ปลากะพง มีหลายชนิด อาทิ ปลากะพงขาว ปลากะพงดำ ปลากะพงแดง และปลากะพงลาย แต่ปลากะพงที่นิยมรับประทาน และเลี้ยงกันมากจะเป็นปลากระพงขาวเป็นหลัก
ปลากะพงขาว
ปลากะพงขาว เป็นปลากะพงที่พบมากในแหล่งน้ำกร่อย เป็นปลาที่มีราคาแพง นิยมนำประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ ปลากะพงทอด ต้มยำปลากะพง ปลากะพงราดพริก เป็นต้น
ปลากะพงขาวที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเป็นปลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเป็นหลัก โดยนิยมเลี้ยงในกระชังตามแหล่งน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำ และชายทะเล ซึ่งมีแหล่งเพาะเลี้ยงหลักอยู่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และพื้นที่ปากแม่น้ำ และชายทะเลทางภาคใต้ แต่ทั้งนี้ บางพื้นที่มีการเลี้ยงในบ่อดินบริเวณพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับทะเล เนื่องจากการเลี้ยงปลากระพงขาวในกระชังบริเวณปากแม่น้ำมักประสบปัญหาขาดทุนจากสภาพน้ำในแม่น้ำเน่าเสียหรือมีคุณภาพน้ำไม่เหมาะสม ทำให้มีการเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อเพิ่มมากขึ้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lates calcarifer ( Bloch )
ชื่อสามัญ : Giant Perch
ชื่อถิ่น : ปลากะพง ปลากะพงขาว และปลากะพงน้ำจืด
อนุกรมวิธาน
Phylum : Chorota
Sub-phylum : Vertebrata
Class : Pisces
Sub-class : Teleostomi
Order : Percomorphi
Family : Centropomidae
Genus : Lates
Species : Calcarifer
ลักษณะทั่วไป
ปลากะพงมีลักษณะรูปร่างแบน และยาว หัวมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับลำตัว และค่อยโค้งมนขึ้นตามบริเวณไหล่ และส่วนหลัง ส่วนปากกว้าง มีปากล่างยื่นยาวมากกว่าปากบน มีขอบปากบน และล่างมน ส่วนช่องปากมีลักษณะเฉียงลงด้านล่าง ภายในปากตามขากรรไกรบน และล่างมีฟันขนาดเล็ก จำนวนมาก ส่วนตาของปลากะพงมีขนาดปานกลาง ไม่มีเยื่อหุ้ม ถัดมาเป็นแผ่นแก้มปิดเหงือกขนาดใหญ่
เกล็ดของปลากะพงมีลักษณะค่อนข้างใหญ่ เกล็ดบริเวณสันหลังออกสีน้ำเงินหรือเขียวปนเทา และไล่เป็นสีน้ำเงินจนถึงส่วนกลางของลำตัว ส่วนต่ำสุดจากลางลำตัวจนถึงส่วนท้องมีเกล็ดเป็นสีขาว และมีเส้นข้างตัวโค้งไปตามแนวสันหลัง
ปลากะพงมีครีบหลัง ครีบก้น ครีบหาง ที่ออกสีเทาปนดำ โดยครีบหลังแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ครีบหลังส่วนแรกเป็นหนามแหลมขนาดใหญ่ 5-7 อัน โดยหนามแลมอันแรกมีขนาดสั้น ถัดมามีความยาวมากที่สุด และค่อยๆสั้นลงตามลำดับ โดยแต่ละอันมีแผ่นหนังเชื่อมติดกัน ถัดมาเป็นครีบหลังส่วนที่ 2 ที่แยกออกจากครีบส่วนแรกอย่างชัดเจน เป็นครีบหลังอ่อนเชื่อมติดด้วยแผ่นหนัง
ส่วนครีบหู และครีบอกค่อนข้างยาว โดยครีบหูมีสีเหลืองใส ส่วนครีบอกมีสีขาว ส่วนครีบก้นมีสีเทาปนดำ มีก้านครีบแข็ง และแหลม 3 อัน ข้อหางสั้น และมีปลายหางเป็นแนวตรง
