นกกระจาบ (Weaver Bird) จัดเป็นนกกินเมล็ดธัญพืชที่มีขนาดเล็ก มีลักษณะลำตัวคล้ายนกกระจอก แต่มีลวดลาย และสีสันสวยงามกว่า เป็นนกที่พบได้ตามป่า แปลงเกษตร และพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งมักสร้างรังได้สวยงาม และเป็นระเบียบ
อนุกรมวิธานนกกระจาบ
Class : Aves
Order : Passeriformes
Family : Ploceidae
Genus : Ploceus
สถานภาพนกกระจาบ
นกกระจาบในประเทศไทยทั้ง 3 ชนิด จัดเป็นนกคุ้มครอง และมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่อยู่อาศัยของนกระจาบถูกรบกวนทำให้มันไม่สามารถสร้างรังได้ และผลจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ทำให้ถิ่นที่อยู่ของนกเปลี่ยนแปลงไปจนไม่อาจอยู่อาศัยได้ หรือไม่เหมาะสมต่อการสร้างรังวางไข่ เช่น เสียงกึกก้องที่เกิดจากเครื่องบิน เป็นต้นนกกระจาบจึงอยู่ในสถานะหายาก
ลักษณะทั่วไปของนกกระจาบ
นกกระจาบ เป็นนกที่มีจะงอยปากแข็งแรง มีขนาดใกล้เคียงกับนกกระจอก โดยมีความยาวจากปากถึงหางที่ปากแข็งแรงมาก ยาวประมาณ 14-15 เซนติเมตร ลักษณะการบินโฉบเหมือนนกแอ่น และบินตรงธรรมดา ส่วนสีของตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์แตกต่างจากเพศเมียมาก และสีของนกกระจาบเพศผู้แต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปอีกด้วยซึ่งสามารถใช้ในการจำแนกได้เด่นชัดกว่าลักษณะ ทั้งนี้ รูปร่างของนกกระจาบในประเทศไทยจะแตกต่างกันตามชนิด
นกกระจาบส่วนใหญ่พบในพื้นที่ของทวีปแอฟริกา มีเพียงส่วนน้อยที่พบในทวีปเอเชีย ในส่วนของประเทศไทยนั้นมี 3 ชนิด คือ
1. นกกระจาบธรรมดา (Baya weaver)
นกกระจาบธรรมดา มีชื่อวิทยาศาสตร์ Ploceus philippinus เพศผู้มีขนบนหัวสีเหลืองสด ด้านข้างของหัวเป็นสีดำ ใต้คอสีน้ำตาลเข้ม ลำตัว หลัง ปีกและหางมีสีน้ำตาลโดยมีขอบของก้านขนแต่ละก้านเป็นสีน้ำตาลเข้ม จึงทำให้ลักษณะลายบนตัวเป็นลักษณะเดียวกับลายบนตัวของนกกระจอกบ้าน ส่วนหน้าอกและท้องไม่มีลาย
2. นกกระจาบอกลาย (Streaked weaver)
นกกระจาบอกลาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Ploceus manyar เพศผู้มีขนบนหัวสีเหลืองสด ด้านข้างหัวและใต้ลำคอสีดำ ลำตัวหลังปีก และหางสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นลายเช่นเดียวกับนกกระจาบธรรมดา แต่ส่วนหน้าอกมีสีน้ำตาลอ่อน และมีลายเป็นทางสีน้ำตาลเข้มชัดเจน
3. นกกระจาบทอง (Asian Golden Weaver)
นกกระจาบทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Ploceus hypoxanthus เพศผู้มีขนบนหัว หน้าอก ท้องและตะโพกสีเหลืองสด ด้านข้างหัว และใต้ลำคอเป็นสีดำ หลังปีกและหางสีน้ำตาลและมีลักษณะเป็นลายเหมือนกัน
ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ นกกระจาบเพศผู้ทั้งสามชนิดมีขนปกคลุมตัวคล้ายคลึงกับของเพศเมีย และนกที่ยังไม่เต็มวัย คือมีขนปกคลุมตัวสีน้ำตาล และเป็นลายทั้งตัว โดยมีสีทางด้านท้องอ่อนกว่าทางด้านหลังเล็กน้อย จึงทำให้นกกระจาบทั้งสามชนิดคล้ายคลึงกันมาก
