หอยแครง และการเลี้ยงหอยแครง

25762

หอยแครง (ark shell) จัดเป็นหอยทะเลที่นิยมรับประทานมากชนิดหนึ่ง เนื่องจาก มีเนื้อมาก เนื้อนุ่มเหนียว ให้รสหวาน และสามารถปรุงได้ง่าย นิยมนำมาลวกรับประทาน และใช้ประกอบอาหาร รวมถึงแปรรูปเป็นอาหารต่าง อาทิ หอยแครงดอง หอยแครงอบแห้ง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นหอยที่พบมากในชายฝั่งของประเทศไทย สามารถเลี้ยงง่าย แพร่พันธุ์ได้จำนวนมาก และเติบโตเร็ว

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anadara granosa
• ชื่ออังกฤษ :
– cockle
– ark shell

อนุกรมวิธาน
Phylum : Mollusca
Class : Bivalvia
Order : Taxodonta
Family : Arcidae
Genus : Anadara
Species : granosa

ลักษณะทั่วไป
หอยแครง เป็นหอยสองฝา ที่มีขนาด และลักษณะของฝาทั้งด้านบน และด้านล่างเหมือนกัน ลำตัวถูกหุ้มด้วยเปลือกหินปูนหนา และแข็ง เปลือกมีสีน้ำตาลอมดำ แต่หากอยู่ในน้ำตื้น จะมีสีเป็นสีขาว เปลือกหุ้มมีลักษณะค่อนข้างกลม แผ่นเปลือกโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม บนแผ่นเปลือกมีสันนูน ด้านละ 20 อัน ขนาดหอยใหญ่ได้ถึง 7 ซม.

ภายในเปลือกเป็นลำตัวของหอย ตัวหอยมีสีน้ำตาลแดง คล้ายเลือดมนุษย์เพราะมีสารฮีโมโกลบิล มีกล้ามเนื้อยึดเปลือกแน่น ส่วนหัวที่เห็นไม่ชัด มีเหงือกขนาดใหญ่ไว้สำหรับหายใจ และช่วยในการกรองอาหาร มีการผสมพันธุ์ภายนอกตัว เมื่อระยะตัวอ่อนจะเป็นแพลงตอนขนาเล็ก และค่อยเติบโตสร้างเปลือกจนกลายเป็นรูปร่างหอย

หอยแครง

ลักษณะเด่นของหอยแครง
– ฝาหอยทั้ง 2 ฝา มีขนาดเท่ากัน และมีลักษณะเหมือนกัน
– ส่วนที่ยึดติดของฝาทั้งสองมีลักษณะเป็นบานพับ
– ส่วนหัวมองเห็นไม่ชัด
– ไม่พบแผงฟันในช่องปาก
– เหงือกสำหรับหายใจมีขนาดใหญ่
– ผสมพันธุ์ภายในตัวเอง
– ตัวอ่อนเป็นแพลงก์ตอน

แหล่งอาศัย และการแพร่กระจาย
หอยแครงพบแพร่กระจาย และอาศัยมากบริเวณชายฝั่งที่มีโคลน ห่างจากฝั่งออกไปประมาณ 1-3 กม. อาศัยในระดับความลึกตั้งแต่ 1-3 เมตร โดยจะฝังตัวในโคลนลึกลงไปประมาณ 1-25 ซม. ซึ่งขึ้นกับฤดูกาล และระดับน้ำขึ้นน้ำลง หากน้ำลดจะฝังตัวลงลึก เพื่อป้องกันแดด หากน้ำขึ้นจะฝั่งตัวตื้นๆ พบมากในจังหวัดเพชรบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และปัตตานี

