ผึ้ง (ฺBee) เป็นแมลงสังคม (Social insect) ที่มีการแบ่งวรรณะสำหรับทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ผลิตน้ำผึ้งสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอางต่างๆ รวมถึงเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญสำหรับการผสมเกสรของพืช
อนุกรมวิธาน
• Order : Hymenoptera
• Family : Apidae
• Subfamily : Apinae
• Genus : Apis
• Species : ที่พบในประเทศไทย
– dorsata (ผึ้งหลวง)
– florea (ผึ้งมิ้ม)
– andreniformis (ผึ้งม้าม)
– cerana (ผึ้งโพรง)
– mellifera (ผึ้งพันธุ์)
วรรณะผึ้ง
1. ผึ้งนางพญา (Queen)
เป็นผึ้งที่มีลำตัวใหญ่ที่สุด มีอายุขัยมากกว่า 1 ปี อาจได้มากถึง 7 ปี ลักษณะลำตัว มีปีกสั้นเพียงครึ่งลำตัว ท้องเรียวยาว ลำตัวสีดำออกหม่น ท้องมีสีน้ำตาล ก้นแหลม ขาหลังไม่มีที่เก็บเกสร ไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง มีหน้าที่ผสมพันธุ์ และวางไข่ ควบคุมประชากรผึ้งวรรณะอื่นด้วยฟีโรโมนส์ไปทั่วรัง โดยทั่วไปใน 1 รังจะมีผึ้งนางพญา 1 ตัวเท่านั้น ยกเว้นบางรังที่มีขนาดใหญ่ อาจพบได้ 2-3 ตัว ในระยะเติบโต แต่เมื่อถึงวัยผสมพันธุ์ก็จะแยกออกเหลือเพียง 1 ตัว/รังเหมือนเดิม เมื่อโตเต็มวัยจะผสมพันธุ์กับตัวผู้ และจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิต ผึ้งนางพญามีเหล็กไนใช้สำหรับต่อสู้กับผึ้งนางพญาตัวอื่น ผึ้งนางพญาจะอาศัยบนรัง ไม่ออกหาอาหาร และถูกห้อมล้อมด้วยงาน และใช้หนวดแตะ หรือใช้ลิ้นเลียลำตัวผึ้งนางพญาเพื่อทำความสะอาด และนำของเสียจากนางพญาไปปล่อยทิ้ง
2. ผึ้งตัวผู้ (Drone)
ผึ้งตัวผู้มีขนาดใหญ่รองลงมาจากผึ้งนางพญา และอ้วนสั้นกว่าผึ้งนางพญา มีจำนวนมากกว่าผึ้งนางพญาเล็กน้อย 200-500 ตัว/รัง มีอายุขัย 4-6 สัปดาห์ เป็นผึ้งไม่มีเหล็กไน มีลิ้นสั้นสำหรับเลียรับอาหารจากผึ้งงาน ผึ้งตัวผู้จะอยู่บนรัง ไม่ออกหาอาหาร ทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ คอยผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา
ผึ้งตัวผู้ เป็นผึ้งที่เจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม หลังฟักออกจากดักแด้ 16 วัน จะสามารถผสมพันธุ์ได้ มีพฤติกรรมผสมพันธุ์ คือ ในวันที่มีอากาศดี อุณหภูมิเหมาะสม ผึ้งตัวผู้จะบินรวมกลุ่มกันบริเวณใกล้รังที่ใดที่หนึ่ง เมื่อมีผึ้งนางพญาบินผ่านก็จะบินเข้าเกาะด้านหลัง และผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์ผึ้งตัวผู้จะตกตาย โดยยังค้างอวัยวะสืบพันธุ์ติดอยู่กับผึ้งนางพญา หากไม้ได้ผสมพันธุ์ก็จะบินกลับรังรอโอกาสในวันต่อไป หากหมดฤดูผสมพันธุ์ ถ้าผึ้งตัวผู้ตัวใดไม่ได้ผสมพันธุ์ก็จะถูกไล่ออกจากรังหรือผึ้งงานไม่ป้อนอาหาร และตายในที่สุด
3. ผึ้งงาน (Worker)
