ปลาหมอสี และการเลี้ยงปลาหมอสี

24260
Flowerhorn

ปลาหมอสี เป็นปลานิยมเลี้ยงอย่างมากในประเทศไทย เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม มีส่วนหัวโหนกนูน แปลกตา และมักไม่พบในปลาชนิดอื่น นอกจากนั้น ยังเลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพน้ำต่างๆได้ดี แม้ในสภาพที่มีออกซิเจนน้อย

• วงศ์ : Cichlidae เหมือนกับปลาปอมปาดัวร์ และปลาเทวดา
• ชื่อท้องถิ่นไทย : ปลาหมอสี (ทุกภาค)
• จำนวนโครโมโซม : 2n = 44 และ 48

การแพร่กระจาย
ปลาหมอสี มีถิ่นกำเนิดในทวีแอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งสามารถจำแนกสีตามแหล่งที่อยู่อาศัย ได้ดังนี้
1. ปลาหมอสีในทะเลสาบมาลาวี บริเวณประเทศมาลาวี และอีกหลายประเทศใกล้เคียง ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก มีปลาหมอสีหลายชนิดที่มีแม่สีเป็นสีเหลือง และสีน้ำเงิน และอีกหลายสี โดยแยกเป็น 2 ชนิด คือ
– ปลาหมอสีเอ็มบูนา เป็นปลาหมอสีที่พบอาศัยตามซอกหินบริเวณหาดหน้าผา
– นอนเอ็มบูนา เป็นปลาหมอสีที่พบอาศัยตามพื้นทรายในท้องน้ำ และขึ้นมาว่ายตามผิวน้ำ
2. ทะเลสาบแทงกันยีกา บริเวณประเทศคองโก และอีกหลายประเทศใกล้เคียง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และลึกเป็นอันดับ 2 ของโลกเช่นกัน โดยมีอุณหภูมิของน้ำค่อนข้างสูง หากนำมาเลี้ยงในประเทศอบอุ่นจึงทำให้ปลาหมอสีที่ได้จากแหล่งนี้สามารถปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมได้ดี แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่อมไข้ไว้ในปาก และชนิดที่วางไข่บนก้อนหิน
3. ทะเลสาบวิคตอเรีย บริเวณประเทศแคนยา และอีกหลายประเทศ ใกล้เคียง เช่น แทนซาเนีย และยูกานดา โดยปลาหมอสีที่ได้จากแหล่งนี้มักมีขนาดใหญ่กว่าแหล่งอื่นๆ แต่สีสันความสวยงามยังสู้ปลาหมอสีที่มาจากประเทศมาลาวีไม่ได้
4. ปลาหมอสีแถบประเทศอเมริกากลาง และใต้ ซึ่งมีมากกว่า 52 สกุล โดยปลาหมอที่มาจากแหล่งนี้มีจุดเด่น คือ โหนกบนหัวโค้งมน มีลายเป็นสีพรายน้ำที่พาดผ่านจากบริเวณปากจนถึงแก้มทั้งสองข้าง คล้ายกับปลาปอมปาดัวร์ ส่วนกลางลำตัวพบลายจุดหรืออาจไม่มี และเกล็ดลำตัวแบนเรียบ เรียงเป็นระเบียบ

ลักษณะทั่วไปของปลาหมอสี
ลักษณะของปลาหมอสี โดยทั่วไปจะมีลักษณะคล้ายปลาหมอไทย แต่มีลำตัวมีสีสันสวยงาม และบางชนิดมีโหนกที่ส่วนหัวที่เป็นก้อนเนื้อขนาดใหญ่ ลักษณะทั่วไป คือ ลำตัวแบน ค่อนข้างป้อม โดยมีช่วงไหล่กว้าง ส่วนหางสั้น เกล็ดมีขนาดปานกลาง ลำตัวมีสีฉูดฉาดหลายสี อาทิ สีชมพู สีน้ำเงิน สีเหลือง โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณกลางลำตัวจนถึงส่วนหัวทั้งหมด และมักพบลายจุดประสีดำบริเวณตรงกลางข้างลำตัว ส่วนก้านครีบ ประกอบด้วย
– ก้านครีบหลังส่วนต้นเป็นหนามแข็ง และเป็นก้านครีบอ่อนที่ยาวมากบริเวณส่วนท้าย
– ก้านครีบอกมีขนาดเล็ก 2 อัน ประกอบด้วยก้านครีบอ่อนทั้งหมด
– ก้านครีบท้อง มี 2 อัน ประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 1 ก้าน และเรียงต่อมาเป็นก้านครีบอ่อน
– ก้านครีบท้อง เริ่มจากจุดกึ่งกลางด้านล่างของลำตัวจนถึงปลายโคนหาง มีลักษณะเป็นก้านครีบยาว โดยเฉพาะบริเวณตรงกลางของครีบ แต่จะสั้นกว่าความยาวของก้านครีบหลัง
– ก้านครีบหาง มีลักษณะเป็นรูปพัด ปลายครีบโค้งมน

