ปลาช่อน และการเลี้ยงปลาช่อน

22609

ปลาช่อน (Snake head fish) เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยมาก เนื่องจากเป็นปลาที่นิยมนำมาประกอบอาหารมากชนิดหนึ่ง เพราะเป็นปลาที่ให้เนื้อสีขาวน่ารับประทาน มีเนื้อมาก เนื้อนุ่มอร่อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ทำให้ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายในท้องตลาด ตกกิโลกรัมละกว่า 150-200 บาท และหากเป็นปลาช่อนนาจะมีราคาที่สูงกว่าเล็กน้อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Channa striata
ชื่อสามัญ :
– Striped snake head fish
– Snake head fish
– Serpent head fish
– Murrel

ชื่อไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ปลาช่อน

ภาคเหนือ และอีสาน
– ปลาค้อ
– ปลาคอ

อนุกรมวิธาน
Kingdom: Animalia
Phylum: Chordata
Class: Actinopterygii
Order: Perciformes
Family: Channidae
Genus: Channa
Species: Channa striata

ประโยชน์จากปลาช่อน
ปลาช่อน เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นทีนิยมรับประทานมาก นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู อาทิ ต้มยำปลาช่อน ทอดปลาช่อน ห่อหมกปลาช่อน เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของปลาช่อน (100 กรัม)
• พลังงาน 122 (Kcal)
• โปรตีน 20.5 (g)
• ไขมัน 3.8 (g)
• คาร์โบไฮเดรต 1.4 (g)
• แคลเซียม 31 (mg)
• ฟอสฟอรัส 218 (mg)
• เหล็ก 5.8 (mg)
• เบต้าแคโรทีน 0 (μg)
• วิตามินเอ 0 (μg)
• ไทอามีน 0.09 (mg)
• ไรโบฟลาวิน 0.12 (mg)
• ไนอาซิน 1.1 (mg)
• เถ้า 1.2 (g)

ที่มา: กองโภชนาการ, 2544(1)

ลักษณะของปลาช่อน
ปลาช่อนเป็นปลามีเกล็ด หัวมีลักษณะค่อนข้างใหญ่ และแบนลงด้านหน้า ตามีลักษณะกลมใหญ่ อยู่ถัดจากขอบริมฝีปากมาเล็กน้อย ลำตัวมีลักษณะอ้วน กลม และเรียวยาว โคนหางมีลักษณะแบนข้าง เกล็ดลำตัวมีขนาดใหญ่ สีเทาจนถึงน้ำตาลอมเทา เกล็ดด้านท้องมีขนาดเล็กกว่า และมีสีจางกว่าหรือเป็นสีขาว ทั้งนี้ สีเกล็ดขึ้นอยู่กับสีของน้ำตามแหล่งอาศัย ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง บริเวณหลังเหนือเส้นข้างลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มหรือเกือบดำ เกล็ดปกคลุมมุกส่วนของลำตัว ยกเว้นส่วนหัว

ปลาช่อน

ปลาช่อนอ้าปากได้กว้าง เพราะมีมุมปากยาวถึงตา และมีขากรรไกรยืดหดได้ มีริมฝีปากล่างยื่นยาวมากกว่าริมฝีปากบน ภายในปากมีฟันซี่เล็กๆอยู่บนขากรรไกรบน และล่าง มีฟันเขี้ยวบนเพดาน

ครีบปลาช่อนไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลัง และครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหลังมีก้านครีบ อ่อน 37-45 อัน ส่วนครีบก้นมีก้านครีบ 23-26 อัน ครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบหางมีลักษณะกลม ปลายมน ครีบท้องจาง โดยทั่วไปพบมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร แต่สามารถพบขนาดใหญ่ได้กว่า 1 เมตร

ลูกปลาช่อนที่ฟักออกจากไข่จะมีลำตัวสีแดงหรือแดงส้ม และค่อยๆเปลี่ยนเป็นแถบสีลายเหลืองในส่วนท้อง และแถบลายดำอมเขียวบนลำตัวส่วนบน ต่อมาลำตัวมีจาง ไม่มีลาย และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำในส่วนบน และส่วนท้องเป็นสีขาว ตามอายุที่เติบโต