ผึ้งงานเป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่มีปริมาณมากที่สุด 5,000-30,000 ตัว/รัง มีอายุขัย 6-8 สัปดาห์ จัดเป็นผึ้งเพศเมียโดยเกิดจากไข่ที่ได้รับการผสมจากผึ้งตัวผู้ แต่เป็นเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์เพศ เนื่องจากรังไข่ฝ่อ มีขนาดเล็ก ไม่มีการสร้างไข่ ยกเว้นกรณีที่รังขาดนางพญา ผึ้งงานบางตัวอาจทำหน้าที่สร้างไขทดแทนได้ แต่จะเป็นไข่ผึ้งตัวผู้เท่านั้น ผึ้งวรรณะนี้ ทำหน้าที่ออกหาอาหาร หาน้ำหวาน สร้างรังจากไขที่ผลิตจากต่อม คอยเลียทำความสะอาดนางพญา และรัง ทำหน้าที่่ป้อนอาหารให้แก่ผึ้งนางพญา และผึ้งตัวผู้
ผึ้งงานในระยะตัวอ่อนจะได้รับอาหารจากผึ้งงาน แต่จะน้อยกว่าที่ได้รับเมื่อเทียบกับผึ้งนางพญา เพื่อเป็นการกระตุ้น และกำหนดวรรณะให้เป็นผึ้งงาน
ที่มา : ไชยา อุ้ยสูงเนิน, 2531(1)
ชนิดของผึ้งที่พบในประเทศไทย
กรมส่งเสริมการเกษตร, 2535.(2) กล่าวถึงผึ้งที่พบในประเทศไทยในสกุลเอพิส (Genus Apis) แบ่งเป็น 5 ชนิด คือ
1. ผึ้งหลวง (Apis dorsata)
เป็นผึ้งที่มีลำตัวขนาดใหญ่สุดในบรรดาผึ้งที่พบทั้งหมด ลำตัวใหญ่ ยาวรี สร้างรังขนาดใหญ่เป็นรังเดียว ขนาดรังกว้างได้ถึง 2 เมตร มีลักษณะรังโค้งเป็นวงกลม ชอบสร้างรังตามโขดหิน ต้นไม้ใหญ่ เพดานบ้าน มุมตึก ที่โล่งแจ้ง มีแสงแดด และการระบายอากาศดี บางครั้งพบสร้างรังเป็นกลุ่มบนต้นไม้ใหญ่ต้นเดียวกัน เป็นผึ้งที่มีนิสัยดุร้ายเมื่อถูกรบกวน สามารถออกหาอาหารได้ไกลมากกว่า 15 กิโลเมตร ผึ้งชนิดนี้เลี้ยงยากจึงไม่นำมาเลี้ยง และหายากกว่าผึ้งพันธุ์อื่น
2. ผึ้งมิ้ม (Apis florea)
บางพื้นที่เรียกสั้นว่า มิ้ม เป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัว และสร้างรังเล็กที่สุด ขนาดรังมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร สร้างเป็นรังเดี่ยว สร้างรังตามพุ่มไม้ กิ่งไม้ ที่ไม่สูงมากนัก อาศัยเปลี่ยนรัง และที่อยู่บ่อย โดยเฉพาะบริเวณนั้นขาดแคลนอาหาร
3. ผึ้งม้าม (Apis andreniformis)
เป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัว ขนาดรัง และนิสัยการสร้างรัง การหาอาหารเหมือนกับผึ้งมิ้ม แต่จะแตกต่างเฉพาะลักษณะเหล็กไน เส้นปีก และอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ ซึ่งจะแยกแยะได้ยากมาก
4. ผึ้งโพรง (Apis cerana)
ผึ้งชนิดนี้ ทางภาคอีสานเรียก เผิ่ง มีหลายสายพันธุ์ คือ ผึ้งโพรงจีน ผึ้งโพรงญี่ปุ่น และผึ้งโพรงไทย เป็นผึ้งที่มีลำตัวเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ และผึ้งหลวง แต่ใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม และผึ้งม้าม รังมีขนาดเล็กกว่าผึ้งหลวง แต่ใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม และผึ้งม้าม ชอบสร้างรังบริเวณพื้นที่มิดมืด เช่น ใต้ชายคา ใต้เพดานบ้าน ในโพรงหิน โพรงไม้ สร้างรังหลายรังเรียงซ้อนขนานกัน รังมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร จัดเป็นผึ้งที่นำมาเลี้ยงได้ แต่นิยมเป็นพันธุ์ต่างประเทศ เนื่องจากมีนิสัยไม่หนีจากรังง่ายเหมือนผึ้งโพรงไทย แม้ถูกรบกวน ผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 30-50 กิโลกรัม/รัง/ปี
5. ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera)
เป็นผึ้งที่มีลำตัวใหญ่รองลงมาจากผึ้งหลวง และใหญ่กว่าผึ้งโพรง จัดเป็นผึ้งที่นิยมเลี้ยงมากที่สุด เป็นพันธุ์ผึ้งที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และทางยุโรป ถูกนำเข้ามาเลี้ยงเพื่อผลิตน้ำผึ้งเป็นหลัก ถึงบางครั้งมีการเรียกว่า ผึ้งฝรั่ง หรือผึ้งอิตาเลียนบ้าง
ผึ้งพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง
กลุ่มส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ, 2550.(2) กล่าวถึงผึ้งพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรมมี 4 ชนิด คือ
1. ผึ้งพันธุ์อิตาเลี่ยน (Apis mellifera ligustica/Spin)
เป็นผึ้งที่มีลำตัวสีเหลือง ลำตัวอวบอ้วน ใหญ่กว่าผึ้งโพรงไทย ช่วงท้องเรียว และมีแถบสีเหลืองหรือสีทอง มีขนบนลำตัวสีทอง โดยเฉพาะในตัวผู้จะมีสีทองเด่นชัดมากกว่าตัวเมีย เป็นพันธุ์ที่มีนิสัยเชื่อง เลี้ยงง่าย ไม่ดุร้าย ให้ผลผลิตสูง แต่ใช้น้ำผึ้งเลี้ยงตัวอ่อนมากกว่าพันธุ์สีดำ พันธุ์นี้นิยมเลี้ยงทั่วโลก เรียกชื่อพันธุ์หลายชื่อตามถิ่นที่มีการปรับปรุงพันธุ์ เช่น พันธุ์อเมริกัน พันธุ์ไต้หวัน พันธุ์ญี่ปุ่น พันธุ์ออสเตรเลีย เป็นต้น
2. ผึ้งพันธุ์คาร์นิโอลาน (Apis mellifera carnica/Pollman)
เป็นผึ้งที่มีถิ่นกำเนิดในเมืองคาร์นิโอลาน ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย รวมถึงประเทศยูโกสลาเวีย และบริเวณริมฝั่งแม่น้ำดานูบที่ไหลผ่านประเทศต่างๆ พันธุ์นี้ มีลักษณะลำตัวเล็กเพรียว สีน้ำตาล ผึ้งงานบริเวณท้องมีจุดสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อน ส่วนผึ้งตัวผู้มีขนสีเทาหรือเทาปนน้ำตาล มีนิสัยเชื่อง ไม่ตื่นกลัวง่าย เลี้ยงง่าย ไม่มีนิสัยแย่งน้ำผึ้งจากรังอื่น เพิ่มจำนวนผึ้งได้เร็ว ปรับตัวต่อสภาพอากาศได้ดี
3. ผึ้งพันธุ์คอเคเซี่ยน (Apis mellifera caucasica/Gorb)
เป็นผึ้งที่มีถิ่นกำเนิดในเทือกเขาคอเคเซี่ยน ลักษณะลำตัวมีจุดสีน้ำตาลกระจายทั่วด้านบนส่วนหลังบริเวณช่วงท้องปล้องแรก ขนลำตัวมีสีเทาปนน้ำตาล ตัวผู้มีขนสีดำที่อก มีนิสัยขยันสร้างรัง และออกหาอาหารกว่าพันธุ์อื่นๆ ดุมากกว่าพันธุ์อื่น และชอบแย่งน้ำผึ้งจากรังผึ้งอื่น นอกจากนั้น ยังมีนิสัยชอบเก็บสะสมยางเหนียว ทำให้เวลายกคอนตรวจรังผึ้งยากขึ้น
4. ผึ้งพันธุ์ดำ (Apis mellifera mellifera/L.)