ทั้ง นี้ ปลาหมอสีที่นิยมเลี้ยงมากจะเป็นชนิดหัวมีโหนก และลำตัวมีสีชมพู ตรงกลางข้างลำตัวมีลายแถบสีดำ ซึ่งเป็นปลาหมอสีที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพน้ำที่มีอากาศน้อยได้ดี รวมถึงมีราคาปานกลาง ไม่แพงนัก และหากมีโหนกขนาดใหญ่ มีสีฉูดฉาด ก็จะมีราคาแพงมากขึ้น

การกินอาหาร
ปลาหมอสี เป็นปลาที่กินอาหารทั้งพืช และสัตว์ โดยจะออกหากินทั้งในเวลากลางคืน และกลางวัน แต่ส่วนมากจะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนบริเวณออกหากินจะแตกต่างตามชนิดพันธุ์ ทั้ง ชนิดที่ชอบหากินตามโขดหินริมฝั่ง และตามท้องน้ำ

ตัวอย่างชนิดของปลาหมอสี ได้แก่
1. ปลาหมอสี Flowerhorn

Flowerhorn
Flowerhorn

2. Amphilophus citrinellus

Amphilophus citrinellus

3. ปลาหมอสี Cichlasoma severum

Cichlasoma severum
Cichlasoma severum

4. ปลาหมอสี Astronotus ocellatus

Astronotus ocellatus
Astronotus ocellatus

5. ปลาหมอสี Cichlasoma carpinte

Cichlasoma carpinte
Cichlasoma carpinte

6. ปลาหมอสี Pseudotropheus zebra

Pseudotropheus zebra
Pseudotropheus zebra

7. ปลาหมอสี Haplochromis venustus

Haplochromis venustus
Haplochromis venustus

การเลี้ยงปลาหมอสี
สำหรับผู้เลี้ยงตามบ้านที่ไม่เลี้ยงเพื่อการจำหน่าย โดยทั่วไปจะเลี้ยงโชว์ในตู้ปลา ซึ่งอาจเลี้ยงเพียง 1 ตัว หรือหลายตัว ส่วนผู้เลี้ยงปลาหมอสีเพื่อการจำหน่าย และเป็นผู้เริ่มมือใหม่ เพื่อฝึกทักษะ และทำความเข้าใจในการเลี้ยงปลาหมอสี เริ่มแรกควรเลี้ยงปลาหมอสีในตู้ปลา ขนาด 24 นิ้ว หรือ 36 นิ้ว โดยควรหาพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงง่ายก่อน เช่น พันธุ์อมไข่ ซึ่งเป็นชนิดที่เลี้ยงง่าย และมีราคาไม่แพงเท่าพันธุ์อื่นๆ โดยใช้ตัวผู้ประมาณ 1-2 ตัว และตัวเมียประมาณ 5-7 ตัว ก่อน

ปลาหมอสี เป็นปลาที่มีนิสัยหวงถิ่นอาศัย โดยจะมีนิสัยดุร้าย และไล่กัดปลาตัวอื่น เมื่อเข้ามาใกล้ถิ่นอาศัยของตน โดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ และขณะวางไข่หรือวางไข่แล้ว ดังนั้น ควรคัดเลือกขนาดปลาหมอสีที่ใกล้เคียงกัน เพราะหากขนาดตัวต่างกันมาก ตัวที่ใหญ่ก็มักไล่กัดตัวเล็กจนอาจทำให้ตายได้

การฟักไข่ปลาหมอสี
ปลาหมอสีชนิดอมไข่ เมื่อเริ่มวางไข่หรือวางไข่แล้วจะสังเกตได้ง่าย คือ แม่ปลาจะชอบหลบตามมุมตู้ปลาเพียงลำพัง และบริเวณใต้คางจะมีลักษณะอูมย้อยลงมา ซึ่งแสดงว่าปลาหมอสีได้วางไข่ และอมไข่ไว้ หลังจากนั้น ให้ซ้อนแม่ปลาหมอสีออกมาปล่อยเลี้ยงในตู้ปลาเพียงลำพัง และประมาณอีก 14 วัน แม่ปลาหมอสีก็จะคายลูกอ่อนออกมาด้านนอกให้เห็น

