ปลาสลาด/ปลาตอง และประโยชน์ปลาสลาด

25124

ปลาสลาด (Grey Knifefish) หรือบางที่เรียก ปลาตอง ปลาหางแพน เป็นปลาที่มีลักษณะลำตัวคล้ายปลากราย แต่ต่างที่ไม่มีจุดำเหนือครีบก้นเหมือนปลากราย ส่วนเนื้อ และรสชาติจะคล้ายกับปลากรายมาก จึงนิยมทำเป็นอาหารหรือแปรรูปในลักษณะเดียวกันกับปลากราย อาทิ ห่อหมกปลาสลาด และลูกชิ้นปลาสลาด

อนุกรมวิธาน
Plylum : Veriebratra
Class : Teleostomi
Order : Clupei formes
Family : Notopteridae (วงศ์เดียวกันกับปลากราย)
Genus : Notoptirus
Species : notopterus

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Notoptirus notopterus (Pallas)
• ชื่อสามัญ : Grey Knifefish
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง
– ปลาสลาด
– ปลาฉลาด
ภาคอีสาน
– ปลาตอง (คนละชนิดกับปลาตองลาย)
ภาคเหนือ
– ปลาวาง (แม่ฮ่องสอน)
– ปลาหางแพน

แหล่งกำเนิด และการแพร่กระจาย
ปลาในสกุลนี้ พบในประเทศไทยจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ (1),(2)
1. ปลากราย (Notoptirus chitala)
2. ปลาสลาด/ปลาตอง (Notoptirus notopterus)
3. ปลาตองลาย (Notoptirus blanci)
4. ปลาสะตือ (Notoptirus borneensis)

ปลาสลาด แพร่กระจายในทวีปเอเชีย พบได้ในอินเดีย มาเลเชีย อินโดนีเซีย พม่า และลาว รวมถึงประเทศไทย พบได้ในแม่น้ำสายสำคัญในแต่ละประเทศ ได้แก่ แม่น้ำสายต่างๆในอินเดีย แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสาละวิน ในพม่า แม่น้ำเจ้าพระยา และต้นแม่น้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง ในประเทศไทย

สำหรับสลาด เป็นปลาที่พบทั่วไปในทุกภาคของไทย แต่พบมากในภาคกลาง และภาคเหนือ พบอาศัยตามแม่น้ำ หนอง บึง และอ่างเก็บน้ำ

จำนวนโครโมโซมของปลาสลาด 2n=42 เป็นอะโครเซนตริก 21 คู่ มีแขนโครโมโซม เท่า 42 หรือเท่ากับปลาตองลาย (2)

ลักษณะทั่วไป
ปลาสลาด มีลักษณะลำตัวยาว และแบนข้างมาก ลำตัวยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร หรือมากกว่า 30 เซนติเมตร หัวค่อนข้างลาดชันมาด้านหน้ามาก ลำตัวมีความกว้าง มุมปากอยู่บริเวณส่วนหลังของตา

ครีบปลาสลาดทุกครีบเป็นก้านครีบอ่อน ไม่มีก้านคีบแข็ง ประกอบด้วยครีบหลังที่มีก้านครีบ 8-9 ก้าน ขนาดครีบหลังใกล้เคียงกับครีบหู ครีบก้นติดกันเป็นแผงยาวตั้งแต่ท้องจนถึงครีบหาง มีก้านครีบ 100-110 ก้าน ส่วนครีบหางมีก้านครีบ 15 ก้าน ส่วนครีบหูมีก้านครีบ 15-17 ก้าน ส่วนครีบท้องมีขนาดเล็กมาก มีก้านครีบ 5 ก้าน

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%94

พื้นสีลำตัวของปลาสลาด มีสีขาวเงินอมเทาตลอดทั้งลำตัว ไม่มีลายหรือจุดบนลำตัว ส่วนสีบนหลัง สีของหาง และสีครีบก้นมีสีคล้ำ เกล็ดเป็นแบบ cycloid มีขนาดเล็กปกคลุมทั่วลำตัว มีเกล็ดบนแก้มขนาดใหญ่กว่าเกล็ดอื่นๆ ทั้งนี้ ปลาสลาดแตกต่างจากปลากรายที่ไม่มีจุดดำเหนือครีบก้นเหมือนกับปลากราย

ปลากราย
ปลากราย

อาหารปลาสลาด
ปลาสลาด เป็นปลากินสัตว์ มีอาหารสำคัญ ได้แก่ ลูกปลาขนาดเล็ก กุ้ง หอย และแมลงน้ำ รวมถึงบางครั้งพบกินรากไม้อ่อนหรือรากพืชน้ำบางชนิด

การผสมพันธุ์ และวางไข่
แม่ปลาสลาดตัวเต็มวัยที่เริ่มเข้าสู่การวางไข่ครั้งแรกจะมีขนาดยาวตั้งแต่ 20 เซนติเมตร ขึ้นไป แบ่งช่วงวางไข่ออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และช่วงที่ 2 ในช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายน มีความดกของไข่ในช่วง 113-814 ฟอง/ตัว/ครั้ง (3), (4)

ประโยชน์ปลาสลาด
1. ปลาสลาด มีรสชาติเนื้อคล้ายกับปลากราย จึงนิยมทำเป็นอาหารในหลายเมนู อาทิ ห่อหมกปลาสลาด แกงป่าปลาสลาด
2. ปลาสลาด นำมาแปรรูปเป็นลูกชิ้นปลาสลาด ปลาสลาดตากแห้ง ปลาสลาดรมควัน เป็นต้น
3. ปลาสลาดในปัจจุบันค่อนข้างหายาก พบการเพาะเลี้ยงเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนลำตัวมีลักษณะแบน ลำตัวมีสีเงินอมเทา และเป็นประกายเมื่อแสงส่อง ดังนั้น นอกจากประกอบอาหารแล้ว บางท่านยังนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้กระจก

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%941

เอกสารอ้างอิง
(1) สืบสิน สนธิรัตน, สุภาพ มงคลประสิทธิ์ และประจิตร วงศ์รัตน์, 2514, การศึกษาชนิดของปลาสลาด-
และปลากรายที่พบในไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(2) ธวัช ดอนสกุล และวิเชียร มากตุ่น, 2533, การศึกษาโครโมโซมของปลากราย ปลาตอง-
และปลาสลาดที่พบในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(3) วีระ ธูปบูชา และมาโนชญ์ เบญจกาญจน์, 2516, การศึกษาประสิทธิภาพของเครื่องมือข่าย-
ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์, รายงานประจำปีหน่วยงานพัฒนาประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์.
(4) จงดี ศรีนพรัตน์วัฒน, 2549, ชีวบางประการและผลจับปลาสลาด-
ด้วยลอบยืนในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์, มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์.