ปลากะพงขาวเป็นปลาที่ไม่มีอวัยวะเพศให้มองเห็นภายนอก มีขนาดที่พบทั่วไปประมาณ 5-10 กิโลกรัม ยาวประมาณ 20-40 เมตร โดยชนิดที่อาศัยในทะเลหรือตามแหล่งน้ำกร่อยจะมีเกล็ดส่วนบนเป็นสีฟ้าอมเขียว ด้านข้างลำตัว และส่วนท้องมีสีขาวเงิน ส่วนครีบหูมีสีเหลือง มีครีบหางครึ่งบนเป็นสีเหลืองส่วนครึ่งล่างเป็นสีดำ ส่วนชนิดที่อาศัยในแม่น้ำหรือน้ำจืดจะมีเกล็ดส่วนบนเป็นสีดำ ด้านข้าง และส่วนท้องมีสีขาวเงิน ส่วนครีบหางมีสีดำล้วน โดยปลากะพงที่พบในแหล่งน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยมักจะมีขนาดใหญ่กว่าที่พบในแหล่งน้ำจืด
แหล่งอาศัย
ปลากะพงมีการแพร่กระจายในภูมิภาคเอเชีย พบได้ทั้งในแหล่งน้ำจืด เช่น ปลากะพงลาย และแหล่งน้ำกร่อย เช่น ปลากระพงขาว ในแถบเอเชียที่มีการพบปลากะพง ได้แก่ จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม มาเลเชีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ในประเทศไทยพบปลากะพงขาวมากในทุกจังหวัดที่ติดกับทะเล ทั้งในอ่าวไทย และอันดามัน โดยชุกชุมมากบริเวณปากแม่น้ำชายฝั่งทะเลน้ำกร่อย และตอนเหนือปากแม่น้ำที่เป็นแหล่งน้ำจืด
– บริเวณน้ำจืดที่พบ ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หรือแอ่งน้ำใกล้ชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลสามารถแพร่ถึงในช่วงฤดูฝน ทำให้มีสภาพเป็นน้ำจืดค่อนข้างกร่อยเล็กน้อย มีค่าความเค็มตั้งแต่ 1.0-20.0 ppm
– บริเวณน้ำกร่อยที่พบ ได้แก่ บริเวณแม่น้ำ ลำคลองที่ติดกับทะเลหรือทะเลสาบ มีการนุนหรือไหลเข้าของน้ำทะเลตามรอบน้ำขึ้นน้ำลง เป็นพื้นที่ที่มีค่าความเค็มสูงกว่าบริเวณแรก มีค่าความเค็มระหว่าง 20-30 ppm
การดำรงชีพ และการสืบพันธุ์
ปลากะพงขาวจัดเป็นปลกินเนื้อที่กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าทุกชนิดเป็นอาหาร เช่น ปลาขนาดเล็ก กุ้ง และปู และเป็นปลาที่กินพวกเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารเช่นกัน แต่สามารถนำมาเลี้ยงให้กินอาหารที่ไม่มีชีวิตได้ เช่น อาหารเม็ดสำเร็จรูป รวมถึงเศษปลา หรือ ซากสัตว์ ทั้งนี้ ปลากะพงขาวในธรรมชาติมักอาศัย และหาอาหารเป็นฝูง ซึ่งปลาที่มีขนาดเล็กจะมีนิสัยดุกว่าปลาขนาดใหญ่ แต่จะหายไปเองเมื่อเติบโตขึ้น
การผสมพันธุ์ และวางไข่
ปลากะพงขาวที่เติบโตจนพร้อมเข้าสู่การผสมพันธุ์ได้จะมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร หรือหนักประมาณ 3.0 กิโลกรัม และมีอายุไม่น้อยกว่า 3.5 ปี โดยปลาเพศเมียที่พร้อมผสมพันธุ์มักมีขนาด และอายุมากกว่าปลาเพศผู้ที่พร้อมผสมพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์ของปลากะพงขาวจะเริ่มในช่วงกลางฤดูร้อน โดยพ่อแม่ปลาที่มีไข่ และน้ำเชื้อพร้อมผสมพันธุ์จะว่ายจากแหล่งน้ำจืดไปหาแหล่งน้ำกร่อยจบริเวณปากแม่น้ำหรือเขตติดต่อกับทะเลที่มีความเค็มปานกลาง หรือประมาณ 25-32 ppm เมื่อผสมพันธุ์ และวางไข่เสร็จก็จะอพยพกลับเข้ามายังเหนือปากแม่น้ำ
ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ปลากระพงขาวจะวางไข่ก่อนฤดูฝนเล็กน้อย ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน และในทางชายทะเลฝั่งอ่าวไทย ปลากระพงขาวจะวางไข่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม เพราะอิทธิพลของฤดูมรสุมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