ปลาช่อน เป็นปลาที่ทนต่อสภาพขาดน้ำ และขาดออกซิเจนได้ดี เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยหายใจ มีลักษณะเป็นปุ่มหรือริ้วอยู่บริเวณโพรงเล็กๆเหนือช่องเหงือก โดยในขณะที่เหงือกไม่ได้ใช้งาน เช่น อยู่บนบก อวัยวะนี้จะทำหน้าที่ดูดออกซิเจนแทน และใช้ทำหน้าที่ร่วมกับเหงือกในสภาพที่น้ำขาดออกซิเจน จึงทำให้ปลาช่อนทนต่อสภาพขาดน้ำ และออกซิเจนได้ดี

การแพร่กระจาย
ปลาช่อนสามารถพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติในทุกภาคของไทย อาทิ แม่น้ำ บ่อน้ำ อ่างเก็บน้ำ หนอง บึง และนาข้าว ชอบอาศัยตามแหล่งน้ำที่มีพรรณไม้น้ำ ในระดับน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร

ปลาช่อน ในช่วงต้นฤดูฝนจะอพยพย้ายแหล่งอาศัย เพื่อออกวางไข่ และหากินใหม่ เมื่อน้ำลด โดยเฉพาะช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว ปลาช่อนจะเริ่มอพยพกลับเข้มมาอาศัยในแหล่งน้ำเดิมหรือเข้าอาศัยในแหล่งน้ำใหม่ที่เป็นแหล่งเก็บน้ำ เช่น บ่อน้ำ ลำห้วย บึง เป็นต้น

อาหาร และการหาอาหาร
ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ (ความยาวทางเดินอาหารน้อยกว่าความยาวลำตัว เพียง 0.6 เท่า ของความยาวลำตัว) ในช่วงฤดูฝน ปลาช่อนจะออกหาแหล่งวางไข่ และแหล่งอาหารใหม่ตามทุ่งนาที่มีน้ำหนอง เป็นปลาที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืน หาอาหารทั้งในระดับผิวน้ำ และท้องน้ำมีการเคลื่อนไหวช้า แต่หากพบเหยื่อจะเข้าฮุบเหยื่ออย่างรวดเร็ว

ลูกปลาช่อนจะกินอาหารจำพวกแพลงค์ตอนพืช แพลงค์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสัตว์น้ำ หรือแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร ส่วนปลาช่อนที่เติบโตแล้วจะมีอาหารหลัก ได้แก่ ปลาขนาดเล็ก กุ้ง ปู กบ ไส้เดือน แมลง และซากเน่าเปื่อยต่างๆ แต่อาหารหลักจะเป็นปลาขนาดเล็ก

ปลาช่อนที่มีความยาวลำตัว 5 เซนติเมตร สามารถกินปลาที่มีความยาว 2.3 เซนติเมตรได้ และปลาช่อนที่มีความยาวลำตัว 40 เซนติเมตร สามารถกินปลาที่มีความยาว 14.7 เซนติเมตรได้

การผสมพันธุ์ และการวางไข่
ปลาช่อนสามารถเริ่มวางไข่ได้เมื่อลำตัวมีขนาดยาว 20 เซนติเมตร หรือมีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป เป็นปลาที่วางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปี มีฤดูกาลผสมพันธุ์ และวางไข่ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และเริ่มสร้างไข่ตั้งแต่เดือนมีนาคม และจะพร้อมวางไข่มากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

การแยกเพศปลาช่อนในช่วงผสมพันธุ์ ปลาช่อนเพศเมีย เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่จะสังเกตได้ง่าย เนื่องจาก ช่วงนี้ส่วนท้องจะอูมใหญ่ อวัยวะเพศมีสีชมพูรื่อ และครีบท้องของปลาตัวเมียจะสั้นปลาตัวผู้ ส่วนปลาตัวผู้เมื่อเข้าช่วงผสมพันธุ์ก็จะมีสีลำตัวเข้มขึ้น ส่วนใต้คางจะมีสีขาว

