ปลาแรด (Gaint goramy) เป็นปลาน้ำจืดที่นิยมรับประทาน เนื่องจาก ลำตัวมีขนาดใหญ่ เนื้อมาก เลี้ยงง่าย กินอาหารได้ทุกชนิด มีความต้องการทางตลาดสูง โดยเฉพาะตามร้านอาหารทั่วไป นอกจากนั้น บางรายยังนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย
อนุกรมวิธาน
• Phylum : Chordata
• Class : Osteichthyes
• Order : Perciformes
• Family : Anabantidae
• Genus : Osphronemus
• Species : Goramy
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osphronemus goramy Lacepede
• ชื่อสามัญ : Gaint goramy
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ปลาแรด
ภาคใต้
– ปลามิน
ภาคอีสาน
– ปลาเม่น
• ต่างประเทศ
– อินโดนีเซีย เรียก Gurami หรือ Guremeh
– อินเดีย เรียก Sangara
– เวียดนาม เรียก Ca Tai Tuong
– มาเลเซีย เรียก Kalu
– กัมพูชา เรียก Trey remeas
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ปลาแรดมีถิ่นกำเนิดในเอเชีย บริเวณเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีการขุดพบหลักฐานซากฟอสซิลของปลาแรดชนิด O. goramy บนเกาะสุมาตรา ทำให้ยืนยันได้ว่าบริเวณหมู่เกาะแถบนี้เป็นต้นกำเนิดของปลาแรด
ปัจจุบัน พบแพร่กระจายอยู่ตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไปในประเทศแถบเอเชียตะออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลลิปปินส์ และไทย รวมถึงประเทศอินเดีย
ส่วนประเทศไทยพบปลาแรดมาตั้งแต่นานแล้ว ซึ่งยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นปลาท้องถิ่นดั้งเดิมหรือเป็นปลาที่นำเข้ามาเลี้ยงแต่อย่างใด และปลาแรดในไทยเองก็สามารถเติบโต และปรับตัวกับทุกแหล่งน้ำได้ดี ซึ่งพบได้ทั่วไปตามแม่น้ำสายหลัก และสายย่อย อ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆในทุกภาค ซึ่งพบแพร่กระจายมากในเขตภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ปทุมธานี นครปฐม และ ชัยนาท
ลักษณะทั่วไป
ปลาแรด มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาสลิดหรือปลาหมอตาล ลำตัวมีลักษณะแบนใหญ่ มีความยาวจากหัวถึงหางเป็น 2 เท่า ของความกว้างลำตัว (สันหลังถึงท้อง หรือเรียกว่า แนวลึก) ซึ่งเมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวได้มากกว่า 30-45 เซนติเมตร และอาจพบยาวได้มากถึง 50-60 เซนติเมตร มีส่วนหัวค่อนข้างเล็ก มีจะงอยปากแหลม โดยมีขากรรไกรล่างยื่นยาวมากกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย บนขากรรไกรภายในปากมีฟันซี่เล็ก
ส่วนครีบประกอบด้วยครีบหลังที่มีก้านครีบแข็ง 12-16 อัน และก้านครีบอ่อน17-18 อัน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 9-12 ก้าน ก้านครีบอ่อน 16-23 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อน 13-16 อัน ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 1 อัน และก้านครีบอ่อน 5 อัน โดยก้านครีบอ่อนอันแรกของก้านครีบท้องมีลักษณะเป็นเส้นยาว และยาวถึงครีบหางก็ได้ ส่วนรูก้นจะอยู่ใต้ก้านครีบท้อง ส่วนครีบหางมีก้านครีบอ่อน 21-23 อัน มีลักษณะเป็นรูปพัดกลม
