ปลาเค้า หรือบางครั้งเรียก ปลาค้าว เป็นปลาเนื้ออ่อนที่พบได้มากตามแม่น้ำลำคลอง ปัจจุบัน เป็นปลาที่เริ่มหายากมากขึ้น เนื่องจากมีการจับมารับประทานมากขึ้น เพราะเนื้อปลามีความนุ่ม ให้เนื้อมาก เนื้อไม่มีก้าง โดยเฉพาะปลาเค้าขาวเป็นชนิดที่นิยมจับมารับประทานมากที่สุด ส่วนปลาเค้าดำมักเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ปลาเค้าขาว
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wallagonia attu (Bloch)
• Phylum ถึง Genus : เหมือนกับปลาเค้าดำ
• Species : Attu
ลักษณะทั่วไปปลาเค้าขาว
ปลาเค้าขาวมีลักษณะลำตัวยาวกว่าปลาเค้าดำ ผิวลำตัวเป็นหนัง ไม่มีเกล็ด มีสีลำตัวเป็นสีขาวอมเงินหรือสีน้ำตาลอมเทา ส่วนท้องมีสีขาว หัวมีขนาดใหญ่ และส่วนไหล่หรือส่วนท้องกว้างที่สุด แล้วค่อยๆเรียวยาว และแบนข้างไปทางส่วนปลายหาง ซึ่งสามารถพบได้ถึง 2 เมตร ส่วนมุมปากยาวมาก ทำให้อ้าปากได้กว้าง รูปทรงปากโค้งมน และมีขอบปากด้านล่างยาวกว่าด้านบนเล็กน้อย บนขากรรไกรภายในปากจะมีฟันซี่เล็กๆจำนวนมาก ส่วนหนวดมี 2 คู่ คู่แรกจะอยู่บนมุมปากด้านบน ซึ่งจะยาวได้ถึงฐานครีบก้น ส่วนหนวดอีกคู่จะอยู่มุมปากด้านล่าง และสั้นกว่าหนวดคู่ด้านบน
ขอบคุณภาพจาก : meefishing.wordpress.com
ส่วนครีบประกอบด้วยครีบหลังที่มีก้านครีบแข็ง 1 ก้าน และครีบแขนง 4 ก้าน สำหรับปลาเค้าดำจะมีก้านครีบก้านประมาณ 70 ก้าน หรือมากกว่า ส่วนปลาเค้าขาวจะมีก้านครีบก้นมากกว่า 90 ก้าน หรือมากกว่า ที่เยื้องมาจากครีบท้องเล็กน้อยแล้วทอดยาวจนถึงโคนหาง ส่วนครีบหางมีลักษณะเว้าเป็น 2 แฉก หรือเรียกว่า แพนหางบน และแพนหางล่าง โดยแพนหางบนจะยาวกว่าแพนหางล่างเล็กน้อย
ปลาเค้าดำ
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wallagonia miostoma (Vaillant)
• Phylum : Chordata
• Class : Pisces
• Subclass : Teleostomi
• Order : Nematognathi
• Family : Siluridae
• Genus : Wallagonia
• Species : Miostoma
ลักษณะทั่วไปปลาเค้าดำ
ลักษณะของปลาเค้าดำจะเหมือนกับปลาเค้าขาวทุกประการ ยกเว้นสีลำตัวจะมีสีดำเท่านั้น และขนาดลำตัวค่อนข้างป้อม และสั้นกว่าปลาเค้าขาว
ขอบคุฯภาพจาก : sharinghorizons.com
อาหาร และการกินอาหารปลาเค้า/ปลาค้าว
ปลาเค้าขาว และปลาเค้าดำเป็นปลากินเนื้อ กินอาหารได้หลายชนิด อาทิ ลูกปลาหรือปลาที่มีขนาดเล็กกว่า กุ้ง ปู หอย และแมลงต่างๆ
การเลี้ยงปลาเค้า/ปลาค้าว
