ปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ และการเลี้ยงปลาคราฟ

62242

ปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ (Crap) เป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามมานาน เนื่องจาก เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม เชื่อง และเลี้ยงง่าย เป็นที่ต้องการของผู้เลี้ยงปลาสวยงามในทุกกลุ่มทั้งใน และต่างประเทศ

ปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ เป็นปลาสวยงามที่มีราคาสูง มีราคาซื้อขายกันตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหลายแสนบาท ทำให้เกิดความนิยมในการเลี้ยง เพื่อการจำหน่ายลูกปลา และเพาะพันธุ์ให้มีสีสันสวยงามเพื่อจำหน่ายให้ได้ราคาสูง

อนุกรมวิธาน
• Order : Cypriniformes
• Family : Cyprinidae
• Genus : Cyprinus
• Species: Carpio

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyprinus carpio Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Crap
– Colored Crap
– Nishikigoi (ญี่ปุ่น)
– Koi

• ชื่อไทย :
– ปลาคราฟ
– ปลาคาร์ฟ
– ปลาคาร์พ
– ปลาแฟนซีคราฟ
– ปลาไนแฟนซี
– ปลาไนสี
– ปลาไนทรงเครื่อง

ปลาคราฟ

ประวัติปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟในไทย
ปลาคราฟ เป็นปลาน้ำจืดที่จัดอยู่ในกลุ่มปลาตะเพียน มีถิ่นกำเนิดในประเทศอีหร่าน สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้ามาเลี้ยงครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2493 ซึ่งช่วงนั้นยังนิยมเลี้ยงในกลุ่มผู้มีฐานะดีเท่านั้น ต่อมาปี พ.ศ. 2498 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงได้สั่งปลาคราฟจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเลี้ยง พร้อมกับเรียกชื่อปลาคราฟอีกชื่อว่า ปลาอมรินทร์ แต่ชื่อสามัญที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษ คือ Crap อ่านไทยว่า คราฟ หรือ คาร์ฟ ซึ่งนิยมเรียกต่อมาตามสากล และเรียกมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนประเทศญี่ปุ่นเรียกปลาคราฟว่า Nishikigoi ที่มาจากคำว่า Nishiki ที่หมายถึง ผ้าไหมทอจากอิเดียที่มีสีสันสวยงาม มีหลากสี และมีราคาแพง ชาวญี่ปุ่นจึ้งตั้งชื่อตามลักษณะของผ้าที่คล้ายกับสีของปลาคราฟที่สวยงาม หายาก และมีราคาแพง

ลักษณะทั่วไปปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ
ปลาคราฟ มีลักษณะลำตัวแบน และค่อนข้างกลม หัวไม่มีเกร็ด ริมฝีปากบางเรียบ ภายในปากไม่มีฟัน แต่จะมีฟันที่ลำคอ 1-3 แถว แต่ละแถวมีฟันไม่เกิน 8 ซี่ ลำตัวมีครีบหลัง ครีบหู ครีบท้อง และครีบหาง บางชนิดไม่มีเกล็ด บางชนิดมีเกล็ด บางชนิดมีเกล็ดขนาดใหญ่ในบางส่วน เช่น ปลาคราฟญี่ปุ่นมีเกล็ดทั้งลำตัว ส่วนปลาคราฟเยอรมันมีเกล็ดขนาดใหญ่เฉพาะแถบบนเส้นข้างลำตัว

ปลาคราฟ เป็นปลาที่ไม่จัดอยู่กลุ่มปลากินพืชหรือปลากินเนื้อ เพราะโดยธรรมชาติจะกินพืชหรือสาหร่ายที่มีตัวอ่อนสัตว์น้ำเข้าไปด้วย รวมถึงสามารถกินได้ทั้งแพลงตอนพืช และสัตว์ และหอยได้ด้วย