ในธรรมชาติ ปลาช่อนจะสร้างรัง และวางไข่บริเวณริมฝั่งที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นน้อย ระดับความลึกประมาณ 30-100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะทำหน้าที่สร้างรัง ด้วยการกัดหญ้ารอบข้างออกเพื่อทำให้รังเป็นวงกลม และเศษกอหญ้าจะลอยปกคลุมด้านบน ส่วนหน้าดินก็จะตีแปลงจนหน้าดินเรียบ หลังจากนั้น พ่อแม่ปลาจะเข้ารัดกัน พร้อมปล่อยไข่ และฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมกัน

หลังจากวางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะอยู่โดยรอบบริเวณรัง เพื่อป้องกันปลาอื่นเข้ามากินไข่หรือลูกปลา และจะดูแลต่อจนกระทั่งลูกปลามีขนาด 4.5-6 เซนติเมตร จึงเริ่มแยกตัวออกไปหากินตามลำพัง ลูกปลาในระยะนี้จะเรียกว่า ปลาลูกครอกหรือลูกชักครอก ซึ่งเกษตรกรสามารถชอนรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาอนุบาลต่อสำหรับการเลี้ยงในบ่อดินต่อไป

ปลาลูกคอก

ลูกปลาที่ฟักออกใหม่จะลำตัวมีสีเหลืองส้ม มีถุงไข่แดง มักลอยตัว และว่ายบริเวณผิวน้ำรวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีแม่ปลาว่ายอยู่ด้านล่างเพื่อป้องกันภัยให้จนกว่าลูกปลาจะเติบโต และสามารถออกหาอาหารได้เพียงลำพัง โดยลูกปลาจะเริ่มแตกฝูงเมื่อมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4.5-6 เซนติเมตร

ตามธรรมชาติแล้ว ปลาช่อนเองเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบไล่กัดปลาชนิดอื่น โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่ แม่ปลาช่อนจะมีนิสัยดุร้ายมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่ลูกปลา

การแยกเพศปลาช่อน
ปลาเพศเมียจะมีส่วนท้อง และอวัยวะเพศอูมเป่ง โดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ อวัยวะเพศจะอูมเป่งมาก และมีสีชมพูรื่อ ดังที่กล่าวข้างต้น

ปลาเพศเมียมีขนาดลำตัวสั้น และมีส่วนหัวแคบกว่าปลาเพศผู้ ส่วนน้ำหนักปลาเพศเมียจะมีมากกว่าเพศผู้ และมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบอายุ ส่วนปลาเพศผู้ลำตัวจะเรียวยาว ลำตัวเล็ก และน้ำหนักน้อยกว่า

การเลี้ยงปลาช่อน
พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อน ควรมีรูปร่างที่สมบูรณ์ หนักประมาณ 0.8-1 กิโลกรัม ขึ้นไป และให้มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยปลาช่อนเพศเมียควรมีท้องอูม มีติ่งเพศสีแดงชมพู หากบีบส่วนท้องจะมีไข่ไหลออกมา ส่วนพ่อพันธุ์ ควรมีติ่งเพศสีชมพูเรื่อๆ

การเพาะพันธุ์อาจเพาะในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ที่มีำน้ำลึกประมาณ 1.0-1.5 เมตร น้ำค่อนข้างใส และควรใส่พืชน้ำใว้บางส่วนให้ลอยเหนือน้ำ

