ปลาช่อนทะเล (Cobia) เป็นปลาทะเลอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจที่จะพัฒนาการเลี้ยงในหลายประเทศเพราะมีการเจริญเติบโตดีมาก รสชาติดี เป็นที่นิยมของนักตกปลาเพื่อเกมกีฬา และมีฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ในประเทศไต้หวันได้พัฒนาการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังเพื่อการค้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rachycentron canadum
ชื่อสามัญ : Ling, Crabaeater
ชื่อท้องถิ่น : ปลาช่อนทะเล, ปลาไฮโหลย
ชื่อพ้อง :
– black kingfish
– black salmon
– ling
– lemon fish
– crab eaters
ปลาช่อนทะเล จัดเป็นปลาขนาดใหญ่ เมื่อเติบโตได้ 3 ปี อาจมีความยาวมากกว่า 2 เมตร และมีน้ำหนักได้มากกว่า 65 กิโลกรัม
ปลาช่อนทะเล เป็นปลาที่นิยมนำมารับประทานชนิดหนึ่ง นิยมนำมาทำอาหารได้หลายเมนู อาทิ ปลาช่อนทะเลทอด ปลาช่อนทะเลหนึ่งมะนาว ปลาช่อนทะเลนึ่ง และต้มยำปลาช่อนทะเล เป็นต้น นอกจากนั้น ปลาช่อนทะเลยังใช้แปรรูปเป็นปลาช่อนทะเลตากแห้งสำหรับยืดอายุการเก็บได้อีก
ลักษณะทั่วไป
ปลาช่อนทะเลมีลักษณะหัวแบนกว้าง ตามีขนาดเล็ก ลำตัวเพรียวยาว บริเวณหลังมีสีน้ำตาลดำ และมีแถบสีเทา 1-2 แถบ บริเวณด้านข้างลำตัว ส่วนบริเวณใต้คางมีสีเหลืองขุ่น และส่วนท้องมีสีขาวขุ่น มีหางเว้าลึกเข้าตรงกลางคล้ายหางปลาฉลาม ส่วนครีบท้องมีสีน้ำตาล มีครีบหลังบริเวณกึ่งกลางของลำตัว ประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 2-3 อัน ซึ่งอยู่แรกของก้านครีบหลังที่ยาวที่สุด ถัดมาเป็นก้านครีบอ่อน มีลักษณะสั้นจำนวนหลายอัน เรียงตัวยาวถึงบริเวณคอคอดของโคนหาง ส่วนครีบก้นจะอยู่ในระยะที่เยื้องจากครีบหลังมา ประกอบด้วยก้านครีบแข็งที่มีขนาดยาว และก้านครีบอ่อนที่มีขนาดสั้นเรียงตัวตามแนวยาวถึงบริเวณคอคอดของโคนหาง
การแพร่กระจาย
ปลาช่อนทะลมีการเคลื่อนย้ายถิ่น (migration) อยู่ในทะเลเขตร้อนบริเวณชายฝั่งมหาสุมทร
แปซิฟิกและมหาสุมทรแอตแลนติก อ่าวเม็กซิโก ถึงมาสซาซูเซ็ส ในอ่าวเช็คสเปีย ปลาช่อนทะเลผสมพันธุ์และวางไข่ในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม
ตามธรรมชาติปลาช่อนทะเลเป็นปลากินเนื้อ อาหารเป็นสัตว์จำพวก ปลา หมึก และสัตว์ในกลุ่ม Crustaceans ในบริเวณอ่าวนี้ปลาช่อนทะเลเพศผู้อาจมีขนาดมากกว่า 45 กิโลกรัม และเพศเมียมีขนาดประมาณ 15 กิโลกรัม
ไข่ของปลาช่อนทะเลซึ่งเป็นไข่ลอยจะฟักออกเป็นตัวประมาณ 24 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ความเค็ม 28 พีพีที อัตราการผสมพันธุ์ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ มีขนาดความยาว 3.52 ม.ม. ถุงไข่แดงจะยุบภายในระยะเวลา 3 วัน
การเลี้ยงปลาช่อนทะเล
การอนุบาล
เมื่อลูกปลามีขนาด 4.40 ม.ม. ก็จะเริ่มให้โรติเฟอร์ขนาดเล็ก (ss – rotifer) เสริมกรดไขมัน (AquagrowTM) ในอัตรา 5 – 10 ตัว/มล. วันละ 2 ครั้ง จนอายุ 11 วัน, โคพีพอด 1 – 2 ตัว/มล. จนถึงลูกปลาอายุ 14 วัน และเริ่มให้อาร์ทีเมียในวันที่ 8 ความหนาแน่น 0.5 – 2 ตัว/มล. วันละ 2 ครั้ง โดยมีการเสริมกรดไขมัน เมื่อลูกปลาอายุ 20 และ 30 วัน หลังจากที่ฟักออกเป็นตัวจะมีขนาดความยาว 21.3 และ 36.2 มม.ตามลำดับ ก็สามารถนำปล่อยเลี้ยงในกระชังได้
การปล่อยเลี้ยงปลาช่อนทะเล
การเลี้ยงปลาช่อนทะเลจะใช้วิธีการเลี้ยงในกระชัง อาหารที่ให้จะใช้ปลาขนาดเล็ก ร่วมกับอาหารสำเร็จรูปประเภทอาหารปลากินเนื้อ
เมื่อลูกปลาอายุได้ 35 วันจะเริ่มให้อาหารกุ้งเคยแช่แข็ง หลังจากนั้นจะเริ่มให้อาหารสำเร็จรูป ภายในระยะเวลา 9 เดือน ปลาช่อนทะเลจะมีน้ำหนักประมาณ 1.7 กิโลกรัม และสามารถเจริญเติบโตได้ 3.72 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 1 ปี ชึ่งเป็นขนาดที่ส่งเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารทะเลหรือผู้บริโภค เมื่อเลี้ยงได้อายุ 1 ปี จะได้ปลาช่อนทะเลขนาดประมาณ 5-7 กิโลกรัม