หอยแมลงภู่ (Green mussel) เป็นหอยที่อาศัยได้ทั้งอยู่ในน้ำเค็ม และน้ำกร่อย ปัจจุบัน เป็นหอยที่นิยมบริโภคกันอย่างทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจาก มีเนื้อหอยมาก เนื้อหอยรับประทานได้เกือบทั้งหมด เนื้อมีความนุ่ม หวาน และอร่อย ไม่มีเศษดินในลำไส้
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Perna viridis Lineaus
• ชื่อสามัญ : Green mussel
อนุกรมวิธาน
• Phylum : Mollusca
• Class : Bivalvia
• Order : Mytilaida
• Family : Mytilidae
ลักษณะหอยแมลงภู่
1. ส่วนของเปลือกหอย
หอยแมลงภู่ประกอบด้วยเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มลำตัวอยู่ภายนอกของเปลือกหรือฝาหอยมีลักษณะรียาวคล้ายรูปไข่มีลักษณะเหมือนกันและมีขนาดเท่าทั้งสองฝาด้านนอกของฝาสีเขียวเข้มคล้ายปีกแมลงทับและบ้างก็เป็นสีน้ำตาลส่วนด้านในมีสีขาวคล้ายมุกส่วนประกอบของเปลือกหอยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นนอกสดและจะมีสีเขียวเข้ม มีวงรอยชั้นแสดงการเจริญเติบโตของหอยในแต่ละปี สามารถลอกออกเป็นแผ่นได้ส่วนชั้นกลางเป็นสีขาวประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต ชั้นในหรือส่วนผิวของฝาด้านในมีสีขาวเรียบมันวาวเหมือนมุก ฝาสองฝาจะยึดและประกบติดกันโดยเส้นเอ็นที่อยู่ด้านหลังของฝาซึ่งมีสีน้ำตาลเข้มหรือดำเป็นทางยาวตลอดแนวด้านหลัง ตั้งแต่ปลายก้นหอยโค้งไปถึงหนึ่งในสามของเปลือกด้านหลังของหอย เมื่อเปิดฝาทั้งสองออกภายในจะเป็นลำตัวส่วนอ่อนหรือเนื้อหอย และเมื่อแกะส่วนเนื้อออกจากฝาจะเห็นผิวเปลือกเรียบเป็นสีขาวคล้ายมุก และรอยของกล้ามเนื้อติดอยู่บนฝาทั้งสอง รอยกล้ามเนื้อที่พบมีอยู่ 3 มัดด้วยกัน คือ
1. รอยกล้ามเนื้อดึงด้านท้าย เป็นรอยกล้ามเนื้อยึดฝาทั้งสองให้เปิด และปิดได้ ตั้งอยู่ด้านท้ายของฝามีรูปร่างยาวรี ค่อนข้างใหญ่
2. รอยกล้ามเนื้อยึดด้านหัวเป็นรอยกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านหัวสำหรับยึดส่วนของซังหรือรากให้ติดกับฝาหอยมีรูปร่างยาวรี และมีขนาดเล็ก
3. รอยกล้ามเนื้อส่วนด้านท้าย เป็นรอยกล้ามเนื้อยึดฝาหอยด้านหลังกับส่วนของซัง มี 2 มัด มัดหนึ่งจะติดอยู่กับกล้ามเนื้อยึดฝาทั้งสองอีกมัดหนึ่งจะอยู่ใต้เส้นเอ็นส่วนด้านหัวหรือจะเป็นส่วนท้ายของก้นหอย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโต ถัดจากก้นหอยเป็นส่วนของฟัน ซึ่งมีอยู่ 2-3ซี่ แต่ถ้าเป็นหอยแมลงภู่ชนิดนี้จะมีฟันประมาณ 4-5 ซี่ ด้วยกัน และมีกล้ามเนื้อที่อยู่ติดกับขอบฝาด้านท้อง คือกล้ามเนื้อดึงด้านหัว 1 มัด
2. ลำตัวส่วนอ่อนหรือเนื้อหอย
เนื้อหอยเป็นส่วนที่อ่อนนุ่ม จะอยู่ภายในของฝาทั้งสอง ต้องทำการเปิดฝาออกจึงจะมองเห็น ส่วนนี้ประกอบด้วย เยื้อหุ้มลำตัวซึ่งอยู่ติดกับฝาทั้งสองข้าง ส่วนพุงส่วนของเท้าซึ่งมีขนาดเล็ก และมีรากหรือซังติดกับส่วนของเท้า มีเหงือกขนาดใหญ่ยาวเท่าลำตัวของหอยมีกล้ามเนื้อ 3 มัด และเมือผ่าดูภายในจะพบส่วนที่เป็นหัวใจอยู่ด้านหลังของฝาเหนือส่วนของพุงใต้หัวใจ เช่น ส่วนของต่อมสร้างน้ำย่อย ต่อมน้ำย่อย เรียกว่า มีทางน้ำเข้าสู่ทางด้านหัวทางน้ำออกอยู่ทางด้านท้าย