สำหรับสมัยนี้ บางคนอาจใช้วิธีการฟักไข่จากแม่ปลาเอง โดยใช้วิธีนำไข่ออกจากปากแม่ปลา ซึ่งค่อนข้างลำบาก และต้องใช้ความชำนาญสูง เพราะหากไม่มีประสบการณ์แล้ว ก็มักจะทำให้ไข่เสียหายได้ เนื่องจากแม่ปลาหมอสีจะมีฟันซี่เล็กจำนวนมาก หากขณะนำไข่ออกจากปากอาจทำให้แม่ปลางับถูกไข่ได้

สำหรับวิธีการฟักเอง จะใช้ปากเทียมสำหรับการฟัก เริ่มจากนำไข่ออกจากปากแม่ปลาด้วยการขยับบริเวณโคนเหงือก ให้ปากแม่ปลาอ้าออก แล้วปล่อยไข่ออกมา ก่อนนำไข่ไปใส่ในปากเทียม แยกออกไว้ในอีกตู้ปลาต่างหาก ซึ่งประมาณ 15 วัน ก็จะได้ลูกปลาขนาดประมาณ 0.8-1 นิ้ว ทั้งนี้ ลักษณะของลูกปลาที่ดีควรได้รับการถ่ายทอดยีนจากแม่ปลามากกว่าพ่อปลา เพราะพ่อปลาจะถ่ายทอดยีนเฉพาะสีลำตัวเท่านั้น

การให้อาหาร
หลังจากที่ลูกปลาฟักออกจากไข่แล้ว 3-5 วัน ก็เริ่มให้อาหารได้ โดยอาหารของลูกปลาระยะนี้จนถึง 1 เดือน จะเป็นไข่ขาวบด ร่วมกับไรแดง และหลังจากนั้น จะเริ่มให้พวกหนอนแดง กุ้งฝอย ไส้เดือน หรือลูกปลาขนาดเล็ก รวมถึงค่อยเสริมด้วยอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดขนาดเล็กไปด้วย โดยมีความถี่การให้อาหารประมาณ 2 ครั้ง/วัน ในช่วงเช้า และเย็น

การให้อากาศ และการถ่ายน้ำ
สำหรับการเลี้ยงปลาหมอสีในตู้ปลา ผู้เลี้ยงควรติดตั้งอุปกรณ์ให้อากาศ และอุปกรณ์กรองน้ำด้วย เพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้แก่ปลา นอกจากนั้น ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นระยะ อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

สีของปลาหมอสี
สีสันของปลาที่เรามองเห็นเกิดมาจากเซลล์โครมาโตฟอร์ ที่อยู่ในชั้นผิวหนังบริเวณชั้นเดอร์มิส ซึ่งประกอบด้วยสารสีหลายชนิด เช่น
– อีโรโธรฟอร์ คือ สารให้สีแดง และสีส้ม
– แซนโธฟอร์ คือ สารให้สีเหลือง
– เมลาโนฟอร์ คือ สารให้สีดำ

ทั้งนี้ สีที่ให้สีต่างๆ ยกเว้นสีดำจะมีความเกี่ยวข้องกับวิตามินเอที่ทำหน้าที่สร้างสารสีเหล่านี้ ซึ่งวิตามินเอได้มาจากสารตั้งต้นที่เรียกว่า แคโรทีนอยด์ ส่วนสีดำจะเกิดจากการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ได้จากกรดอะมิโนธัยโรซีน และสารฟีนอล ซึ่งปลาที่มีสีสันฉูดฉาด และสวยงามก็จะมีการเก็บสะสมแคโรทีนอยด์ไว้บริเวณผิวหนังจำนวนมาก

ดังนั้น หากต้องการให้ปลาหมอสีมีสีสันสวยงามจึงจำเป็นต้องหาซื้ออาหารที่มีสารแคโรทีนเป็นองค์ประกอบด้วย หรือ อาจใช้น้ำคั้นจากพืชที่มีสี นำมาเติมในน้ำตู้ปลา เพื่อให้แคโรทีนอยด์แทรกจับตามผิวหนังหรือเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของปลา พืชเหล่านั้น ได้แก่ กลีบกุหลาบ กลีบเฟื่องฟ้า และใบหูกวาง เป็นต้น