หอยแครงที่พบในประเทศไทย
1. หอยแครงเทศ (Anadara grosa)
เป็นหอยแครงที่พบมาก และนิยมนำมารับประทาน มีขนาดเปลือก 3-7 ซม. พบมากตามชายฝั่งที่มีโคลนละเอียด พบมากในจังหวัด
– ตราด
– จันทบุรี
– ชลบุรี
– สมุทรสาคร
– สุราษฎร์ธานี
– นครศรีธรรมราช
– สตูล
– ปัตตานี
– ตรัง
– ระยอง
2. หอยแครงขุ่ย/หอยแครงปากมุ้ม (Anadara nodifera)
เป็นหอยแครงที่มีลักษณะคล้ายกับหอยแครงเทศ แต่เปลือกมีรูปยาวรีกว่า เปลือกมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบมากในจังหวัดเดียวกับหอยแครงเทศ
3. หอยแครงมัน (Anadara trocheli)
เป็นหอยแครงที่มีลักษณะฝารูปหัวใจ พบได้มาในทะเลฝั่งอันดามัน บริเวณจังหวัดพังงา-สตูล
4. หอยแครงเบี้ยว (Anadara antoqunta)
เป็นหอยแครงที่มีฝายาวรี ฝามีลักษณะคล้ายหอยแครงขน แต่ไม่มีขน พบมากที่จังหวัด
– ชลบุรี
– เกาะปราบ สุราษฎร์ธานี
5. หอยแครงขน (Scapharca ineauivalvis)
เป็นหอยแครงที่มีฝาใหญ่ และขนาดฝาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ผิวเปลือกมีขน พบมากในระดับน้ำค่อนข้างลึก บริเวณจังหวัด
– ตราด
– เพชรบุรี
– ภูเก็ต
– สงขลา

พฤติกรรม และการกินอาหารของหอยแครง
หอยแครงเป็นสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ใต้โคลนบริเวณหาดชายเลน หากน้ำลดจะฝังตัวลงลึกเพื่อป้องกันแสงแดด ส่วนการหาอาหาร หอยแครงจะฝังตัวในโคลนตื้นๆ โดยจะหงายฝาด้านที่ใช้เปิดขึ้นเล็กน้อย โดยให้ฝาด้านหนึ่งดูดน้ำเข้า และฝาอีกด้านพ่นน้ำออก ขณะดูดน้ำเข้าในฝานั้น หอยแครงจะใช้เหงือกกรองอาหาร และพัดอาหารเข้าสู่ปาก โดยมีอาหารหลักเป็นแพลงค์ตอนพืช และแพลงค์ตอนสัตว์ รวมถึงอินทรีย์วัตถุขนาดเล็กต่างๆ ส่วนสิ่งขับถ่าย โคลน ดิน และน้ำทะเล จะถูกพ่นออกมาอีกด้านหนึ่ง

การสืบพันธุ์ของหอยแครง
หอยแครงเริ่มมีอวัยวะสืบพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน หรือมีขนาดฝาประมาณ 1 ซม. และเริ่มสืบพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน หรือมีขนาดฝาประมาณ 1.70 ซม. ขึ้นไป โดยสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่จะวางไข่มากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากมีน้ำฝนไหลลงชายฝั่ง ทำให้ระดับความเค็มลดลงในระดับที่เหมาะสมกับการวางไข่

การสืบพันธุ์ของหอยแครงจะแยกเพศ แต่เพศจะมีอยู่ในหอยตัวเดียวกัน ซึ่งเมื่ออวัยวะเพศสมบูรณ์ หอยแครงจะฉีดน้ำเชื้อ และไข่เข้าผสมกันภายในตัวหอย แล้วจะปล่อยไข่ที่ผสมแล้วให้ลอยตามกระแสน้ำ และตกบริเวณริมชายฝั่งที่มีโคลน

สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อหอยแครง
1. บริเวณชายฝั่งที่เป็นปากแม่น้ำ และมีดินเลนหรือโคลนมาก เนื่องจากมีสารอาหารสูง
2. พื้นที่เป็นดินเลนหรือโคลนที่มีลักษณะเรียบ ไม่ขรุขระ และลาดเอียงน้อยกว่า 15 องศา
3. ดินเลนหรือโคลนมีเนื้อละเอียด มีความลึกประมาณ 30-50 ซม.
4. ดินเลนหรือโคลนมีการทับถมของซากพืช ซากสัตว์หรืออินทรีย์วัตถุต่างๆ
4. ความลึกของน้ำทะเลประมาณ 0.5-2 เมตร
5. มีการเปลี่ยนแปลงของความเค็มในช่วง 10.0-30.0 ppm
6. ไม่อยู่ใกล้ชุมชน อุตสาหกรรมหรือแหล่งมลพิษ