การผสมพันธุ์จะมีอัตราส่วนแม่ปลา 1 ตัว/พ่อปลา 3-5 ตัว ใช้ช่วงการผสมพันธุ์ในขณะน้ำทะเลขึ้นเวลาประมาณ 19.00-22.00 น. ซึ่งจะอยู่ในช่วงกลางเดือน และปลายเดือน
ปลากะพงขาววางในแต่ละครั้งจำนวน 2-4 แสนฟอง ไข่ที่มีการผสมน้ำเชื้อแล้วจะลอยน้ำ มีขนาดประมาณ 0.8 มิลลิเมตร และไข่ที่ผสมแล้วจะฟักเป็นตัวประมาณ 16-18 ชั่วโมง หลังการผสม
ลูกปลากะพงขาวหลังจากการฟักจะมีความยาว 1.2 มิลลิเมตร ซึ่งจะลอยตัวตามกระแสน้ำเข้าไปอาศัยตามแอ่งน้ำหรือขอบฝั่งที่เป็นป่าชายเลนถัดจากทะเลเข้าไป
การเลี้ยงปลากะพงในกระชัง
รูปแบบกระชังปลากะพง
1. กระชังอยู่กับที่
กระชังอยู่กับที่เป็นกระชังที่ถูกผูกยึดกับเสาไว้ที่ปักกับพื้นดิน แต่ให้สามารถลอยขึ้นตามระดับน้ำได้ เสาอาจทำด้วยไม่ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง หรือ เหล็ก
2. กระชังลอยน้ำ
กระชังลอยน้ำเป็นกระชังที่ทำขึ้นบนวัสดุที่ลอยเหนือน้ำ เช่น โป๊ะ ทุ่นลอยน้ำ หรือ แพ นิยมใช้บริเวณแหล่งน้ำที่มีความแตกต่างของความลึกระหว่างน้ำขึ้นน้ำลงตั้งแต่ 1 เมตร ขึ้นไป และน้ำขึ้นสูงสุดมากกว่า 2 เมตร ขึ้นไป ซึ่งตัวกระชังจะผูกติดหรือสร้างติดกับแพ หรือทุ่นลอย นิยมมากในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ ระนอง พังงา เป็นต้น มี 2 แบบย่อย คือ
– กระชังลอยแบบมีโครง เป็นกระชังที่มีโครงวัสดุยึดตัวกระชังให้ความแข็งแรง เช่น เหล็กหรือไม้ไผ่ มีโครงทั้งส่วนบนน้ำ และใต้น้ำ ตัวกระชังสามารถกางได้เต็มที่ กระชังไม่ลู่หรือพับตามแรงของกระแสน้ำ
– กระชังลอยแบบไม่มีโครง เป็นกระชังที่มีเฉพาะตัวกระชังผูกติดกับทุนหรือแพ ไม่มีโครงยึด กระชังแบบนี้สามารถลู่พับตามกระแสน้ำได้ง่าย ทำให้พื้นที่กระชังน้อยลง และการถ่ายเทอากาศไม่ดีพอ
ขนาดกระชังแบบลอยน้ำที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ ขนาด 3×3×2 เมตร 4×4×2 เมตร 5×5×2 เมตร และ 7×8×2 เมตร
การคัดขนาด และการปล่อย
การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังจะต้องคัดปลาที่ใกล้เคียงกันปล่อยในกระชังเดียวกัน เพราะหากปลามีขนาดต่างกันจะทำให้ปลาที่มีขนาดใหญ่จะแย่งกินอาหารจากปลาเล็กหมดก่อน ทำให้ปลาโตไม่เท่ากัน
ลูกปลากะพงที่เริ่มปล่อยสามารถปล่อยได้ตั้งแต่ขนาด 1.5 เซนติเมตร ขึ้นไป อัตราการปล่อย 100-300 ตัว/ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับขนาด และคุณภาพน้ำ ได้แก่
– ลูกปลากะพงขาวขนาด 1.5-2.0 เซนติเมตร อัตราปล่อย 500-750 ตัว/ตารางเมตร
– ลูกปลากะพงขาวขนาด 5.0-7.0 เซนติเมตร อัตราปล่อย 400-500 ตัว/ตารางเมตร
– ลูกปลากะพงขาวขนาด 10.0-15.0 เซนติเมตร อัตราปล่อย 200-250 ตัว/ตารางเมตร
– ลูกปลากะพงขาวที่เลี้ยงในกระชังจะเจริญเติบโตได้ขนาดตลาด (500-800 กรัม)
การคำนวณอัตราการปล่อย
จำนวนปลาที่ปล่อย (ตัว/ลบ.ม.) = น้ำหนักปลาที่จะจับ/ลบ.ม.
************************* น้ำหนักเฉลี่ยของปลาที่ต้องการจับ
การปล่อยลูกปลากะพงขนาด 10-15 เซนติเมตร อัตรา 100 ตัว/ตารางเมตร จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6-7 เดือน
อาหารที่ใช้เลี้ยง ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป ส่วนอาหารมีชีวิต ได้แก่ ปลาเบ็ด