เป็นพันธุ์ผึ้งที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณตอนเหนือของทวียุโรป และทางตะวันตกของเทือกเขาเอลฟ์ มีลักษณะลำตัวสี มีจุดเหลืองด้านบนบริเวณช่วงท้องปล้องที่ 2 และ3 ผึ้งงานบริเวณปั้นท้ายมีขนยาวปกคลุม ตัวผู้มีขนสีน้ำตาลปกคลุมบริเวณอก และมีลิ้นสั้น เป็นผึ้งที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดี มีนิสัยเชื่อง ให้ผลผลิตน้ำผึ้งปานกลาง
การดำรงชีพ
การบิน
ผึ้งมีเส้นประสาทรับความรู้สึก และรับสัมผัสที่เชื่อมกับขนบริเวณลำตัวสำหรับรับสัมผัสกับแรงลม และกลิ่นของอาหาร รวมถึงรับรู้แรงดึงดูดของโลก ทำให้ทราบความสูงต่ำขณะบินได้ ผึ้งมีลักษณะการบินในทิศทางทวนลม
การหาอาหาร
ผึ้งจะออกหาอาหารในช่วงเช้าหลังพระอาทิตย์ขึ้น สำหรับการสร้างรังใหม่ ผึ้งจะออกสำรวจแหล่งอาหาร และระยะทางก่อน แล้วค่อยสื่อสารให้กับผึ้งตัวอื่น การสื่อสารจะสื่อผ่านการเต้นรำแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
• Round dance เป็นการเต้นแบบวงกลม ด้วยการบินวนขวาก่อน แล้วจึงหมุนบินทางซ้ายมือ และทำซ้ำๆ อย่างรวดเร็ว เป็นสื่อสารบอกแหล่งอาหารใหม่ โดยทั่วไปมีระยะทางไม่เกิน 100 เมตร
• Tail-Wagging dance มีลักษณะบินตรงไปข้างหน้าในระยะสั้นๆ พร้อมกับขยับส่วนท้องไปมาอย่างรวดเร็ว แล้วบินหมุนเป็นวงกลม ก่อนบินไปข้างหน้าอีกครั้ง จากนั้นจะบินเป็นวงเหมือนกับครั้งแรก แต่ในทิศตรงกันข้ามกัน แล้วค่อยบินตรงไปข้างหน้าอีกครั้ง แบ่งลักษณะการบอกทิศอาหารได้ คือ
– การบินขึ้นตามรังผึ้ง แสดงว่า แหล่งอาหารอยู่ในทิศเดียวกับดวงอาทิตย์
– การบินลงตามรังผึ้ง แสดงว่า อาหารอยู่ในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์
– การบินไปมาในทิศทางไม่แน่นอนเป็นมุมองศาต่างๆ แสดงแหล่งอาหารอาหารอิงกับดวงอาทิตย์ตามองศาการบิน เช่น บินทำมุม 30 องศา ทางขวาในแนวดิ่งของรัง แสดงว่า แหล่งอาหารอยู่ทางขวาของดวงอาทิตย์ ทำมุม 30 องศา
– การบินส่ายส่วนท้องใช้บอกระยะทางใกล้ เช่น บินส่าย และขยับท้องไปมา อย่างรวดเร็ว ที่ 120 องศา กับดวงอาทิตย์
– การบินส่ายส่วนท้องใช้บอกระยะทางไกล เช่น บินส่าย และขยับท้องไปมา ที่ 60 องศา กับดวงอาทิตย์
ผึ้งสามารถรับรู้ความสูงต่ำของต้นพืชจากระดับการบิน และจำแนกอายุของดอกไม้ได้ การเคลื่อนย้ายของผึ้งจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทิศทางที่เป็นเส้นตรงเพื่อที่จะไม่ลงดอกเดิมซ้ำอีก
การเก็บน้ำหวานของผึ้งในแต่ละเที่ยวจะเลือกเก็บจากพืชเพียงชนิดเดียว จากการสังเกต พบว่า ผึ้งจะลงเก็บน้ำหวานสองครั้งจากดอกไม้ดอกเดียว แต่มักพบว่าก้อนเกสรที่ผึ้งเก็บมานั้นจะมีเกสรของพืชหลายชนิดปนอยู่ แต่จะมีพืชอาหารหลักชนิดใดชนิดหนึ่งมากทีสุด และมีเกสรจากพืชอื่นเพียง 2-4 ชนิดเท่านั้นที่ปะปนมา ผึ้งพันธุ์สามารถลงดอกได้มากกว่า 40 ดอกใน 1นาที ผึ้งหนึ่งตัวสามารถออกหาอาหารได้มากถึง 4 ล้านเที่ยว โดยเฉลี่ยแล้วสามารถลงดอกได้ 100 ดอก ด้วยการใช้ proboscis แทงเข้าไปในต่อมน้ำหวานของดอกไม้ ดูดน้ำหวานมาเก็บไว้ใน nectar sac ปริมาณเฉลี่ยของน้ำหวานที่ผึ้งเก็บไว้ในแต่ละเที่ยว ประมาณ 20-40 mg หรือประมาณ 90% ของน้ำหนักตัวผึ้ง
