ปลาหลด (Macrognathus siamensis) เป็นปลาน้ำจืดธรรมชาติที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย อินเดีย พม่า และเวียดนาม พบอาศัยตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง และนาข้าว และสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทย
ปลาหลด เป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันมานาน สามารถจับได้ทั่วไปในแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ บึง หรือตามทุ่งนา ซึ่งเป็นปลาที่นิยมนำมาประกอบอาหารในรูปปลาสด ปลาตากแห้ง หรือทำปลาเค็ม เนื่องจากเนื้อลำตัวด้านข้างจะให้เนื้อแน่น ไม่มีก้าง เนื้อนุ่ม มีรสมัน โดยในช่วงฤดูฝนถึงปลายฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่จับปลาหลดมารับประทานมาก บางพื้นที่มีเกษตรกรนำมาจำหน่ายตามตลาดสด ตลาดหมู่บ้าน ซึ่งมีราคาประมาณ 50-120 บาท/กิโลกรัม เลยทีเดียว
อนุกรมวิธาน
Osder : Perciformes
Suborder : Mastacembeloidei
Family : Mastacembeloidae
Genus : Macrognathus
ลักษณะทั่วไป
ลักษณะทั่วไปของปลาหลด คือ ลำตัวมีรูปร่างแบน และแบนมากบริเวณส่วนที่ค่อนไปทางหาง ผิวลำตัวด้านบนมีสีเทา และดำ ผิวลำตัวบริเวณท้องมีสีขาวอมเหลือง ลำตัวมีเกล็ดขนาดเล็ก กลมรีที่แทบมองไม่เห็นว่าเป็นเกล็ด ผิวลำตัวมีเมือกลื่นคล้ายปลาไหลที่ทำให้จับด้วยมือเปล่าได้ยากมาก ส่วนหัวประกอบด้วยปากยื่นยาวที่สามารถยืดหดได้ ปากมีขนาดเล็ก ปลายปากแหลม ภายในปากมีฟันเล็ก และคม ถัดมาเป็นส่วนตาที่มี 2 ข้าง ซ้าย-ขวา และมีร่องเหงือกขนาดเล็กเปิดอยู่ใต้หัว โดยบริเวณครีบหลังจะมีหนามแหลม มีความยาวลำตัวเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 20-30 เซนติเมตร
ปลาหลดเพศผู้ และเพศเมียจะมีรูปร่างภายนอกที่เหมือนกันมาก หากไม่สังเกตดีๆจะแยกเพศไม่ออก แต่จะสังเกตได้ง่ายเมื่อตัวเต็มวัย โดยเฉพาะในช่วงฤดูสืบพันธุ์ คือ เพศเมียมีรูปร่างลำตัวอ้วนป้อมมากกว่าเพศผู้ และมีส่วนท้องแบนใหญ่กว่า บริเวณอวัยวะเพศที่อยู่ถัดจากส่วนท้องมาด้านปลายหางด้านล่างจะมีติ่งยื่นออกมา ส่วนเพศผู้ บริเวณอวัยวะเพศจะไม่มีติ่งเพศเหมือนกับเพศเมีย และลำตัวมีรูปร่างเรียวยาวมากกว่าเพศเมีย
การสืบพันธุ์ และวางไข่
ปลาหลดเพศผู้ก่อนถึงช่วงสืบพันธุ์จะเริ่มผลิตน้ำเชื้อไว้ถุงน้ำเชื้อ ซึ่งสามารถรีดน้ำเชื้อได้ ส่วนปลาหลดเพศเมียจะสร้างไข่ไว้เต็มช่องท้อง โดยไข่ปลาหลดจะมีลักษณะกลมใส โดยเมื่อไข่สุก และพร้อมที่จะผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม มีจำนวนไข่ประมาณ 1,000-1,200 ฟอง/ตัว
ไข่ปลาหลดใช้เวลาฟักออกเป็นตัวประมาณ 2-3 วัน หลังวางไข่ หลังจากฟักออกเป็นตัวแล้ว ลูกปลาหลดจะพร้อมกินอาหาร และเติบโตจนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยที่อายุประมาณ 27 วัน
การดำรงชีพ และการหาอาหาร
ปลาหลดสามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำไหล และน้ำนิ่ง แต่โดยธรรมชาติจะชอบอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งตามบึง อ่างเก็บน้ำ แอ่งน้ำ หรือ ตามนาข้าว โดยช่วงกลางวันจะชอบหลบซ่อนตามโพรงไม้ รูดินใต้น้ำ หรือตามกอหญ้า และหาอาหารบ้างเป็นครั้งคราว แต่โดยธรรมชาติ ปลาหลดจะออกหาอาหารในเวลากลางคืนเป็นหลัก
อาหารของปลาหลดในวัยอ่อนจะเป็นพวกแพลงก์ตอนสัตว์ต่างๆ รวมถึงไรแดง และสัตว์น้ำขนาดเล็ก ส่วนในระยะโตเต็มที่จะชอบกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตัวอ่อนของแมลง แมลงขนาดเล็ก รวมถึงซากเน่าเปื่อยต่างๆ
การเลี้ยงปลาหลด
การเพาะ และขยายพันธุ์ปลาหลดสามารถทำได้ด้วย 3 วิธี คือ
1. การเพาะขยายพันธุ์แบบธรรมชาติ
