นกแก้ว (Parrot) เป็นนกสวยงามที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดในบรรดานกสวยงามทั้งหลาย เนื่องจาก ขนลำตัวมีสีสันสวยงาม สีขนฉูดฉาด มีหลายสี อีกทั้ง เป็นนกที่เลี้ยงง่าย และมีอายุยืนยาว รวมถึงบางชนิดส่งเสียงร้องเป็นเพลง และมีความเฉลียวฉลาด
อนุกรมวิธานนกแก้ว
Class : Aves
Order : Psittaciformes
Family : Psittacidae
Genus : Psittacula
การแพร่กระจาย
นกแก้วทั่วโลกปีประมาณ 332 ชนิด แพร่กระจายในเฉพาะประเทศเขตร้อนทั้งทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งนกแก้วส่วนมากจะพบได้มากในทวีปอเมริกาใต้
ประเทศไทยมีวงศ์นกแก้ว 7 ชนิด ใน 3 สกุล คือ
สกุลนกหกเล็ก (Loriculus Blyth) พบ 2 ชนิด
1.นกหกเล็กปากแดง
– ชื่อสามัญ : Vernal Hanging Parrot
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Loriculus vernalis
2. นกหกเล็กปากดำ
– ชื่อสามัญ : Blue-Crowned Hanging Parrot
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Loriculus galgulus
สกุลนกหก (Psittinus Blyth) พบ 1 ชนิด
1. นกหกใหญ่
– ชื่อสามัญ : Blue-Rumped Parrot
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psittinus cyanurus
สกุลนกแก้ว (Psittacula Cuvier) พบ 4 ชนิด
1. นกแขกเต้า
– ชื่อสามัญ : Moustache Parakeet
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psittacula alexandri
ขอบคุณภาพจาก commons.wikimedia.org
2. นกกะลิง
– ชื่อสามัญ : Grey-Headed Parakeet
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psittacula finschii
3. นกแก้วหัวแพร
– ชื่อสามัญ : Blossom-Headed Parakeet
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psittacula roseata
ขอบคุณภาพจาก : www.thongthailand.com
4. นกแก้วโม่ง
– ชื่อสามัญ : Alexandrine Parakeet
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psittacula eupatria
ลักษณะทั่วไปของนกแก้ว
นกแก้วมีขนาดตั้งแต่เล็กมากจนถึงใหญ่มาก คือมีความยาววัดจากปลายจะงอยปากถึงปลายหางระหว่าง 7- 100 เซนติเมตร ลักษณะที่เด่นมากของนกในอันดับนี้ คือ ลักษณะของจะงอยปากและตีน โดยมีจะงอยปากแบบปากขอ มีความแข็งแรงมาก ใช้สำหรับกะเทาะผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง ขากรรไกรบนใหญ่และโค้งลงรับพอดีกับขากรรไกรล่างที่มีขนาดเล็กกว่าและโค้งขึ้น โดยขากรรไกรบนเชื่อมกับกะโหลกด้วยเนื้อเยื่อพิเศษทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้มาก
ตีนนกแก้วมีนิ้วข้างละ 4 นิ้ว ประกอบด้วยนิ้วที่ 1 และนิ้วที่ 4 ชี้ตรงไปข้างหลัง แต่นิ้วที่ 4 สามารถหมุนกลับไปข้างหน้าเพื่อให้จับกับกิ่งไม้ได้ดีขึ้น และนิ้วที่ 2 และ 3 เรียงชิดกัน และชี้ตรงไปข้างหน้า
