นกขุนทอง และการเลี้ยงนกขุนทอง

41927
นกขุนทองใต้กลาย

นกขุนทอง (Hill Mynah) เป็นพันธุ์นกเอี้ยงที่พบได้ในป่า ไม่เหมือนกับนกเอี้ยงพันธุ์อื่น และปัจจุบันมีการจับมาเลี้ยงกันมาก จนทำให้เป็นนกที่หายากมาก แต่อาจพบจำหน่ายตามฟาร์มเลี้ยงหรือผู้นิยมเลี้ยงนกขุนทองทั่วไป

อนุกรมวิธาน
Class : Aves
Order : Passeriformes
Family : Sturnidae
Genus : Gracular
Species : religiosa

ชนิดนกขุนทองที่พบในไทย
1. นกขุนทองใต้ (Gracular religiosa religiosa) เป็นพันธุ์นกขุนทองที่มีลำตัวขนาดใหญ่ มีลักษณะเด่น คือ มีแผ่นหนังสีเหลืองที่ข้างหูที่แยกออกจากกันเป็นส่วนหน้า และส่วนหลัง มีจงอยปากยาว และงุ้มมากกว่านกขุนทองเหนือ

นกขุนทองใต้กลาย
นกขุนทองใต้กลาย

2. นกขุนทองเหนือ (Gracular religiosa intermedia) เป็นพันธุ์นกขุนทองที่มีขนาดลำตัวเล็กกว่าพันธุ์นกขุนทองใต้ และมีแผ่นหนังข้างหูของส่วนหน้า และส่วนหลังเชื่อมติดกัน

นกขุนทองเหนือ
นกขุนทองเหนือ
นกขุนทอง
นกขุนทองเหนือกลาย

นอกจากนั้น ยังพบความแตกต่างในแต่ละ 2 พันธุ์ ทำให้แบ่งเพิ่มชนิดย่อยได้อีก 3 ชนิด และมีร้อยละของจุดเชื่อมของแผ่นหน้า และหลัง คือ
– นกขุนทองใต้กลาย (ใช้ตัวย่อ MS) มีจุดเชื่อมของแผ่่นหน้าหลัง ร้อยละ 1-30
– นกขุนทองเหนือกลาย (ใช้ตัวย่อ MN) มีจุดเชื่อมของแผ่่นหน้าหลัง ร้อยละ 70-99
– นกขุนทองผสม (ใช้ตัวย่อ I) มีจุดเชื่อมของแผ่่นหน้าหลัง ร้อยละ 31-69

untitled

ลักษณะทั่วไป
นกขุนทองที่พบในประเทศไทยมีลักษณะขนปีก และขนลำตัวสีดำ เหลือบสีน้ำเงินอมม่วง มีแถบสีขาวที่ปีกทั้งสองด้าน จงอยปากใหญ่แข็งแรง สีเหลือง ขนบนศรีษะเหมือนหวีผมแสกกลาง มีแผ่นหนังข้างศรีษะ พาดตั้งแต่บริเวณใต้ตาจรดท้ายด้านหลัง ตัวผู้ และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน สังเกตความแตกต่างที่อวัยวะจึงดูออกได้

ลักษณะทั่วไป นกขุนทองเหนือ นกขุนทองผสม นกขุนทองใต้
• ขนาดศรีษะ (ลบ.ซม.) 17.35 19.3 21.63
• ปริมาตรจะงอยปาก (ลบ.ซม.) 0.67 0.84 1.15
• ความโค้งจะงอยปาก (องศา) 5.68 6.85 8.19
• น้ำหนักตัว (กรัม) 189.37 224.15 280.8
• ความยาวลำตัว (ซม.) 18.52 20.13 22.68
• รอบลำตัว (ซม.) 18.04 19.84 22.02
• ความยาวปีก (ซม.) 16.49 17.53 18.18
• ความยาวขา (ซม.) 3.28 4.37 4.62

ที่มา : Manee และ Pornchai, 1998.(1)

การดำรงชีพ
การดำรงชีพของนกขุนทองจะชอบหากิน และอาศัยเป็นฝูง เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์ (มกราคม-พฤษภาคม) นกเจริญพันธุ์ใหม่จะเริ่มจับคู่ ส่วนนกขุนทองที่เป็นคู่กันมาก่อน จะอยู่ใกล้ชิดกันตลอด และจะเริ่มแยกตัวออกเป็นคู่ๆเพื่อหาแหล่งสร้างรัง และวางไข่ หลังจากเลี้ยงลูกโตจนแยกจากพ่อแม่นกแล้วจึงค่อยกลับเข้ารวมฝูง

แหล่งอาศัยของนกขุนทองชอบอาศัยบริเวณป่าสูง แต่เมื่อถึงระยะวางไข่ จะบินลงที่ราบต่ำเพื่อหาแหล่งสร้างรัง และวางไข่ ตามต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีลำต้นสูง และมีโพรงไม้

นกขุนทองที่จับคู่แล้วจะออกหาต้นไม้สำหรับทำรัง ซึ่งจะเป็นโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ โดยตัวผู้จะเป็นตัวเลือกโพรงไม้ ด้วยการคาบกิ่งไม้แห้งหรือใบไม้ไปเกาะที่ปากโพรง แล้วร้องเรียกนกตัวเมีย หากนกตัวเมียพอใจก็จะบินเข้าใกล้ และช่วยกันคากิ่งไม้ และใบไม้มาทำรัง สำหรับวัสดุรองรังจะพบมากคือใบไผ่ และนิยมวางไว้ด้านบนสุดของรัง อาจเป็นเพราะใบไผ่มีลักษณะโค้งพับง่าย และอ่อนนุ่มกว่ากิ่งไม้หรือใบไม้อื่น

นกขุนทองจะวางไข่ปีละ 1-2 ครั้ง แม่นก 1 ตัว จะวางไข่ประมาณ 3-5 ฟอง แต่หากมีการเลี้ยงในกรงหรือพื้นที่จำกัดจะมีการผสมพันธุ์ และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี

ไข่นกขุนทองมีสีฟ้า และมีจุดประเป็นสีน้ำตาล ขนาดไข่ประมาณ 2.6 x 3.3 ซม. น้ำหนักประมาณ 11.20 กรัม หลังจากการวางไข่ พ่อนก และแม่นกจะพลัดกันฟักไข่ ระยะเวลาการฟักไข่ประมาณ 14-17 วัน

การเลี้ยงลูกนกหลังฟักไข่ พ่อนก และแม่นกจะพลัดกันเลี้ยง และดูแลตลอด ระหว่างที่นกอีกตัวเข้าป้อนอาหาร อีกตัวจะคอยระวังภัยอยู่ใกล้ๆ โดยมักพบตัวเมียเข้าป้อนอาหารมากกว่าตัวผู้ ใช้เวลาการป้อน 1-2 นาที และป้อนอาหารมากที่ในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. สำหรับอาหารที่มีขนาดใหญ่ พ่อแม่นกจะคาบเหยื่อฟาดกับไม้ให้อ่อนนิ่มก่อนป้อนลูกนก

ในระยะก่อนหัดบิน ประมาณวันที่ 28-30 วัน หลังการฟักออกจากไข่ ลูกนกจะออกมาคอยรับอาหารบริเวณปากรัง และสังเกตการบินจากพ่อแม่นก ก่อนจะออกจากรังเพื่อหัดบิน ซึ่งระยะนี้มักจะตกลงพื้นก่อนโดยประมาณแล้วจะบินแข็งได้ประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้น ซึ่งพ่อแม่นกจะอยู่ใกล้ และคอยระวังภัยตลอด  และหลังจากบินแข็งแล้วประมาณ 30 วัน ก็จะเริ่มออกห่างจากพ่อแม่นก และหาอาหารกินเองได้

เพิ่มเติมจาก : พงศักดิ์ , 2538.(2), วีระพล และคณะ, 2538.(3)

การเลี้ยงนกขุนทอง
โพรงรังนกขุนทอง
1. โพรงแท้ หมายถึง โพรงรังที่ได้จากการตัดท่อนไม้ที่มีโพรงมากแขวนในกรงเลี้ยง
2. โพรงเทียม หมายถึง โพรงรังที่ทำมาจากต้นมะพร้าว ตัดเป็นท่อน ยาวประมาณ 60 ซม. ผ่าเป็น 2 ซีก แล้วคว้านแกนกลางออกเป็นรูปก้นหอยทั้งด้านบน ด้านล่าง จากนั้น นำมาประกบกัน และใช้ลวดมัดให้แน่น พร้อมเจาะรูกว้างเป็นวงกลมประมาณ 12-15 ซม. โดยให้ห่างจากก้นโพรงประมาณ 30 ซม.

