนยันหรือบ่งชี้ผลการตัดต่อสารพันธุกรรม
ที่มา : 1)
เอกสารอ้างอิง
1) องค์การสวนพฤกษศาสตร์, 2546. หิ่งห้อยในประเทศไทย.