หอยนางรม หอยทำซอส และการเลี้ยงหอยนางรม

7134

หอยนางรม (Oyster) เป็นหอยทะเลที่นิยมรับประทานสดมากกว่าการทำให้สุกที่รับประทานพร้อมกับเครื่องเคียงต่างๆ อาทิ มะนาว น้ำพริกเผา หอมเจียว และน้ำจิ้ม เป็นต้น เพราะเนื้อหอยนางรมสดให้เนื้อนุ่ม รสหวาน และไม่มีกลิ่นคาว แต่ก็นำมาประกอบอาหารบ้าง เช่น หอยทอดหรือแกงจืด เป็นต้น

ลักษณะของหอยนางรม
หอยนางรม เป็นหอย 2 ฝา ประกอบด้วยฝาหอยด้านบน และด้านล่างที่มีขนาดไม่เท่ากัน โดยฝาหอยด้านบน(ขวา) มีขนาดขอบฝากว้างกว่าฝาล่าง ฝามีลักษณะค่อนข้างแบน ส่วนฝาด้านล่าง (ขวา) ฝามีลักษณะเป็นรูปถ้วยที่โค้งใหญ่กว่าฝาบนทำให้ภายในฝาเป็นร่องลึกใหญ่กว่าฝาด้านบน และฝาด้านล่างเป็นส่วนที่ใช้ยึดติดกับวัสดุ

ลักษณะหอยนางรมมักมีรูปร่างไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารเป็นสำคัญ องค์ประกอบของเปลือกหอยนางรมจะเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นหลักเหมือนกับเปลือกหอยอื่นๆ และเปลือกหอยทั้ง 2 ฝา จะเชื่อมติดกันด้วยบานพับบริเวณกลางฝาของขอบด้านใน

ภายในเปลือกหอยจะมีส่วนของเนื้อหอยหรือตัวหอย โดยลำตัวหอยนางรมจะมีเนื้อเยื่อบางๆห่อหุ้มลำตัวเรียกว่า เยื่อคลุม ที่มีลักษณะเป็นริ้วแผ่ยาวจนถึงช่องปาก ลำตัวหอยมีเหงือก 2 คู่ ใช้สำหรับกรองอาหาร และทำหน้าที่หายใจ รวมถึงช่วยในการขับถ่ายของเสีย ถัดมากลางลำตัวจะมีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ที่ทำหน้า-เปิดฝาหอย ถัดมาด้านในจะเป็นอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ระบบประสาท ระบบขับถ่าย ระบบไหลเวียนเลือด และอวัยวะสืบพันธุ์ ทั้งนี้ ตัวหอยหรือเนื้อหอยจะไม่มีขนาดใหญ่จนเต็มภายในเปลือกหอยทั้งหมด แต่จะมีพื้นที่บางส่วนด้านในที่เป็นช่องว่าง และช่องนี้ จะเปิดเป็นช่องออกสู่ภายนอกสำหรับเป็นทางผ่านเข้าของอาหาร และน้ำจากด้านนอก ก่อนอาหาร และน้ำจะเข้าสู่ปาก และระบบย่อยอาหาร ก่อนจะกำจัดผ่านทางช่องทวารออกสู่ด้านนอก พร้อมกับการหายใจร่วมกัน

อาหารของหอยนางรมจะเป็นแพลงก์ตอนต่างๆที่อยู่ในน้ำ โดยหอยนางรมจะกินอาหารด้วยการกรองแพลงก์ตอนจากน้ำด้วยเหงือก โดยน้ำที่ถูกกรองจะไหลออกทางท่อน้ำออก ส่วนแพลงก์ตอนหรือสารอาหารต่างๆจะติดบนซี่เหงือก โดยหากเป็นอาหารขนาดใหญ่ที่เข้าสู่ระบบย่อยอาหารไม่ได้ก็จะถูกขับออกทางท่อน้ำออก ส่วนแพลงก์ตอนหรืออาหารขนาดเล็กจะมี cilia คอยปัดให้ไหลเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร โดยอาหารเหล่านี้จะมีเมือกมาจับให้เป็นก้อนเล็กๆ ดังนั้น หอยที่อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลาจะเติบโตได้ดีกว่าหอยที่อยู่บริเวณน้ำลดที่ทำให้ตัวหอยสัมผัสกับอากาศ เพราะช่วงนี้จะไม่ได้กินอาหารนั่นเอง