อาหาร และการหาอาหาร
ปลาคราฟ เป็นปลาที่กินทั้งพืช และสัตว์ ในการเลี้ยงอาจให้ขนมปัง ข้าวสุก ลูกปลา หรือกุ้งขนาดเล็กก็ได้ รวมถึงอาหารปลาดุกก็เป็นอาหารที่ปลาคราฟชอบเช่นกัน นิสัยการหาอาหารของปลาคราฟ มักออกหาอาหารทั้งในระดับผิวน้ำ กลางน้ำ และท้องน้ำ มักใช้ปากคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามริมขอบฝั่งหรือหน้าดินตามขอบฝั่ง เป็นปลาที่ไม่ชอบอุณหภูมิร้อนหรือเย็นมากเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเติบโตที่ 20-22 องศาเซียลเซียส สภาพน้ำสะอาด น้ำมีสภาพเป็นกลางหรือเป็นกรดเพียงเล็กน้อย ระหว่าง 7.0-7.5 หากน้ำเป็นกรดจะทำให้สีของปลาคราฟซีด ไม่สดใส

พันธุ์ปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ
พันธุ์ปลาคราฟ ที่เลี้ยงกันมากในเมืองไทย ได้รับการนำเข้ามาเลี้ยงจากประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยอดีต จนถึงปัจจุบันก็ยังนิยมเลี้ยงกันมาก ดังนั้น พันธุ์ปลาคราฟส่วนใหญ่จึงเป็นพันธุ์ที่ได้รับการตั้งชื่อมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่
1. โคฮากุ (Kohoku)
2. ไทโช ซันเก้ (Taisho Sanke)
3. โชวา ซันโชกุ (Showa Sanshoku)
4. อุจิริ โมโน (Utsuri Mono)
5. เบคโกะ (Bekko)
6. อาซากิ ชูซุย (Asagi Shusui)
7. โกโรโมะ (Koromo)
8. โอกอน (Ogon)
9. ฮิการิ โมโย (Hikari Moyo)
10.ฮิการิ อุจิริ (Hikari Utsuri)
11. คินกินริน (Kinginrin)
12. ตันโจ (Tancho)
13. คาวาริ โมโน (Kawari Mono)

ลักษณะปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ ที่ดี
ปลาคราฟที่ดี และเป็นที่ต้องการของตลาดจะต้องมีลักษณะของหัวที่สมบูรณ์ ลำตัวไม่สั้นเกินไป ลำตัวต้องกลมเป็นรูปกระสวย ลักษณะครีบสวยงาม ไม่มีส่วนฉีกขาด ส่วนหางใหญ่ และแข็งแรง มีท่วงท่าการว่ายน้ำสวยงาม และที่สำคัญอีกประการ คือ จะต้องมีสีสันเข้ม สวยงาม มีความคมชัด สดใส และมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ หายาก ทั้งนี้ ปลาคราฟที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์หรือเป็นโรคจะมีลักษณะเชื่องซึม มีสีซีดจาง ปลาประเภทนี้ไม่ควรนำมาเลี้ยง และควรกำจัดออกจากบ่อทันที

สีของปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ
สีของปลาคราฟ เป็นสารสีที่มาจากสารแคโรทีนอยด์ ซึ่งปลาคาร์ฟไม่สามารถสังเคราะห์สารเหล่านี้ได้เอง แต่สารแคโรทีนอยด์ที่ทำให้เกิดสีในตัวปลาคราฟจะมาจากอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งสีจากสารแคโรทีนอยด์จะให้สีเหลือง ส้ม และแดง โดยสีแดงในปลาคราฟเกิดจากสารแคโรทีนอยด์ชนิด astaxanthin ซึ่งปลาคราฟสามารถสะสม และเปลี่ยนสารสีเหล่านี้ให้อยู่ในร่างกายได้