– นำพ่อแม่พันธุ์มาปล่อยเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ อัตราพ่อแม่พันธุ์ตัวผู้/ตัวเมียที่ 1:2/ตารางเมตร
– ปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์ และวางไข่เองตามธรรมชาติ
– ทำการอนุบาลร่วมด้วยกับการเลี้ยงต่อไปในบ่อซีเมนต์
2. การเพาะขยายพันธุ์แบบเลียนแบบธรรมชาติ
– เข็มที่ 1 ผสม Suprefact 25 ไมโครกรัม/ปลาหนัก 1 กิโลกรัม ร่วมกับ Motilium 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม
– เข็มที่ 2 ใช้ Suprefact 50 ไมโครกรัม/ปลาหนัก 1 กิโลกรัม ร่วมกับ Motilium 10 มิลลิกรัม/ปลาหนัก 1 กิโลกรัม
– เข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 6 ชั่วโมง
– หลังการฉีดเข็มที่ 2 ประมาณ 12-14 ชั่วโมง พ่อแม่พันธุ์ปลาหลดจะเริ่มผสมพันธุ์ และวางไข่
– หลังจากการฟักค่อยนำลูกปลาแยกมาอนุบาล และเลี้ยงต่อ
3. การเพาะขยายพันธุ์แบบผสมเทียม
– ฉีดฮอร์โมนเร่งความพร้อมของน้ำเชื้อตัวผู้ และการสุกของไข่ตัวเมีย ดังที่กล่าวในวิธีที่2
– หลังจากฉีดฮอร์โมนเข็มที่ 2 แล้ว ประมาณ 14 ชั่วโมง ให้รีดไข่ และน้ำเชื้อมาผสมกันภายในภาชนะ
– นำไข่ไปพักในบ่อฟักหรือบ่ออนุบาล
– อนุบาล และเลี้ยงให้เติบโต
การอนุบาลลูกปลา
หลังการฟักออกจากไข่ของลูกปลาประมาณ 2-4 วัน จึงเริ่มให้อาหาร ด้วยการไข่แดงต้มสุกที่บดละเอียดสำหรับระยะ 3-7 วันแรก และให้ให้ไรแดง สำหรับระยะ 8-20 วัน พร้อมเปลี่ยนถ่ายน้ำ 2-3 ครั้ง/อาทิตย์ จนลูกปลามีอายุได้ประมาณ 15-20 วัน จึงแยกเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ต่อไป
การเลี้ยงลูกปลาหลด
หลังจากอนุบาลลูกปลาหลดให้มีขนาดยาวประมาณ 1.5-2 นิ้ว ให้แยกลูกปลาออกมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ต่อ อัตราการปล่อยที่ 120-150 ตัว/ตารางเมตร
อาหารสำหรับการเลี้ยงปลาหลดในระยะนี้จะให้อาหารได้หลายชนิด อาทิ หนอนแดง ปลาบดสับ ไส้เดือน ลูกปลาขนาดเล็ก และให้ไรแดงร่วมด้วยเป็นระยะ
หลังจาการเลี้ยงไปแล้ว 6-8 เดือน จะสามารถจับปลาหลดส่งขายได้
การจับปลาหลด
การจับปลาหลด นิยมจับใน 2 ช่วง คือ
1. ในฤดูฝนที่มีน้ำหลาก โดยช่วงนี้เกษตรกรมักจับได้ด้วยการใช้ผ้าไนลอนดักจับตามคลองน้ำไหล ทางน้ำไหล โดยเฉพาะตามทุ่งนา นอกจากนั้น ยังได้มาด้วยการปักเบ็ด และวิธีอื่นๆ
2. ฤดูหนาวหรือหมดฝน ซึ่งช่วงนี้จะหมดฝนแล้ว ทำให้ทุ่งนาหรือแอ่งน้ำมีน้ำแห้งขอด ทำให้เกษตรกรลงจับปลาได้ง่าย และมักจะจับได้ปลาหลดร่วมด้วยกับปลาชนิดอื่นเสมอ
การจับปลาหลดในนาข้าวหลังน้ำลดจะจับยากหากยังมีน้ำเหลืออยู่ เพราะปลาหลดจะมีเมือกลื่นตามลำตัวคล้ายปลาไหลทำให้จับยากมาก เกษตรกรจึงจับปลาอื่นที่มีขนาดใหญ่ และจับง่ายก่อน หลังจากนั้น พอน้ำลดจนเหลือเฉพาะโคลนเหนียวแล้วจะสามารถจับปลาหลดได้ง่ายขึ้น ด้วยการใช้สวิงในการช่วยจับ
ปัจจุบัน ปลาหลดในนาข้าวในทั่วทุกภาคจะไม่ค่อยมีให้จับมากเหมือนในอดีต อาจเนื่องจากชาวนามีการใช้สารเคมีมากเกินไปหรืออาจเป็นเพราะปลาชนิดจะไม่ค่อยอพยพลงตามน้ำในช่วงท้ายฤดูฝน ทำให้ลูกปลาหลดหรือแม่ปลาส่วนใหญ่ตายตามท้องนาหลังน้ำลด ทำให้ฤดูต่อมามีแม่ปลาขึ้นมาวางไข่ในปริมาณที่น้อยลงจนอาจทำให้ปลาหลดหายไปจากบริเวณนั้นก็เป็นได้
เมนูจากปลาหลด
เมนูอาหารที่นิยมทำจากปลาหลด ได้แก่ ปิ้งปลาหลด แกงปลาหลด ปลาหลดทอดกรอบ ทอดปลาหลดแดดเดียว เป็นต้น
ทั้งนี้ บางพื้นที่จะไม่นิยมควักไส้ออก แต่จะนำไปประกอบอาหารทั้งตัว โดยเฉพาะเมนูการปิ้งย่าง เพราะปลาชนิดนี้ มีลำไส้น้อย แต่โดยทั่วไปคนในทุกภาคจะใช้วิธีควักไส้ออกก่อนนำไปปรุงอาหาร
ขอบคุณภาพจาก http://382382247260862895.weebly.com/spot/22