โดยปกติ หอยสองฝาจะแยกเพศตัวเมีย ตัวผู้ แต่บางช่วงสภาวะอาจพบหอยสองเป็นหอยกระเทย (hermaphrodite) ที่มีทั้งไข่ และน้ำเชื้อในตัวเอง ทั้งนี้ การที่จะแยกเพศหอยนางรมว่าหอยตัวใดเป็นตัวผู้ตัวเมีย หากดูภายนอกจะไม่สามารถแยกแยะได้ แต่จะแยกได้ด้วยการเปิดฝาหอยดูอวัยวะสืบพันธุ์ และต้องใช้กล้องส่องดูเท่านั้น เพราะหอยนางรมเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์จะมีอวัยวะเพศสีครีมขาวที่ดูด้วยตาเปล่าเหมือนกัน

เมื่อหอยนางรมถึงวัยสืบพันธุ์ ช่วงการจะมีสภาพแวดล้อมมาเป็นตัวกระตุ้นเป็นหลัก อาทิ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความเค็ม เป็นต้น เมื่อพร้อมที่จะผสมพันธุ์ หอยตัวเมียก็จะปล่อยไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อที่ตัวผู้ขับออกมา

ไข่หอยนางรมที่ผสมกับน้ำเชื้อแล้วก็จะเจริญเป็นตัวอ่อนหรือที่เรียกว่า ลูกหอยวัยอ่อน ที่ลอยตามกระแสน้ำ เรียกระยะนี้ว่า metamorphosis หรือ settlement พร้อมกับพัฒนาเข้าสู่วัยเกาะวัสดุ เรียกระยะนี้ว่า หอยนางรมวัยเกล็ด ซึ่งจะอาศัย และเติบโตเป็นหอยตัวเต็มวัย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 13-20 วัน สำหรับหอยตะโกรม และจะใช้เวลาประมาณ 20-24 วัน สำหรับหอยนางรมปากจีบ ทั้งนี้ ตามธรรมชาติจะมีวัสดุสำหรับหอยนางรมเกาะ ได้แก่ ก้อนหิน โขดหิน หรือวัสดุต่างๆ แต่หากไม่สามารถหาที่ยึดเกาะได้ ลูกหอยนางรมจะตกลงพื้นด้านล่าง และตายไปในที่สุด

ประโยชน์หอยนางรม
1. ตัวหอยนางรมหรือเนื้อหอยนางรม นิยมนำมารับประทาน และแปรรูปเป็นอาหาร เนื่องจาก หอยให้เนื้อมาก เนื้อหอยนุ่ม ไม่เหนียว เนื้อหวาน มีกลิ่นคาวน้อย
2. เปลือกหอยนางรมนำมาเดผาทำปูนขาวสำหรับใช้ในการเกษตร งานก่อสร้าง งานอุตสาหกรรม และใช้สำหรับเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์เพื่อเป็นแหล่งเสริมแคลเซียม
3. หอยนางรมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หอยนางรมดอง หอยนางรมรมควัน นอกจากนั้น ยังใช้ผลิตเป็นน้ำมันหอย ซอสหอย เป็นต้น
4. ใช้ทำเครื่องประดับ อาทิ ไข่มุก แต่จะไม่สวย และไม่นิยมเท่าไข่มุกจากหอยมุก

หอยนางรม

คุณค่าทางโภชนาการหอยนางรม (เนื้อหอย 100 กรัม)
– ความชื้น : 82.70 กรัม
– พลังงาน : 71.00 แคลอรี่
– ไขมัน : 1.20 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 6.10 กรัม
– โปรตีน : 8.30 กรัม
– แคลเซียม : 98.00 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 109.00 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 7.20 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 192.00 I.U.
– วิตามิน B1 : 3.00 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 : 0.22 มิลลิกรัม
– วิตามิน C : 1.90 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน : 0.22 มิลลิกรัม

ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2530

สารสำคัญ และฤทธิ์ทางยาของหอยนางรม
1. เนื้อหอยนางรมมีสารเทารีน (Taurine) ทำหน้าต่างๆให้แก่ร่างกาย ได้แก่
– ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ
– ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท และสารสื่อประสาท ด้วยการควบคุมการเข้าออกของอิออนต่างๆในการเคลื่อนไหว
– ช่วยการทำงานของต่อหมวกไต
– ช่วยในการสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย ด้วยการสร้าง Taurocholate ที่เป็นสารทำให้ไขมันในอาหารแตกตัวเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก ช่วยให้ร่างกายสามารถย่อย และเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– ช่วยในการหลั่งฮอร์โมนเพศ รวมถึงช่วยให้น้ำอสุจิสามารถเคลื่อนที่ได้ดี ตัวอสุจิมีกำลัง ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น
2. Glycogen ที่สามารถเป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกายได้ทันที โดยเฉพาะเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือต้องการพลังงานมาก
3. Essential minerals อาทิ สังกะสี ที่เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศชาย ส่วนทองแดง ซีลีเนียมช่วยป้องกันการออกซิเดชันของเซลล์ ป้องกันการเสื่อมของเซลล์ และช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ
4. Essential fatty acid ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมน และช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิได้
5. Vitamins ทำหน้าที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การรับประทานหอยนางรม
หอยนางรมมี 2 ฝา ประกอบด้วยฝาบนที่มีลักษณะแบน และกว้างกว่าฝาล่าง ส่วนฝาล่างมีลักษณะโค้ง เว้าลึก แต่ความกว้างเล็กกว่าฝาบน และฝาล่างเป็นส่วนที่เนื้อหอยหรือตัวหอยติดอยู่ ดังนั้น การแกะหอยนางรมจะจับฝาหอยให้ฝาบนหงายขึ้น พร้อมใช้มีดค่อยๆงัดฝาบนให้เปิดอ้าออกพอประมาณ ก่อนใช้นิ้วง้างแกะให้เปิดออก จากนั้น ค่อยใช้มีดแกะส่วนเนื้อให้ออกจากเปลือกหอยส่วนล่าง ทั้งนี้ การรับประทานหอยนางรมสดอาจเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่มาจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อ Vibrio Vulnificus ทำให้ผู้รับเชื้อเกิดอาการภายใน 1-2 วัน มีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ผิวหนังมีรอยช้ำ และอาจช็อกเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคตับ

การเลี้ยงหอยนางรม
หอยนางรมแต่ก่อนสามารถหาจับได้ตามโขดหินหรือวัสดุตามชายทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้กับปากแม่น้ำ แต่ช่วงหลังมากจากปัญหาสภาพมลพิษ และการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล รวมถึงมีการจับกันมากขึ้น ทำให้หอยนางรมตามธรรมหายากมาก ปัจจุบัน จึงมีการเลี้ยงหอยนางรมเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกจังหวัดที่ติดกับทะเล โดยเฉพาะทะเลในแถบภาคใต้ โดยกลุ่มที่ริเริ่มเลี้ยงหอยนางรมครั้งแรกจะเป็นชาวจีนในแถบภาคใต้

ชนิดหอยนางรมที่นิยมเลี้ยง
1. หอยนางรมปากจีบ/หอยนางรมพันธุ์เล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Saccostrea commercialis พบเลี้ยงมากทางภาคตะวันออก

************************Saccostrea commercialis

2. หอยตะโกรมขาว (Crassostrea belcheri) จัดเป็นหอยนางรมขนาดใหญ่ พบเลี้ยงมากในภาคใต้

************************Crassostrea belcheri

3. หอยตะโกรมกรามดำ (Crassostrea lugubris) จัดเป็นหอยนางรมขนาดใหญ่ พบเลี้ยงบ้างในภาคตะวันออก แต่เลี้ยงมากในภาคใต้

**************************Crassostrea lugubris

การเลือกพื้นที่
1. พื้นที่ชายทะเลที่เป็นแหล่งที่มีน้ำกร่อย โดยมีน้ำทะเลท่วมถึงนาน 7-8 เดือน และไม่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำที่อาจมีน้ำจืดไหลบ่า
2. พื้นที่พบหอยนางรมเกิดเองตามธรรมชาติ เพราะเป็นแหล่งที่เหมาะแก่การเติบโต และสะดวกต่อการจัดหาพันธุ์
3. ไม่เป็นแนวการไหลของน้ำขึ้น-น้ำลง รวมไปถึงไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีคลื่นลมแรง
4. ไม่อยู่ใกล้แหล่งชุมชนหรือแหล่งอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำทิ้งต่างๆ
5. เป็นแหล่งที่มีการไหลเวียนของน้ำหรือมีกระแสน้ำไหลผ่าน ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่มีความสมบูรณ์ของอาหาร และช่วยลดภาวะมลพิษของน้ำ
6. เป็นแหล่งน้ำไม่ตื้น และไม่ลึกกินไป ระดับความลึกเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดไม่ควรเกิน 2.5 เมตร
7. พื้นท้องน้ำเป็นโคลนตม แต่ไม่มีความลึกมานัก
8. อยู่ใกล้กับที่พักอาศัย และสามารถจัดหาหรือขนส่งวัสดุที่ใช้เลี้ยงได้ง่าย
9. มีถนนหรือทางสัญจรที่สามารถเข้าถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงได้ง่าย และสะดวก

