ปลาทับทิม และการเลี้ยง

44473

ปลาทับทิม เป็นปลาที่นิยมเลี้ยง เนื่องจากเป็นปลาที่มีสีสัน และให้เนื้อค่อนข้างมาก และมีรสชาติเหมือนปลานิล การเลี้ยงง่าย อัตราการเติบโตสูง ราคาในตลาดค่อนข้างคงที่ และมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในร้านอาหาร และตามโรงแรมหรือภัตราคาร

ประวัติปลาทับทิม
ปลาทับทิม (Nile tiapia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus-mossambicus เป็นปลาที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ปลานิล นำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ทรงจัดส่งปลานิล จำนวน 50 ตัว ความยาวเฉลี่ย ตัวละประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักต่อตัวประมาณ 14 กรัม เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ปลานิลจิตรลดา” และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกชื่อสั้นๆว่า ปลานิล และปีพ.ศ. 2532 บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ในโครงการปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดา โดยคัดเลือกสายพันธุ์ปลานิลจากสายพันธุ์ทั่วโลก 4 สายพันธุ์ ได้แก่
1. ปลานิลสายพันธุ์จากอเมริกา ลักษณะเด่น คือ มีสีสวย เนื้อสวย
2. ปลานิลสายพันธุ์จากอิสราเอล ลักษณะเด่น คือ มีหัวเล็ก สันหนา
3. ปลานิลสายพันธุ์จากไต้หวัน ลักษณะเด่น คือ โตเร็ว
4. ปลานิลสายพันธุ์จากจิตรลดา ของประเทศไทย ลักษณะที่โดดเด่น คือ มีความอดทน แข็งแรง

จากนั้น นำปลานิลทั้ง 4 สายพันธุ์มาผสมข้ามสายพันธุ์กัน เพื่อให้ได้ลักษณะเด่นของแต่ละสายพันธุ์และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง จนได้สายพันธุ์ใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “ปลาทับทิม” เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2541

ลักษณะปลาทับทิม
ปลาทับทิมเป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลานิล ที่มีการผสมข้ามสายพันธุ์กับปลานิลแดงของต่างประเทศที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน จนได้ปลาทับทิมพันธุ์แท้ที่มีรูปร่างลักษณะเฉพาะตัว มีคุณภาพของเนื้อที่หวาน นุ่ม และมีสีสวยงาม  การพัฒนา และคัดเลือกสายพันธุ์ปลาทับทิมจนได้สายพันธุ์มีคุณภาพเนื้อปลาสูง ทำให้ลดความด้อยในสีเดิมของปลานิลแดงพ่อแม่พันธุ์ คือ สีกระที่มีสีดำเจือปนจนเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ที่มีสีแดงอมชมพูหรือมีสีเหลืองอ่อน มีครีบเป็นสีแดง เนื้อ และผนังช่องท้องเป็นสีขาว มีลำตัวหนาทำให้มีเนื้อมาก และมีส่วนหัวเล็ก นอกจากนี้ ยังมีสีผิวของปลาทับทิมที่เด่นชัดกว่าปลานิลแดง และมีคุณภาพของเนื้อปลาที่มีความหวานและนุ่มกว่า

ปลาทับทิม
ปลาทับทิม

รูปด้านบน แสดงลักษณะปลาทับทิมที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลานิลแดง เพื่อลดความด้อยในส่วนของสีเดิม จนได้ปลาทับทิมที่มีสีแดงอมชมพูหรือมีสีเหลืองอ่อน แต่มีครีบทุกครีบเป็นสีแดง เนื้อ และผนังช่องท้องเป็นสีขาว

ปลานิลจิตรลดา
ปลานิลจิตรลดา

รูปด้านบน แสดงลักษณะปลานิลพันธุ์จิตรลดา ที่มีลักษณะริมฝีปากบน และล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ลำตัวมีลายพาดขวาง 9 – 10 แถบ ครีบหลังมีเพียง 1 ครีบ ที่เป็นก้านครีบแข็ง และก้านครีบอ่อนจำนวนมาก ครีบก้นเป็นก้านครีบแข็ง และอ่อนเช่นกัน มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว 33 เกล็ด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม บริเวณกระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่จุดหนึ่ง บริเวณส่วนอ่อนของครีบหลัง ครีบก้น และครีบหาง มีจุดสีขาว และสีดำตัดขวาง ดูคล้ายลายข้าวตอก