ลักษณะอื่นๆของนกแก้ว คือ โคนของขากรรไกรบนมีหนังจมูกปกคลุมทับรูจมูก รูจมูกไม่ทะลุถึงกัน หัวกว้างและค่อนข้างใหญ่ คอสั้น ลิ้นหนาและเคลื่อนไหวได้ดีลำตัวค่อนข้างป้อมปกคลุมด้วยขนหนาแน่น มีขนอุยแป้งกระจายทั่วไปบนลำตัวแข้ง สั้นปกคลุมด้วยเกล็ดแบบร่างแห นกทั้งสองเพศมักมีลักษณะภายนอกคล้ายกันมากจนไม่สามารถระบุเพศโดยการดูจากลักษณะภายนอก มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่มีลักษณะภายนอกของทั้งสองเพศแตกต่างกันมากจนสังเกตได้ชัด
อาหารของนกแก้ว
นกเกือบทุกชนิดในอันดับนกแก้วอาศัยและหากินอยู่บนต้นไม้ กินผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง ลูกไม้ น้ำหวาน และเกสรจากดอกไม้ รวมทั้งพืชผลทางการเกษตร อาจกินแมลงบ้างเป็นบางครั้ง หรือบางชนิดก็กินซากสัตว์ด้วย บินได้รวดเร็ว มักอยู่รวมกันเป็นฝูง ตั้งแต่เป็นครอบครัวไปจนถึงนับร้อยตัว ส่งเสียงร้องแหลม และดัง เป็นเสียงร้องที่ไม่เป็นเพลง มีเพียงบางชนิดที่ร้องเป็นทำนองเพลง
การทำรังของนกแก้ว
นกแก้วมักทำรังในโพรงซึ่งอาจเป็นบนต้นไม้ทั้งที่มีชีวิต และตายแล้ว รอยแตกในหน้าผาหิน ในดิน และในจอมปลวก โดยอาจสร้างโพรงขึ้นเอง หรือใช้โพรงเก่าของนกหัวขวานหรือนกโพระดก ซึ่งมันมักขยายโพรงให้ใหญ่ขึ้นหรือปรับปรุงให้มีลักษณะเหมาะสม ไข่เป็นทรงรีเกือบกลม หัว และท้ายป้าน เปลือกไข่มีสีขาวไม่มีลาย และมักไม่เป็นมัน ลักษณะของเปลือกไข่ที่มีสีขาว และไม่มีลายนี้ คาดว่าเป็นเพราะพฤติกรรมการวางไข่ในโพรงที่ปิดทึบทำให้ไม่จำเป็นต้องมีลายเพื่อพรางตาศัตรู เปลือกไข่ที่มีสีขาวยังทำให้พ่อแม่นกมองเห็นได้ง่ายในโพรงซึ่งมีแสงน้อย นกเพศเมียหรือทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ ลูกนกที่เพิ่งฟักออกจากไข่เป็นแบบลูกอ่อนเดินไม่ได้ คือ ตาปิด ไม่มีขน และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นกทั้งสองเพศช่วยกันดูแลลูกอ่อน
1. นกแก้วโม่ง (Alexandrine Parrot)
นกแก้วโม่ง แปลว่า นกแก้วใหญ่ เนื่องจาก เป็นนกแก้วที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย มีชื่อสามัญว่า Alexandrine Parrot เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่นำนกแก้วโม่งไปเลี้ยงในยุโรปเป็นครั้งแรก หลังจากยกทัพกลับจากอินเดียเมื่อกว่า 2,300 ปี มาแล้ว
• ชื่อสกุล : Psittacula
• ชื่อชนิด : eupatria
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psittacula eupatria (Linnaeus) (1766)
• ชื่อสามัญ : Alexandrine Parrot
– ชื่อสกุลมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ psitt, -ac แปลว่านกแก้ว และภาษาละตินคือ -ul แปลว่าเล็ก รวมกัน หมายถึง นกแก้วขนาดเล็ก
– ชื่อชนิด eupatria มาจากรากศัพท์ภาษากรีกคือ eu แปลว่าดี และ patri, -a,-o แปลว่าบ้านเกิดหรือถิ่นที่อยู่อาศัย รวมกัน หมายถึง อยู่ในถิ่นที่อาศัยที่ดีหรือบริเวณป่าที่สมบูรณ์
การแพร่กระจาย