ศัตรูของหอยแครง
1. หอยหมู
หอยชนิดนี้จะเกาะที่ปากหอยแครง แล้วปล่อยน้ำพิษเข้าในหอยแครงขณะที่หอยแครงอ้าเปลือกออก หลังจากนั้น หอยแครงจะอ้าเปลือกออกมากจนหอยหมูสามารถกัดกินเนื้อข้างในได้ ดังนั้น การเลี้ยงฟาร์มหอยแครงจำเป็นต้องคอยเก็บหอยหมู แล้วนำมาตากแดดให้หมด
2. หอยตะกาย
หอยชนิดนี้จะใช้วิธีเจาะผ่านฝาหอย แล้วดูดกินเนื้อหอยแครง
3. หอยกระพง
หอยชนิดนี้จะไม่มีผลต่อหอยแครงโดยตรง แต่เป็นหอยที่ปล่อยสารเป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย สารนี้เมื่อตกลงดินจะทำให้หน้าดินโคลนแข็ง ทำให้หอยแครงฝังตัวลงโคลนได้ยาก ซึ่งแก้ได้โดยใช้ไม้กระดานเกลี่ยหน้าดินให้เส้นด้ายแตกกระจาย ไม่รวมตัวกัน
4. ปลากินลูกหอยชนิดต่างๆ อาทิ ปลากด ปลาดาว และปลากระเบน เป็นต้น

ประโยชน์หอยแครง
1. เนื้อหอยนำมาลวกน้ำร้อนรับประทาน
2. เนื้อหอยแปรรูปเป็นหอยแครงดอง หอยแครงตากแห้ง เป็นต้น สำหรับใส่ในส้มตำหรือใช้ประกอบอาหารต่างๆ
3. เปลือกหอยแครงนำไปเผาเพื่อผลิตปูนขาวหรือผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต

เปลือกหอยแครง
เปลือกหอยแครง กว่าร้อยละ 95 จะประกอบด้วย แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) ส่วนที่เหลือจะเป็น
– แคลเซียมฟอสเฟต
– แมกนีเซียมฟอสเฟต
– แมกนีเซียมซิลิเกต
– แมกนีเซียมคาร์บอเนต
– โปรตีนประเภทคอนไคโอลิน (conchinolim)

เปลือกหอยแครง แบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่
1. ชั้นนอกสุด (Periostracum layer)
ชั้นนี้ประกอบด้วยสารหลัก คือโปรตีนประเภทคอนไคโอลิน ที่ทำให้เปลือกด้านนอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ซึ่งเป็นชั้นบางๆ และหลุดได้ง่าย
2. ชั้นกลาง (Prismatic layer)
เป็นชั้นที่ประกอบด้วยผลึกของแคลเซียมที่อยู่ในรูปผลึกแคลไซท์ (calcite) เป็นส่วนมาก ร่วมกับสารประกอบอื่นๆ ชั้นนี้จะหนา และแข็งมากที่สุด
3. ชั้นในสุด/ชั้นมุก (Nacreous layer)
เป็นชั้นที่ประกอบด้วยผลึกของแคลเซียมในรูปผลึกอราโกไนท์ (aragonite) มีสีขาวขุ่น เรียงตัวเป็นระเบียบ และเป็นมันวาว

แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) จากเปลือกหอยแครงถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมมากมาย ได้แก่
– อุตสาหกรรมกระดาษ ทำให้กระดาษมีสีขาว และเรียบเนียน
– อุตสาหกรรมยาง เพื่อเพิ่มความขาว
– อุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อทำให้พลาสติกแข็งแรง หรือเพื่อทำให้เกิดสีขาว
– อุตสาหกรรมสี เพื่อให้สีขาว และการยึดเกาะที่ดี
– อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยเป็นสารให้แคลเซียมแก่ร่างกาย หรือใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ

การเลี้ยงหอยแครง
การเลือกทำเลเลี้ยงหอยแครง
1. เป็นชายฝั่งทะเลที่มีหอยแครงอาศัยอยู่แล้วตามธรรมชาติ
2. ใกล้กับแหล่งที่หาพันธุ์หอยแครงได้ง่าย
3. ชายฝั่งที่มีเลนหรือโคลนเรียบ มีความลาดเอียงเล็กน้อย
4. ดินเลนควรมีความละเอียด เป็นดินเหนียวปนโคลน และมีความลึกของโคลน 30-50 ซม.
5. ดินเลนควรมีเนื้อสม่ำเสมอ และมีพื้นที่กว้าง
6. เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคลื่นลมแรง
7. เป็นพื้นที่ที่มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงเกินกว่า 1 เมตร
4. พื้นที่มีระดับความลึกประมาณ 0.5-1 ม. หากมีน้ำขึ้นน้ำลง ดินเลนต้องตากแดดไม่เกิน 3 ชม.
5. พื้นที่มีระดับความเค็มประมาณ 10 – 30 ppm
6. ไม่อยู่ใกล้แหล่งชุมชนหรือแหล่งปล่อยน้ำเสียหรือสารเคมี

รูปแบบการเลี้ยง
1. การเลี้ยงแบบดั้งเดิม
การเลี้ยงแบบนี้ เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ใช้เนื้อที่ประมาณ 5-30 ไร่ ด้วยการใช้ไม้ไผ่ปักล้อมแปลงนิยมใช้ลูกหอย ขนาดน้ำหนักประมาณ 450 ตัว/กิโลกรัม บางพื้นที่ใช้ขนาดตัวที่เล็กกว่านี้ เช่น 500-2500 ตัว/กิโลกรัม อัตราการหว่านเลี้ยงที่ 800-1,500 กิโลกรัม/ไร่

2. การเลี้ยงแบบพัฒนา
เป็นการเลี้ยงหอยแครงในรูปแบบเชิงธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้พื้นที่ประมาณ 100 -1,000 ไร่ แต่จะใช้ไม้ไผ่ปักเขต และป้องกันคลื่นพัดแบบเดียวกับแบบดั้งเดิม มีขนาดของลูกหอยแครงที่ใช้ปล่อยที่ 2,500 ตัว/กิโลกรัม หรือบางพื้นที่จะใช้ขนาดเดียวกับแบบดั้งเดิม และจะใช้เวลาในการเลี้ยง และการให้ผลผลิตที่ใกล้เคียงกัน

การเตรียมแปลงเลี้ยง
การเตรียมแปลงเลี้ยงจะนิยมใช้ไม้ไผ่หรือลำไม้อื่นๆปักลงบนดินเลนให้แน่น ลึกประมาณ 50 ซม. เพื่อเป็นแนวเขต และเพื่อป้องกันแรงคลื่นที่พัด โดยขนาดไม้ไผ่ที่ใช้กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 60-80 ซม. ซึ่งจะใช้ไม่ไผ่ประมาณ 10,000 อัน/1 ไร่

แปลงหอยแครง

ส่วนการเตรียม จะใช้วิธีคราดโคลนหรือถีบโคลนในแปลงให้เรียบในช่วงที่น้ำลด และกำจัดเปลือกหอย และเศษวัสดุอื่นๆ รวบรวมออกจากแปลงให้หมด

คราดโคลนหรือถีบโคลนนั้น จะใช้ไม้แผ่นบางๆ แต่แข็งแรง มีขนาดกว้างเท่าลำตัว แต่ยาวประมาณ 2 เมตร โดยมีปลายด้านหนึ่งงอหรือเชิดขึ้น จากนั้น คนคราดจะใช้ไม้วางบนโคลน แล้วใช้มือทั้งสองวางทาบกดลงบริเวณส่วนโคนไม้ และให้ส่วนปลายไม้ที่งอขึ้นอยู่อีกด้าน จากนั้น จะใช้ขาถีบโคลนเพื่อดันให้ไม้ไถลลื่นไปข้างหน้า ทำให้โคลนที่ถูกกดทับเรียบขึ้น

ถีบโคลน

ขอบคุณภาพจาก www.reviewthaitravel.com

การเตรียมพันธุ์หอยแครง
1. นำลูกหอยมาแช่น้ำทะเลในถัง แล้วจับแยกลูกหอยออกจากเศษวัสดุต่างๆ
2. นำลูกหอยบรรจุถุง ถุงละประมาณ 60 กิโลกรัม แล้วมัดปากถุงให้แน่น พร้อมราดพรมด้วยน้ำทะเลให้ชุ่ม
2. นำถุงลูกหอยเข้าสู่แปลงเลี้ยงทันที ระหว่างนี้ห้ามให้น้ำจืดถูกลูกหอยโดยเด็ดขาด และต้องให้ได้หว่านลงแปลงไม่เกิน 24 ชั่วโมง

การหว่านลูกหอยแครง
การหว่านลูกหอยต้องให้ลูกหอยกระจายให้มากที่สุด ส่วนวิธีหว่านนั้น ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล อาจหว่าน โดยการเหวี่ยงด้านข้าง หว่านยกมือขึ้นด้านบน เป็นต้น

คำนวณปริมาณพันธุ์หอยที่ใช้หว่านต่อไร่
1. กระสอบบรรจุลูกหอยก่อนที่จะราดพรมน้ำทะเล (สมมุติได้ 50 กิโลกรัม)
2. นำลูกหอยออกจากกระสอบมาชั่งให้ได้ 500 กรัม แต่หากลูกหอยมีขนาดเล็กให้ชั่ง 100-200 กรัม หลังจากนั้น ให้นับจำนวนลูกหอยทั้งหมด (สมมุติได้ 200 ตัว)
3. คำนวณปริมาณลูกหอย เท่ากับ 50 กิโลกรัม x 200 ตัว x 2 = 2,000 ตัว/กิโลกรัม หรือ 50 x 2,000 = 100,000 ตัว
4. หาพื้นแปลงเลี้ยง (สมมุติ 1ไร่)
5. เลือกอัตราการหว่านที่เหมาะสม เช่น
– ลูกหอยที่มีจำนวนตัว/กิโลกรัม ตั้งแต่ 1,500 ตัว/กก. ขึ้นไป หว่านที่อัตรา 600 ตัว/ตารางเมตร
– ลูกหอยที่มีจำนวนตัว/กิโลกรัม น้อยกว่า 1,500 ตัว/กก. หว่านที่อัตรา 450 ตัว/ตารางเมตร
6. คำนวณกระสอบที่ใช้หว่าน
– จากข้อ 3 ที่สมมุติคำนวณจำนวนตัวหอยได้ที่ 2,000 ตัว/กิโลกรัม จึงใช้อัตรากว่านที่ 600 ตัว/ตารางเมตร
– คำนวณจำนวนกระสอบต่อ 1 ไร่ (1,600 ตารางเมตร) เท่ากับ 1,600 x 600 = 960,000 ตัว หรือ 960,000/100,000 = 9.6 กระสอบ)

หลังจากการหว่านลูกหอยแล้ว เกษตรกรจะคอยเกลี่ยลูกหอยเป็นประจำทุก 15-30 วัน หรือทุกเดือน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “โพง” คราด และรวบรวมลูกหอยบริเวณที่มีลูกหอยจำนวนมากไปหว่านกระจายบริเวณอื่น

หลังจากที่เลี้ยงนาน 1-2 ปี ก็เริ่มเก็บหอยแครงจำหน่ายได้ แต่หอยพันธุ์พื้นเมืองจะใช้เวลาเลี้ยงที่นานกว่า โดยขนาดน้ำหนักหอยที่เหมาะสมในการเก็บประมาณ 80 -120 ตัว/กิโลกรัม แลกะการเก็บแต่ละครั้งจะได้น้ำหนักประมาณ 2,000-3,000 กิโลกรัม/ไร่