นกนางแอ่น และรังนกที่กินได้

26388

นกนางแอ่น หรือ นกอีแอ่น (Swiftlet) คือ นกที่สามารถนำรังมารับประทานได้ ซึ่งชาวบ้านมักเรียกเป็นชื่อต่างกันในแต่ละท้องถิ่นว่า นกแอ่น นกนางแอ่น และนกแอ่นกินรัง ส่วนนกแอ่นที่รังไม่มีการนำมารับประทาน ชาวบ้านมักเรียกว่า แอ่นขี้ควาย

นกแอ่นกินรังหรือนกแอ่นในมาเลเซียเรียกว่า “บูรุง ลายัง-ลายัง” (Burung Layang Layang) หรือ“บุรง ลายัง-ลายัง กัว” (Burung Layang Layang Gua) ส่วนในอินโดนีเซียเรียกว่า “บูรุงวาเล็ท” (Burung Walet) จัดเป็นนกนางแอ่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก สามารถเก็บรังที่สร้างจากน้ำลายมารับประทานได้ หรือ ที่เรียกในชื่อผลิตภัณฑ์ “รังนก” โดยมีความเชื่อว่า การรับประทานรังนกนางแอ่นที่สร้างมาจากน้ำลายจะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง และรักษาโรค

ชนิด และลักษณะทั่วไปของนกนางแอ่น
นกนางแอ่นจัดอยู่ในวงศ์ Apodidae จัดเป็นนกขนาดเล็ก ปากมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดสั้น และแบน มีรูจมูกทะลุไม่ถึงกัน ขนมีแกนขนขนาดใหญ่ ตัวเต็มวัยมีขนอุยเฉพาะบริเวณแก้ม ขนเรียงติดกันแน่นเป็นแผ่นคล้ายใบมีดโกน ขนกลางปีกมี 8-11 เส้น ปีกเมื่อหุบเข้าจะยาวเลยปลายหาง

นกนางแอ่นในประเทศไทยพบประมาณ 13 ชนิด ใน 5 สกุล คือ
1. สกุล นกนางแอ่นท้องขาว (Genus Collocalia G.R. Gvay) ประกอบด้วย นกนางแอ่นท้องขาว, นกนางแอ่นพันธุ์หิมาลัย, นกนางแอ่นหางสีเหลี่ยม, นกนางแอ่นกินรัง และนกนางแอ่นกินรังตะโพกขาว
2. สกุล นกนางแอ่นเล็กหางหนาม (Genus Rhaphidura Oates) ประกอบด้วย นกนางแอ่นเล็กหางหนามตะโพกขาว
3. สกุล นกนางแอ่นใหญ่ (Genus Hirundapus Hodgson) ประกอบด้วย นกนางแอ่นใหญ่คอขาว, นกนางแอ่นใหญ่หัวตาดำ และนกนางแอ่นใหญ่หัวตาขาว
4. สกุล นกนางแอ่นตาล (Genus Cypsiurus Lesson) ประกอบด้วย นกนางแอ่นตาล
5. สกุล นกนางแอ่นบ้าน (Genus Apus Scopoli) ประกอบด้วย นกนางแอ่นตะโพกขาวหางแฉก, นกนางแอ่นท้องลาย และนกนางแอ่นบ้าน

นกนางแอ่นกินรัง
นกนางแอ่นกินรัง

ขอบคุณภาพจาก www.bybyd.com

ชีววิทยาของนกนางแอ่น
นกนางแอ่นมีความรู้สึกที่ไวต่อกลิ่น และเสียง เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเป็นสังคม มักอาศัยรวมกลุ่มกัน ด้วยการจับคู่ผสมพันธุ์ตัวผู้เมียตัวเดียวตลอดช่วงชีวิต และชอบทำรังตามกันในที่ที่เคยมีนกนางแอ่นตัวอื่นเคยทำรังไว้แล้ว มีนกนางแอ่นตัวอื่น ๆ มาทำรังกันก่อนแล้ว

อาหารของนกนางแอ่น คือ แมลงปีกอ่อนที่บินในอากาศ และแมลงในน้ำทุกชนิด ด้วยการบินโฉบจับตัวแมลงขนาดเล็กขณะที่มันบินอยู่ หรือบินโฉบลงจากท้องฟ้าเข้าจับแมลงในน้ำ

นกนางแอ่นทั้งหมดมีขาสั้น ๆ นิ้วเล็ก ๆ มีปลายแหลมคมของกรงเล็บงองุ้มจึงไม่อาจจะเกาะราวหรือขอนนอนได้ แต่มันก็สามารถคืบไต่ไปบนพื้นผิวแนวดิ่งได้เช่นตามหน้าผาหรือผนังถ้ำเช่นเดียวกับที่มันสร้างรังบนแผ่นไม้กระดานที่เตรียมขึ้นมาเป็นพิเศษในฟาร์มรังนกแอ่นที่เป็นเหมือนกรงนอนขนาดใหญ่สำหรับเกาะพักผ่อนนอนหลับ

นกนางแอ่นสามารถบินในอัตราความเร็วเฉลี่ยที่เร็วกว่านกส่วนใหญ่ คือมันสามารถบินที่ความเร็วเฉลี่ย 90 – 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างสบายๆ รัศมีในการตีวงเลี้ยวที่จะไว้บินประมาณ 3.5 เมตร ถึง 4 เมตร ไม่ควรจะแคบกว่านี้ และความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือมันสามารถจะบินออกจากฟาร์มหรือถ้ำตั้งแต่เช้าถึงพลบค่ำได้โดยที่ไม่ต้องเกาะอะไรได้ตลอดทั้งวันลักษณะการบินจะกระพือปลีกทั้งสองข้างไม่เท่ากันเหมือนกับมนุษย์ที่ว่ายน้ำท่าตีกรรเชียง

นกนางแอ่นสามารถกำหนดตำแหน่งเสียงสะท้อน เพื่อนำทิศทางคล้ายเรดาร์และโซน่า เป็นสิ่งที่แยกต่างหากจากการใช้สายตาในการมองเพื่อหาทิศทางรอบ ๆ ตัวในสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่ นกนางแอ่นใช้เสียงสะท้อนนำทิศทางเพื่อคำนวณหาความกว้างในที่มืด ๆ ภายในโพรงถ้ำและในฟาร์มรังนกนางแอ่นต่าง ๆ โดยมีเสียงช่วยนำทาง

การสะท้อนของคลื่นเสียงกลับเข้าหูของนกนางแอ่นที่มีความไวมาก ทำให้นกนางแอ่นจับความแตกต่างของลักษณะตำแหน่งที่สะท้อนเสียงได้แม่นยำ ทำให้นกนางแอ่นทราบถึงลักษณะ ขนาด ตำแหน่ง และระยะทางได้ ถึงแม้จะอยุ่ในถ้ำหรือกลางคืนที่มืดก็ตาม ทั้งนี้ มนุษย์สามารถได้ยินเสียงสะท้อนของนกนางแอ่นได้ โดยจะเป็นเสียงแหลมถี่ และดังต่อเนื่อง คล้ายกับการเอาหินก้อนเล็กๆมากระทบกัน

มีเพียงนกนางแอ่นสองสายพันธ์เท่านั้น ที่สร้างเสียงสะท้อนกำหนดทิศทางและตำแหน่งได้ คือ ชนิด Aerodramus Fuciphagus ที่ส่งเสียงคลิก 2 ครั้ง ในการร้องแต่ละครั้ง ส่วนนกนางแอ่นอีกชนิด คือ นกนางแอ่นชนิด Aerodramus Maximus ที่ส่งเสียงเพียงคลิกหนึ่ง ส่วนสายพันธ์อื่นๆ ที่ไม่สามารถส่งเสียงสะท้อนกำหนดทิศทางได้ก็ต้องอาศัยการมองด้วยสายตาเพื่อการนำทางตามปกติ นกนางแอ่นพวกนี้จึงไม่อาจจะอาศัยในบริเวณที่มืดได้ เนื่องจากไม่มีการนำทางในที่มืดนั่นเอง ความสามารถของนกนางแอ่นเกี่ยวกับเสียงสะท้อนและการกำหนดทิศทางในที่มืดเพียงเพื่อกำหนดเส้นทางในการเข้าหาผนังหรือรังของพวกมันเพียงเท่านั้น

ประวัตินกแอ่น และการทำฟาร์ม
รังนกถูกเก็บนำมารับประทาน และมีการค้าขาย มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังของประเทศจีน (ค.ศ. 618 – 907) เมื่อพ่อค้าชาวจีนได้นำรังนกจากเกาะชวา หรือ ประเทศอินโดนีเชียในปัจจุบัน เข้าไปถวายองค์จักรพรรดิ ซึ่งมีความเชื่อว่า เป็นอาหารที่หายาก และมีคุณค่าต่อพระพลานามัย รวมถึงช่วยให้มีพระชนมายุยืนยาว

หลังจากนั้นเป็นต้นมา รังนกนางแอ่น และอาหารที่ทำจากรังนกนางแอ่นได้เป็นที่ยอมรับ และนิยมรับประทานอย่างมากจากชาวจีน เพราะถือว่า รังนกหรืออาหารที่ทำจากรังไข่ ถือเป็นเครื่องเสวยอย่างหนึ่งที่องค์จักรพรรดิทรงเสวย โดยรู้จักกันในนาม “ทองคำเหลว” (Liquids Gold) ที่มาจากพระดำรัสขององค์จักรพรรดิว่า รังนกเป็นสิ่งหายากที่ทรงคุณค่า และมีราคาแพง

ในสมัยราชวงศ์หมิงตอนปลายได้ปรากฏว่ามีแพทย์เขียนใบสั่งยาโดยมีรังนกเป็นส่วนผสมเชื่อว่ารังนกสามารถรักษาโรคทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรงได้ดี ส่วนในประเทศไทย ได้มีคนรู้จักนำรังนกมาบริโภคกันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยปรากฏหลักฐานว่า มีการนำรังนกมาปรุงเป็นอาหารคาวหรือใส่ในแกงบางชนิดซึ่งถือเป็นอาหารบำรุงกำลัง เช่น แกงสิบสอง

จากความนิยมรับประทานรังนกอย่างมากของชาวจีน และชาวเอเชีย และช่วงต่อมาที่มีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมผลิตรังนกจนเป็นที่รู้จัก และนิยมรับประทานกันมากขึ้น ทำให้ปริมาณรังนกที่เก็บได้จากถ้ำบนเกาะบอร์เนียว และบนเกาะในแถบภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงในประเทศอื่นจะลดลงมากจนไม่เพียงพอกับความต้องการในปัจจุบัน

แหล่งรังนกตามธรรมชาติในประเทศไทย
1. อุทยานชุมชนเกาะไข่ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านบ่อเมา ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นเกาะที่เงียบสงบคงความตามธรรมชาติ เป็นแหล่งชมปะการังน้ำตื้นนานาชนิดมีถ้ำชมค้างคาว รังนกนางแอ่น และปูไก่ อยู่ห่างจากชายฝั่ง ประมาณ 4.5 กิโลเมตร
2. เกาะสี่ เกาะห้า เป็นหมู่เกาะหินปูนอยู่ในทะเลสาปสงขลา สภาพภูมิประเทศทั่วไปเป็นเนินเขาเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 1,400 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของ ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ห่างจากเกาะหมากไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.6 กิโลเมตร ตามเกาะต่าง ๆ มีโพรงถ้ำอยู่มากมาย ถ้ำเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่นรังนกถือว่ามีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ เนื่องจากหมู่เกาะนี้ตั้งอยู่กลางทะเลสาบทำให้รังนกขาวสะอาด และมีขนาดใหญ่เกาะสี่ เกาะห้า จึงเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

การทำฟาร์มรังนกนางแอ่น
จากความต้องการรังนกนางแอ่นจำนวนมากสำหรับนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รังนก ทำให้ในแต่ละปีมีการเก็บรังนกนางแอ่นไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรม และตลาด ทำให้มีผู้สนใจทำฟาร์มรังนกนางแอ่นมากขึ้น

แต่การเลี้ยงนกนางแอ่นจะไม่ง่ายเหมือนกับการเลี้ยงนกทั่วไป เพราะไม่สามารถที่จะจับมาเลี้ยงในกรงนั้นแล้วปล่อยนกสร้างรังได้ เพราะตามธรรมชาติของนกนางแอ่นจะมีการสร้างรังตามซอกโขดหินตามหน้าผา หรือกิ่งไม้ใกล้บริเวณแหล่งหากินเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ สามารถสร้างแหล่งอาศัยให้มีสภาพคล้ายคลึงกับธรรมชาติ และประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆสำหรับดึงดูดให้นกนางแอ่นเข้ามาอาศัย และสร้างรังได้ เช่น การใช้เสียงล่อ