นกแก้วโม่งมีถิ่นการกระจายจากบริเวณประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน สาธารณรัฐอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ภูฏาน บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน สหภาพพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ลักษณะนกแก้วโม่ง
นกแก้วโม่งจัดเป็นนกขนาดกลาง มีขนาดความยาววัดจากปลายจะงอยปากถึงปลายหางระหว่าง 50-58 เซนติเมตร ขนตามลำตัวส่วนใหญ่มีสีเขียว จะงอยปากขอโค้งขนาดใหญ่ มีสีแดง มีความแข็งแรงมาก โคนของขากรรไกรบนมีหนังจมูกสีเหลืองอมน้ำตาลปกคลุมทับรูจมูก มีแถบขนสีดำจางลากจากแผ่นจมูกไปยังตา หนังรอบตามีสีเหลือง ม่านตาสีเหลืองอ่อนบน ปีกมีแต้มขนสีแดงอมม่วง หางเรียวยาว ขนหางคู่กลางยาวมากโดยขนหางด้านบนมีสีเขียว และฟ้า ปลายหางสีเหลือง ขนหางด้านใต้สีเหลือง แข้งสั้นปกคลุมด้วยเกล็ดแบบร่างแห มีนิ้วเรียงเป็นคู่สลับ ข้างละ 4 นิ้ว ขา และตีนสีเหลืองถึงเทาอมเหลือง
นกแก้วโม่งเพศผู้ และเพศเมียที่โตเต็มที่มีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกัน นกเพศผู้มีแถบกว้างสีดำพาดผ่านใต้แก้ม และแถบกว้างสีชมพูพาดผ่านหลังคอมาบรรจบกับแถบสีดำเป็นวงแหวนรอบคอ นกเพศเมียมีสีทึบกว่าเพศผู้ ไม่มีแถบสีดำ และชมพูรอบคอ และมีขนหางคู่กลางสั้น นกที่ยังโตไม่เต็มที่มีลักษณะคล้ายนกเพศเมีย โดยลูกนกเพศผู้มักมีขนาดใหญ่กว่าลูกนกเพศเมีย แต่สีของจะงอยปาก หนังรอบตา และแต้มที่ไหล่ไม่เข้ม รวมทั้งขนหางคู่กลางสั้น เพศผู้โตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 0.2-0.4 กิโลกรัม ขณะที่เพศเมียเมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักน้อยกว่าเพศผู้ที่ 0.2-0.35 กิโลกรัม
นกแก้วโม่งมี 5 ชนิดย่อย
1. Alexandrine Parrot พบในประเทศศรีลังกา อินเดียทางตอนใต้ ขึ้นไปทางเหนือจนถึงรัฐอุตตรประเทศ มีความยาวลำตัวประมาณ 58 เซนติเมตร ขนมีสีเขียว ขา และตีนมีสีเทา เล็บสีดำ นกเพศผู้มีจะงอยปากบนยาว 3.2-3.6 เซนติเมตร ปีกยาว 19.8-21.5 เซนติเมตร และแข้งยาว 2-2.2 เซนติเมตร ส่วนนกเพศเมียมีจะงอยปากบนยาว 2.9-3.2 เซนติเมตร ปีกยาว 18.9-20.0 เซนติเมตร และแข้งยาว 1.9-2.2 เซนติเมตร
2. Nepalese Alexandrine Parrot หรือนกแก้วโม่งพันธุ์อินเดีย พบตั้งแต่ตะวันออกของประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังคลาเทศทางตอนใต้และทางด้านตะวันออก ไปจนถึงอินเดียทางตอนเหนือและตอนกลาง เนปาล และภูฏาน มีความยาวลำตัวประมาณ 64 เซนติเมตร มีลักษณะที่แตกต่างจากชนิดย่อยอื่นๆ คือ ขนมีสีเขียวอมเทา ขนบริเวณแก้มและท้ายทอยมีสีฟ้าจาง และมีขนาดใหญ่กว่า Alexandrine Parrot
นกเพศผู้มีจะงอยปากบนยาว 3.5-3.9 เซนติเมตร ปีกยาว 21.4-23.8 เซนติเมตร และแข้งยาว 2.1-2.4 เซนติเมตร นกเพศเมีย มีจะงอยปากบนยาว .1-3.7 เซนติเมตร ปีกยาว 20-22.8 เซนติเมตร และแข้งยาว 2-2.2 เซนติเมตร
น้ำหนักของนกแก้วโม่งพันธุ์อินเดียประมาณ 230-240 กรัม นกเพศผู้ที่โตเต็มวัยจะมีความยาวจากปลายจะงอยปากถึงปลายหางระหว่าง 550-580 มิลลิเมตร
