ปลาแค้ เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่มาก โดยเฉพาะปลาแค้วัว ปลาแค้ควายเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับปลาบึก มีนัยน์ตาคล้ายจระเข้ ลำตัวไม่มีเกล็ด มีเนื้อมาก เนื้อมีรสมัน นุ่ม จึงนิยมรับประทานเป็นอย่างมาก อีกทั้ง เป็นปลาที่หายาก ส่วนมากจับได้เฉพาะในแม่น้ำเท่านั้น ทำให้เป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีราคาซื้อขายที่สูงมาก
อนุกรมวิธานปลาแค้
• อันดับ (Order) : Siluriformes
• วงศ์ (Family) : Sisoriidae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : ตามชนิด
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาแค้
– ปลาแค้ควาย
– ปลาแค้งู
– ปลาแค้ติดหินสามแถบ
– ปลาแก้
– ปลาตุ๊กแก
– ปลากดแค้
– ปลาโกงกาง
– ปลาแค้วัว
การแพร่กระจาย
ปลาแค้ เป็นปลาน้ำจืดที่ทั่วโลกพบประมาณ 20 สกุล และ 85 ชนิด ส่วนประเทศไทยพบปลาวงศ์นี้ 6 สกุล ประมาณ 18 ชนิด โดยปลาแค้จะพบแพร่กระจายในแถบประเทศเอเชีย และแถบประเทศใกล้กับยุโรป ได้แก่ ประเทศตุรกี และซีเรีย แต่พบแพร่กระจายมากในแถบประเทศเอเชีย ได้แก่ จีนตอนใต้ พม่า ลาว กัมพูชา ไทย รวมไปถึงหมู่เกาะบอร์เนียว (1)
ในไทยพบปลาแค้แพร่กระจายอยู่ในแม่น้ำสายหลักหลายสาย ได้แก่ (2) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
– แม่น้ำปิง เริ่มตั้งแต่เชียงใหม่
– แม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่นครสวรรค์
– แม่น้ำน่าน
– แม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่ทางเหนือของกาญจนบุรี
– แม่น้ำกก
– แม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่เชียงราย ซึ่งเป็นแม่น้ำที่พบปลาแค้ชนิดต่างๆมากที่สุด
ชนิดปลาแค้ที่พบมากในไทย
1. ปลาแค้วัว (Bagarius bagarius)
2. ปลาแค้ควาย (Bagarius yarrelli)
3. ปลาแค้งู (Bagarius suchus)
4. ปลาแค้ติดหินสามแถบ (Glyptothorax trilineatus)
ลักษณะทั่วไป
ปลาแค้ทุกชนิดมีผิวหนังหยาบ หนังมีความเหนียว ไม่มีเกล็ด ผิวหนังมีตุ่มกระจายทั่วลำตัว หนวดมี 4 คู่ โดยปลาแค้สามชนิดแรก คือ ปลาแค้วัว ปลาแค้ควาย และปลาแค้งู จะมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมาก จนแถบแยกแยะไม่ออก โดยเฉพาะแค้วัวกับแค้ควายที่ดูอย่างผิวเผินแถบไม่แตกต่างกัน และมักทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน



ปลาแค้วัว (Bagarius bagarius)
อนุกรมวิธาน
Phylum : Chordata
Class : Pisces
Subclass : Teleostomi
Order : Nematognathi
Family : Sisoridae
Genus : Bagarius
Species : Bagarius bagarius
• ชื่อวิทยาศาสตร์: Bagarius bagarius
• ชื่อสามัญ :
– Asian sisorid catfish
– catfish
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาแค้
– ปลาแค้วัว
– ปลาแก้
– ปลาตุ๊กแก
– ปลาโกงกาง
ลักษณะทั่วไป