การทำฟาร์มนกนางแอ่น ด้วยการออกแบบ และการก่อสร้างอาคารให้มีสภาพคล้ายคลึงกับธรรมชาติ และใช้เสียงเพื่อล่อให้นกนางแอ่นมาเกาะทำรัง ได้ริเริ่มทำกันที่เกาะชวามาตั้งแต่ปี ค.ศ. ที่ 1950

การใช้เสียงล่อนกนางแอ่นให้เข้ามาอยู่ในฟาร์ม และสร้างรังนั้น ทำได้โดยการบันทึกเสียงนกนางแอ่นในขณะที่ร้องเรียกหาคู่เข้ามานอนทั้งจากธรรมชาติ และที่ได้จากในฟาร์ม แล้วนำเทปเสียงมาเปิดเรียกซ้ำๆ ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงพลบค่ำ ผ่านเครื่องเสียง และลำโพง ที่มีการติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ

สรรพคุณรังนกนางแอ่น
รังนกนางแอ่น หรือมักเรียกสั้นๆว่า รังนก ถือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กำลังได้รับความนิยม เพราะรังนกมีสารอาหารมากมาย โดยเฉพาะโปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด ทำให้รังนกมีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลียแก้ไอ ขับเสมหะ ไอเป็นเลือด นอกจากนั้น คนที่สูบบุหรี่จัด หากรับประทานรังนกนางแอ่นทุกวันแล้วก็จะช่วยให้ร่างกายมีความกระปรี้กระเปร่า ลดอาการไอ และช่วยฟอกปอดได้อีกด้วย รวมถึงมีการศึกษา พบว่า รังนกนางแอ่นสามารถยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ผ่านการรักษาโดยใช้รังสีฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

นอกจากนั้น สาร Epidermal Growth Factor ในรังนกนางแอ่น ยังยังช่วยบำรุงผิวพรรณให้อ่อนกว่าวัย ช่วยชะลอความแก่ และทำให้อายุยืน
รังนกเป็นยาบำรุงกำลังสำหรับเด็ก ผู้ป่วยระยะพักฟื้นคนชรา หรือสตรีหลังคลอดบุตร และมีการศึกษา พบว่า รังนกเป็นโปรตีนที่สามารถละลายในน้ำได้ ซึ่งอาจจะสามารถส่งเสริมเซลล์ภายในสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคได้ และเป็นไปได้ที่จะใช้เป็นสารต้านสาร AZT และสามารถต่อต้านภูมิคุ้มกันบกพร่องในโรคเอดส์ได้

คุณค่าทางโภชนาการของรังนก (รังนกสีขาวแห้ง 100 กรัม)
• ความชื้น 24.28%
• เถ้า 6.78%
• โปรตีน 66.89%
• ไขมัน 0.83%
• เยื่อใย 0.11%
• คาร์โบไฮเดรต 25.39%

• กรดอะมิโน (รังนกสีขาวแห้ง 100 กรัม)
กรดอะมิโนจำเป็น
– เมทไธโอนีน+ซิสเทอีน 1,509.44 มิลลิกรัม
– เมทไธโอนีน 5.13 มิลลิกรัม
– ซิสเทอีน 1,504.31 มิลลิกรัม
– ทรีโอนีน 86.12 มิลลิกรัม
– วาลีน 69.74 มิลลิกรัม
– ฟีนิลอะลานีน+ไทโรซีน 68.54 มิลลิกรัม
– ไอโซลิวซีน 64.50 มิลลิกรัม
– ฮิสทีดีน 7.82 มิลลิกรัม
– ไลซีน 50.01 มิลลิกรัม
– ทริปโตเฟน 0.67 มิลลิกรัม
– ลิวซีน 0.00 มิลลิกรัม
กรดอะมิโนไม่จำเป็น
– กลูตามีน 803.75 มิลลิกรัม
– แอสพาราจิน 232.44 มิลลิกรัม
– ซีรีน 124.56 มิลลิกรัม
– ไกลซีน 112.96 มิลลิกรัม
– กรดแอสพาร์ติก 76.68 มิลลิกรัม
– กรดกลูตามิก 65.31มิลลิกรัม
– โพรลีน 58.14 มิลลิกรัม
– อะลานีน 55.31 มิลลิกรัม
– ซิสทีน 20.74 มิลลิกรัม
– ไฮดรอกซีโพรลีน ไม่พบ
– อาร์จินีน ไม่พบ

ที่มา : วราศรี แสงกระจ่าง, 2555. (โภชนาการรังนกแห้งสีขาว จังหวัดตราด)

รังนกแท้ และรังนกปลอม
การที่จะแยกแยะว่ารังนกที่ชื้อมาเป็นรังนกแท้หรือรังนกปลอมนั้น ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งควรเลือกซื้อรังนกที่มาจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือได้ มีแหล่งผลิตที่ระบุชัดเจน รวมถึงได้รับรองมาตรฐานจาก อย.