ข้อแตกต่างที่จะใช้ระบุว่าเป็นนกกระจาบชนิดใด คือ นกกระจาบอกลายมีทางสีน้ำตาลเข้มตามยาวอยู่ที่หน้าอก ซึ่งนกกระจาบธรรมดา และนกกระจาบทองไม่มี สำหรับนกกระจาบทองบริเวณเหนือตามีแถบสีเหลืองอ่อนพาดเป็นทางยาวพอสังเกตได้ นอกจากนั้นมีขนเส้นเล็กๆ กระจายอยู่บริเวณท้ายทอยซึ่งไม่มีในนกกระจาบธรรมดา และนกกระจาบทองมีจะงอยปากป้อมและสั้นกว่านกกระจาบธรรมดา
แหล่งที่อยู่อาศัย และการแพร่กระจาย
นกกระจาบจะพบมากตามชนบทที่เป็นพื้นที่ราบต่ำ ได้แก่ พื้นที่การเกษตร ป่ารุ่นสอง และพื้นที่ชานเมือง จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร ชอบสร้างรังตามต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านเหนียวแข็งแรง ซึ่งมักอยู่ใกล้ริมน้ำ ตามทุ่งนา หรือตามชายคาบ้านใกล้ริมน้ำตามชนบท
– นกกระจาบธรรมดา มีการแพร่กระจายตั้งแต่ทางใต้ประเทศพม่า ทิศตะวันออกของอ่าว เบงกอลมาทางตะวันออกของเทือกเขาตะนาวศรี ไทย และอินโดจีน เฉพาะในประเทศไทยนั้นมีอยู่ทั่วไป
– นกกระจาบอกลาย มีการแพร่กระจายตั้งแต่ ทิศใต้ของภูเขาหิมาลัย ยูนาน เรื่อยลงมาทางประเทศพม่า ไทย อินโดจีน ในประเทศไทยพบบริเวณที่ราบภาคกลางและตอนบนสุดของประเทศ
– นกกระจาบทอง พบในตอนเหนือของประเทศพม่า บริเวณเมืองพะโคลงมาจนถึงเมืองมัณฑเล และเมาะตะมะ เขาตะนาวศรีตอนเหนือ ไทย และชวา ในประเทศไทยแพร่กระจายอยู่เฉพาะบริเวณที่ราบภาคกลาง
อาหาร และการกินอาหาร
นกกระจาบส่วนใหญ่กินเมล็ดพืช ได้แก่ เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดหญ้า แต่บางครั้งกินแมลงเป็นอาหาร โดยเฉพาะเวลาเลี้ยงลูกอ่อนแม่นกจะหาแมลงเล็กๆ หรือตัวหนอนมาป้อนลูกอ่อน นกกระจาบมีพฤติกรรมการกินอาหารตลอดวัน โดยจะบินจากรังในตอนเช้าตรู่พร้อมกันเป็นฝูง และกลับรังในตอนพลบค่ำ มักพบนกกระจาบอยู่ตามนาข้าวที่มีรวงสุกแล้ว หรือ ตามพื้นนาที่เก็บเกี่ยวแล้วและมีเมล็ดข้าวอยู่ และตามทุ่งหญ้า แหล่งเกษตรกรรม เวลาออกหากินจะเห็นฝูงนกกระจาบบินตามกันเป็นสายอย่างรวดเร็ว และมักชอบส่งเสียงเซ็งแซ่ขณะออกหากิน
พฤติกรรมทางสังคม
นกกระจาบเป็นนกสังคม คือ อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ก็สร้างรังรวมกันเป็นกลุ่มในร่มไม้เดียวกัน ในขณะจับคู่ตัวผู้จะสร้างรังแล้วอยู่กับตัวเมียจนกระทั่งตัวเมียวางไข่แล้วตัวผู้จะแยกไปสร้างรังใหม่และจับคู่กับตัวเมียตัวใหม่ เป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะหมดฤดูผสมพันธุ์ หรือจนกว่าตัวเมียจะหมดฝูง ตัวเมียจะเลี้ยงลูกอ่อนจนบินเข้ารวมฝูงได้ และมักจะบินตามกันเป็นสายอย่างพร้อมเพรียงกันเป็นฝูงไปลงนาข้าว ฝูงละประมาณ 40 ตัว
การจับคู่ และการผสมพันธุ์
การผสมพันธุ์ของนกกระจาบในประเทศไทย มักจะอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม โดยนกกระจาบธรรมดามีฤดูผสมพันธุ์ในฤดูฝน และเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 1 ปี