ปลาคราฟ1

การศึกษาระดับแคโรทีนอยด์ที่มีต่อความเข้มสีของปลาคราฟด้วยการให้อาหาร 6 ชนิด ที่มีปริมาณแคโรทีนอยด์ใน 6 ความเข้มข้น ตั้งแต่ 4.09-103.9 ไมโครกรัม/กรัม ตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ปลาคาร์ฟที่ได้รับแคโรทีนอยด์ที่ระดับ 96.2 และ103.9 ไมโครกรัม/กรัม มีความเข้มของสีแดงเพิ่มสูงขึ้น แต่หากหยุดให้อาหารแก่ปลาคราฟนาน 4 สัปดาห์ กลับพบว่า กลุ่มปลาคราฟที่มีความเข้มสีเพิ่มขึ้นจากการได้รับอาหารในระดับ 96.2 และ103.9 ไมโครกรัม/กรัม ยังคงรักษาระดับความเข้มของสีแดงได้เหมือนเดิมได้ ดังนั้น ปริมาณแคโรทีนอยด์ในอาหารที่เหมาะสมเพื่อให้สีของปลาคราฟเข้มขึ้น และความเข้มสีคงที่ ควรมีปริมาณแคโรทีนอยด์อย่างน้อย 96.2 ไมโครกรัม/กรัม (อรพินท์ และคณะ, 2548)(1)

ดังนั้น การเลี้ยงปลาคราฟเพื่อให้มีความเข้มสีที่สวยงาม ต้องควรคำนึงถึงความเข้มข้นของแคโรทีนอยด์ในอาหาร

นอกเหนือจากการให้แคโรทีนอยด์ในอาหารเพื่อเพิ่มสีสันให้แก่ปลาแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่ทำได้ คือ การเติมสารสกัดที่มีแคโรทีนอยด์ลงในน้ำตู้ปลาหรือในบ่อเลี้ยง ซึ่งสารสกัดที่มีแคโรทีนอยด์สูงสามารถหาได้จากพืชที่มีสีเหลืองหรือสีแดง อาทิ ใบหูกวาง เป็นต้น

การอนุบาลปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ
1. ลูกปลาคราฟหลังฟักออกจากไข่จนถึง 2 อาทิตย์ จะให้อาหารประเภทไข่บด ร่วมกับไรแดง ซึ่งจะให้ประมาณวันที่ 3-5 หลังฟักเป็นตัวแล้ว
2. ลูกปลาคราฟ 15-30 วัน เปลี่ยนมาให้ไรแดง ร่วมกับปลาบดผสมกับรำละเอียด
3. ลูกปลาคราฟ 30-60 วัน เปลี่ยนมาให้ปลาบดผสมกับรำละเอียด และอาหารสำเร็จรูปเสริม
4. ลูกปลาคราฟ อายุประมาณ 2-3 เดือน ที่มีสีเหลืองทั้งตัว ให้เลี้ยงด้วยอาหารที่มีส่วนผสม ดังนี้
– ปลาป่น 20%
– กากถั่วเหลือง 30%
– รำละเอียด 35%
– ปลายข้าว 15%

นอกจากนั้น สามารถให้อาหารสำเร็จรูปได้ ทั้งอาหารปลาดุก และอาหารปลานิลหรือปลาทับทิม

การเลี้ยงปลาคราฟ/ปลาคาร์ฟ
การเลี้ยงปลาคราฟที่พบเห็นนิยมมากในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การเลี้ยงในตู้ปลา
การเลี้ยงปลาคราฟในตู้ปลามักไม่นิยมนัก เพราะปลาคราฟเป็นปลาสวยงามขนาดใหญ่ และชอบว่ายน้ำคุ้ยเขี่ยหาอาหารเก่ง แต่หากเลี้ยง ควรเลี้ยงไม่เกิน 2 ตัว และเพิ่มจำนวนตามขนาดของตู้ปลา ส่วนน้ำที่ใช้เลี้ยง อาจเป็นน้ำประปาหรือน้ำฝนก็ได้ แต่หากเป็นน้ำฝนในชุมชนเมืองควรหลีกเลี่ยง เพราะน้ำฝนมักเป็นกรดมาก