ปลาแรดที่มีอายุน้อยจะมีเกล็ดสีน้ำตาลอมชมพู มีแถบสีดำพาดขวางลำตัว 8-10 แถบ โดยเฉพาะปลาแรดวัยอ่อนที่มีแถบพาดขวางได้มากถึง 10 แถบ นอกจากนั้น ยังพบโคนครีบหางมีจุดสีดำ ส่วนปลาแรดที่โตเต็มที่จะมีเกล็ดที่เป็นสีเส้นข้างลำตัว 28-33 เกล็ด ซึ่งจะพบได้ในปลาที่โตเต็มที่แล้ว ซึ่งเส้นข้างลำตัวจะมีสีน้ำตาลดำหรือน้ำตาลเข้ม และจุดที่ดำที่ครีบหางจะหายไป
อุปนิสัยปลาแรด
ปลาแรด เป็นปลาที่ชอบน้ำนิ่ง และชอบอาศัยตามบริเวณน้ำตื้นริมขอบฝั่ง ส่วนอาหารกินอาหารได้ทุกชนิด ทั้งพืช สัตว์น้ำ ตัวอ่อนแมลง และแมลง แต่ทั้งนี้ เมื่อโตเต็มวัยจะชอบกินพืชมากกว่า ทั้งนี้ ปลาแรดจับคู่กันอาศัยตามขอบฝั่งโดดๆ ไม่ชอบอาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม
ตามธรรมชาติหรือเลี้ยงในบ่อ ปลาแรดจะเป็นปลาที่ไม่มีนิสัยดุร้าย แต่หวงถิ่นอาศัยเมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่ และจะดุร้าย เมื่อไข่ฟักเป็นลูกปลาแล้ว
การสืบพันธุ์ และวางไข่
ปลาแรดจะเริ่มเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ และวางไข่ได้เมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี น้ำหนักตัวประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม และยาวประมาณ 35-40 เซนติเมตร โดยตัวผู้จะมีส่วนหัวมีโหนกสีแดง คล้ายนอแรดขึ้น มีโคนครีบอกบริเวณหลังกระพุ้งแก้มจะมีสีขาว ส่วนตัวเมียจะมีหน้าผากเรียบ ไม่มีโหนก มีส่วนท้องอูมเป่งมากกว่าตัวผู้ และโคนครีบอกบริเวณหลังกระพุ้งแก้มจะมีสีดำ ทั้งนี้ ปลาแรดที่มีอายุเท่ากัน ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งจะเริ่มต้นในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงตลอดฤดูฝน และสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี รวมถึงฤดูแล้งด้วย โดยตัวผู้จะหาแหล่งสร้างรังบริเวณน้ำตื้นหรือริมขอบฝั่ง โดยการตีหน้าดินให้เป็นหลุมทรงกลมตื้นๆ พร้อมต้อนตัวเมียเข้าใกล้รัง ก่อนตัวเมียจะวางไข่ในหลุม และตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม หลังจากนั้น ตัวผู้จะคาบเศษหญ้ามาคลุมทับรังไว้ โดยบริเวณผิวน้ำเหนือรังจะมีจุดน้ำมันลอยให้เห็น
นอกจากนี้ มีบางตำรากล่าวว่า ปลาแรดตัวผู้จะทำหน้าที่สร้างรังก่อน หลังจากนั้น ตัวเมียจะเข้ามาช่วยกันสร้างรัง ซึ่งใช้เวลาสร้างรังประมาณ 4-7 วัน โดยรังที่สร้างจะเป็นรากหญ้า กอหญ้าหรือพรรณไม้น้ำบริเวณใกล้ๆกับรัง รังวางไข่จะมีลักษณะคล้ายกับรังนก ขนาดรังประมาณ 30-40 เซนติเมตร และหลังจากสร้างรังเสร็จ ปลาแรดตัวเมียจะวางไข่ และตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมภายในรัง และเมื่อวางไข่ และผสมน้ำเชื้อเสร็จแล้ว ปลาแรดตัวผู้จะไล่ตัวเมียให้ออกห่างจากรัง แล้วตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่ปลาต่อ
การวางไข่แต่ละครั้ง ตัวเมียจะวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 500-4ม000 ฟอง และสามารถวางไข่ได้สูงถึง 18,000 ฟอง/ครั้ง ขึ้นอยู่กับอายุ และขนาดลำตัว โดยตัวเมียที่เริ่มวางไข่ในปีแรกจะวางไข่เพียงครั้งเดียว ส่วนในปีที่ 2 จะวางไข่ 3-4 ครั้ง/ปี และปีที่ 3 วางไข่ได้ 4-5 ครั้ง/ปี