รูปแบบการเลี้ยงหอยนางรม
1. การเลี้ยงบนก้อนหิน
การเลี้ยงบนก้อนหิน เป็นวิธีเลี้ยงดั้งเดิมที่ไม่นิยมแล้ว แต่ยังใช้นิยมทำเฉพาะสำหรับการรับประทานในครัวเรือนหรือจับจำหน่ายในตลาดเล็กๆเท่านั้น ด้วยการนำก้อนหินมาเรียงวางเป็นกองๆเพื่อให้ลูกหอยนางรมเกาะ และเติบโตตามธรรมชาติ

วิธีนี้ มักทำบริเวณน้ำขึ้น-น้ำลงสูงสุดใกล้กับบริเวณปากอ่าวเปิด ซึ่งจะมีสภาพพื้นท้องน้ำเป็นโคลนตมตื้นๆหรือมีสภาพท้องน้ำแข็งเพื่อให้วางก้อนหินได้ง่าย แต่หากพื้นที่ใดมีสภาพโคลนตมลึก ชาวบ้านก็จะใช้ไม้ไผ่ขัดเป็นแพมาวางเป็นฐานสำหรับป้องกันหินไม่ให้จมลงโคลน บริเวณที่พบการเลี้ยงในลักษณะนี้ ได้แก่ จ. ชลบุรี และอ่าวสวี จ. ชุมพร

2. การเลี้ยงในกระบะไม้
การเลี้ยงแบบนี้พบในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำได้โดยใช้กระบะไม้ที่มัดหรือตอกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร และสูง 25 เซนติเมตร ด้านในปล่อยลูกหอยนางรม 3.5-4.5 เซนติเมตร พร้อมมัดกระบะเข้ากับคานไม้ให้ประมาณ 30 เซนติเมตร จากพื้นดินที่น้ำท่วมถึง หลังจากนั้นปล่อยให้หอยเติบโตจนมีอายุประมาณ 8-10 เดือน หรือ 1 ปี ครึ่ง จึงเข้าเก็บผลผลิต

3. การเลี้ยงโดยใช้หลักไม้
วิธีนี้ เหมาะกับพื้นที่น้ำทะเลท่วมตลอด และเป็นวิธีง่ายๆ ด้วยการนำหลักไม้ที่ทน และแข็งแรง เช่น พังกาหรือสักทะเล โดยปลายหลักจะนำเปลือกหอยมาผูกรัดไว้ แล้วนำมาปักเรียงเป็นแถว ซึ่งจะหล่อให้ลูกหอยนางรมมาเกาะอาศัยตามธรรมชาติ ทั้งนี้ บางพื้นที่อาจไม่ใช้เปลือกหอยมาผูกหล่อ แต่จะใช้หลักไม้เป็นที่ยึดเกาะของลูกหอยก็ทำได้เช่นกัน

4. การเลี้ยงแบบแท่งซีเมนต์
วิธีนี้สามารถทำได้ในทุกพื้นที่ และบางพื้นที่มักทำสับระหว่างการเลี้ยงแบบก้อนหิน ด้วยการใช้แท่งซีเมนต์กลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร ขนาดหน้าดัด 12×12 เซนติเมตร แล้วใช้ไม้สอดเป็นแกนกลางสำหรับปักยึดลงโคลน ยาวประมาณ 1 เมตร ซึ่งไม้อาจสอดไว้พยุงหรือหล่อให้ติดกัน ทั้งนี้ แบบไม้สอดจะทำการปักหลักไม้ก่อนแล้วใช้แท่งซีเมนต์สอดสวม หากหล่อติดจะค่อยนำลงปักพร้อมกัน ซึ่งวิธีนี้ อาจปล่อยให้ลูกหอยนางรมมาเกาะติดตามธรรมชาติหรือนำลูกหอยนางรมมามัดติดเพื่อเลี้ยงให้เติบโตก็ได้