สำหรับตู้ปลาควรมีเครื่องเติมอากาศตลอดเวลา รวมถึงเครื่องกรองน้ำด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ตู้ปลาอาจตกแต่งด้วยกรวดหิน และสาหร่ายขนาดเล็ก แต่ไม่ควรเป็นสาหร่ายขนาดใหญ่ เพราะมักเสียหายจาการว่ายหรือการกัดกินของปลาคราฟได้ง่าย

2. การเลี้ยงในบ่อจัดสวน
การเลี้ยงในบ่อจัดสวน หรือ บ่อดาดคอนกรีต ถือเป็นรูปแบบการเลี้ยงปลาคราฟที่นิยมมาก เพราะสามารถปล่อยปลาคราฟได้จำนวนมาก ปลาคราฟมีพื้นที่ว่ายน้ำได้กว้าง ไม่ต้องใช้เครื่องเติมอากาศ และสามารถรองรับขนาดปลาคราฟที่เติบโตจนมีขนาดใหญ่ในอนาคตได้

บ่อเลี้ยงปลาคราฟอาจเป็นขอบดิ่งหรือขอบลาดเอียง ขนาดบ่อควรลึกในช่วง 40-70 เซนติเมตร เพราะตื้นมากจะทำให้น้ำร้อนจากแดดส่อง หากลึกมากจะทำให้มองไม่เห็นตัวปลา และน้ำด้านล่างเย็น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว แต่อาจทำบางจุดให้ลึกได้ โดยเฉพาะจุดรวมน้ำเพื่อทำการเปลี่ยนน้ำหรือถ่ายเทน้ำ นอกจากนั้น พื้นบ่อปลาหรือขอบบ่อปลาควรเติมกรวดทรายลงเล็กน้อย เพื่อให้ปลาคราฟคุ้ยเขี่ยอาหารตามสภาพธรรมชาติ ทั้งนี้ จะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 1 เดือน หรือ 2 เดือน/ครั้ง

การตกแต่งบ่อเลี้ยง ควรใช้หินกองเป็นถ้ำเพื่อให้มีร่มเงาในน้ำ หรืออาจปลูกไม้น้ำในกระถางลงในบ่อก็ได้ แต่ไม่ควรมีต้นไม้ใหญ่คลุมบ่อข้างบ่อ เพราะจะมีใบไม้ร่วงลงบ่อทำให้คุณภาพน้ำแย่ลงได้ รวมถึงระบบน้ำพรุ ระบบหมุนเวียนน้ำ หรือระบบกรองน้ำร่วมด้วยยิ่งดี นอกจากนั้น อาจออกแบบบ่อให้มีทางข้ามเพื่อเดินชม และเป็นที่บังแดดให้แก่ปลาได้

ทั้งนี้ ปลาคราฟรุ่นที่ใช้เลี้ยงควรมีอายุตั้งแต่ 6-8 เดือน ขึ้นไป หรือขนาดลำตัวยาวมากกว่า 15 เซนติเมตร ขึ้นไป

บ่อเลี้ยงปลาคราฟ
ขอบคุณภาพจาก www.forfur.com

การให้อาหาร
อาหารปลาคราฟรุ่นที่เลี้ยงตามบ่อหรือตู้ปลา ปัจจุบัน นิยมใช้อาหารสำเร็จรูปประเภทลอยน้ำ ซึ่งใช้ได้ทั้งอาหารปลากินเนื้อ และปลากินพืช แต่ทั้งนี้ ควรเป็นอาหารสำหรับปลาคราฟโดยเฉพาะยิ่งดี เพราะปลาคราฟเป็นปลาที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่มปลากินพืชหรือกินเนื้อ ดังนั้น จึงควรเป็นอาหารผสมระหว่างอาหารปลากินพืชกับอาหารปลากินเนื้อ นอกจากนั้น อาจให้อาหารอื่นเสริม ได้แก่ รำข้าว ขนมปัง เศษผัก ปลวกหรือแมลงต่างๆ สำหรับความถี่การให้อาหาร ควรให้ 1-2 ครั้ง/วัน ในช่วงเช้าหรือเย็น

เอกสารอ้างอิง
Untitled