ปลากราย และการเลี้ยงปลากราย

25952

ปลายกราย (Spoted Knife Fish)จัดเป็นปลาน้ำจืดที่นิยมรับประทานมากชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นปลาเนื้ออ่อนที่ให้เนื้อขาว เนื้อค่อนข้างมาก และมีความนุ่ม เหนียว และอร่อย สำหรับอาหารที่นิยมทำจากปลากรายกันมากในปัจจุบัน คือ ห่อหมกปลากราย

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Notopterus Chitala
• ชื่อสามัญ :
– Spoted Knife Fish
– Featherback
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลากราย (ทั่วไป)
– ปลาหางแพน

อนุกรมวิธาน
• Class : Teleostomi
• Subclass : Actinopterygii
• Division : Archaeophylaces
• Order : Osteoglossiformes
• Family : Notopteridae
• Genus : Notopterus
• Species : Chitala

ปลาในวงศ์ปลากรายที่พบในโลกมีทั้งหมดประมาณ 4 สกุล 10 ชนิด ส่วนในประเทศไทยพบประมาณ 2 สกุล 4 ชนิด หรือมากกว่า มีจำนวนจำนวนโครโมโซมเท่ากัน คือ 2n = 42 ได้แก่
1. ปลาสลาด หรือ ปลาตอง (Notopterus notopterus)
2. ปลาสะตือ (C. lopis)
3. ปลาตองลาย (C. blanci)
4. ปลากราย (Chitala ornata)

ลักษณะปลากราย
ปลายกรายมีลักษณะรูปร่างแบน มีส่วนหัวแยกแตกต่างจากลำตัวชัดเจน โดยมีส่วนหัวเล็ก และค่อยโค้งใหญ่ไปจรดกับไหล่หรือครีบหลัง มีรอยเว้าบริเวณต้นคอมากกว่าปลาชนิดอื่นที่พบในวงศ์เดียวกัน มีความลึกของลำตัวประมาณ 3.75-4.25 เท่า ของความยาวลำตัว ส่วนปากมีขนาดค่อนข้างกว้าง มีมุมปากเลยขอบหลังของตามาก ภายในปากมีขากรรไกรยาว และมีฟันที่ขากรรไกร ส่วนอื่นมีซี่เหงือกประมาณ 8-12 คู่ มีรูจมูก 2 รู

ส่วนของลำตัวปลากรายมีขนาดใหญ่บริเวณไหล่ และเรียวไปทางด้านท้าย ผิวหนังลำตัวมีสีขาวเงินค่อนข้างเป็นวาว มีสีส่วนหัว และส่วนหลังเข้มกว่าด้านท้อง โดยผิวหนังจะปกคลุมด้วยเกล็ดละเอียดขนาดเล็กแบบ cycloid โดยเกล็ดที่แก้ม และลำตัวมีขนาดเท่ากัน และมีเกล็ดบนเส้นข้างลำตัวนับได้ประมาณ 20 เกล็ด ส่วนเกล็ดที่ส่วนท้องเปลี่ยนเป็นหนามแข็งเป็นคู่ๆ 37-45 คู่ และมีจุดดำบริเวณเหนือครีบก้นเรียงซ้อนกันตามแนวยาว ประมาณ 5-10 จุด ส่วนอื่นที่ส่วนท้องมีรูก้นอยู่บริเวณครึ่งด้านหน้าของลำตัว จึงทำให้มีส่วนหางยาว

ครีบหลังมีขนาดเล็ก มีจำนวนก้านครีบประมาณ 9-10 อัน ก้านครีบก้นมีประมาณ 110-135 ก้านครีบ ครีบหูมีประมาณ 15-16 ก้านครีบ ส่วนครีบท้องมีประมาณ 6 ก้านครีบ

ความแตกต่างของเพศ
ปลากรายเพศผู้มีความแตกต่างกับเพศเมียอย่างชัดเจน คือ ลำตัวปลากรายเพศผู้จะมีลักษณะยาวกว่าเพศเมีย และอีกประการ คือ ครีบท้องของเพศผู้จะมีขนาดยาวกว่าเพศเมีย

ปลากราย1

ปลากราย

ขอบคุณภาพจาก www.siamfishing.com

การดำรงชีพ
การแพร่กระจาย
ปลากราย เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่ง แต่โดยตามธรรมชาติดั้งเดิมจะพบตามแหล่งน้ำหลตามแม่น้ำลำคลองในภาคกลาง และภาคเหนือ ทั้งนี้ ปัจจุบัน สามารถพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำทุกประเภททั้งแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่ง ทั้งในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และสระน้ำ จาการนำไปปล่อย และมีการเพาะเลี้ยงมากขึ้น

การสืบพันธุ์
ปลากรายจะวางไข่ในช่วงปลายฤดูแล้งจนถึงตลอดฤดูฝน คือ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม แต่จะวางไข่มากในช่วงต้นฤดูฝน ส่วนเข้ากลางฤดูฝนจะเริ่มวางไข่น้อย โดยปลากรายจะชอบวางไข่บริเวณโคนต้นไม้ ตอไม้ หรือเสาไม้บริเวณริมชายฝั่งที่มีที่ยึดเกาะ และเป็นที่โล่ง แต่จะไม่ชอบวางไข่บริเวณกอหญ้ารกเหมือนกับปลาอื่นๆ โดยตัวผู้จะทำหน้าที่ในการตีดินหรือขุดหลุมหรือโพรงรอบๆโคนต้นไม้หรือเสาไม้ ทั้งนี้ ตัวผู้ และตัวเมียจะคอยช่วยกันดูแลไข่จนกว่าไข่จะฟักออก