3. Andaman Alexandrine Parrot พบเฉพาะบนหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย มีลักษณะที่แตกต่างจากชนิดย่อยอื่นๆ คือ ขนมีสีเขียวคล้าย Alexandrine Parrot นกเพศผู้มีแถบสีฟ้าบางๆ เหนือแถบสีชมพูที่หลังคอ แต้มสีแดงบนหัวไหล่มีสีสดกว่า มีขนาดใหญ่กว่า และจะงอยปากมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนนกเพศเมียมีความคล้ายคลึงกับ Alexandrine Parrot แต่มีขนาดใหญ่กว่า และจะงอยปากมีขนาดใหญ่กว่า
นกเพศผู้ มีจะงอยปากบนยาว 3.8-4.2 เซนติเมตร ปีกยาว 21.1-22.5 เซนติเมตร และแข้งยาว 2.1-2.3 เซนติเมตร นกเพศเมีย มีจะงอยปากบนยาว 3.2-3.7 เซนติเมตร ปีกยาว 20-21.3 เซนติเมตร และแข้งยาว 2-2.3 เซนติเมตร
4. Burmese Alexandrine Parrot หรือนกแก้วโม่งพันธุ์พม่า พบในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดียไปจนถึงตอนใต้ของสหภาพพม่า มีความยาวลำตัวประมาณ 58 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับ Alexandrine Parrot แต่มีส่วนที่แตกต่าง คือ แถบวงแหวนที่คอบางกว่า มีแถบสีฟ้าที่หลังคอจางกว่า ขนบริเวณคอมีสีเขียวอมเหลือง และจะงอยปากมีขนาดเล็กกว่า
นกเพศผู้ มีจะงอยปากบนยาว 3.4-3.8เซนติเมตร ปีกยาว 19.9-22.1 เซนติเมตร และแข้งยาว 1.8-2.2 เซนติเมตร นกเพศมีจะงอยปากบนยาว 3.00 – 3.30 ปีกยาว 19.4-20.4 เซนติเมตร และแข้งยาว 1.9-2.0 เซนติเมตร
5. Laos Alexandrine Parrot หรือนกแก้วโม่งพันธุ์ไทย พบในประเทศไทยทางภาคตะวันตกและภาคเหนือ รวมทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกัมพูชา และเวียดนาม มีขนาดเล็กที่สุดใน 5 ชนิดย่อย ขนาดความยาวรวม 55 เซนติเมตร
ลักษณะที่แตกต่างจากชนิดย่อยอื่นๆ คือ นกเพศผู้มีวงแหวนรอบคอบาง ท้ายทอยมีสีฟ้าจาง สีขนอ่อนกว่า แต้มสีแดงบนปีกมีขนาดเล็กและสีออกแดงสดกว่า ขนบนหน้าและคอมีสีเขียวอมเหลืองมากกว่า และมีขนาดเล็กกว่า Burmese Alexandrine Parrot เล็กน้อย นกเพศเมียขนบนหน้าและคอมีสีเขียวอมเหลืองมากกว่า และมีขนาดเล็กกว่า Burmese Alexandrine Parrot เล็กน้อย
นกเพศผู้ มีจะงอยปากบนยาว 3.3-3.6 เซนติเมตร ปีกยาว 18.7-20.4 เซนติเมตร และแข้งยาว 1.9-2.0เซนติเมตร นกเพศเมีย มีจะงอยปากบนยาว 3-3.4 เซนติเมตร ปีกยาว 17.9-19.0 เซนติเมตร และแข้งยาว 1.9-2.1 เซนติเมตร
อุปนิสัย
ตามธรรมชาติ นกแก้วโม่งมักอยู่เป็นฝูงหรือกลุ่มเล็กๆ นกแก้วโม่งอาศัยอยู่ในป่าผลัดใบ พื้นที่เกษตรกรรม สวนหย่อม สวนสาธารณะ สวนมะพร้าว และพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่รอบเมืองและหมู่บ้าน พบนกแก้วโม่งในบริเวณคลองชลประทานเก่าในเขตทะเลทรายซึ่งไม้ยืนต้นและพืชขึ้น นกแก้วโม่งพบได้ทั่วไปในเขตเมืองบางแห่ง อาจพบฝูงขนาดใหญ่หลายร้อยตัวถึงหลายพันตัวเกาะนอนรวมกันบนต้นไม้