รังนกปลอมส่วนใหญ่จะผลิตจากกัม (Gum) ชนิดคารายากัม ที่มีลักษณะคล้ายวุ้น เป็นสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ ที่ส่วนใหญ่จะทำมาจากแป้งข้าวจ้าว ยางคารายา และน้ำมันปาล์ม โดยทำรูปร่างขึ้นมาให้ดูคล้ายรังนกที่มักมีขนอ่อนของนกปะปนอยู่ด้วย ด้วยการนำกัมไปต้มจนได้ก้อนคล้ายกับรังนกออกมา แต่ทั้งนี้ รังนกปลอมจากกัมนี้จะไม่มีกลิ่นคาวตามธรรมชาติเหมือนกับรังนกแท้ ดังนั้น การแยกแยะรังนกแท้หรือรังนกปลอมวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ได้ คือ การดมกลิ่น หากรังนกมีกลิ่นคาวจะเป็นรังนกแท้ แต่หากไม่มีกลิ่นมักเป็นรังนกปลอม ซึ่งมักทำรังนกปลอมในรูปของรังนกพร้อมปรุงที่มีลักษณะเป็นเส้นสีขาว เกาะกันเป็นแผ่น

รังนกแท้
รังนกแท้

ยางคารายา เป็นยางที่ได้จากไม้ยางยืนต้น (Sterrculia Urens) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย ยางนี้มีสีขาว สีเหลืองอมชมพู จนถึงสีน้ำตาลเข้ม มีรูปร่างไม่แน่นอน และมีกลิ่นคล้ายกับน้ำส้มสายชู ยางคารายาจะไม่ละลายน้ำแต่จะดูดซับน้ำ และพองตัวคล้ายกับรังนก ยางคารายาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายชนิด เช่น การทำฟัน ยา อาหารสิ่งทอและกระดาษ เป็นต้น ยางชนิดนี้ เมื่อย่อยด้วยกรด จะได้กรดกาแลคทิวโรนิค (Galacturonie Acid) น้ำตาลกาแลคโทส (Galactose) และน้ำตาลแรมโนส (Rhamnose)

กฎหมายเกี่ยวรังนก
1. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นกนางแอ่นซึ่งรังกินได้ถือว่าเป็นสัตว์คุ้มครองในกลุ่มของสัตว์ปีก และถูกจัดไว้ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 97
2. พระราชบัญญัติอากรรังนกนางแอ่น พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้เมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ.2540 (ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรรังนกนางแอ่น พ.ศ. 2482)โดยปรับปรุงให้ราชการส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแล และจัดการเรื่องการเก็บรังนกนางแอ่นอันเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และให้เงินอากรนั้นตกเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่มีรังนกอยู่และปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีการที่จะให้เอกชนดำเนินการเก็บรังนกอย่างเหมาะสม
3. เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป ต้องขึ้นทะเบียนอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 พ.ศ. 2543 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซึ่งเครื่องดื่มรังนกอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตามคู่มือประชาชนสำหรับการติดต่อขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพได้แก่อาหาร และยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย ต้องส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและต้องขออนุญาตใช้ฉลากอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

อนึ่ง การผลิตเครื่องดื่มรังนกปลอมอาจถูกดำเนินคดีในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 การควบคุมอาหาร มาตรา 25 (2) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตนำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารปลอม ซึ่งถ้ามิได้มีการฟ้องร้องผู้อนุญาตอาจสั่งทำลายหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น ถูกสั่งพักใบอนุญาตครั้งละไม่เกิน 120 วันเมื่อมีการพิสูจน์เป็นที่แน่นอนว่าเป็นอาหารปลอม

ที่มา : นายิกา จริยธรรมานุกูล, 2555.(2)

เอกสารอ้างอิง
untitled