บริเวณที่อยู่ใกล้กับทางน้ำเข้าจะเป็นส่วนของปากหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ โดยลำไส้ เป็นลำไส้ตรงยาวขนาน และติดกับกระเพาะอาหารภายในลำไส้ และกระเพาะอาหารจะมี crytstalline style-sac ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งใสใช้ในการบดอาหาร ย่อยอาหาร รวมทั้งคัดเลือกอาหารถัดจากลำไส้ และทวารซึ่งจะเปิดทางออกทางด้านท้ายลำตัว บนเยื้อหุ้มลำตัวจะเป็นส่วนของอวัยวะเพศ และถัดจากส่วนที่ติดเท้าก็จะเป็นอวัยวะเพศเช่นกัน
การแพร่กระจาย
ในประเทศไทย มีหอยแมลงภู่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปแทบทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลอันดำมัน จังหวัดที่เลี้ยงหอยแมลงภู่กันมาก และให้ผลผลิตเป็นปริมาณมากได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และปัตตานี ส่วนจังหวัดอื่นๆก็เลี้ยงกันไม่มากนัก แต่จะเก็บผลผลิตจากแหล่งเกิดหอยธรรมชาติเสียส่วนใหญ่
อาหารและนิสัยการกินอาหาร
หอยแมลงภู่เป็นสัตว์น้ำที่เคลื่อนที่ไปได้ช้ามาก จึงจัดอยู่ในจำพวกที่เกาะอยู่กับที่ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่จึงเป็นแพลงตอนจำพวกพืช และสัตว์ขนาดเล็กตลอดจนชิ้นส่วนขนาดเล็กสิ่งเน่าเปื่อยจากพืช และสัตว์ที่ลอยอยู่ในน้ำแพลงตอนที่เป็นอาหาร ได้แก่ ตัวอ่อนของสัตว์น้ำชนิดต่างๆไดโนแฟลกเจลเลตบางชนิดรวมทั้งโปโตซัว
อาหารของหอยแมลงภู่จะแฝงตัวอยู่ในมวลน้ำทะเลเมื่อมีกระแสน้ำไหลจะพัดพาอาหารเหล่านี้มายังแหล่งหอย หอยจะดูดน้ำเพื่อกรองอาหารเหล่านั้น จากน้ำที่ผ่านเข้ามาในช่องว่างลำตัวโดยอาศัยการโบกพัดขนของซี่เหงือกอาหารจะติดค้างอยู่บนซี่เหงือก
วัตถุที่มีขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก ได้แก่ เม็ดทราย ก็จะหลุดจากเหงือกลงไปอยู่ตามขอบของเยื้อหุ้มตัว และจะออกไปสู่ภายนอกทางท่อน้ำออกส่วนอาหารที่มีขนาดเล็กดังกล่าวจะตกค้างอยู่บนเหงือกนั้นขณะเดียวกันเซลล์บางกลุ่มที่เหงือกจะสร้างเมือกออกมาเพื่อยึดมวลอาหารเหล่านั้นไว้ และเมื่อขนบนซี่เหงือกพัดโบกมวลของอาหารก็จะถูกส่งต่อไปยังริมฝีปากซึ่งจะทำหน้าที่คัดเลือกขนาดของอาหารอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงส่งไปยังช่องปากผ่านหลอดอาหาร และลงสู่กระเพาะอาหารผ่านการย่อย และล่อเลี้ยงร่างกายเพื่อการเจริญเติบโตต่อไป
การเจริญเติบโต
1. อาหาร ส่วนใหญ่เป็นพวกไดอะตอมโปโตซัว แพลงตอนพืชแพลงตอนสัตว์ เป็นต้น ดั้งนั้นความอุดมสมบูรณ์ของอาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
2. ความเค็ม หอยแมลงภู่จะเจริญเติบโตในแหล่งน้ำกร่อย และน้ำเค็ม ตามปกติที่ในแหล่งเลี้ยงหอย น้ำจะมีความเค็ม 25-33 ptt ถ้าน้ำความเค็มสูงหรือต่ำกว่าดังกล่าวแล้วจะกระทบกระเทือนต่อหอยที่เลี้ยงในระยะยาวเป็นผลให้อัตราการกรองอาหารจะช้าลงทำให้หอยโตช้า กับยังมีผลกระทบกับสภาพแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของหอยด้วย
3. ระยะเวลาที่หอยอยู่ในน้ำ หอยที่อยู่ในน้ำนานจะโตดีกว่าที่อยู่ในน้ำน้อย หอยที่มีเวลาอยู่ในน้ำต่อวัน ร้อยละ 75 จะโตประมาณเดือนละ 10.9 ม.ม.ส่วนหอยที่อยู่ในน้ำตลอดเวลาจะโตประมาณเดือนละ 12.24 ม.ม.
