ปลาเสือตอ

8731

ปลาเสือตอ เป็นปลาสวยงามที่มีราคาสูงชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นปลาชนิดหายาก มีลายสวยงาม นิยมเลี้ยงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังให้เนื้อนิ้ม นำมาปรุงอาหารที่ให้รสอร่อยในระดับต้นๆของปลาน้ำจืด

แหล่งที่พบ
ปลาเสื่อตอเป็นปลาน้ำจืดที่พบได้ในเฉพาะแม่น้ำ ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง และแม่น้ำอื่นๆ รวมถึงแม่น้ำสาขาย่อยต่างๆ นอกจากนั้น ยังพบได้ตามแหล่งน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ เช่่น บึงบอระเพ็ด เป็นต้น แต่พบมากตามแม่น้ำบริเวณภาคเหนือจนมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา

อนุกรมวิธาน
Phylum : Chordata
Class : Pisces
Subclass : Teleostomi
Order : Percomorphi
Family : Lobotidea
Genus : Datnioides
Species : microlepis

ปลาในวงศ์ Lobotidea ที่พบในประเทศไทยมีเพียง 2 ชนิด คือ ปลาเสื่อตอ และปลากะพงลาย ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกันมาก แต่มีความแตกต่างกัน ดังนี้
– ปลาเสือตอมีลายพาดขวางประมาณ 6 แถบ มีสีเหลืองอมน้ำตาล
– ปลากะพงลายมีลายพาดขวางประมาณ 8-10 แถบ มีสีเงินอมเทา

ลักษณะทั่วไป
ปลาเสือตอมีลำตัวค่อนข้างลึก และแบนข้าง ส่วนหัวลาดลงเป็นปลายแหลม มีปากกว้างยาว และสามารถยืดหดได้ มีครีบ 7 ครีบ ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นหนามแข็ง 12 อัน ถัดมาอีกส่วนเป็นก้านครีบอ่อน ส่วนครีบหางมีลักษณะกลม (กิตติพงษ์, 2530)(1)

การอาศัย และการสืบพันธุ์
ปลาเสือตอ เป็นปลาที่ชอบหลบอาศัยตามตอไม้ กองหินใต้น้ำ ไม่ชอบอาศัยหรือว่ายน้ำในบริเวณที่โล่ง ชอบอาศัยตามแหล่งน้ำไหลที่มีความลึกประมาณ 2-5 เมตร ชอบกินปลาขนาดเล็ก ลูกปลา และกุ้งขนาดเล็กเป็นอาหาร มีลักษณะการล่าเหยือแบบอยู่นิ่ง และเข้าหุบเหยื่ออย่างรวดเร็ว ขณะกินเหยื่อจะมีสีลำตัวสดใส มักกางแผ่ครีบหลังให้ตั้งขึ้น เป็นปลาที่มีความว่องไว และไวต่อการระวังภัย

ปลาเสือตอมีการผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม ปลาตัวผู้สามารถผลิตน้ำเชื้อ และผสมพันธุ์ได้เมื่อเติบโตที่น้ำหนักประมาณ 300 กรัม ส่วนปลาตัวเมียจะเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้เมื่อเติบโตที่น้ำหนักประมาณ 500 กรัม ขึ้นไป

ไข่ของปลาเสือตอเป็นไข่ประเภทลอยน้ำ มีลักษณะทรงกลมขนาดเล็ก สีเหลืองใส มีหยดน้ำมันใหญ่ ขนาดประมาณ 0.5 มม. ปลาตัวเมียที่มีน้ำหนัก 3.6 กก. จะให้ไข่ปลาประมาณ 715,660 ฟอง

ไข่ปลาเสือตอที่ผสมแล้วจะลอยกลางน้ำ ไข่มีลักษณะกลมเหลือง เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ผนังไข่จะสะท้องแสงเป็นสีชมพูอ่อน

ไข่ปลาเสือตอที่ยังไม่ผสมจะลอยบริเวณน้ำ ไข่มีลักษณะบิดเบี้ยว สีเหลืองขาว เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ผนังไข่จะไม่สะท้องแสง (ยงยุทธ และบุญยืน, 2527)(2)

