ตุ๊กแก (Tokay Gecko) จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการส่งออก และสร้างรายได้หลายล้านบาทต่อปี ในรูปของตุ๊กแกแห้ง โดยมีประเทศที่รับซื้อสำคัญ ได้แก่ ประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเลียเซีย เป็นต้น ตุ๊กแกที่ส่งจำหน่ายนี้ ส่วนมากมักเป็นตุ๊กแกบ้านที่พ่อค้าคนกลางหารับซื้อได้ แต่ก็มีเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงเองเพียงไม่กี่ราย ปัจจุบัน จำนวนตุ๊กแกบ้านจึงมีความเสี่ยงที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
อนุกรมวิธาน
– ชื่ออังกฤษ : Tokay Gecko
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gekko Gecko
– Class : Reptile
– Order : Squamata
– Suborder : Sauria
– Family : Gekkonidae
– Subfamily : Gekkoninae
– Genus : Gekko
สถานะ
ตุ๊กแกบ้าน ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ. สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และไม่ได้เป็นสัตว์ป่าในบัญชีหมายเลข 1,2,3 ของอนุสัญญา CITES แต่เป็นสัตว์ป่าตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดของสัตว์ป่า และซากสัตว์ป่าที่ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ในลำดับที่ 13 ของบัญชี ดังนั้น การส่งออกตุ๊กแกบ้านจะต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเสียก่อน
ลักษณะทั่วไป
ตุ๊กแกบ้านมีลำตัวทรงกระบอก ออกแบน หัวขนาดใหญ่ ดวงตาทรงกลม และโปนออก ดวงตามีสีเหลืองออกน้ำตาล มีม่านตาสีดำ ปิด-เปิด ในแนวตั้งตรง เปลือกตาโปร่งแสง หนังลำตัวมีเกล็ดเป็นตุ่มสาก สีเทาออกฟ้าอ่อน มีจุดแต้มสีส้มเป็นจุดๆทั่วลำตัว สามารถเปลี่ยนสีให้จางลงหรือเข้มขึ้นเพื่ออำพรางเหยื่อและศัตรู
ขา 4 ขา มีนิ้ว 5 นิ้ว ใต้อุ้งนิ้ว และนิ้ว มีแผ่นบางๆ (lamellae หรือ pads) เรียงซ้อนกัน ประกอบด้วยตะขอ (hook) ขนาดเล็กจำนวนมาก ช่วยทำให้ตุ๊กแกสามารถเกาะติดกับพื้นผนังได้ดี ปลายนิ้วมีเล็บช่วยในการปีนป่าย
ตุ๊กแกตัวผู้จะมีความยาวมากกกว่าตัวเมีย และโคนหางจะอวบใหญ่กว่า ความยาวหางตัวผู้ยาวประมาณ 120-195 มิลลิเมตร จากปลายปากถึงก้น ส่วนเมียยาวประมาณ 95-155 มิลลิเมตร ตัวผู้มีต่อมหน้าทวาร เรียงเป็นแถวบนรูก้น 10-24 ตุ่ม ส่วนเพศเมียจะไม่มี
หางตุ๊กแกมีประโยชน์สำหรับรัดหางตัวเมียขณะผสมพันธุ์ และใช้เคาะพื้นผนังเพื่อขู่ศัตรู และป้องกันที่อยู่ของตน หางตุ๊กแกที่ขาดจะสามารถงอกใหม่ได้ภายในประมาณ 3 สัปดาห์ แต่ลักษณะจะไม่เหมือนเดิม และปรากฏรอยต่ออย่างชัดเจน โดยเฉพาะขนาดหาง และลวดลายที่แตกต่างกัน
การดำรงชีพ
โดยปกติ ตุ๊กแกจะนอนกลางวัน ส่วนกลางคืนจะออกหากินอาหาร แต่บางครั้งก็พบตุ๊กแกออกหากินในเวลากลางวันเหมือนกัน โดยกลางวันมักหลบซ่อนตามซอกอาคารบ้านเรือน ตามกองไม้ โพรงต้นไม้หรือมุมอับต่างๆ และจะออกหาอาหารในช่วงค่ำหลังอาทิตย์ตกดิน
