พะยูน/ปลาพะยูน สัตว์เหมือนหมูในทะเล

6715
แผนที่พะยูนบนโลก

พะยูน (Dugong) เป็นสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกับปลาโลมา และปลาวาฬ มีอาหารชนิดเดียว คือ หญ้าทะเล ลำตัวเป็นผิวหนังหุ้ม ไม่มีเกล็ด ปัจจุบันมีจำนวนลดลงอย่างมาก เนื่องจาก ปัญหาการล่า เพราะคนบางกลุ่มนิยมนำเนื้อมารับประทาน รวมถึงปัญหาจากการทำประมงที่มักพบพะยูนมาติดอวนหรือตาข่ายดักปลาเสมอ รวมถึงปัญหาด้านแหล่งอาหารที่ลดน้อยลงทุกวัน

อนุกรมวิธาน
Class : Mammalia
Order : Sirenia
Family : Dugongidae
Genus : Dugong

• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– พะยูน/ปลาพะยูน
– เงือก
– หมูน้ำ
– วัวทะเล
– หมูดุด
– ดูหยง

การแพร่กระจาย
พะยูนมีการแพร่กระจายเฉพาะในทะเลในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร ระหว่างละติจูดที่ 27 องศาเหนือ ถึง 27 องศาใต้ ซึ่งจะพบได้ทั้งในทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย และทวีปออสเตรเลีย

แผนที่พะยูนบนโลก
แผนที่พะยูนบนโลกในแถบสีชมพู

สำหรับทวีปเอเชียพบพะยูนตั้งแต่เหนือสุด คือ เกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นไล่ลงมาตามประเทศต่างจนถึงประเทศอินโดนีเซีย และแถบฝั่งตะวันตกของประเทศอินเดีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนในประเทศไทยสามารถพบพะยูนได้ทั้ง 2 ฝั่ง ในฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ส่วนฝั่งอันดามันสามารถพบพะยูนได้ตั้งแต่จังหวัดระนองจนถึงสตูล และพบมากในจังหวัดตรัง

แผนที่พะยูนในประเทศไทย
แผนที่พะยูนในประเทศไทยในแถบสีเขียว

ลักษณะทั่วไปของพะยูน
พะยูนเป็นสัตว์ทะเลชนิดเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลำตัวขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร หนักได้ 300-400 กิโลกรัม ลำตัวมีรูปกระสวย ลำตัวโป่งตรงกลาง แล้วเรียวลงไปทางหัว และทางหาง ลำตัวไม่มีเกล็ด เป็นเพียงผิวหนังที่มีไขมันหุ้มหนา ผิวลำตัวมีสีเทาหรือสีน้ำตาล บางครั้งอาจพบเป็นสีขาวอมชมพู หรือ เรียกพะยูนเผือก หัวมีตาขนาดเล็กที่ใช้การไม่ดีนัก 1 คู่ และหู 1 คู่ ที่ใช้สำหรับการหาทิศทางเป็นหลัก พะยูนหายใจด้วยจมูกที่มี 2 รู ขนาดใหญ่ อยู่บริเวณเหนือริมฝีปากด้านบน การหายใจจะอาศัยการโผล่ขึ้นน้ำมาหุบอากาศด้านบน ปากมีขนาดใหญ่ ภายในปากมีเขี้ยว 1 คู่ ส่วนหางมีลักษณะเป็นแฉก คล้ายหาปลาวาฬ ส่วนครีบประกอบด้วยครีบข้างลำตัว 1 คู่ หรือเรียกว่า ขาหน้า มีลักษณะคล้ายแผ่นใบพายสั้นๆ อยู่บริเวณอกของลำตัว ทำหน้าที่ในการบังคับทิศทาง และใช้สำหรับเดินบนพื้นทะเล และครีบหางสำหรับใช้ในการว่ายน้ำ ซึ่งว่ายน้ำได้ช้ามาก ความเร็วในการว่ายโดยทั่วไปประมาณ 1.8-2.2 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่สามารถว่ายน้ำได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง

พะยูน1

พะยูน2

อาหาร และการกินอาหาร
พะยูนเป็นสัตว์กินพืชที่มีอาหารเป็นพืชชนิดเดียวเท่านั้น คือ หญ้าทะเล (seagrasses) ซึ่งแหล่งที่มีหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์จะเป็นแหล่งอยู่อาศัยเป็นหลักในการหาอาหาร โดยมักจะขึ้นมากินหญ้าทะเลในช่วงที่น้ำขึ้น และลงไปหลบอาศัยบริเวณร่องน้ำในช่วงน้ำลง ในแต่ละวันสามารถกินหญ้าได้ 30 กิโลกรัม/วัน ส่วนชนิดของหญ้าทะเลที่พะยูนชอบกินมากที่สุด คือ หญ้าชะเงา หรือ หญ้าใบมะกรูด (Haliophila ovalis)

หญ้าใบมะกรูด
หญ้าใบมะกรูด

พะยูนจะมีแหล่งอาศัยหรือใช้ชีวิต 2 แหล่ง คือ แหล่งหาอาหารที่เป็นที่อยู่ของหญ้าทะเล ที่ระดับความลึก 1-3 เมตร ซึ่งจะขึ้นมากินหญ้าทะเลได้ในช่วงน้ำขึ้น ส่วนแหล่งอาศัยอีกแหล่ง คือ ร่องน้ำหลบอาศัยสำหรับพักอาศัยในช่วงที่น้ำลง ระดับความลึก 2-7 เมตร แต่หากมีช่วงน้ำลงหรือน้ำตายนาน พะยูนจะออกหากินหญ้าทะเลตามร่องน้ำที่หลบอาศัย โดยระยะเวลาที่อยู่ในน้ำหรือกินหญ้าทะเลประมาณ 2 นาที ก่อนจะขึ้นมาหุบอากาศหายใจ ออกหากินหญ้าทะเลได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน ขึ้นอยู่กับว่าน้ำทะเลบริเวณมีหญ้าทะเลจะขึ้นช่วงใด โดยค่อยๆเคลื่อนฝูงตามทิศทางของกระแสน้ำขึ้นเป็นสำคัญ

การกินหญ้าทะเลของพะยูน พะยูนจะใช้ปากงับ และไถไปตามแนวหญ้าทะเล สลับกับการขึ้นมาหายใจเป็นครั้งคราว ขณะกินหญ้าทะเล พะยูนจะใช้ครีบข้างลำตัวทำหน้าพยุงลำตัว และกำหนดทิศทาง ส่วนครีบหางจะโบกไปมาเพื่อบังคับให้ลอยไปข้างข้างหน้าตามแนวหญ้า แต่บางครั้ง มักพบพะยูนมีพฤติกรรมขุดหน้าดิน ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นการหาอาหารหรือเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกแบบใด

พะยูน

ประพฤติกรรมทางสังคม
พะยูนมีพฤติกรรมทางสังคม 2 แบบ คือ
1. การอยู่ และหากินตามลำพัง ส่วนมากจะเป็นพะยูนตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่ หรือเป็นแม่พะยูนที่หากินร่วมกับลูกเพียงลำพัง
2. การอยู่ และหากินรวมเป็นฝูง แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
– การอยู่เป็นฝูงแบบแน่นอน มักพบเป็นพะยูนแบบครอบครัว 3-5 ตัว คือ มีแม่พะยูน ลูกพะยูน และพะยูนตัวผู้ และอาจมีพะยูนตัวผู้หรือตัวเมียตัวเต็มวัยรวมกันประมาณ 5 ตัว โดยขณะว่ายน้ำหรือเดินทางจะว่ายห่างกันประมาณ 5 เมตร แต่ยามหาอาหารหรือยามกินอาหารจะอยู่ห่างกันมากกว่า 5 เมตร ถึง 30 เมตร ทั้งนี้ หากมีศัตรูคุกคามหรือรู้สึกว่ามีภัย ทุกตัวจะว่ายน้ำหลบหนีพร้อมกันเป็นกลุ่ม และว่ายในทิศทางเดียวกัน
– การอยู่เป็นฝูงแบบชั่วคราว มักเป็นพะยูนที่มาจากพะยูนที่อยู่ลำพังหรือกลุ่มพะยูนที่อยู่เป็นฝูงแบบแน่นอนมารวมกันหลายตัว ซึ่งมักพบได้เป็น 10-20 ตัว/ฝูง การรวมกันเป็นฝูงลักษณะนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวที่เป็นสาเหตุมาจากการกินหญ้าทะเลในแหล่งเดียวกันเป็นสำคัญ แต่หากมีภัยคุกคามหรือรู้สึกว่ามีภัย พะยูนจะว่ายน้ำแตกออกเป็นกลุ่มๆ ไม่รวมกัน