ช่วงนอกฤดูสืบพันธุ์นกแก้วโม่งทั้งหมดในพื้นที่จะมาเกาะนอนรวมกันในบริเวณเดียวกันเมื่อถึงเวลาเช้านกแก้วโม่งเกือบทั้งหมดจะส่งเสียงแหลมประสานกัน ก่อนจะบินออกไปหากินซึ่งบางครั้งอาจไกลออกไปหลายไมล์ ขณะบินนกแก้วโม่งจะบินเป็นกลุ่มชิดกันและบินค่อนข้างสูงมาก รูปร่างที่เพรียวยาวและหางที่เรียวยาวทำให้รูปร่างของมันดูเพรียวยาวเมื่อบินอยู่บนท้องฟ้ากระพือปีกเป็นจังหวะเร็ว บินเป็นเส้นตรง
อาหาร
อาหารของนกแก้วโม่งในธรรมชาติประกอบด้วย เมล็ดพืช เมล็ดพืชที่มีเปลือกแข็ง ผลไม้ดอกไม้ ตาของใบ และน้ำหวานจากดอกไม้ รวมทั้งพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าวเจ้า นอกจากนี้ ยังพบนกแก้วโม่งเข้าทำลายสวนผลไม้ ซึ่งนิสัยชอบกัดแทะเล่นทำให้มีพืชผลที่เสียหายมากกว่าที่กินจริง
การสืบพันธุ์
ฤดูสืบพันธุ์ของนกแก้วโม่งอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ทำรังในโพรงของต้นไม้ น้อยครั้งที่จะพบว่าทำรังในรอยแยกของปล่องไฟหรือกำแพงหรือใต้หลังคา มักขุดโพรงเอง โดยเป็นต้นปาล์มหรือต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีเนื้ออ่อน เช่น งิ้วป่า โดยนกเพศเมียมีพฤติกรรมการจิกใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง และเปลือกไม้แห้งไปใส่ไว้ในรัง
บางครั้งพบว่ามีนกหลายคู่ขุดโพรงทำรังอยู่บนต้นไม้เดียวกัน นอกจากนี้ยังใช้โพรงเก่าของนกโพระดก และนกหัวขวานด้วย โดยนกแก้วโม่งมักขยายขนาดโพรงให้ใหญ่ขึ้นนกแก้วโม่งวางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง บนชั้นของผงไม้ผุ ไข่มีรูปร่างกลมรี ท้ายป้านเล็กน้อย เปลือกไข่มีสีขาว และเป็นมันเล็กน้อย ความยาว 3.0-3.6 เซนติเมตร ความกว้าง 2.40-2.80 เซนติเมตร ใช้เวลาในการฟักไข่ระหว่าง 21-28 วัน โดยการฟักอาจเริ่มฟักตั้งแต่วางไข่ฟองแรกหรือหลังจากวางไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ทั้งนี้ นกเพศเมียเท่านั้นที่ทำหน้าที่ฟักไข่ ลูกนกบินออกจากรังเมื่ออายุประมาณ 5-7 สัปดาห์ แต่พ่อแม่นกจะเลี้ยงดูไปอีกประมาณ 30 วัน
ลูกนกจะมีขนเหมือนนกที่โตเต็มวัย และเข้าสู่วัยเจริญพันธ์เมื่อมีอายุประมาณ 2-3 ปี ทั้งนี้ อายุขัยของนกแก้วโม่งอยู่ระหว่าง 7-12 ปี ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 3 ปี
สถานภาพ
ประชากรของนกแก้วโม่งทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการลักลอบจับลูกนกมาขายเป็นสัตว์เลี้ยง การลดลงของพื้นที่อยู่อาศัย การล่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร และความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับนกแก้วโม่งซึ่งทำลายพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันนกแก้วโม่งถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ตาม IUCN Red list และ CITES จัดให้นกแก้วโม่งอยู่ใน CITES Appendix II ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 คือ เป็นชนิดสัตว์ที่มีการควบคุมการค้า สามารถค้าได้ถ้าได้รับการอนุญาตจากประเทศที่ส่งออกโดยต้องไม่กระทบต่อจำนวนประชากรในธรรมชาติในประเทศไทยนกแก้วโม่งเป็นนกประจำถิ่นที่พบยากถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และเป็นสัตว์ที่ทางราชการอนุญาตให้ประชาชนเพาะเลี้ยงได้
