ปลาจาด หรือ ปลาหนวด (Goldfin tinfoil barb) เป็นปลาน้ำจืดที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำหรืออ่างเก็บน้ำต่างๆ นิยมจับมาประกอบอาหารจำพวกลาบ แกง ต้มยำ ปิ้ง และทอด รวมถึงแปรรูปเป็นปลาร้า ปลาส้ม และปลาตากแห้ง ซึ่งให้รสชาติคล้ายกับปลาตะเพียนขาว
• ครอบครัว : Cyprinniformes
• วงศ์ : Cyprinnidae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypsibarbus malcolmi
• ชื่อสามัญ : Goldfin tinfoil barb
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาจาด
– ปลาหนวด
• จำนวนโครโมโซม 2n = 50
– แบบเมทาเซนทริก 5 คู่
– ซับเมทาเซนทริก 6 คู่
– อะโครเซนทริก 14 คู่
– จำนวนแขนโครโมโซม เท่ากับ 72 [1]
แหล่งกำเนิด และการแพร่กระจาย
ปลาจาด เป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว และมาเลเซีย เป็นต้น โดยประเทศไทยมีรายงานการพบ และการจับปลาจาดในแม่น้ำสายหลัก และสายรองต่างๆ อาทิ แม่น้ำทางภาคเหนือทั้งแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม ส่วนภาคกลางพบในแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันตกพบในแม่น้ำแม่กลอง และในแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนภาคอีสานพบในแม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล รวมถึงพบได้ในอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน อาทิ เขื่อนภูมิพล และอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันปลาชนิดนี้พบมีปริมาณน้อยลงมาก โดยเฉพาะในแม่น้ำต่างๆ แต่จะพบได้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ
ลักษณะทั่วไป
ปลาจาด มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาตะเพียนขาว แต่ลำตัวจะสั้น และเรียวกว่า รวมถึงมีหนวด 2 คู่ บริเวณมุมปาก ต่างจากปลาตะเพียนหรือปลาอื่นในวงศ์เดียวกันที่ไม่มีหนวด ส่วนพื้นลำตัวมีเกล็ดสีเงินขาวขนาดใหญ่ปกคลุม ครีบทุกครีบมีสีใสอมส้มจางๆ และขอบบริเวณปลายครีบของครีบท้อง ครีบอก และครีบหาง มีขอบสีชมพู ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นมีลักษณะโค้งเหมือนเคียว
แหล่งอาศัย และการหาอาหาร
ปลาจาด พบอาศัย และหากินทั้งในระดับท้องน้ำ กลางน้ำ และตามชายฝั่ง โดยการหาอาหารตามชายฝั่งจะมีอาหารที่สำคัญเป็นลูกปลา กุ้ง และหอยขนาดเล็ก รวมถึงแมลงต่าง ส่วนบริเวณกลางน้ำจะมีอาหารเป็นจำพวกสาหร่ายชนิดต่างๆ รวมถึงปลาขนาดเล็ก ส่วนบริเวณท้องน้ำจะมีอาหารจำพวกหอย และกุ้งขนาดเล็ก
การผสมพันธุ์ และวางไข่
ปลาจาด มีฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม โดยปลาจาดจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปผสมพันธุ์ และวางไข่บริเวณต้นน้ำที่เป็นลำธารน้ำไหลแถบเชิงเขา ซึ่งมีสภาพน้ำใส มีออกซิเจนละลายสูง ไม่มีความสกปรก มีระดับน้ำลึกประมาณ 15-30 เซนติเมตร ท้องน้ำมีโขดหิน และมีพรรณไม้น้ำขนาดเล็กขึ้นปกคลุมตามชายฝั่ง เมื่อพบแหล่งวางไข่ที่เหมาะสมแล้ว ปลาจาดจะวางไข่ต่อเนื่องนาน 2-3 วัน ไข่ที่ออกมาจะเกาะติดกับวัสดุจำพวกกรวด หิน และรากหรือลำต้นของพรรณไม้น้ำ หลังจากวางไข่เสร็จ แม่ปลาจะว่ายตามน้ำลงสู่ด้านล่างของลำน้ำต่อไป
ไข่ปลาจาดหลังวางไข่จะมีลักษณะทรงกลมขนาดเล็ก สีเหลือง ขนาดไข่ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ไข่จะฟักเป็นตัวประมาณ 2-3 วัน หลังจากวางไข่ เพิ่มเติมจาก [2]
การเพาะพันธุ์ปลาจาด
พ่อแม่พันธุ์สำหรับนำมาเพาะพันธุ์ ควรมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 1 ขีด ขึ้นไป โดยแม่พันธุ์ให้ฉีดฮอร์โมน LH-RH analog ขนาดประมาณ 10-20 ไมโครกรัม/ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักตัวปลา พร้อมกับฉีด Motilium ขนาด 10 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ของน้ำหนักตัวปลา ส่วนพ่อพันธุ์ให้รีดน้ำเชื้อดูก่อน หากน้ำเชื้อขุ่น และมีปริมาณมาก ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยฮอร์โมน แต่หากน้ำเชื้อใส และมีน้อย ให้ฉีดกระตุ้นด้วยฮอร์โมน LH-RH analog ขนาด 5-10 ไมโครกรัม/1 กิโลกรัม ของน้ำหนักตัวปลา ร่วมกับ Motilium ในขนาดเดียวกันกับเพศเมีย และให้ฉีดหลังจากฉีดให้เพศเมียแล้ว ประมาณ 2 ชั่วโมง
หลังจากที่ฉีดให้พ่อพันธุ์แล้วประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงนำแม่พันธุ์มารีดไข่ใส่ชาม และนำพ่อพันธุ์มารีดน้ำเชื้อผสมกับน้ำเกลือเจือจาง ก่อนนำมาผสมกันในชาวไข่ พร้อมกวนผสมให้เข้ากัน หลังจากนั้น นำไข่ที่ผสมน้ำเชื้อปล่อยฟักในในบ่ออนุบาลหรือบ่อฟักต่อ ซึ่งจะใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 2-3 วัน
ประโยชน์ปลาจาด
1. ปลาจาด เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก-กลาง มีเนื้อ และรสชาติคล้ายกับปลาตะเพียน นิยมใช้ประกอบอาหารจำพวกต้ม ปิ้ง ทอด และลาบ เป็นต้น เนื้อมีขาว มีรสหวาน แต่ค่อนข้างมีก้างมาก
2. ปลาจาด นิยมแปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาร้า และปลาแดดเดียว
3. ปลาจาด ต่างกับปลาในกลุ่มปลาตะเพียนชนิดอื่น เพราะมีหนวด บางพื้นที่นำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้กระจก
ขอบคุณภาพจาก SiamFishing.com
เอกสารอ้างอิง
[1] ธวัช ดอนสกุล อัจฉริยา รังษิรุจิ และวิเชียร มากตุ่น, 2545, คาริโอไทป์ของปลาจาด จาด-
ปากเปลี่ยน และสร้อยน้ำเงินที่พบในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
[2] ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดตาก กรมประมง, 2560, ปลาจาด, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ วันที่ 22 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.fisheries.go.th/if-tak/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=4&Itemid=87/.