ปลาสร้อย และประโยชน์จากปลาสร้อย

15491
ปลาสร้อยขาว

ปลาสร้อย จัดเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่พบมากในทุกภาคของไทย ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่ง เนื่องจากพบจำนวนมาก โดยเฉพาะในฤดูฝนที่นิยมจับมารับประทาน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาต่างๆ อาทิ ปลาร้า ปลาส้ม ปลาตากแห้ง เป็นต้น

ปลาสร้อย เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กถึงกลาง พบแพร่กระจายในทุกภาคของไทย ตามแม่น้ำ หนองบึง และแหล่งน้ำท่วมถึง โดยเฉพาะตามอ่างเก็บน้ำในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน

ประโยชน์ปลาสร้อย
1. ปลาสร้อยเป็นปลาขนาดเล็กถึงกลางนิยมนำมาประกอบอาหารหลายชนิด อาทิ แกงส้ม ทอด ปิ้ง เป็นต้น
2. ปลาสร้อยหลายชนิดที่มีขนาดเล็กนิยมใช้ทำปลาร้า ปลาจ่อม และปลาตากแห้ง
3. ปลาสร้อยบางชนิดใช้ปล่อยเลี้ยงในตู้ปลาสำหรับเป็นปลาสวยงาม

ชนิดของปลาสร้อย
1. ปลาสร้อยขาว/ปลาสร้อยหัวแหลม (Cirrhinus jullieni, Henicorhynchus siamensis)(1),(3)
2. ปลาสร้อยนกเขา (Osteochilus hasselti)
3. ปลาสร้อยน้ำผึ้ง (Gyrinocheilus aymonieri)
4. ปลาสร้อยหัวแหลม (Crossocheilus reba)
5. ปลาสร้อยครีบแดง (Osteochilus spilopleura)
6. ปลาสร้อยไส้ตัน แบ่งเป็น 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– Cyclocheilichtys apogon
– Cyclocheilichtys armatus
– Cyclocheilichtys repasson
7. ปลาสร้อยตาแดง (Labeo dyocheilus)
8. ปลาสร้อยหางบ่วง (Barbichthys laevis)
9. ปลาสร้อยหลังขน (Labiobarbus spilopleura)
10. ปลาสร้อยหางจุด (Henicorhynchus lobatus)
11. ปลาสร้อยเล็บมือนาง (Epalzeorhynchos siamensis)
12. ปลาสร้อยข้างลาย (Osteochilus vittatus)

ปลาสร้อยขาว/หรือ ปลาสร้อยหัวกลม (Cirrhinus jullieni, Henicorhynchus siamensis)
อนุกรมวิธาน (4)
Phylum : Chordata
Class : Osteichthyes
Subclass : Actinopterygii
Order : Cypriniformes
Sunorder : Cyprinoidei
Family : Cyprinidae
Genus : Cirrhinus
Species : jullieni

ปลาสร้อยขาว
ปลาสร้อยขาว

ลักษณะทั่วไป
ปลาสร้อยขาว บ้างก็เรียก ปลาสร้อย ปลาสร้อยสวน หรือ ปลาสร้อยหัวกลม เป็นชนิดปลาสร้อยที่พบแพร่กระจายมากที่สุดในบรรดาปลาสร้อยทุกชนิด มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวมีความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ลำตัวกลมยาว และค่อนข้างแบน หัวค่อนข้างกลม และทู่ มีหนวด 1 คู่ หนวดมีขนาดเล็ก และหลุดง่าย ปากมีขนาดเล็ก อยู่ตรงส่วนปลายของหัว จงอยปากแหลม ริมฝีปากบางเรียบ ยืดหดได้ ปลายริมฝีปากล่างมีปุ่มขนาดเล็ก