4. ความขุ่นของน้ำในบริเวณที่เลี้ยงหอย ถ้าน้ำขุ่นมากตะกอน และโคลนตมจะเกาะตามเหงือกทำให้หอยหายใจไม่ออก และตายได้ นอกจากนี้ ความขุ่นยังทำให้ประสิทธิภาพในการกรองอาหารต่ำ เป็นผลให้หอยเจริญเติบโตช้า
5. ความหนาแน่นของหอยที่เกาะพบวัสดุที่ใช้เลี้ยง ไม่ควรมีจำนวนหอยชุกชุมมากเกินไป จะเป็นผลให้หอยเติบโตช้า และมีอัตราการตายสูง
6. กระแสน้ำ กระแสน้ำที่เหมาะกับหอยนั้น ควรไหลช้าๆ และสม่ำเสมอ
7. อุณหภูมิของน้ำ ในประเทศไทยอุณหภูมิอยู่ในช่วงระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส นับเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
8. ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ มีผลต่อการรอด และการเจริญเติบโตของหอยแมลงภู่ ถ้าปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำน้อยกว่า 2.4 มิลลิกรัม/ลิตร นานกว่า 7 วัน ลูกหอยจะตาย
การสืบพันธุ์
ความแตกต่างระหว่างเพศ
จากลักษณะภายนอกไม่สามารถแยกเพศได้ แต่สามารถแยกเพศได้ จากลักษณะสีของเนื้อเยื้อภายในตัว ในช่วงที่หอยเจริญเติบโตเต็มที่ และเมื่อทำการแกะเปลือกออกโดยเพศเมียจะมีเนื้อสีแดง หรือสีแสด ส่วนเพศผู้จะมีสีขาวครีม หรือสีน้ำตาลอมเหลือง
ขนาดสมบูรณ์เพศ
ขนาดหอยที่สามารถสืบพันธุ์ได้ในเพศเมียพบความยาวตั้งแต่ 21.3 ม.ม ขึ้นไป ส่วนในเพศผู้พบตั้งแต่ความยาว 23.9 ม.ม หรือมีอายุประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และหอยมีขนาดอ้วนสมบูรณ์
ฤดูวางไข่
หอยแมลงภู่สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้เกือบตลอดปี แต่มีช่วงที่หอยสามารถวางไข่ขนาดใหญ่ในบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยหอยแมลงภู่บริเวณฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกมีฤดูวางไข่ที่แตกต่างกัน คือ
– หอยแมลงภู่ทางฝั่งตะวันออก (จ.ฉะเชิงเทรา) จะมีช่วงสืบพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม กับช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธุ์
– หอยแมลงภู่ฝั่งตะวันตก (จ.เพชรบุรี) จะมีช่วงสืบพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม กับช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
– บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย จะมีช่วงสืบพันธุ์ และวางไข่แตกต่างจากหอยแมลงภู่ทางอ่าวไทยตอนบน โดยทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยจะมีช่วงสืบพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธุ์ กับช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
– ฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี จะมีช่วงสืบพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม กับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
– หอยแมลงภู่ทางฝั่งตะวันตกแถบชายฝั่งทะเลอันดำมัน จะมีช่วงสืบพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม กับช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม
วิธีการเลี้ยงหอยแมลงภู่
การเลี้ยงหอยแมลงภู่มีหลายรูปตามความเหมาะสมของลักษณะภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม การที่จะเลือกวิธีการเลี้ยงแบบใดนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมซึ่งจำแนกได้ตามประเภท ดังนี้