ปลาแค้วัวมีลักษณะเด่น คือ ผิวหนังลำตัวไม่มีเกล็ดปกคลุม ผิวหนังสาก บนหัวมีกระ ไม่เรียบ ลำตัวมีความยาวตั้งแต่ 30-70 เซนติเมตร ซึ่งปลาแค้ขนาดใหญ่ที่เคยพบในประเทศไทย มีความยาวมากกว่า 1 เมตร ลำตัวมีลักษณะแบนจากบนลงล่าง บริเวณหัวกว้าง และแบน มีหนวด 4 คู่ คือ หนวดที่ขากรรไกรบน 1 คู่ หนวดที่ขากรรไกรล่าง 1 คู่ หนวดที่จมูก 1 คู่ และหนวดที่คาง 1 คู่ หนวดที่ขากรรไกรบนมีลักษณะแบน และฐานกว้าง ตามีขนาดเล็กอยู่ด้านบนของหัว มีเยื่อคลุมตาคล้ายตาของงูหรือจระเข้ คือ มีม่านตาดำเล็กเป็นช่องแนวตั้ง มองดูคล้ายตาจระเข้ จะงอยปากมีลักษณะโค้ง ค่อนข้างแบนราบ และยื่นยาว ปากมีขนาดใหญ่ โค้งคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว และอ้าได้กว้างมาก ภายในปากมีฟันเป็นเขี้ยวแหลมคม

ครีบหลังมีลักษณะยกสูง โดยก้านครีบมีลักษณะแข็ง และคม เช่นเดียวกับครีบอก ที่บริเวณปลายครีบอก ครีบท้อง ครีบหลัง และครีบหาง มีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ครีบหลังประกอบด้วยก้านครีบแข็งที่มีขอบท้ายเรียบ และมีก้านครีบที่แตกแขนงจำนวน 6-7 ก้าน ครีบหูมีก้านครีบแข็ง ขอบท้ายหยัก และมีก้านครีบที่แตกแขนง จำนวน 9-12 ก้าน ครีบท้องมีจุดเริ่มต้นบริเวณตรงข้ามกับก้านครีบที่แตกแขนงก้านสุดท้ายของครีบหลังจุดเริ่มต้นของครีบไขมันอยู่ไกลออกไปทางด้านท้ายของลำตัวหรืออยู่ในแนวตั้งฉากกับครีบท้องอันที่ 3-4 หน้า ครีบไขมันมีส่วนที่นูนออกมาเป็นสันเล็กๆ ครีบหางเว้าลึกคล้ายส้อม เส้นข้างลำตัวมีลักษณะเป็นสันนูน
สีพื้นของหนังลำตัวจะมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลือง ส่วนหนังบริเวณท้องมีสีจาง ลำตัวมีปื้นสีดำขนาดใหญ่พาดผ่าน โดยแถบแรกจะเริ่มจากบริเวณรอบๆ หรือใกล้กับฐานขอองครีบหลังพาดยาวลงไปจนถึงด้านหน้าของครีบท้อง แถบที่สองเริ่มจากบริเวณฐานของครีบไขมันไปจนลงถึงด้านหน้าของครีบก้น และแถบที่สามจะอยู่บริเวณคอดหาง ครีบหางสีเหลืองอมเทา ครีบคู่ทุกครีบจะมีจุดสีดำกระจาย
การแพร่กระจาย
ปลาแค้วัว พบแพร่กระจายพันธุ์เฉพาะในเขตร้อนของเอเชีย โดยพบแพร่กระจายอยู่อยู่ในแม่น้ำสายใหญ่แทบทุกสาย เช่น ในลุ่มน้ำของจังหวัดสุโขทัย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยาลุ่มน้ำแม่กลอง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แม่น้ำโขง ลุ่มน้ำเพชรบุรี และลุ่มน้ำทางตอนใต้
อาหาร
ปลาแค้จัดเป็นปลากินเนื้อสัตว์ เช่น กุ้ง กบ สัตว์หน้าดิน และปลาที่มีขนาดเล็กกว่า และซากสัตว์เป็นอาหาร
ที่มา : (2) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
ประโยชน์ปลาแค้
1. ปลาแค้วัว ปลาแค้ควาย และปลาแค้งู เป็นปลาที่ลำตัวใหญ่ มีเนื้อมาก เนื้อมีรสมัน จึงนิยมประกอบอาหารทำให้มีราคาค่อนข้างสูง
2. ส่วนปลาแค้ติดหินสามแถบ เป็นปลาแค้ขนาดเล็ก ลำตัวมีแถบลาย จึงนิยมนำใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ขอบคุณภาพจาก SiamFishing.com, Siamensis.org, seriouslyfish.com/
เอกสารอ้างอิง
(1) อัจฉริยา รังษิรุจิม วิเชียร มากตุ่น และ ธวัช ดอนสกุล, 2550, คาริโอไทป์ของปลาแค้วัว แค้ควาย-
แค้งู และแค้ติดหินสามแถบที่พบในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
(2) ภัทราวรรณ คำบุญเรือง, พิณทิพย์ กรรณสูตร,-
วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล และประไพสิริ สิริกาญจน, 2548,
ปรสิตในปลาแค้ Bagarius bagarius (Hamilton-Buchanan)-
จากแม่น้ำโขง บริเวณอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.