การเก็บเกสรผึ้งจะใช้ tongue และ mandibles เจาะ และกัดอับละอองเกสร ให้เกสรกระจายออกมาติดตามขน จากนั้นจะใช้ขาคู่กลาง และขาคู่หน้ารวมเกสรผสมกับน้ำหวานสำหรับปั้นให้เป็นก้อน ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ที่ curbicula ของขาคู่หลัง ก้อนเกสรที่เก็บจะมีน้ำหวานประมาณ 10% น้ำหนักก้อนเกสร ประมาณ 8-29 mg ประมาณการได้ว่าก้อนเกสรน้ำหนัก 20 กิโลกรัม จะมีก้อนเกสรประมาณ 2 ล้านก้อน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงต่อการเลี้ยงประชากรผึ้ง 1 รัง จำนวนครั้งในการบินออกหาอาหารของผึ้งพันธุ์ 5-10 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการอาหารของรังผึ้ง
ความเร็วในการบินของผึ้งที่น้ำหวานอยู่เต็มกระเพาะ และเกสรอยู่เต็มตะกร้าเกสร ประมาณ 25 กม./ชั่วโมง ผึ้งที่บินออกจากรังมีความเร็วในการบิน 20 กม./ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของผึ้งในเส้นทางการบินไปยังแหล่งอาหาร ผึ้งจะหยุดบินเมื่อมีความเร็วลม 40 กม./ชั่วโมง
ผึ้งจะเลือกแหล่งอาหารที่อยู่บริเวณใกล้รังในรัศมี 3 กิโลเมตร แต่หากไม่มีแหล่งอาหารที่เหมาะสม ผึ้งสามารถบินไปหาแหล่งอาหารได้ไกลถึง 12 กิโลเมตร ผึ้งงานในระยะแรกจะฝึกบินในระยะ ไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากรังผึ้ง และพื้นที่ของการหาอาหารของผึ้งนั้นไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับ ปริมาณและความหนาแน่นของดอกพืช ปริมาณเกสร และน้ำหวาน
ประโยชน์จากผึ้ง
1. น้ำผึ้ง (honey) เป็นผลผลิตจากผึ้งที่เป็นของเหลว มีรสหวานที่ได้จากน้ำหวานของดอกไม้หรือน้ำหวานของส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ผึ้งสะสมไว้ในรังผึ้ง น้ำผึ้งจะมีลักษณะสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำหวานที่ได้จากต้นไม้ต่างๆ
น้ำผึ้ง นิยมนำมารับประทาน ใช้ผสมเครื่องดื่มหรือน้ำผลไม้ปั่น ใช้ดองสมุนไพร ใช้สมานแผล ส่วนในอุตสาหกรรมใช้มากในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตยา
2. เกสรผึ้ง (bee pollen) เป็นก้อนเกสรที่นำมาจากรังผึ้ง หรือที่ได้จากการดักเกสรหน้ารังผึ้ง นิยมนำมารับประทาน และผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม
3. นมผึ้ง (royal jelly) เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนของผึ้งนางพญา มีลักษณะเป็นครีมข้น สีขาว ใช้รับประทานหรือใช้ทาหน้าเพื่อให้ผิวเต่งตึง รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง
4. ไขผึ้ง (bees wax) เป็นสารที่ผลิตได้จากผึ้งงานจากต้อมไขผึ้งสำหรับสร้างรวงผึ้ง นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งสำหรับสร้างคอนผึ้ง รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเทียนไข ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาขัดมัน และเคลือบเครื่องหนัง