ปลานิลแดง
ปลานิลแดง

รูปด้านบน แสดงลักษณะปลานิลแดง ซึ่งกลายพันธุ์มาจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ปลานิลกับปลาหมอเทศ มีลักษณะแตกต่างจากปลานิลธรรมดา คือ มีสีแดงแต่ยังมีกระที่มีสีดำเจือปนหรือที่เรียกว่าสีกระดำกระด่าง ตัวปลาบริเวณผนังช่องท้องเป็นสีขาวเงิน คล้ายผนังช่องท้องปลากินเนื้อ และสีเนื้อปลาเป็นสีขาวชมพู คล้ายเนื้อปลาทะเล

ลักษณะเด่นปลาทับทิม
1. มีอัตราเจริญเติบโตเร็ว
2. มีปริมาณเนื้อที่บริโภคได้ต่อนํ้าหนักสูง ประมาณร้อยละ 40 และมีสันหนามาก
3. มีส่วนหัวเล็ก โครงกระดูกเล็ก และมีก้างน้อย
4. มีเส้นใยกล้ามเนื้อละเอียด และแน่น ทำให้มีรสชาติดี
5. เป็นปลาที่ปราศจากกลิ่นคาว
6. มีความทน และเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำที่มีความเค็มสูง
7. สามารถเลี้ยงได้ในกระชังที่มีความหนาแน่นสูงได้ โดยไม่มีผลต่อน้ำหนัก
8. มีสีผิวแดงส้มอมชมพู เนื้อปลามีสีขาว น่ารับประทาน
9. เป็นปลาที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และมีความต้านทานต่อโรคได้ดี

คุณค่าทางอาหารปลาทับทิม
คุณค่าทางอาหารทางด้านโปรตีน ไขมัน พลังงาน และโอเมก้า-3 ของเนื้อปลาปลาทับทิม โดยบริษัท กรุงเทพฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำกัด พบว่า ปริมาณไขมันในเนื้อปลาทับทิมมีปริมาณต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยมีปริมาณไขมันเพียง 0.9 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีผลดีต่อผู้บริโภค คือ ไม่เกิดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โดยค่าโอเมก้า-3 ในปลาทับทิมมีมากถึง 4.0 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เนื้อสัตว์อื่นๆไม่พบเลยหรือพบน้อยมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า ปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า-3 มีค่าสูงกว่าปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อยตามธรรมชาติทั่วไป ถึง 4 เท่า

ปริมาณสารอาหารในเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ
ไขมัน (ร้อยละ)
หมู : 35.0
ไก่ : 25.0
วัว : 22.0
เป็ด : 6.0
กุ้ง : 1.6
ปลาทับทิม : 0.9

โปรตีน (ร้อยละ)
หมู : 14.1
ไก่ : 18.0
วัว : 17.5
เป็ด : 19.8
กุ้ง : 22.0
ปลาทับทิม : 19.0

พลังงาน (แคลอรี่/100 กรัม)
หมู : 376.0
ไก่ : 302.0
วัว : 273.0
เป็ด : 139.0
กุ้ง : 84.0
ปลาทับทิม : 91.0

โอเมก้า-3 (ร้อยละ)
หมู : 0
ไก่ : 0
วัว : 0
เป็ด : 0
กุ้ง : 0
ปลาทับทิม : 4.0

เมนูอาหารจากปลาทับทิม ได้แก่
– ปลาทับทิมนึ่งซีอิ๊ว
– ปลาทับทิมนึ่งมะนาว
– ปลาทับทิมสามรส
– ปลาทับทิมทอดกับยำพริกเกลือ
– แกงกะหรี่ปลาทับทิม
– ต้มยำปลาทับทิม
– ลาบปลาทับทิม