อาหารใช้เลี้ยง
อาหารที่ใช้เลี้ยงแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1. อาหารสำเร็จรูป เป็นอาหารนกที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป มักเป็นส่วนผสมของเมล็ดธัญพืช หรือเม็ดอาหารปรุงแต่งขนาดเล็ก
2. อาหารปรุงเอง ได้แก่ ข้าวจ้าวสุกคลุกกับเมล็ดธัญพืช
3. ผัก ผลไม้ เช่น มะละกอ แตงกวา แตงโม โดยการสับเป็นชิ้นๆ ส่วนผลไม้ขนาดเล็ก เช่น ตะขบ สามารถให้ได้ทั้งลูก
4. แมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน ปลวก จิ้งจก เป็นต้น

การให้น้ำ และอาหาร
การให้อาหารจะให้ทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า พร้อมมั่นเปลี่ยนถ่ายอาหาร และทำความสะอาดถาดใส่อาหารทุกๆ 5-7 วัน ส่วนถาดน้ำต้องคอยตรวจเช็คปริมาณน้ำตลอด และควรถ่ายน้ำใหม่ทุกๆ 5-7 วัน เช่นกัน

การผสมพันธุ์ และอนุบาลลูกนก
สำหรับการเลี้ยงนกแบบให้จับคู่เพื่อผสมพันธุ์จะนิยมปล่อยเลี้ยงในกรงขนาด ใหญ่ และให้อาหารอย่างเพียงพอหรือเี้ลี้ยงในกรงขนาดใหญ่ที่พื้นล่างปลูกด้วยพืช อาหารนก โดยให้ปล่อยพ่อแม่พันธุ์นกเป็นคู่ๆตามขนาดของกรงที่รองรับได้ มักจับปล่อยให้ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นไป

ในระยะแรกที่ลูกนกฟักออกจากไข่ 5-10 วัน จะปล่อยให้แม่นกดูแลเองก่อน หลังจากนั้น จึงนำลูกนกออกมาอนุบาลเองในกรงเฉาะแยกจากพ่อแม่พันธุ์ โดยทำรังเทียมด้วยกระดาษชำระ แต่ต้องมั่นเปลี่ยนถ่ายกระดาษชำระเป็นประจำทุกวัน เพราะลูกนกในวัยนี้จะถ่ายอุจจาระปล่อยมาก และที่สำคัญควรติดหลอดไฟตูมกาประมาณ 60 แรงเทียน ไว้ใกล้รัง เมื่อลูกนกอายุได้ประมาณ 20 วัน ให้จัดทำกิ่งไม้สำหรับเกาะ และให้หยุดการใช้หลอดไฟ

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกนกอาจเป็นข้าสุกผสมเมล็ดธัญพืช ร่วมกับแมลงขนาดเล็กที่หาได้ ป้อนให้แก่ลูกนกทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง ในช่วงเวลา 07.00-08.00 น. 11.00-12.00 น. 14.00-15.00 น. และ 17.00-18.00 น.

เอกสารอ้างอิง
1. Manee Archawaranon และPornchai Wongwasana, 1998. Morphological variation of Hill Mynahs in Thailand.
2. พงศักดิ์ พลเสนา, 2538. การเพาะเลี้ยงนกขุนทอเพื่อทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ.
3. วีระพล บุญชูดวง, สนั่น เหลียงไพบูลย์ และเกรียงศักดิ์ ตั้งเกียรติศิริ, 2538. การเพาะเลี้ยงนกขุนทองในกรงเลี้ยง.