รังไข่ที่ทำหน้าที่สร้างไข่ของปลาเพศเมียจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ข้าง แต่ละข้างจะสลับกันออกไข่ในแต่ละปีสลับกันไป โดยไข่ที่ยังไม่ได้ผสมจะมีสีขาวขุ่น ขนาดประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะมีลักษณะกลม สีเหลืองอ่อน ขนาดไข่ประมาณ 3.5-4.5 มิลลิเมตร ใช้เวลาในการฟักออกมาเป็นตัวหลังวางไข่แล้วประมาณ 5-7 วัน โดยตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 5,000-10,000 ฟอง

ลูกปลากร่ายที่ฟักออกจากไข่ครั้งแรกจะมีความยาวลำตัวประมาณ 1.3 เซนติเมตร มีถุงอาหารติดที่บริเวณท้องสีเหลืองอย่างเห็นได้ชัด ถุงอาหารนี้จะค่อยๆหด และจางซีดลงในเวลาประมาณ 3-5 วัน หลังจากนั้น ลูกปลากรายจะเริ่มหาอาหารกินเอง

อาหาร และการหาอาหาร
ปลากราย จัดเป็นปลากินเนื้อ ชอบออกหากินทั้งในเวลากลางวัน และเวลากลางคืน มีอาหารที่สำคัญ ได้แก่ กุ้ง ลูกปลา และสัตว์น้ำขนาดเล็ก

การเลี้ยงปลากราย
การอนุบาลปลากราย
สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงปลากราย จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเพาะพันธุ์ และอนุบาลปลากรายด้วย โดยการอนุบาลนั้น หลังจากที่ปลากรายฟักออกจากไข่แล้ว 3-5 วัน ลูกปลากรายจะเริ่มกินอาหารได้ โดยอาหารสำหรับการอนุบาลลูกปลากรายในระยะหลังจาก 5-12 วัน หลังการฟัก อาหารที่ให้ ได้แก่ ไรแดง และไข่ต้ม ซึ่งระยะนี้ ลูกปลากรายจะมีสีน้ำตาล และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ และระยะต่อมาอีกประมาณ 1 อาทิตย์ คือในช่วง 13-20 วัน ค่อยให้ไรแดง ร่วมกับกุ้งบดหรือปลาบด ซึ่งระยะนี้ ลูกปลากรายจะเริ่มมีสีจาง และเริ่มมีจุดสีดำขึ้นข้างลำตัว และเมื่ออายุได้ประมาณ 25 วัน ลูกปลาจะมีลายจางๆขวางลำตัวจากส่วนหัวไปส่วนหาง และลายจะพาดถึงส่วนหางเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน ซึ่งมีลายประมาณ 9-10 ลาย ทั้งนี้ ในระยะนี้ลูกปลากรายจะมีความยาวลำตัวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ซึ่งพร้อมที่จะปล่อยเลี้ยงในบ่อต่อไป และหากอนุบาลต่อจนถึงอายุประมาณ 2 เดือน จะมีความยาวลำตัวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ซึ่งอัตราการรอดจะมากหากปล่อยเลี้ยงในบ่อ

การเลี้ยงปลากราย
สำหรับในระยะการเลี้ยงในบ่อดินนั้น นิยมให้อาหารสำเร็จรูปได้ ชนิดอาหารของปลากินเนื้อเช่นเดียวกันกับปลาดุก โดยสามารถปล่อยในบ่อได้ตั้งแต่หลังการอนุบาลไปแล้ว 1-2 เดือน ขนาดลำตัวยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร อัตราการปล่อยประมาณ 10-15 ตัว/ตารางเมตร เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 5 เดือน จะได้ปลากรายที่มีน้ำหนักประมาณ 250-500 กรัม ความยาวลำตัวประมาณ 15-20 เซนติเมตร

ทั้งนี้ การให้อาหารปลากรายนั้น ทั้งในระยะอนุบาล และระยะเลี้ยงในบ่อจะให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็น เป็นอย่างต่ำ

ประโยชน์ของปลากราย
1. ปลากราย จัดเป็นปลาเนื้ออ่อน เนื้อมีลักษณะขาวอมแดงเล็กน้อย และมีเลือด และมีก้างน้อย ให้เนื้อมาก เนื้อมีรสอร่อย จึงนิยมนำมาประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ ห่อหมกปลากราย ต้มยำปลากราย หรือลาบปลากราย เป็นต้น
2. จากเนื้อปลากรายที่ค่อนข้างขาว และให้เนื้อมาก จึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นลูกชื้นปลากราย
4. ปลากรายตามธรรมชาติ เป็นปลาที่ค่อนข้างหายาก หากจับได้ตามธรรมชาติจะมีราคาค่อนข้างสูง จึงเป็นรายได้ดีอย่างหนึ่งของการทำประมง เพราะปลากรายที่จับจากธรรมชาติจะมีราคาสูงกว่าปลากรายที่มาจากบ่อเพาะเลี้ยง
5. ปลากรายมีรูปร่างแบน ลำตัวมีสีขาวเงิน และมีจุดดำข้างลำตัว จึงเป็นที่นิยมในการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้ปลา

เนื้อปลากราย

ขอบคุณภาพจาก www.siamfishing.com