ไข่มีลักษณะทรงกลม สีเหลือง เมื่อผสมน้ำเชื้อแล้วจะมีสีเหลืองเข้ม ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร และจะฟักออกเป็นตัวภายใน 25-36 ชั่วโมง โดยหลังฟักออกจากไข่ใหม่ๆ ลูกปลาแรดจะหงายท้องลอยตามผิวน้ำ แล้วค่อยๆว่ายน้ำลงใต้น้ำ และจะเริ่มกินอาหารหลังจากฟักออกจากไข่แล้ว 5-8 วัน
การเลี้ยงปลาแรด
การเลี้ยงปลาแรดส่วนมากนิยมเลี้ยงในกระชังเป็นหลัก แต่สามารถเลี้ยงในบ่อดินที่ให้ผลผลิตสูงได้เช่นกัน ทั้งนี้ การเลี้ยงในบ่อดินไม่ควรใช้บ่อที่ลึกมากกว่า 1.5 เมตร โดยใช้ความลึกบ่อประมาณ 1-1.5 เมตร เท่านั้น นอกจากการเลี้ยงปลาแรดเพื่อจำหน่ายหรือรับประทานแล้ว บางคนยังนิยมนำปลาแรดมาเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงามด้วย
การอนุบาล
ลูกปลาแรดหลังจากฟักออกจากไข่แล้ว 5-8 วัน จึงจะเริ่มกินอาหาร เพราะระยะนี้จะอาศัยถุงไข่แดงสำหรับเติบโตอยู่ และประมาณวันที่ 8-10 ถุงไข่แดงจะยุบหมด ซึ่งจะมีขนาดลำตัวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ลำตัวระยะนี้จะมีหัว และท้องใหญ่ เรียวยาวลงปลายหาง คล้ายกับลูกอ๊อด
การให้อาหารแบ่งตามระยะ ดังนี้
1. การให้อาหารจะเริ่มให้ประมาณวันที่ 5-8 วัน หลังจากการฟักเป็นตัว หรือให้สังเกตถุงไข่แดงที่ยุบตัวลงแล้ว ในระยะนี้จนถึง 2 อาทิตย์ จะให้อาหารจำพวกไข่ต้มบดละเอียด ร่วมกับไรแดงหรืออาร์ทิเมีย
2. ระยะอายุ 0.5-1 เดือน หลังการฟัก จะให้อาหารจำพวกไรแดงเป็นหลัก
3. ระยะอายุ 1-2 เดือน จะให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับปลากินสัตว์ เช่น อาหารปลาดุกขนาดเม็ดเล็ก พร้อมเสริมด้วยไรแดง หนอน รวมถึงเศษผัก
หลังจากอนุบาลประมาณ 2 เดือนแล้ว จะมีลำตัวยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็สามารถจับปล่อยเลี้ยงในกระชังหรือบ่อดินได้
อัตราการปล่อย
– การเลี้ยงในกระชัง ในระยะ 2 เดือนแรก ปล่อยประมาณ 100-150 ตัว/ตารางเมตร และระยะที่2 อายุ 2เดือนขึ้นไป ให้จับแยกปล่อยประมาณ 15-20 ตัว/ตารางเมตร
– การเลี้ยงในบ่อดิน ปล่อยประมาณ 10-15 ตัว/ตารางเมตร
การให้อาหารปลารุ่น
ปลาแรดที่มีขนาดเล็กจะกินอาหารได้ทุกชนิด แต่เมื่อโตมากแล้วจะกินพืชเป็นหลัก ซึ่งหลังจากอนุบาลจนได้ปลารุ่นแล้วจะแบ่งระยะการให้อาหาร ดังนี้
– ปลารุ่นอายุ 2-3 เดือน เน้นการให้อาหารสำเร็จรูป ร่วมกับเศษผัก และอาหารที่เป็นหนอนหรือสัตว์ขนาดเล็กที่หาได้ในท้องถิ่น
– ปลารุ่นอายุ 4-5 เดือน เน้นการให้อาหารสำเร็จรูป ร่วมกับเศษผัก
– ปลารุ่นอายุ 6-10 เดือน จะให้อาหารจำพวกพืชเป็นหลัก อาทิ ผักบุ้ง แหน เศษผักต่างๆ เช่น ใบผักกาด ผักคะน้า เป็นต้น รวมถึงรำข้าวหรือเศษอาหาร ร่วมกับอาหารเม็ดสำเร็จรูปเสริม วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า-เย็น
การเก็บผลผลิต
ปลาแรดเมื่อเลี้ยงได้อายุ 8-10 เดือน สามารถจับส่งตลาดได้ ซึ่งจะมีขนาดประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม/ตัว
ขอบคุณภาพจาก www.wongnai.com, 9nar.com, topicstock.pantip.com