การเลี้ยงนกแก้ว
การเลี้ยงนกแก้วในประเทศไทยมีทั้งพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมมาก ส่วนพันธุ์นกแก้วไทยทั้ง 4 ชนิด ที่พบเลี้ยงมากมี 3 ชนิด คือ นกแก้วโม่ง นกแก้วหัวแพร และนกแขกเต้า
กรงเลี้ยง
กรงเลี้ยงนกแก้วโม่งพบว่ามีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกัน คือ ผนังกรงใช้ตะแกรงเหล็กถักเนื่องจากจะงอยปากของนกแก้วโม่งมีขนาดใหญ่ มีความแข็งแรงมาก และนกแก้วโม่งยังมีนิสัยชอบกัดแทะสิ่งต่างๆ ถ้าใช้ตะแกรงขนาดเล็ก นกแก้วโม่งจะสามารถแทะตะแกรงจนเป็นช่องหนีไปได้ โดยตะแกรงควรมีขนาดช่อง 1 ¼ นิ้ว หรือเล็กกว่า ควรมีส่วนของกรงที่ไม่ได้มุงหลังคาเพื่อให้นกแก้วโม่งได้รับแสงแดด และน้ำฝน ขนาดกรงที่ใช้ควรมีขนาดกว้างตั้งแต่ 2 เมตร ยาวตั้งแต่ 4 เมตร สูงตั้งแต่ 2 เมตร
รังเทียมนกแก้ว
รังเทียมที่ใช้จะทำมาแผ่นไม้ ตีประกบเป็นกล่องสี่เหลี่ยม กว้าง 42 เซนติเมตรยาว 45 เซนติเมตร และสูง 100 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.5 นิ้ว เจาะช่องวงกลมเป็นทางเข้าออก ขนาดประมาณ 10-12 เซนติเมตร และให้ด้านใดด้านหนึ่งของกล่องสามารถเปิดออกเพื่อตรวจดูในรังกล่องได้
นอกจากนี้ ยังทำรังเทียมได้จากลำต้นไม้ต้นที่ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 50-80 เซนติเมตร แล้วคว้านตรงกลางท่อนไม้ให้เป็นโพรง ขนาดโพรงประมาณ 25-30 เซนติเมตร หลังจากนั้น ใช้ไม้ปิดทับรูโพรงด้านที่เจาะ ซึ่งต้องสามารถเปิดออกได้ง่าย หลังจากนั้น เจาะช่องเข้าออกตรงกลางด้านข้างให้เป็นวงกลมขนาดประมาณ 10-12 เซนติเมตร
อาหารนกแก้ว
อาหารของนกแก้วโม่งประจำวัน ควรเป็นประเภทผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล กล้วยน้ำว้า มะม่วงสุก และฝรั่ง เป็นต้น พร้อมกับเสริมด้วยประเภทเมล็ดธัญพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน ข้าวโพดสด ข้าวเปลือก หรือเมล็ดธัญพืชอื่นๆ และควรเสริมด้วยเกลือแร่ และวิตามิน ด้วยการคลุกกับผลไม้หรือเติมในน้ำดื่ม ทั้งนี้ อาหารที่เป็นผลไม้ที่เป็นน้ำมาก และมีความเหนียว เช่น กล้วย มะม่วง ควรนำออกเป็นระยะ ไม่ควรปล่อยทิ้งในกรงนานกว่า 2-3 วัน เพราะจะทำให้เกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น เป็นที่ชุกชุมของแมลงวันได้
ส่วนในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ควรเน้นให้อาหารที่เป็นเมล็ดธัญพืช ให้สัปดาห์ละครั้ง และเสริมด้วยผัก ผลไม้ทุกวัน
อาหารที่ให้ควรมีทั้งเมล็ดธัญพืช และผลไม้ ทั้งนี้ นกแก้วชอบกินผลทับทิมมากเป็นพิเศษ ส่วนผลไม้ที่ไม่ควรให้นกแก้ว ได้แก่ อะโวคาโด เพราะจะทำให้นกแก้วท้องเสีย
ที่มา : 1)
เอกสารอ้างอิง
1) อุษณีษ์ อาษายุทธ์, 2550. การเจริญเติบโตและพัฒนาการของนกแก้วโม่งในสภาพกรงเลี้ยง.