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ของนกกระจาบ ตัวผู้จึงมีสีขนบนหัวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองชัดเจนเพื่อดึงดูดเพศเมียให้สนใจที่จะเข้าหาเพื่อจับคู่ และตัวผู้มักจะมีการแสดงออกอย่างอื่นอีก ส่วนการสร้างรังของนกกระจาบ เป็นการแสดงออกเพื่อเกี้ยวพาราสีเพศเมียเพื่อการผสมพันธุ์ ซึ่งกิริยาที่นกกระจาบตัวผู้แสดงการเกี้ยวตัวเมีย
ได้แก่ การบินวนเวียนรอบต้นไม้ใหญ่สักพักหนึ่ง แล้วจะลงเกาะที่ด้านนอกของรัง ไต่ไปมาพร้อมกับพยายามแกว่งไกวรัง เพื่อแสดงให้ตัวเมียเห็นว่ารังของมันแข็งแรงพอ จากนั้น จะขยับปีกขึ้นลง และพองขน ถ้าหากยังไม่ได้รับความสนใจมันจะบินเข้าหานกตัวเมียพร้อมกับส่งเสียงร้องเพื่อดึงดูด เชื้อเชิญ ให้นกตัวเมียไปที่รังที่มันสร้างอยู่ ถึงขั้นตอนนี้ สิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกคู่ จะอยู่ที่ความแข็งแรงของรัง ซึ่งตัวเมียจะทดสอบต่อไป
การเลือกคู่ของนกกระจาบจะเป็นหน้าที่ของเพศเมีย โดยตัวเมียจะเลือกเพศผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่าที่มันจะหาได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าลูกที่เกิดมาจะแข็งแรงอยู่รอดได้ในสภาพธรรมชาติและเติบโตให้ลูกหลานต่อไปได้
การจับคู่ของนกกระจาบ เป็นการครองคู่ระยะสั้น คือ การอยู่ร่วมกันของเพศผู้ และเพศเมียเป็นระยะเวลานานเท่าที่พอจะทำให้เกิดการปฏิสนธิหรือผสมพันธุ์ได้สำเร็จเรียบร้อยเท่านั้น และเป็นการครองคู่ของสัตว์แบบตัวผู้หนึ่งตัวจับคู่กับตัวเมียหลายตัวในหนึ่งฤดูกาลผสมพันธุ์ เรียกว่า ระบบมากเมียผู้หนึ่ง หลังจากนั้นตัวเมียจะเป็นผู้ฟักไข่ ซึ่งในขณะเดียวกันตัวผู้จะจับคู่กับตัวเมียตัวใหม่
การสร้างรังนกกระจาบ
นกกระจาบจัดเป็นสถาปนิกน้อยในเขตร้อนของโลก ที่ทำรังได้อย่างประณีตดีที่สุดชนิดหนึ่ง และถูกยกย่องให้นกกระจาบเป็นนกช่างสาน (Weaver bird) ซึ่งจัดว่าเป็นสถาปนิกเอกของโลกชนิดหนึ่ง
มันจะสร้างด้วยความซับซ้อนมากกว่านกชนิดอื่นๆ และการสร้างรังเป็นหน้าที่ของเพศผู้ เพื่อดึงดูดเพศเมียหรือรังนี้จะเป็นเครื่องล่อให้ตัวเมียเข้ามาหา ซึ่งฤดูสร้างรังของนกกระจาบธรรมดา ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคม แต่อย่างไรก็ตามการสร้างรังก็มีสร้างในเดือนอื่นๆ ตลอดปีอยู่
การเลือกสถานที่สร้างรัง
นกกระจาบจะเลือกเอาต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมักจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำเป็นที่สร้างรัง และจะสร้างรังรวมกันเป็นกลุ่ม โดยจะเลือกกิ่งที่มีความแข็งแรง และจุดที่สร้างรังคือปลายกิ่งไม้ รวมทั้งรังที่สร้างขึ้นมาจะอยู่เหนือน้ำสูงจากพื้นประมาณ 6 เมตร หรือ 20 ฟุต และพบว่ามันจะสร้างรังบนต้นไม้ที่มีมดแดงจำนวนมากอาศัยอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันภัยจากศัตรูได้แก่ ลิง งูกินไข่ ฯลฯ และรังของมันจะสร้างทางด้านทิศตะวันออก เพื่อรับแดดยามเช้า และไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไปในตอนบ่าย ซึ่งอุณหภูมิสูงจะเป็นอันตรายต่อไข่ได้