การเพาะพันธุ์ปลาเค้า
ปลาเค้าที่ใช้สำหรับเพาะพันธุ์มักจับพ่อแม่พันธุ์มาจากธรรมชาติ และปล่อยเลี้ยงในบ่อสักระยะก่อน ก่อนจะนำแม่พันธุ์ปลามาฉีดฮอร์โมนครั้งแรกด้วย suprefact ขนาด 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวปลา 1 กิโลกรัม และ Motiliuim 5 มิลลิกรัม หลังจากนั้นอีก 6 ชั่วโมง ให้ฉีดครั้งที่ 2 ด้วย suprefact ขนาด 15 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวปลา 1 กิโลกรัม และ Motiliuim ในขนาดเดียวกันกับครั้งแรก
สำหรับพ่อพันธุ์ปลาให้ฉีดฮอร์โมนเพียงครั้งเดียวในขนาดเดียวกันกับการฉีดครั้งแรกของแม่พันธุ์ปลา และให้ฉีดหลังจากฉีดแม่พันธุ์ปลาแล้ว 4 ชั่วโมง
หลังจากฉีดครั้งที่ 2 แล้ว 4-6 ชั่วโมง ให้รีดไข่แม่พันธุ์ปลาลงในชาม และรีดน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ปลาออกมาผสมกับน้ำเกลือเข้มข้น 0.6% ก่อนจะนำลงคลุกผสมกับไข่ปลาในชามด้วยการใช้ขนไก่กวนผสม นาน 3-5 นาที ก่อนจะนำไข่มาล้างน้ำ และปล่อยในบ่ออนุบาลที่เป็นบ่อซีเมนต์ ซึ่งไข่จะฟักเป็นลูกปลาภายใน 28-32 ชั่วโมง อัตราการฟักเป็นตัวประมาณ 40-50% และอาจมากกว่าเมื่อปลามีความสมบูรณ์
การอนุบาลปลาเค้า
การอนุบาลลูกปลาเค้าในระยะแรกจะให้ไรแดงเป็นอาหาร ต่อมาในระยะ 15-30 วัน จึงให้ปลาบดร่วมกับไรแดง และอาหารปลาดุกขนาดเม็ดเล็ก หลังจากนั้น จึงค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารปลาดุก พร้อมเสริมด้วยลูกปลาขนาดเล็ก ความถี่การให้อาหารที่ 2 ครั้ง/วัน ในช่วงเช้า และเย็น
การเลี้ยงปลาเค้ารุ่น
หลังจากอนุบาลลูกปลาเค้าจนได้ลำตัวยาวประมาณ 4-6 นิ้วแล้ว จึงนำลงเลี้ยงในกระชังหรือปล่อยเลี้ยงในบ่อดินต่อ อัตราการปล่อยสำหรับกระชังที่ 400-500 ตัว/กระชัง (กระชัง 5 x 5 เมตร) และอัตราการปล่อยสำหรับบ่อดินที่ 3000-4000 ตัว/ไร่ ส่วนอาหารจะให้อาหารปลาดุกเป็นหลัก และเสริมด้วยอาหารจากธรรมชาติ เช่น ลูกปลาขนาดเล็ก ปลวก หรือ แมลงต่างๆ ส่วนความถี่การให้อาหารจะเหมือนกับการอนุบาลลูกปลา และควรเน้นให้ช่วงเย็นมากกว่าช่วงกลางวัน
ปลาเค้าเมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 8 เดือน ก็สามารถจับขายได้ น้ำหนักต่อตัวจะอยู่ประมาณ 0.5-0.8 กิโลกรัม/ตัว และหากเลี้ยงนานกว่า 10 เดือน จะได้น้ำหนักต่อตัวมากกว่า 1 กิโลกรัม/ตัว และการเลี้ยงในกระชังมักให้น้ำหนักตัวเฉลี่ยสูงกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน