ปลายี่สกไทย (Seven stripped carp) เป็นน้ำจืดท้องถิ่นไทยที่พบได้มากตามแหล่งน้ำต่างๆ นิยมใช้ประกอบอาหารหลายอย่าง อาทิ ปิ้งย่าง แกงเหลือง และทอดมัน เป็นต้น เนื่องด้วยเนื้อปลายี่สกไทยให้เนื้อออกสีเหลือง เนื้อละเอียด ให้รสมัน หวาน ส่วนหนังค่อนข้างหนาจึงนิยมใช้ทอดหนังรับประทานได้อีก
• วงศ์ : Cyprinidae (ปลาตะเพียน/ปลานวลจันทร์)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Probarbus jullieni
• ชื่อสามัญ : seven stripped carp
• ชื่อเรียกท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– ปลายี่สก
– ปลายี่สกไทย
– ยี่สก
– ยี่สกไทย
ภาคอีสาน
– อีสก
– เอิน
– สะเอิน
– เอินตาแดง
ภาคเหนือ
– ยี่สกทอง
– อีสก
– กะสก
– ปลาเสือ
การแพร่กระจาย
ปลายี่สกไทย เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบแพร่กระจายในแม่น้ำต่างๆของประเทศไทย พม่า และลาว โดยประเทศไทยพบได้ในแม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำต้นสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงแม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงพบได้ทั่วไปตามอ่างเก็บน้ำ ลำห้วย และบึงต่างๆ แต่โยตามธรรมชาติก่อนฤดูกาลวางไข่จะชอบอาศัยตามแม่น้ำที่ไหลเอื่อยๆบริเวณแอ่งน้ำหรือวังตามแม่น้ำ ก่อนจะว่ายขึ้นต้นน้ำในฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และกลับมาอาศัยในแม่น้ำอีกครั้งเมื่อน้ำลงในช่วงเดือนตุลาคม-กันยายน
ลักษณะทั่วไป
ปลายี่สกไทย เป็นปลาขนาดใหญ่ มีลำตัวยาวได้มากกว่า 100 เซนติเมตร ลำตัวมีหัวค่อนข้างใหญ่ มีม่านตาสีแดงเรื่อ มีหนวดสั้นๆ 1 คู่ อยู่ที่มุมปากด้านบน ปากโค้งสั้น และยืดหดได้ อ้าปากไม่ได้กว้างมาก ภายในปากไม่มีฟันที่ขากรรไกร และเพดานปาก แต่จะมีฟันที่บริเวณคอหอย ลำตัวมีรูปร่างกลม และยาว คล้ายปลากะโห้ แต่ต่างที่ปลายี่สกไทยมีลักษณะกลม และยาวกว่า รวมถึงเกร็ดมีขนาดเล็กว่า โดยลำตัวปลายี่สกไทยจะมีเกร็ดสีเงินวาวหรือสีเหลืองทอง เรียงตัวเป็นระเบียบตามแนวยาวของลำตัว และมีแถบดำ 7 แถบ พาดเรียงจากเหงือกไปตามความยาวของลำตัวจนถึงโคนหาง เวลากินอาหารทำปากยืดหดได้
ขอบคุณภาพจาก www.siamfishing.com
ส่วนครีบประกอบด้วยครีบหลังที่มีก้านครีบแข็ง 3 อัน ครีบอกมี 1 คู่ อยู่บริเวณเหงือกด้านล่างสุด ครีบท้องมี 1 คู่ อยู่ติดกัน และอยู่บริเวณตรงกลางด้านท้องของลำตัว ครีบก้นมี 1 อัน อยู่ใกล้กับครีบหาง ส่วนครีบหางแยกเป็น 2 แฉก แฉกบนยาวกว่าแฉกล่าง
ปลายี่สกไทยกับปลายี่สกเทศ
– ปลายี่สกไทยมีม่านตาสีแดงเรื่อ ส่วนปลายี่สกเทศม่านตามไม่มีสีแดง
– ปลายี่สกไทยมีแถบดำ 7 แถบ พาดตามยาว ส่วนปลายี่สกเทศไม่มีแถบดำพาด
– ปลายี่สกไทยมีครีบทุกครีบมีทั้งออกค่อนข้างสีดำทั้งหมด โดยเฉพาะปลาที่ยังอายุน้อย หรือมีสีขาวเหลือบชมพูเล็กน้อย เมื่อมีอายุมาก ส่วนปลายี่สกเทศจะมีครีบทุกครีบสีแดงเรือที่แตกต่างกันชัดเจน
เพศปลายี่สกไทย
ปลาเพศผู้
– ลำตัวมีขนาดเล็กกว่า และเรียวยาวกว่าเพศเมีย
– ช่องเพศเป็นวงขนาดเล็ก มีสีแดงเรื่อ หากบีบท้องบริเวณใกล้กับช่องเพศจะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา
– มีตุ่มสิวสากมือขึ้นที่บริเวณแก้มมากกว่าเพศเมีย
ปลาเพศเมีย
– ลำตัวมีรูปร่างอ้วนป้อม และสั้นกว่าเพศผู้เมื่อเทียบกับตัวที่มีอายุใกล้เคียงกัน
– ช่องเพศมีลักษณะเป็นวงนูน และมีขนาดวงใหญ่กว่าเพศผู้ ส่วนสีจะมีสีชมพู ต่างกับเพศผู้ที่มีสีแดงเรื่อ
– ข้างแก้มมีตุ่มสิวน้อย และห่างกัน
ขอบคุณภาพจาก www.thaifishingcenter.com
อาหารปลายี่สกไทย
ปลายี่สกไทย เป็นปลาที่กินอาหารได้ทั้งพืช และสัตว์ มีอาหารสำคัญ คือ สาหร่าย และพืชน้ำต่างๆ กุ้ง หอย ลูกปลาขนาดเล็ก และแมลงต่างๆ
การผสมพันธ์ และวางไข่
เมื่อถึงฤดูวางไข่ ปลายี่สกไทยจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปหาแหล่งวางไข่บริเวณแอ่งน้ำที่เป็นต้นน้ำ เช่น ตามไร่นา ตามบึง ตามหนองน้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำหลัก หลังจากนั้น จะอาศัย และหากินในแหล่งน้ำนั้นจนถึงฤดูน้ำลด คือ ในช่วงเดือนตุลาคม จึงว่ายลงตามน้ำมาอาศัยในแม่น้ำหลัก
การพัฒนาทางเพศของปลาในฤดูผสมพันธุ์วางไข่พบว่า ปลาตัวผู้จะเปลี่ยนสีลำตัวเป็นสีคล้ำ อมม่วงและมีตุ่มสิว (pearl organ) ขึ้นบริเวณข้างแก้ม และครีบอก ในแม่น้ำโขงปลายี่สกไทยผสม พันธุ์วางไข่ในฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ฝูง ละ 30 – 40 ตัว บริเวณที่วางไข่อยู่ท้ายเกาะกลางน้ำ ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบมีความยาว 1 เมตร และมีน้ำหนักถึง 40 กิโลกรัม แต่ปลาส่วนใหญ่ที่จับได้มักมีความยาวประมาณ 60-90 เซนติเมตร น้ำหนัก 6-18 กิโลกรัม พบตามแหล่งน้ำใหญ่ของภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง การกินอาหารตาม ธรรมชาติของปลายี่สกไทยพบว่า ปลากินหอย ปู พืชน้ำ ตะไคร่น้ำ ไรน้ำ และสัตว์หน้าดิน
ไข่ปลา ยี่สกไทยมีลักษณะครึ่งจมครึ่งลอย และสามารถยึดติดกับวัตถุได้ ลักษณะของไข่กลม มีสีเหลือง ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร และหากอยู่ในน้ำจะพองตัวออกมากกว่า 2 มิลลิเมตร โดยแม่ปลายี่สกไทยที่หนักประมาณ 14 กิโลกรัม จะไข่ประมาณ 215 ฟอง/กรัม ของพวงไข่ 2,400 กรัม หรือจะให้ไข่ทั้งหมดที่ 500,000 ฟอง หลังจากวางไข่แล้ว ไข่ฟักเป็นตัวภายใน 3 วัน
การเลี้ยงปลายี่สกไทย
การเพาะขยายพันธุ์
การเพาะพันธุ์ด้วยการฉีดฮอร์โมน โดยจะฉีดให้ 2 ครั้ง ครั้งแรกฉีด suprefact ขนาด 5 ไมโครกรัม และ Motiliuim 5 มิลลิกรัม หลังจากนั้น อีก 6 ชั่วโมงจึงฉีดเข็มที่ 2 โดยเพิ่ม suprefact เป็น 15 ไมโครกรัม สำหรับแม่พันธุ์ แต่พ่อพันธุ์ใช้เท่าเดิม และปล่อยให้พร้อมอีก 4-6 ชั่วโมง ก่อนจะนำแม่ปลามารีดไข่ใส่ชาม และรีดน้ำเชื้อตัวผู้ที่ผสมกับน้ำเกลือเข้มข้น 0.3-0.5% แล้วกวนด้วยขนไก่ให้เข้ากัน ก่อนจะนำไข่ใส่มุ้งฟักลงไว้ในบ่อฟัก ซึ่งไข่จะฟักเป็นลูกปลาภายใน 2-3 วัน ทั้งนี้ การฉีดฮอร์โมนข้างต้นจะใช้ในหน่วยของน้ำหนักตัวปลา 1 กิโลกรัม
การอนุบาล
หลังจากที่ลูกปลาฟักออกจากไข่แล้วประมาณ 3-5 วัน ให้เริ่มให้อาหารด้วยไข่ต้มบด ร่วมกับไรแดงจนตลอด 7-10 วัน หลังการฟัก ก่อนจะเปลี่ยนมาให้เนื้อปลาบดร่วมกับไรแดงต่อจนถึงอายุประมาณ 1 เดือน หลังการฟัก และเลี้ยงต่อด้วยไรแดง ปลาบด ร่วมกับอาหารปลาสำเร็จรูปอีกประมาณ 2-3 เดือน ก่อนจะนำลูกปลาแยกเลี้ยงในบ่อดินหรือกระชังต่อไป
การเลี้ยงปลารุ่น
การเลี้ยงปลายี่สกไทย อาจเลี้ยงในบ่อดินหรือในกระชังก็ได้ ซึ่งควรปล่อยพันธุ์ปลาที่มีขนาด 2-4 นิ้ว ลงเลี้ยง และให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น ด้วยอาหารสำเร็จรูปสำหรับกินพืชหรือสัตว์ ร่วมด้วยกับอาหารเสริมที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น เศษผัก ปลวกหรือแมลงต่างๆ