ปลาสีกุนข้างเหลือง และปลาสีกุนบั้ง เป็นปลาทะเลในกลุ่มของปลาสีกุนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่ได้มุ่งจับเพื่อการค้าโดยเฉพาะ แต่เป็นปลาที่จับมาได้จากการจับปลาหรือสัตว์น้ำชนิดอื่น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ปลาในกลุ่มปลาสีกุนเริ่มนิยมนำรับประทาน และจับเพื่อการค้ามากขึ้น และมีการเพาะเลี้ยงบ้าง สามารถจับได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน
กลุ่มของปลาสีกุน ได้แก่ ปลาสีกุนข้างเหลือง ปลาสีกุนบั้ง และปลาสีกุนตาโต
ปลาสีกุนข้างเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Selaroides leptolepis
ชื่อสามัญ : Yellow stripe trevally, Caranx
วงศ์ : Carangidae
ชื่อท้องถิ่น : ปลาสีกุนข้างเหลือง, ปลาสีกุนข้างลวด, กิมซัว
ลักษณะปลาสีกุนข้างเหลือง
ปลาสีกุนข้างเหลือง มีลักษณะลำตัวแบน และค่อนข้างเรียวยาว ลำตัวมีส่วนโค้งทางด้านหลัง และด้านท้องเท่ากัน มีตาโต ปากขนาดเล็ก คอดหางยาวมีลักษณะเด่นที่มีแถบสีเหลืองเป็นแนวยางจากเหนือส่วนตาถึงโคนหาง และมีจุดดำเหนือครีบหูบริเวณบริเวณขอบแก้มด้านบน รวมถึงมีเส้นข้างลำตัวโค้งตามแนวสันหลัง และเป็นเส้นตรงบริเวณตอนกลางของครีบหลังอันที่สอง
ส่วนครีบ มีครีบหูยาวเรียว และมีปลายครีบแหลม ครีบหลัง และครีบก้นค่อนข้างยาว ครีบหลังมี 2 อัน ครีบอันท้ายยาวติดกันถึงโคนหาง และครีบก้นยาวติดกันถึงโคนหางเช่นกัน ครีบทุกอันมีสีขาวใส
ปลาสีกุนข้างเหลืองที่พบ โดยทั่วไปมีขนาดยาวเฉลี่ย 14.6 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 40 กรัม
ขอบคุณภาพจากกระดานสนทนา http://www.siamfishing.com/board/view.php?tid=638925&begin=50
การแพร่กระจาย
ปลาสีกุนข้างเหลือง พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ แถบชายฝั่งบริเวณจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ส่วนฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ เป็นต้น
ปลาสีกุนข้างเหลือง กินอาหารที่สำคัญ ได้แก่ ปลาขนาดเล็ก แพลงค์ตอนพืช แพลงค์ตอนสัตว์ กุ้ง และสัตว์ทะเลอื่นๆ ขนาดเล็ก
คุณค่าทางโภชนาการ
• ความชื้น 77.50%
• โปรตีน 15.05%
• ไขมัน 4.29%
• คาร์โบไฮเดรต 1.79%
• เถ้า 1.39%
• เกลือ 0.08%
ปลาสีกุนบั้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Atule mate
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Selaroides leptolepis
ชื่อสามัญ : One-finlet Scad
ชื่อท้องถิ่น :
– ปลาสีกุนบั้ง
– ปลาสีกุนกบ
– ปลาหางกิ่ว
– ปลาหางแข็ง
อนุกรมวิธาน
Class : Teleostomi (Ostrichthyes)
Order : Perciformes
Suborder : Percoidei
Family : Carangidae
Genus : Atule
Species : mate
ลักษณะปลาสีกุนบั้ง
ปลาสีกุนบั้ง มีลักษณะคล้ายปลาทู เป็นปลาที่มีลักษณะลำตัวแบนข้าง รูปทรงกระสวย มีจะงอยปากยาวมากกว่าตา และยาวถึงขอบหน้าของตา บริเวณตามีเยื่อหุ้มตาหนาใหญ่ล้อมรอบดวงตาเป็นวงกลม เหงือกมีซี่กรอง 25-26 ซี่ และมีจุดแต้มสีดำบริเวณท้ายกระดูกปิดเหงือก มีกระดูกสันลำตัวแข็งบริเวณแนวเส้นข้างตัว 43-44 อัน ครีบหลัง และครีบก้นมีลักษณะครีบแยกออกเป็น 2 ส่วน ครีบหลังส่วนท้าย และครีบก้นส่วนท้ายมีก้านครีบอ่อนติดกันต่อเนื่องยาวถึงโคนหาง ส่วนครีบหางมีลักษณะเป็นแฉกเว้าลึกเข้ากลางครีบ ครีบหลัง โดยครีบอก ครีบหลัง และครีบหางมีสีเหลือง ส่วนครีบท้อง และครีบก้นจะมีสีขาว
การแพร่กระจาย
ปลาสีกุนบั้ง ชอบอาศัย และหากินบริเวณกลางนํ้า และผิวนํ้าบริเวณชายฝั่ง เป็นปลาที่อาศัย และออกหาอาหารรวมกันเป็นฝูง พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเลอินโด-แปซิฟิค ส่วนในประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั้งในชายฝั่งของฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน
ปลาสีกุนบั้ง มีช่วงการวางไข่ 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม และช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม (เพียรศิริ, 2526)
อาหาร
ปลาสีกุนบั้ง เป็นปลากินเนื้อสัตว์ กินอาหารหลายชนิด ได้แก่ ปลา กุ้ง และสัตว์นํ้าขนาดเล็ก
โรคพยาธิ
จากการศึกษาชนิดของปรสิตในปลาสีกุนบั้งบริเวณอ่าวไทย พบปรสิตภายนอกที่อาศัยอยู่บริเวณเหงือก แผ่นแก้ม และช่องปาก ได้แก่ ปรสิตตัวกลม ปรสิตเปลือกแข็ง ปรสิตตัวแบน ปรสิตตัวตืด ส่วนปรสิตภายในที่พบในอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ปรสิตตัวกลม ปรสิตหัวหนาม และปรสิตตัวตืด ทั้งนี้ ปริมาณปรสิตจะแปรผันโดยตรงกับขนาดของปลา (วิไลลักษณ์, 2532)
การประมง
ชาวประมงมีการใช้เครื่องมือในการจับปลาสีกุนบั้งที่สามารถจับได้มาก ได้แก่ อวนล้อม และอวนลาก
เอกสารอ้างอิง