5. การใช้หลอดหรือท่อซีเมนต์
เป็นวิธีที่คล้ายกับแบบหลักไม้ แต่ประยุกต์นำหลอดซีเมนต์มาติดกับหอยแทนปลายไม้ โดยวิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีน้ำท่วมตลอดเวลา ซึ่งพื้นที่ควรมีโคลนที่จะพอปักหลักไม้ให้แน่นได้ โดยพบเลี้ยงในจังหวัดสุราษฏร์ธานี และจันทบุรี การเลี้ยงวิธีนี้เริ่มจากนำหลักไม้ขนาดมือจับที่มีความแข็งแรง เช่น ไม้ไผ่ ไม้เป้ง หรือโกงกาง รวมถึงอาจใช้ท่อ PVC ก็ได้ โดยมีระยะห่างระหว่างแถว 1 เมตร และระยะห่างระหว่างหลัก 30 เซนติเมตร จากนั้น นำหลอดซีเมนต์กลวงซึ่งเป็นปลายเปิดข้างเดียวที่มัดติดกับหอยประมาณ 20 ตัว มาสวมบนหลัก โดย 1 ไร่ จะปักท่อได้ประมาณ 1,600 ท่อ ทั้งนี้ เกษตรกรบางรายประยุกต์นำเสาหลักมาหล่อด้วยปูนซีเมนต์สำหรับเป็นฐานให้มั่นคงมากขึ้น

6. การเลี้ยงแบบพวงอุบะแขวน
วิธีนี้ เป็นวิธีที่นิยมกันทั่วโลก ทั้งในประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป เพราะสามารถเลี้ยงให้หอยนางรมโตเร็วได้ รวมถึงหอยที่เลี้ยงสามารถให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีอื่น แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
– การแขวนใต้แพ
– แขวนจากราวเชือก

การเลี้ยงแบบนี้มักเลือกพื้นที่ที่ไม่มีคลื่นลมแรง ระดับความลึกของน้ำทะเลประมาณ 5-10 เมตร ซึ่งเป็นการเลี้ยงบนแพเป็นหลัก โดยใช้ทุ่นพลาสติก ทุ่นโฟม หรือ แพไม้ไผ่ที่มีสมอยึดรั้งไว้สี่มุม ระดับความลึกของน้ำควรอยู่

การเลี้ยงนั้น จะเริ่มจากนำเปลือกหอยที่มีลูกหอยนางรมมาเกาะติดแล้วมาร้อยเป็นพวงด้วยเส้นลวดสังกะสี โดยใช้ไม้ไผ่กั้นระหว่างเปลือกแต่ละอัน และร้อยให้เปลือกหอยห่างกันประมาณ 15-20 เซนติเมตร จากนั้นนำพวงหอยเปลือกหอยไปแขวนบนแพ แล้วปล่อยเลี้ยงให้เติบโต ทั้งนี้ วิธีนี้ก็มีข้อเสีย คือ พวงหอยที่อยู่ตรงกลางมักเติบโตช้ากว่าพวงหอยที่อยู่ด้านข้าง เพราะได้รับสารอาหารน้อยกว่า ซึ่งมาจากการไหลเวียนน้ำที่อาจเข้ามาไม่ถึงพวงหอยในส่วนกลาง

ระยะเวลาในการเลี้ยงหอยนางรม
ระยะเวลาการเลี้ยงหอยนางรม เริ่มตั้งแต่ปล่อยลูกหอยจนถึงเก็บผลผลิตจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ขึ้นอยู่กับชนิดของหอยนางรม ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร โรค ศัตรู และการดูแลเป็นสำคัญ