วิธีเพาะพันธุ์ปลาช่อน
1. การเพาะเลียนแบบธรรมชาติ
เป็นวิธีการเพาะพันธุ์ที่เลียนแบบธรรมชาติ ด้วยการเพาะในบ่อดิน ขนาดประมาณ 0.5-1.0 ไร่ และใช้วิธีจัดสภาพบ่อให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติ เช่น ปล่อยให้หญ้าหรือพืชน้ำขึ้นริมฝั่ง มีการปล่อยผักบุ้ง หรือพืชน้ำอื่นที่เหมาะสม อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 1:1ให้อาหารโดยใช้ปลาเป็ดผสมรำหรืออาหารสำเร็จรูป
2. การเพาะด้วยการผสมเทียม
เป็นวิธีการเพาะโดยการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ และมักเพาะในบ่อซีเมนต์เพาะพันธุ์ปลา ด้วยการฉีดฮอร์โมนเร่งให้แม่ปลาวางไข่และรีดไข่มาผสมกับน้ำเชื้อที่รีดได้จากตัวผู้ หรือหลังการฉีดฮอร์โมนทั้งตัวเมีย และตัวผู้แล้วปล่อยให้ผสมกันเองตามธรรมชาติ ฮอร์โมนที่ใช้ ได้แก่ LHRHa หรือ LRH-a และใช้ร่วมกับ domperidone และไข่ปลาช่อนที่ผสมแล้วจะมีสีเหลือง ไข่จะลอยน้ำ และจะใช้เวลาฟักประมาณ 30-35 ชั่วโมง หลังการวางไข่

การอนุบาลลูกปลาช่อน
การอนุบาลลูกปลาช่อนจะเริ่มให้อาหารภายหลังฟักออกจากไข่ประมาณวันที่ 4-5 หรือจนกว่าถุงไข่แดงจะยุบ โดยใช้ไข่แดงต้ม บดละลายน้ำ และกรองผ่านผ้าขาวบางให้ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง หลังจากนั้นประมาณวันที่ 6-8 ค่อยให้ไรแดงจนถึงอายุ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น ค่อยเริ่มให้อาหารเสริม เช่น รำละเอียด ปลาป่น และเนื้อปลาสดสับ ทั้งนี้ ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 1-2 วัน ในปริมาณน้ำที่ร้อยละ 50 ของทั้งหมด

การเตรียมบ่อ
1. พื้นที่ใช้เลี้ยง ควรมีขนาดไม่ต่ำกว่าครึ่งไร่ โดยการขุดบ่อลึก 1.5 – 2 เมตร และทำคันบ่อสูงประมาณ 1 เมตร
2. หากเป็นบ่อเก่า ให้สูบน้ำ และเก็บปลาออกให้หมด หรือโรยโล่ติ๊นเพื่อกำจัดปลาที่หลงเหลือ พร้อมหว่านโรยด้วยปูนขาว อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่ และตากบ่อนาน 7-10 วัน
3. ให้กั้นรั้วตาข่ายหรือไนล่อนบริเวณคันบ่อเพื่อป้องกันปลาช่อนกระโดดหนี
4. ปล่อยน้ำเข้าหรือรอฝนตกให้มีระดับน้ำ สูงประมาณ 20-30 ซม. แล้วค่อยใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 40-80 กิโลกรัม/ไร่
5. ปล่อยน้ำเข้าหรือให้ฝนตกจนมีระดับน้ำสูงประมาณ 0.5-1 เมตร แล้วค่อยปล่อยลูกปลาช่อน

การเลี้ยงในบ่อ
หลังจากอนุบาลลูกปลาช่อนให้ได้ขนาดความยาว 6-8 เซนติเมตร ก็สามารถนำมาปล่อยเลี้ยงในบ่อได้ อัตราการปล่อยที่ 40-50 ตัว/ตารางเมตร หรือประมาณ 65,000-80,000 ตัว/ไร่ โดยให้ใช้ฟอร์มาลีนเติมลงในบ่อ ที่ความเข้มข้นประมาณ 30 ppm (3 ลิตร/น้ำ 100 ลบ.ม.) ทั้งนี้ ในวันที่ที่ปล่อยลูกปลาไม่ต้องให้อาหาร และให้เริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น

อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อน ได้แก่ ปลาเป็ดผสมรำหรือหัวอาหาร ในอัตราส่วนร้อยละ 70:30 ปริมาณการให้ที่ร้อยละ 4-5 ของน้ำหนักตัวปลา โดยการหว่านหรือวางอาหารบนตะแกรง และวางให้ลอยใต้ผิวน้ำ 2-3 เซนติเมตร ให้วางในหลายจุด

เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 5-6 เดือน ปลาช่อนจะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม/ตัว หรือมากว่า หากต้องการจับจำหน่ายให้งดอาหาร 1-2 วัน ก่อนจับ การจับจะใช้วิธีการสูบน้ำออก และตีอวน แล้วค่อยสูบน้ำออกให้แห้ง และค่อยตามจับออกให้หมด

โรค และการป้องกัน
1. โรคที่เกิดจากปรสิตที่มักพบ ได้แก่ เห็บระฆัง ปลิงใส หนอนสมอ ที่มักเห็นเกาะติดลำตัวเพื่อดูดกินเลือด หากมีจำนวนมากจะทำให้เกล็ดบริเวณนั้นหลุด ลำตัวผอม หัวโต และมีรอยแผลเป็นจุดตามลำตัว แก้ไขโดยการฉีดพ่นด้วยดิปเทอร์เรกซ์ 800 กรัม/ไร่ ปล่อยไว้ 2-3 วัน แล้วถ่ายน้ำใหม่ หรือนำมาแช่ในสารละลายฟอร์มาลีน 150-200 ซีซี/น้ำ 1,000 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน
2. โรคท้องบวมหรือเกล็ดหลุด หรือเป็นแผลตามลำตัว ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แก้ไขโดยให้ใช้เทอรามัยซิน 2 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
3. โรคพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวหนาม ทำให้ปลามีลำตัวผอม และกินอาหารลดลง แก้ไขโดยใช้ยาถ่ายพยาธิผสมในอาหาร

ความแตกต่างระหว่างปลาช่อนเลี้ยงกับปลาช่อนธรรมชาติ
• ปลาช่อนนา หรือ ปลาช่อนตามธรรมชาติ จะมีสีเกล็ดได้หลายสี ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่อาศัย แต่ปกติปลาช่อนนาจะมีสีเกล็ดที่เป็นลายหรือมีสีเกล็ดค่อนข้างจางเหลือง ต่างจากปลาช่อนเลี้ยงที่มักมีสีเกล็ดดำสนิทไปทั่วลำตัว

• รูปร่างปลาช่อนนามักหัวค่อนข้างใหญ่ และยาว ปากค่อนข้างแบน ส่วนปลาช่อนเลี้ยงมักมีลำตัวอวบอ้วนได้สัดส่วน

• ปลาช่อนนา เมื่อผ่าท้องมักไม่พบไขมันติดลำไส้ ส่วนปลาช่อนเลี้ยงจะพบมีไขมันติดบริเวณลำไส้มาก

วิธีจับปลาช่อนตามธรรมชาติ
• การใส่เบ็ด โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เบ็ด (แท่งไม้ไผ่รัดด้วยเชือกค้องเบ็ด) ด้วยการใช้เหยื่อ เช่น ไส้เดือน ลูกปู ลูกอ๊อด เป็นต้น วิธีนี้มักใช้จับในฤดูหลังการทำนาจนถึงช่วงก่อนเก็บเกี่ยวข้าว

• การใส่หลุมดัก โดยการใช้ไห หรือ ถังน้ำขนาดเล็กที่มีปากแคบ ฝังบริเวณคันนาที่เชื่อมติดกับบ่อน้ำ ด้วยการขุดให้เป็นร่องแคบๆ และฝังไหบริเวณตรงกลางร่อง หรือค่อนมาทางบ่อน้ำ และโอบทาด้วยโคลนตามร่องให้เปียกชุ่ม วิธีนี้จะใช้ได้ผลในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวที่ระดับน้ำในคันนาเริ่มลด ทำให้ปลาช่อนอพยพปืนป่ายกลับเข้ามาอาศัยในแหล่งเก็บน้ำ ก่อนที่จะตกลงในไหหรือถังดัก

• การใ้ช้แห มักใช้จับได้ตลอดฤดูกาล แต่นิยมใช้มากในช่วงฤดูแล้งที่ระดับลดลงมาก ทำให้จับได้ง่าย

ปลาช่อน1

เอกสารอ้างอิง
1. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2544. คุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.