ครีบหลังมี 1 ครีบ เป็นก้านครีบเดี่ยว 2-3 ก้าน ก้านครีบแขนง 8 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 2-3 ก้าน และก้านครีบแขนง 5 ก้าน เกล็ดมีขอบเรียบ ลำตัวมีสีขาวเงินหรืออมน้ำตาลเป็นประกาย ครีบหลังมีสีเทาอ่อน ครีบหางมีจุดสีดำเล็กๆ ส่วนครีบอื่นใส และโปร่งแสง ทั้งนี้ ปลาสร้อยขาวกินอาหารที่สำคัญ คือ ตะไคร่น้ำ และสาหร่าย

ปลาสร้อยขาวมีช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่แตกต่างกันในแต่ละท้องที่ แต่ทั่วไปจะอยู่ในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-กันยายน โดยมีฝน และการไหลหลากของน้ำเป็นปัจจัยกระตุ้น ซึ่งพอถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาสร้อยขาวจะว่ายเข้ารวมฝูงกัน และว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำ โดยขนาดลำตัวที่เริ่มเข้าสู่การผสมพันธุ์จะมีความยาวตั้งแต่ 11.0 เซนติเมตร ขึ้นไป ปริมาณไข่ในแต่ละครั้ง 23,550-90,500 ฟอง ไข่ที่ผสมแล้วจะฟักออกเป็นตัวภายใน 12-16 ชั่วโมง และจะถูกกระแสน้ำพัดพาไปยังบริเวณท้ายน้ำ และเติบโตต่อไป (1),(2)

ปลาสร้อยนกเขา (Osteochilus hasselti)
อนุกรมวิธาน (5)
Phylum : Vertebrata
Subphylum : Craniata
Class : Teleostomi
Subclass : Actinopterygii
Order : Cypriniformes
Sunorder : Cyprinoidei
Family : Cyprinidae
Genus : Osteochilus
Species : hasselti

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b2

ลักษณะทั่วไป
ปลาสร้อยนกเขา เป็นปลาสร้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาปลาสร้อยทุกชนิด และพบได้มากกว่าพอๆกับปลาสร้อยขาว ลำตัวยาวได้มากถึง 50 เซนติเมตร หนักได้มากถึง 4 กิโลกรัม แต่ทั่วไปที่จับได้จะยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวป้อมสั้น ส่วนท้องกลมหนา ปากมีขนาดเล็ก มีหนวด 2 คู่ จงอยปากสั้นทู่ ริมฝีปากบนยืดหดได้ ริมฝีปากล่างติดกับขากรรไกรล่าง เกล็ดมีขนาดใหญ่ เกล็ดส่วนหลัง และด้านข้างลำตัวมีแถบสีดำอมเขียว พาดยาวจากเหงือกเป็นแถว จำนวน 9 แถว ครีบหลังมีขนาดใหญ่ สีเหลืองอมส้ม ส่วนครีบหาง ครีบก้น และครีบท้องมีสีค่อนข้างแดง ครีบอกอาจมีสีเขียวหรือไม่มีสี โคนหางมีจุดสีดำ

เอกสารอ้างอิง
(1) ไพบูลย์ รุ่งพิบูลโสภิษฐ์ และธราพันธ์ วัฒนะมหาตม, 2527, การศึกษาชีวประวัติปลาสร้อยขาวใน-
อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน, สถานีประมงจังหวัดมหาสารคาม.
(2) ครรชิต วัฒนาติลกกุล และยงยุทธ นำบัณฑิต, 2530, ชีวประวัติบางประการของปลาสร้อยขาว-
Cirrhinus jullieni Sauvage, มหาวิทยาลัยเกษตรศาวสตร์.
(3) สันติ พ่วงเจริญ และ จารุมาศ เมฆสัมพันธ์, 2549, ฤดูกาลและแหล่งวางไข่ของปลาสร้อยขาว-
(Henicorhynchus siamensis de Beaufort, 1927)-
ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(4) วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล, 2542, ปรสิตในปลาสร้อยขาว Cirrhinus jullieni Sauvage-
จากแม่น้ำสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(5) จุฑาทิพย์ หลักเพ็ชร, 2540, ปรสิตในปลาสร้อยนกเขา Osteochilus hasselti-
(Cuvier & Valenciennes) ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์-
จังหวัดกาญจนบุรี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.