การหาวัสดุสร้างรัง
เมื่อได้สถานที่แล้ว นกกระจาบจะหาวัสดุมาทำการก่อสร้างรัง ซึ่งจะเป็นใบของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ใบอ้อย ใบมะพร้าว หรือใบหญ้ามาเป็นวัสดุสำคัญในการสร้าง มันจะนำเส้นหญ้าหรือวัสดุที่หามาได้ไปชุบน้ำเสียก่อน เพื่อช่วยเพิ่มความเหนียวและเมื่อแห้งแล้วรังนั้นก็จะแข็งแรงขึ้น หากสถานที่ที่มันเลือกเป็นต้นตาล การสร้างรังจะมีขั้นตอนมากขึ้น ด้วยการเจาะรูใบตาลแล้วสอดรัดให้แน่นหนา
การสร้างรังแต่ละรังใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ โดยจะต้องใช้เส้นหญ้าไม่น้อยกว่า 3,500 เส้น ซึ่งนั่นก็แสดงว่า นกกระจาบจะต้องบินไปมาไม่น้อยกว่า 3,500 เที่ยวเช่นกัน เฉลี่ยแล้วนกกระจาบจะคาบใบหญ้ามาสร้างรังวันละประมาณ 230 เที่ยว
ขั้นตอนการสร้างรัง
การสร้างรังจะมีเพศผู้เพียงตัวเดียวในการสร้างรัง โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะสร้างรังรูปหมวกที่ห้อยต่อมาจากกิ่งไม้ก่อน จากนั้น จะหยุดการสร้างไว้ก่อน แล้วบินออกหาคู่เพศเมียให้ได้ก่อน แล้วจึงมาสร้างรังต่อจนแล้วเสร็จ ซึ่งชาวบ้านมักเข้าใจว่า รังที่สร้างยังไม่เสร็จนี้เป็นรังของนกตัวผู้ ส่วนรังที่สร้างเสร็จแล้วเป็นรังของนกตัวเมีย ทั้งนี้ รังนกกระจาบจะกลายเป็นรังร้างหลังจากที่ลูกนกบินได้แล้ว
การสร้างรังจะเริ่มจากการใช้เส้นหญ้าที่แข็งแรง และมีความยาวมาก นำมาพันกิ่งไม้หลายๆ รอบ โดยใช้ตีนเหยียบปลายเส้นหญ้าไว้ข้างหนึ่ง แล้วใช้จะงอยปากคาบส่วนที่เหลือของเส้นหญ้าไว้ นำมาพันรอบกิ่งไม้หลาย ๆ ครั้ง เพื่อความมั่นคงของรังแล้วผูกปมตอนปลายเส้นหญ้ากับกิ่งไม้ ทำซ้ำกันหลายๆ ครั้งจนมั่นคง แล้วใช้เส้นหญ้าที่แข็งแรงเริ่มสานเส้นหญ้าให้มีลักษณะเป็นวงแหวน ซึ่งมีลักษณะคล้ายสายรัดคางของหมวก และจะกลายเป็นคานเกาะเพื่อการทำรังในช่วงต่อไป
เมื่อโครงสร้างแข็งแรงดีแล้ว ตัวผู้จะหยุดสร้างรังประมาณ 2 วัน เพื่อไปเกี้ยวพาราสีตัวเมีย ซึ่งจะมีนกตัวเมียบินตามมาที่รังที่กำลังสร้าง การทดสอบเริ่มด้วยการที่นกกระจาบตัวเมียบินไปเกาะที่คานของรัง ซึ่งคล้ายกับสายรัดคางของหมวกมันจะหันไปทางด้านที่ป่องออกมา ซึ่งตัวผู้สร้างบางส่วนไว้แล้ว ตัวเมียจะใช้วิธีการทดสอบด้วยการจิกดึงใบหญ้าที่ตัวผู้นำมาสานไว้ หากจิกทิ้งหลุดลุ่ยออกมา นกตัวเมียจะไม่ยอมจับคู่กับเจ้าของรังที่กำลังสร้างอยู่นี้ และบินไปหารังอื่น แต่หากรังนั้นแข็งแรงดี นกตัวเมียจะยอมจับคู่ผสมพันธุ์ด้วย ระหว่างการทดสอบความแข็งแรงของรัง นกตัวผู้จะเกาะอยู่ภายนอกรังระวังไม่ให้นกตัวอื่นมาขัดจังหวะ