ชนิดของปลาเสือตอ
ปลาเสือตอที่พบในประเทศไทยจะมีลายบนลำตัวแตกต่างกัน 2 แบบ แบบแรกมีลายเส้นสีดำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ลายบริเวณกลางตัวจะมีขนาดใหญ่พอๆกับพื้นที่ที่เป็นสีอ่อน เรียกว่า “ปลาเสือตอลายใหญ่” พบมากในแถบแม่น้ำทางภาคกลาง ส่วนอีกแบบจะมีลายดำที่มีขนาดเล็กกว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของปลาเสือตอลายใหญ่ และมีลายน้อยไม่ถึง 5% ของลำตัว เรียกว่า “ปลาเสือตอลายเล็ก” พบได้ในแถบแม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลทางภาคอีสาน นอกจากนั้น นักเลี้ยงปลาเสือตอยังแบ่งชนิดปาเสือตอออกตามขนาดลาย ได้แก่ ปลาเสือตอลายใหญ่/ปลาเสือตอลายคู่ ปลาเสือตอลายกลาง และปลาเสือตอลายเล็ก

ปลาเสือตอลายใหญ่หรือปลาเสือตอลายคู่ (Coius microlepis)
ชื่อสามัญ : Siamese tiger fish, Gold datnoid
ชื่อพ้อง : Datnioides microlepis

ปลาเสือตอลายใหญ่

ปลาเสือตอลายใหญ่ในทางวิชาการเป็นชนิดเดียวกันกับปลาเสือตอลายคู่ ปลาเสือตอลายใหญ่ที่มีลายแฉก 2 อันเชื่อมติดกันจะเรียกว่า “ปลาเสือตอลายคู่” แต่หากไม่มีลายแฉกจะเรียก “ปลาเสือตอลายใหญ่” ลักษณะทั่วไป คือ ตัวผู้เพรียวเล็กกว่าตัวเมีย ลำตัวแบนกว้าง พื้นลำตัวหรือสีเกร็ดมีสีเหลืองน้ำตาลจนถึงสีส้มอมน้ำตาล และมีแถบสีดำพาดขวางลำตัว ในแนวเอียงเล็กน้อย มีลายประมาณ 6 แถบ บริเวณหัวลาดเอียงลงมาถึงจงอยปาก รูปทรงปากยาว และแหลม อ้าปากได้กว้าง มุมปากยาวเอียงลงด้านล่างตรงกับแนวลูกตา ครีบหลังมี 2 ส่วน ส่วนแรกเริ่มต้นจากบริเวณกึ่งกลางของลำตัวเป็นก้านครีบแข็ง ถัดมาเป็นก้านครีบอ่อน ยาวโค้งจรดโคนครีบหาง ครีบก้นโค้งมนเป็นรูปพัด ครีบอกบางใส

ปลาเสือตอลายใหญ่มีนิสัยชอบหลบซ่อนตัวตามตอไม้หรือโขดหิน มักว่ายน้ำหัวทิ่มลง ไม่ชอบว่ายน้ำ มักลอยนิ่งใกล้บริเวณแหล่งอาศัย ชอบออกหาอาหารเป็นกลุ่ม และออกหาอาหารในเวลากลางคืน มีนิสัยก้าวร้าว หวงถิ่นอาศัย ชอบกินอาหารจำพวกลูกปลา ไรน้ำ กุ้งฝอย พบมากบริเวณแม่น้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำในภาคกลาง และภาคเหนือ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก และบึงบอระเพ็ด ส่วนในภาคอีสานพบบ้างแต่น้อยมาก ได้แก่ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง

ปลาเสือตอลายเล็ก (Coius undecimradiatus)
ชื่อสามัญ : Mekong tiger fish, Small – banded tiger fish

ปลาเสือตอลายเล็ก

ภาพจาก www.ninekaow.com

ปลาเสือตอลายเล็กมีลักษณะลำตัวค่อนข้างแบน ปากกว้าง พื้นสีลำตัวเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล หรือน้ำตาลแดง มีลายพาดสีดำประมาณ 5–6 ลาย ขนาดเล็กกว่าปลาเสือตอลายใหญ่เกือบครึ่งหนึ่ง ลายพาดตั้งแต่ส่วนหัวถึงโคนหาง ลายมีความยาวตั้งแต่ครีบหลังถึงครีบอก เว้นแต่ลายที่พาดส่วนอกยาวไม่ถึงครีบท้อง ครีบท้องมีสีดำ พบได้มากในแม่น้ำแถบภาคอีสาน ประเทศลาว เขมร และเวียดนามตอนใต้

เอกสารอ้างอิง
1. กิตติพงษ์ จารุธานินทร์, 2530. คุณค่าอาหารปลาไทย “ปลาเสือตอ ปลาลาด” วารสารอแควเรียม ปีที่ 9 ฉบับที่ 9 กพ. 2530.
2. ยงยุทธ ทักษิณ และบุญยืน โชคคีรี, 2527. การอนุบาลลูกปลาเสือตอ. กองบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ. กรมประมง.