รูปแบบการเลี้ยงปลาทับทิม
รูปแบบการเลี้ยงปลาทับทิม จำแนกตามลักษณะแหล่งน้ำที่เลี้ยง  ได้แก่
1. การเลี้ยงในบ่อดิน
เป็นการเลี้ยงในบ่อที่ขุดบริเวณพื้นที่ว่าง โดยคันบ่อ ขอบบ่อ และก้นบ่อเป็นดิน และไม่ใช้วัสดุกันน้ำใดๆรองพื้นหรือที่เรียกว่า บ่อน้ำหรือสระ บ่อเลี้ยงในลักษณะนี้มักเป็นบ่อขนาดใหญ่เป็นไร่หรือมากกว่า มีความลึกของบ่อตั้งแต่ 2 เมตร การเลี้ยงในลักษณะนี้จำเป็นต้องมีปริมาณน้ำมากเพียงพอ เพราะจำเป็นต้องใช้น้ำมาก

2. การเลี้ยงในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
การเลี้ยงในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จะเป็นลักษณะการเลี้ยงในกระชังเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ปลาอยู่ในพื้นที่เลี้ยง ขนาดความลึกของน้ำไม่ควรต่ำกว่า 5 เมตร มีค่าความขุ่นใสไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร

3. การเลี้ยงในแม่น้ำ
การเลี้ยงในแม่น้ำจัดเป็นการเลี้ยงในกระชังเช่นกัน แม่น้ำควรมีน้ำไหลตลอดฤดูกาลเลี้ยง หากเป็นพื้นที่ใกล้ปากอ่าว ควรให้กระชังห่างจากปากอ่าวมากที่สุด อย่างน้อย 20 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้น้ำมีการเปลี่ยนแปลงความเค็มหรือคุณภาพมากเกินไป

4. การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
เป็นการเลี้ยงที่ใช้วิธีการสร้างบ่อน้ำด้วยการก่อบ่อซีเมนต์สี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมักเลี้ยงในโรงเรือนที่สามารถป้องกันน้ำฝนได้ การเลี้ยงลักษณะนี้จะเลี้ยงได้ในปริมาณน้อย จากปัญหาเรื่องพื้นที่จำกัด และอาจต้องใช้เครื่องเติมอากาศเข้าช่วยเพื่อให้ออกซิเจน

การเลี้ยงตามลักษณะการจำหน่าย
1. การเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนา เป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภค และเพื่อการจำหน่าย โดยส่วนที่จำหน่ายจะเป็นส่วนที่เหลือจากการบริโภค การเลี้ยงลักษณะนี้มุ่งเน้นให้มีต้นทุนต่ำ โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือวัสดุที่หาได้ตามท้องถิ่นเป็นอาหารแก่ปลาเป็นหลัก ร่วมกับการหากินเองของปลาตามธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก เศษพืชผัก ปลวก เป็นต้น

2. การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ หรือการเลี้ยงแบบเข้มข้นเพื่อการจำหน่ายเป็นหลัก อาหารที่เลี้ยงจะเป็นอาการสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดเป็นหลัก เพราะเป็นการเลี้ยงเพื่อให้ปลาได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ทำหให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว ปลาที่มีขนาดใหญ่ และเป็นไปตามความต้องการของตลาด อัตราการปล่อยเลี้ยงจะใช้แบบหนาแน่น และให้อาหารมาก เพื่อย่นระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง

3. การเลี้ยงระบบฟาร์มลูก เป็นรูปแบบการเลี้ยงที่เกษตรเป็นเครือข่ายของบริษัทผู้พัฒนาพันธุ์ปลา โดยบริษัทจะให้การสนับสนุนในหลายด้าน อาทิ พันธุ์ปลา ยา และอาการ รวมถึงการให้คำปรึกษา และการแก้ปัญหาตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถผลิตปลาทับทิมได้มีคุณภาพดี และสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ในด้านการตลาด บริษัทเครือข่ายจะเป็นผู้รับชื้อในราคาต่อหน่วยกิโลกรัมปลา โดยที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องวิ่งหาตลาดเอง

พันธุ์ปลาที่เลี้ยง
ลูกพันธุ์ปลาทับทิมที่นำมาเลี้ยง ควรหาซื้อจากฟาร์มที่มีความน่าเชื่อถือ หรือจากบริษัทผู้ผลิตพันธุ์ปลาโดยตรง นอกจากนั้น หากเกษตรกรมีการเลี้ยงจำนวนมาก และเป็นผู้มีความรู้ในด้านการเพาะขยายพันธุ์ปลา อาจทำการเพาะขยายพันธุ์ปลาเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเรื่องพันธุ์ปลาลงได้มาก