หากตัวเมียไม่ยอมรับ ตัวผู้ก็จะบินไปเกี้ยวพาราสีตัวเมียตัวอื่นต่อไป แต่หากไม่มีตัวเมียตัวใดยอมจับคู่ด้วย มันจะจิกรังนั้นให้ร่วงหล่นไป และเริ่มทำรังใหม่ หากมีการยอมรับการจับคู่ผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นโดยใช้บริเวณคานพาดขวางของรังนั้นเอง หลังจากนั้นตัวผู้ก็จะสร้างรังต่อไปให้เป็นกระเปาะ เพื่อใช้ในการวางไข่ และสร้างเป็นปล่องยาวลงมาเพื่อเป็นทางเข้าออก ส่วนนกตัวเมียจะหาปุยนุ่น และขนนกมาใส่ไว้ในช่องที่สำหรับวางไข่ การสร้างรังในส่วนที่สองนี้ใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์จึงเสร็จสมบูรณ์ เมื่อเสร็จแล้ว ตัวเมียจะวางไข่ทันทีและตัวผู้จะบินไปสร้างรังใหม่ และจับคู่กับนกตัวเมียตัวใหม่ จนหมดฤดูผสมพันธุ์
เทคนิคการสร้างรังนกกระจาบ
นกกระจาบรุ่นหนุ่มมักจะสร้างรังไม่ดีนัก เนื่องจากขาดประสบการณ์และความชำนาญในการสร้าง รังที่สร้างขึ้นบางรังจึงดูยุ่งเหยิงและไม่มีปล่องยาวลงมาจากทางเข้าออก เป็นรังที่เรียกว่ารังตัวผู้หรือ cock-swing จึงทำให้ปีแรก นกตัวเมียมักจะไม่ยอมจับคู่ด้วย นอกจากนั้น นกกระจาบเพศผู้ที่โตเต็มวัยเต็มที่แล้วมักจะใช้มูลวัว มูลควายหรือโคลนมายารังในบริเวณที่เป็นตัวรัง เนื่องจากมูลสัตว์หรือโคลนที่ใช้ยารัง เมื่อแห้งแล้วจะเชื่อมยึดให้รังแข็งแรงทนทานมากกว่ารังธรรมดา นกเพศเมียจึงมักจะจับคู่ด้วย ซึ่งนับเป็นเทคนิคสำคัญในการสร้างรังของนกกระจาบ
การฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
นกกระจาบจะวางไข่ครั้งละประมาณ 2-3 ฟอง หรืออาจถึง 5 ฟอง ไข่ของนกกระจาบมีสีขาวสะอาด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านยาวประมาณ 0.82 นิ้ว และด้านกว้างประมาณ 0.37 นิ้ว เมื่อตัวเมียวางไข่หมดแล้วตัวผู้จะบินไปสร้างรังใหม่ให้ตัวเมียตัวอื่นต่อไป ตัวเมียจะกกไข่เพียงตัวเดียว บางครั้งตัวผู้อาจกลับมาที่รังเดิมบ้าง ระยะเวลาการกกไข่ประมาณ 12-15 วัน ในยามกลางคืน แม่นกจะฟักไข่อยู่ตลอดคืน เวลากลางวันจะพัก เพื่อออกหาอาหารกินบ่อยครั้ง คาดว่าเนื่องจากรังทำด้วยวัสดุที่รักษาความอบอุ่นแก่การฟักไข่ได้ดี และเป็นการดีที่นกสร้างรังไว้ทางทิศตะวันออก ทำให้ได้รับแดดยามเช้าและเลี่ยงแดดร้อนยามบ่าย ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่ไข่ได้
เมื่อลูกนกฟักเป็นตัว แม่นกจะเขี่ยเปลือกไข่ทิ้ง ลูกนกที่พึ่งออกมาจากไข่จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คือ มีขนปกคลุมตัวเองบ้าง แต่ยังไม่ลืมตา ระยะนี้ แม่นกจะหาอาหารมาป้อนบ่อยๆ จะคาบเอาหนอนหรือแมลงเล็กๆ มาป้อนลูกนก จนลูกนกโตขึ้น จึงเริ่มป้อนอาหารด้วยเมล็ดพืช แต่บางครั้งก่อนที่แม่นกจะเข้าไปในรังจะโผบินมาเกาะที่ด้านนอกรังก่อน เพื่อระวังศัตรู เมื่อเห็นว่าปลอดภัยก็จะบินเข้าไปในรัง บางครั้งก็บินเข้าไปในรังเลยด้วยความรวดเร็ว โดยเลี้ยงดูในรังประมาณ 15-17 วัน ลูกนกก็จะสามารถออกจากรังไปหากินเองได้ และอยู่รวมฝูงกับแม่นกนั่นเองซึ่งเป็นเวลาเข้าฤดูหนาว ลูกนกจะร่วมกับฝูงไปหากินได้ไกลๆ จนกระทั่งเข้าฤดูฝนมันจะเริ่มสร้างรังใหม่ขึ้นมาบ้างต่อไป
ที่มา : 1) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
เอกสารอ้างอิง