ปลาแซลมอน (Salmon) เป็นปลาเมืองหนาวที่นิยมรับประทานในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งในรูปการประกอบอาหารสด เช่น ปิ้ง ย่าง หรือการทำเมนูอาหารต่างๆ ส่วนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ ปลาแซลมอนกระป๋อง ปลาแซลมอนรมควัน ปลาแซลมอนแช่แข็ง และน้ำมันปลาแซลมอน เป็นต้น รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อาทิ เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ขนมคบเขี้ยว เป็นต้น
ประเทศที่มีการจับปลาแซลมอนส่งจำหน่าย ได้แก่ นอร์เวย์ ชิลี สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น แคนาดา และนิวซีแลนด์ เป็นต้น โดยมีประเทศนอร์เวย์ และชิลี เป็นประเทศที่ส่งออกรายใหญ่ของโลก ส่วนประเทศไทยไม่มีแหล่งปลาแซลมอน และไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
อนุกรมวิธาน
• Order : Salmonuformes
• Family : Salmonidae
• Subfamily : Salmoninae
– Salmon
– Trout
สกุลปลาแซลมอนที่มีการจับ และส่งจำหน่ายมากที่สุดมี 2 สกุล คือ Salmo และ Oncorhynchus
1. สกุล Salmo เป็นปลาแซลมอนมีทั้งหมด 6 ชนิด แต่ชนิดที่มีการจับ และค้าขายมากที่สุด คือ Salmo solar หรือเรียกว่า Atlantic salmon
2. สกุล Oncorhynchus หรือเรียกว่า Pacific salmon จัดเป็นปลาแซลมอนมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่
– O. Gorbuscha (Pink salmon)
– O. tshawytscha (Chinook salmon)
– O. nerka (Sockeye salmon)
– O. keta (Chum salmon)
– O. kisutch (Coho salmon)
แหล่งอาศัย และการแพร่กระจาย
ปลาแซลมอนเป็นปลาเมืองหนาวที่ต้องการน้ำที่มีอุณหภูมิระหว่าง 4-12 องศา สำหรับการเติบโต และวางไข่ ซึ่งเป็นปลาที่มีแหล่งอาศัย 2 แหล่งในการดำรงชีวิต คือ การวางไข่ในแหล่งน้ำจืดที่เป็นต้นน้ำ และเติบโตในทะเล โดยปลาแซลมอน Atlantic จะพบได้ในทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก แถบประเทศสหรัฐอเมริกา รัชเชีย แคนนาดา อังกฤษ เป็นต้น ส่วนปลาแซลมอนแปซิฟิกจะพบได้ในแถบประเทศที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น ซีลี เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของปลาแซลมอน
1. Atlantic salmon
ปลาแซลมอน Atlantic เป็นแซลมอนขนาดใหญ่ มีน้ำหนักตัวประมาณ 2.3-9 กิโลกรัม/ตัว และมีบันทึกขนาดที่เคยจับได้ใหญ่สุดที่แม่น้ำทานา ประเทศนอร์เวย์ ที่มีน้ำหนักว่า 35.89 กิโลกรัม ลำตัวมีลักษณะเด่น คือ ลำตัวส่วนข้าง และส่วนท้องมีสีเงิน ส่วนลำตัวส่วนหลังเป็นสีเดี่ยวที่มีหลายสีแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ สีน้ำตาล สีเขียว และสีน้ำเงิน นอกจากนั้น ลำตัวยังมีจุดสีดำวาวทั่วลำตัว
2. Pink salmon
เป็นปลาแซลมอนขนาดเล็กสุด และมีอายุได้เพียง 2 ปี มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 2.3 กิโลกรัม ลำตัวมีลักษณะเด่น คือ ลำตัวมีสีเทาเงิน (ไหล่เรียบเสมอ) หรือสีเหลืองอมน้ำตาล (ไหล่เป็นโหนกนูน) และมีจุดสีดำทั่วตัว แต่เนื้อมีสีชมพู และเนื้อมีไขมันน้อย เมื่อเทียบกับแซลมอนชนิดอื่น
3. Chinook salmon หรือ King salmon
เป็นปลาแซลมอนที่มีอายุได้ 5-7 ปี และเป็นแซลมอนที่มีลำตัวขนาดใหญ่สุด อาจพบหนักได้ถึง 55 กิโลกรัม นอกจากนั้น ยังเป็นแซลมอนที่มีราคาซื้อขายกันแพงที่สุดเมื่อเทียบกับราคาแซลมอนชนิดอื่น ลำตัวมีลักษณะเด่น คือ ส่วนหลังของลำตัวมีสีเขียวอมน้ำเงิน และทั่วลำตัวมีจุดสีอ่อนกระจายทั่ว ส่วนเนื้อมีสีแดงเข้ม
4. Sockeye salmon
เป็นปลาแซลมอนที่มีลำตัวแบน และบางที่สุด และว่ายน้ำได้เร็วที่สุด มีอายุยืนนานได้ 4-5 ปี มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3.2 กิโลกรัม เมื่อถึงฤดูวางไข่จะมีลำตัวเป็นสีแดงสด เนื้อมีสีแดงเข้ม
5. Chum salmon
เป็นปลาแซลมอนที่มีอายุประมาณ 3-5 ปี ลำตัวมีลักษณะเด่น คือ ลำตัวมีสีน้ำเงิน และมีจุดด่างกระจายทั่วลำตัว แต่เมื่อถึงฤดูวางไข่จะเปลี่ยนสีลำตัวเป็นสีเขียวอมดำ มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 4.5 กิโลกรัม ส่วนเนื้อมีสีชมพู
6. Coho salmon
เป็นปลาแซลมอนที่มีอายุประมาณ 3 ปี มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 6.8 กิโลกรัม ลำตัวมีลักษณะเด่น คือ ลำตัวมีสีเงินวาวอมสีน้ำเงิน และพบจุดกลมใกล้กับบริเวณหาง ส่วนเนื้อมีสีชมพูเข้ม มีปริมาณไขมันสูง แต่ก็ยังน้อยกว่า Chinook salmon
คุณค่าทางโภชนาการของปลาแซลมอน
– Atlantic salmon : โปรตีน 22%, ไขมัน 7%
– Pink salmon : โปรตีน 20.4%, ไขมัน 6.7%
– Chinook salmon : โปรตีน 19%, ไขมัน 11.4%
– Sockeye salmon : โปรตีน 20.3%, ไขมัน 7.9%
– Chum salmon : โปรตีน 23.1%, ไขมัน 3.7%
– Coho salmon : โปรตีน 20%, ไขมัน 4.6%
ที่มา : Fisheries council of British Columbia, 2005