ศัตรู และตัวเบียนหอยนางรม
1. หอยฝาเดียว เช่น หอยหมู่ (Thais spp) และหอยมะระ (Melongina spp) เป็นต้น
2. ปู ทั้งชนิดที่หากินตามพื้นท้องทะเล และว่ายขึ้นสูงได้
3. ปลาดาว
4. ปลาทะเลที่มีฟันแหลมคม เช่น ปลากระเบน และปลานกแก้ว เป็นต้น
5. นก การเลี้ยงหอยนางรมในเขตชายฝั่งที่มีน้ำขึ้นน้ำลงที่ในช่วงน้ำลงลูกหอยนางรมมักถูกนกจิกกินได้ง่าย
6. สัตว์น้ำที่คอยแย่งอาหารหรือยึดเกาะแย่งพื้นที่อาศัย เช่น หอยแมลงภู่ เพรียง และฟองน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ พวก polychaetes และฟองน้ำ สามารถควบคุม และป้องกันได้โดยใช้น้ำจืดแช่ หรือแช่ในน้ำเกลืออิ่มตัวนานประมาณ 15-30 นาที หรือใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 1 แช่เป็นเวลา 5 นาทีก็ได้

โรคพยาธิหอยนางรม
1. โรคเหงือก (Gill disease)
โรคเหงือกในหอยนางรมเคยเกิดกับหอยนางรมโปรตุเกส ในช่วงปี ค.ศ. 1966 แพร่ระบาดถึง 40-50 ของประชากรหอย สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส (IRIDOVIRUS) ลักษณะของโรคเริ่มจากพบจุดสีเหลืองกระจายเหงือก และ labial palp จุดเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และขยายตัวมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวจะตายหอยไม่สามารถกินอาหาร รวมทั้งทำการหายใจไม่เป็นปกติ น้ำหนักของหอยลดลง และตายในที่สุด
2. โรคไวรัส (Virus disease)
โรคนี้เคยเกิดกับหอยนางรมโปรตุเกส ในช่วงปี ค.ศ. 1970 เข้าใจว่าเป็น IRICOVIRUS ซึ่งตรวจพบในเม็ดเลือกของหอย ผลจากการระบาดของไวรัสตัวนี้ ทำให้ประชากรหอยนางรมโปรตุเกสทั้งหมดที่มีในประเทศฝรั่งเศสสูญพันธุ์หมด
3. Bonamia Haemocytic disease
เป็นโรคระบาดที่เกิดกับหอยนางรมยุโรป (O. edulis) สาเหตุเกิดจากเชื้อโปรโตซัว Bonamia ostreae ซึ่งทำอันตรายกับเซลล์เม็ดเลือดของหอย พบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1979
4. Abers Digestive gland disease
พบครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1968 ในตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศสในเขตบริทานี โดยเกิดกับหอยนางรมยุโรป(O. edulis) สาเหตุเกิดจากเชื้อโปรโตซัว Marteilia refringens ตรวจพบในส่วน Digestive gland ของหอย ก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างมากกับหอยนางรมยุโรปในประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามมีการตรวจพบเชื้อชนิดนี้ในหอยนางรมญี่ปุ่น (C. gigas.) หอยแมลงภู่ (Mytilus galloprovincialis) รวมทั้งใน Cardium edule แต่ไม่ก่อให้เกิดการตายในหอยเหล่านี้แต่อย่างใด
5. Copepod สกุล Mytilicola intestinalis
Copepod มีรายงานพบภายในทางเดินอาหารหอยนางรม C. gigas ซึ่งจะทำให้คุณค่าทางโภชนาการของคาร์โบไฮเดรตในเนื้อหอยนางรมน้อยลง
6. หนอนเจาะเปลือกที่ทำให้เปลือกหอยนางรมเสียหาย หอยนางรมเติบโตช้า และไม่สมบูรณ์ มักพบในบริเวณที่มีความเค็มต่ำ

ข้อควรระวังการเลี้ยงหอยนางรม
1. มั่นตรวจสอบ และซ่อมแซมอุปกรณ์การเลี้ยงเป็นประจำ
2. เฝ้าระวังสภาพน้ำเสียหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพความเค็มสม่ำเสมอ ซึ่งมักกระทบต่อผลผลิต และคุณภาพของหอยให้ลดลงเรื่อย ๆ
3. พื้นที่เลี้ยงมีการตื้นเขิน ซึ่งจะทำให้หอยตายง่าย
4. คอบตรวจสอบสัตว์น้ำอื่นที่มาเกาะแย่งอาหารที่อาจทำให้หอยนางรมเติบโตช้า เช่น หอยแมลงภู่ หอยเฉลียบ หอยเพรียง และฟองน้ำ เป็นต้น