1. การเลี้ยงแบบปักหลัก
การเลี้ยงหอยแมลงภู่รูปแบบนี้เหมาะสมในเขตน้ำตื้นที่มีความลึกประมาณ 4-6 เมตร สภาพดินเป็นโคลนหรือโคลนปนทราย และมีระดับน้ำสูงสุด และต่ำสุดไม่ต่างกันมากนัก เป็นแหล่งน้ำที่มีแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติของหอยสมบูรณ์
เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยจะต้องเตรียมปักหลักไม้ให้เสร็จประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนฤดูผสมพันธุ์ของหอยแมลงภู่ คือ ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม และตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี โดยหอยจะมีการผสมพันธุ์ในช่วงหลังมากกว่าช่วงแรก ไม้ที่ใช้ปักหลักเพื่อให้ลูกหอยลงเกาะ ส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ เช่น รวก ไผ่นวล และไม้เป้ง ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5-6 เมตรโดยจะปักหลักไม้เรียงกันเป็นแถว ไม้ไผ่แต่ละต้นปักจะถูกให้ลึก 1-1.5 เมตร และทำมุมเอียงประมาณ 60 องศา เพื่อช่วยให้การหักโค่นลดน้อยลง
เมื่อหอยมีขนาดโตขึ้น และน้ำหนักมากขึ้น และต้องปักให้ไม้เอียงสลับกันไปมา เพื่อป้องกันการกระแสน้ำที่อาจทำให้ไม้หลักล้มได้ การปักไม้ในพื้นที่เลี้ยงหอยขนาด 1ไร่ (1,600 ตารางเมตร) จะใช้ไม้ประมาณ 1,200 ต้น โดยแบ่งออกเป็น 4 แถวๆ ละ 300 ต้น หรืออาจเพิ่มจำนวนไม้ และเพิ่มจำนวนแถวได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรเกิน 1,600 – 1,800 ต้นต่อพื้นที่ 1 ไร่ เพราะจะทำให้ความหนาแน่นมากเกินไป ทำให้หอยได้รับอาหารไม่เพียงพอ และโตช้า การเลี้ยงหอยด้วยวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 7 เดือน ได้หอยจะมีขนาดประมาณ 6 ซม ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถจำหน่ายได้
2. การเลี้ยงหอยแบบแพเชือก
ขนาดของแพมีหลายขนาดตั้งแต่ 5×5 – 15×5 ต.ร.ม. แต่ละแพมีเชือกผูกโยงกันจำนวน 7 แถว ห่างกันแถวละ 1/2 เมตร ใช้ถังน้ำมัน โฟม หรือ ถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร เป็นทุน แต่ละแถวสามารถรับเชือกเลี้ยงหอยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 ม.ม. ยาว 3 เมตร ได้แถวละ 35 เส้น การใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 8 เดือน จะมีผลผลิตต่อแพประมาณ 1,200 กก. แพหลายแพอาจผูกติดกันแล้วตรึงไว้ด้วยสมอขนาด 15 กก. การเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือกที่สามารถเลี้ยงได้บริเวณคลื่นลม แรงพอสมควร หรือในบริเวณที่พื้นดินเป็นดินแข็ง หรือบริเวณที่ไม่สามารถปักไม้หลักได้ ส่วนแพที่ใช้เลี้ยงมีอายุการใช้งานนานหลายปี อีกทั้งเป็นวัสดุที่ใช้หาง่ายและมีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
3. การเลี้ยงแบบแขวนบนราวเชือก
วิธีการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแขวน มีความเหมาะสมสำหรับแหล่งเลี้ยงในเขตน้ำลึก และปลอดภัยจากกระแสคลื่นลมแรง เพราะอยู่ห่างจากชายฝั่ง ส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เชือก เส้นใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1/2 นิ้ว ยาวประมาณ 100 เมตร มีทุ่นผูกเป็นระยะ 2-4 เมตร เพื่อพยุงไม่ให้จม เชือกนี้มีเส้นเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผูกเป็นระยะๆ เพื่อให้หอยเกาะมีระยะห่าง 50 เซนติเมตร ปลายเชือกยาวไม่เกินระดับน้ำลงต่ำสุด ที่ปลายเชือกเส้นทั้งสองข้างผูกไว้กับสมอยึดไม่ให้เคลื่อนที่ ถ้าเป็นทุ่นใหญ่อาจผูกเชือกคู่ก็ได้
4. การเลี้ยงกับหลักไม้แขวนลอย
วิธีการนี้เป็นการเลี้ยงโดยนำลูกหอยธรรมชาติมาบรรจุลงถุงอวนที่ผูกติดกับไม้หลัก จากนั้นนำไปแขวนบนราวที่เตรียมไว้ในพื้นที่เลี้ยงซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ลงต่ำสุด เมื่อหอยเกาะติดไม้แล้วทำการตัดเนื้ออวนออกการเลี้ยงใช้ระยะเวลา 8 เดือน ได้หอยขนาดความยาวเฉลี่ย 7.3 เซนติเมตร ให้ผลผลิตเฉลี่ยหลักละ 5 กิโลกรัม ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงได้ 4 หลัก เมื่อคิดเทียบเป็นพื้นที่ 1 ไร่ สามารถเลี้ยงผลิตหอยได้ประมาณ 30-32 ตัน/ไร่
5. การเลี้ยงแบบแขวน
การเลี้ยงหอยแมลงภู่วิธีนี้ทำกันมากในประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และสิงคโปร์ โดยการรวบรวมพันธุ์หอยด้วยวิธีการใช้ไม้หลักหรือล่อโดยใช้เชือกใยมะพร้าวล่อลูกหอย เมื่อหอยเจริญเติบโตได้ขนาด 2-3 เซนติเมตร แล้ว จึงนำใส่ถุงลวดความยาว 4 เมตร ที่มีขนาดตา 1 เซนติเมตร จากนั้น หุ้มด้วยตาข่ายที่ถักด้วยเชือกไนลอนเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มิลลิเมตร มีขนาดตาอวน 7-10 เซนติเมตร อีกชั้น ก่อนนำไปแขวนใต้แพลอยขนาด 150 ตารางเมตรๆ ละ 4 พวง เมื่อหอยโตขึ้นถึงอวนจะกลายเป็นที่ยึดเกาะ การเลี้ยงใช้เวลานาน 6 เดือน ได้หอยมีขนาดความยาว 7 เซนติเมตร น้ำหนักพวงละ 30 กิโลกรัม หรือประมาณ 120 กิโลกรัม/ตารางเมตร
6. การเลี้ยงแบบ Long line
เป็นวิธีการเลี้ยงที่นิยมในประเทศที่มีการเลี้ยงหอยเป็นอุตสาหกรรม เช่น ยุโรป เหมาะสำหรับแหล่งที่มีระดับน้ำลึกหรือในทะเลที่อยู่ห่างฝั่ง ส่วนประกอบที่สำคัญคือ เชือกเส้นใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1/2 นิ้ว ยาวประมาณ 100 เมตร ผูกทุ่นเป็นระยะ 2-4 เมตร เพื่อพยุงไม่ให้จม เชือกเลี้ยงเป็นเชือกเส้นเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เชนติเมตร ผูกเป็นระยะๆเพื่อให้หอยเกาะ โดยแต่ละเส้นมีระยะห่างกัน 50 เชนติเมตร ปลายเชือกยาวไม่เกินระดับน้ำลงต่ำสุด ที่ปลายเชือกเส้นใหญ่ทั้งสองข้างผูกกับสมอยึดไม่ให้เคลื่อนที่ถ้าเป็นทุ่นใหญ่อาจผูกเชือกคู่ก็ได้ ผลผลิตพอๆกับการเลี้ยงหอยแบบแพ แต่วิธีนี้เชื่อว่ามีความต้านทานต่อคลื่นลมได้ดี
ประโยชน์หอยแมลงภู่
1. เนื้อหอยแมลงภู่สามารถกินได้ทั้งตัว ตัวหอยมีเนื้อมาก เนื้อนุ่มอร่อย จึงนิยมนำมาทำอาหารหลายชนิด เช่น หอยแมลงภู่ลวกหรือนึ่งจิ้ม หอยแมลงภู่ผัดโหระพา เป็นต้น
2. หอยแมลงภู่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ หอยแมลงภู่ดอง หอยแมลงภู่อบแห้ง เป็นต้น
3. เปลือกหอยแมลงภู่นำมาเผาไฟหรือทุบให้แตกก่อนโรยใต้ต้นไม้สำหรับให้ย่อยตามธรรมชาติเป็นปุ๋ยเสริมแร่ธาตุ
ที่มา : วราวุฒิ (2555)(1)
เอกสารอ้างอิง