5. ชันผึ้ง (propolis) เป็นวัสดุเหนียว สีน้ำตาลหรือสีดำที่ติดตามบริเวณต่างๆของรังผึ้ง เช่น ช่องว่างระหว่างคอนผึ้ง ถูกนำมาใช้สำหรับป้องกันโรคเหงือกบวม เหงือกอักเสบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ และรักษาแผลในปาก บรรเทาอาการเจ็บคอ รักษาอาการไอ นอกจากนั้น ยังใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง
6. ตัวอ่อนผึ้ง เป็นตัวอ่อนของผึ้งงานที่อยู่ภายในรังขณะอยู่ในระยะตัวหนอนหรือฝักเป็นตัวอ่อนในระยะแรก นิยมนำมารับประทาน และปรุงอาหาร เช่น แกง ผัด เป็นต้น ให้รสมัน นุ่ม
การเลี้ยงผึ้ง
สถานที่
– อยู่ใกล้แหล่งอาหาร และมีอาหารที่สมบูรณ์ ได้แก่ แหล่งดอกไม้ของพืชชนิดต่างๆ อาทิ ดอกนุ่น ดอกถั่ว ดอกเงาะ ดอกลำไย เป็นต้น รวมถึงแหล่งน้ำ
– แหล่งอาหารที่เป็นเกสรดอกไม้ควรอยู่ในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร
– มีสภาพอากาศที่เหมาะสม ไม่แห้งแล้งหรือร้อนมาก ไม่หนาวมาก มีร่มไม้ อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ไม่ควรอยู่ในบริเวณฝนตกชุก
– บริเวณเลี้ยงผึ้งควรมีแสงแดดส่องถึงรังผึ้ง โดยเฉพาะในช่วงเช้า
– ไม่ควรอยู่ใกล้หลอดไฟหรือแสงสว่าง เพราะผึ้งจะมาบินเล่นแสงไฟ
– ไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณที่มีสิ่งรบกวนผึ้ง เช่น ถนน ชุมชน โรงงาน เป็นต้น
อุปกรณ์เลี้ยงผึ้ง
1. รังเลี้ยงผึ้งหรือหีบเลี้ยงผึ้ง มี 2 แบบ คือ
– แบบยุโรปหรือแบบแลงสตร็อธ ใส่รังได้ 10 คอน
– แบบไต้หวัน ใส่ได้ 10-5 คอน แต่นิยมเพียง 10 คอน และมีหน้าต่างมุ้งลวด
ขาตั้งรังเลี้ยงผึ้ง ควรใช้ผ้าชุบน้ำมันพันรอบขาตั้ง เพื่อป้องกันมด และแมลงศัตรูผึ้ง
2. คอนหรือเฟรม เป็นอุปกรณ์สำหรับสร้างรวงผึ้ง ประกอบด้วยไม้ไผ่ 4 ชิ้น
3. แผ่นฐานรวงหรือแผ่นรังเทียม เป็นแผ่นที่ทำจากไขผึ้งแท้ เป็นฐานหกเหลี่ยมสำหรับให้ผึ้งงานสร้างรวงต่อ
4. ขาตั้งรังผึ้ง เป็นขาตั้งสำหรับรองรังเลี้ยงให้สูงขึ้น เพราะบางช่วงฤดูมีฝนตก และมีความชื้นสูง โดยเฉพาะบริเวณหน้าดิน
5. ไม่กั้นหน้ารัง เป็นไม้ที่มีช่องสำหรับทางเข้า-ออก ของผึ้ง สามารถเปิด-ปิดได้
6. อุปกรณ์พ่นควัน เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้เลี้ยงผึ้งสำหรับพ่นใส่ผึ้งป้องกันการถูกต่อย เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากกระป๋องอะลูมิเนียมหรือสังกะสีหรือสแตนเลส มีฝาครอบรูปกรวยสำหรับกดฉีดพ่น
7. เหล็กงัดรัง เป็นแผ่นเหล็กรูปร่างแบนยาว 6-8 นิ้ว ปลายด้านหนึ่งแบน กว้างประมาณ 1 นิ้ว มีไว้สำหรับแซะฝารังผึ้ง และขูดยางเหนียวตามขอบรัง
8. หวกตาข่าย ใช้สำหรับสวมหน้าป้องกันผึ้งต่อย
9. ถุงมือ อาจเป็นถุงมือหนังหรือผ้าที่มีความหนาพอสำหรับป้องกันผึ้งต่อยมือ
10. อุปกรณ์สลัดน้ำผึ้ง ประกอบด้วยแปรงปัดผึ้ง ถังเหวี่ยง มีด ตะแกรงกรองน้ำผึ้ง และถังเก็บน้ำผึ้ง
เอกสารอ้างอิง
1. ไชยา อุ้ยสูงเนิน, 2531. การเลี้ยงผึ้ง.
2. กลุ่มส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550. การสัมมนาแนวทางการเลี้ยงผึ้งสูมาตรฐานฟาร์มผึ้ง.