เมื่อโตเต็มวัย ตุ๊กแกจะสามารถเริ่มผสมพันธุ์ได้ โดยตัวเมียจะเข้าสู่วัยผสมพันธุ์เร็วกว่าตัวผู้ มีผสมพันธุ์ซึ่งประมาณ 4-5 เดือน โดยสังเกตุจากตุ๊กแกตัวผู้จะร้อเสียงดัง “ตุ๊ก-แก” ซ้ำๆ สำหรับหาคู่ตัวเมีย เมื่อตัวเมียได้รับการผสมไม่กี่อาทิตย์ก็จะวางไข่ ตามแหล่งอาศัยมุมอับที่ซ่อนตัวในเวลากลางคืน ไข่ที่วางจะลอยติดกับพื้นผิว ไม่หลุดออกง่าย การวางไข่อาจพบเห็นตัวเมียมากกว่า 1 ตัว วางไข่อยู่ใกล้กัน ไข่มีสีขาว เปลือกหนา และแข็ง รูปร่างรี
แหล่งอาหาร และศัตรูสำคัญ
เนื่องจากตุ๊กแกชอบอาศัยตามต้นไม้ โพรงไม้ ตามบ้านเรือน เรือนร้างต่างๆ แหล่งอาหารที่สำคัญจะเป็นแมลงต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับตุ๊กแกวัยอ่อน ส่วนตุ๊กแกที่โตเต็มวัยจะกินอาหารได้เกือบทุกชนิด เช่น แมลงต่างๆ ผีเสื้อ ตะขาบ จิ้งหรีด นก ลูกนก ลูกหนู และสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าเกือบทุกชนิด
ส่วนศัตรูตามธรรมชาติที่คอยจับกินตุ๊กแกที่สำคัญ ได้แก่ นก และงูชนิดต่างๆ โดยเฉพาะงูเขียวที่ชอบหากินตามต้นไม้ ตามบ้าน และอาคาร ถือเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด
สรรพคุณทางยา
ตลาดผู้รับซื้อต่างๆประเทศถือเป็นแหล่งสำคัญในการส่งออกตุ๊กแกตากแห้ง โดยเฉพาะคนจีน และคนเชื้อสายจีนในประเทศต่างๆ เนื่องจากมีความเชื่อว่า ตุ๊กแกมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงร่างกาย และรักษาโรคได้หลายชนิด
การจับตุ๊กแก
การจับตุ๊กแกตามแบบวิถีชาวชนบทจะออกจับในเวลากลางคืน ประกอบด้วยอุปกรณ์การจับ ได้แก่ หม้อแบตเตอรี่ที่ต่อหลอดไฟ หรือใช้ไฟฉาย ไม้ข้้อง และถุงใส่ตุ๊กแก โดยมีแหล่งออกจับที่สำคัญ ได้แก่ ต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ตายแห้ง ต้นไม้ที่มีโพรง รวมถึงตามบ้านเรือน บ้านร้างต่างๆ
เมื่อส่องไฟมองหาตามจุดที่กล่าวถึง หากพบตุ๊กแกจะมองเห็นง่าย เพราะแสงไฟจากแบตเตอรี่จะส่องกระทบตาตุ๊กแก ทำให้มองเห็นตาสองข้างเป็นประกายชัดเจน ซึ่งตุ๊กแกจะเชื่อง แต่บางตัวอาจตื่นตัววิ่งเข้าหลบในโพรง โดยเฉพาะตุ๊กแกที่หนีได้จากการจับครั้งก่อนหรือได้รับอันตรายมาก่อนแล้ว ส่วนตุ๊กแกที่เชื่องจะจับได้ง่าย ด้วยไม้ข้องที่ปลายไม้จะมีบ่วงสำหรับดึงรัด ทั้งนี้ ผู้จับจะต้องสวมถุงมืออย่างมิดชิดเพื่อป้องกันการกัดของตุ๊กแก
การเลี้ยงตุ๊กแก
การศึกษาของอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบแหล่งเลี้ยงตุ๊กแกในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดสกลนคร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ภาคเหนือมีพบในบางจังหวัดเหมือนกัน เช่น เพชรบูรณ์ ลำปาง เป็นต้น
การเลี้ยงตุ๊กแกจะเลี้ยงจากพ่อแม่พันธุ์ที่หาได้ตามที่ต่างๆ นำเข้าเลี้ยงเป็นกลุ่มในกรงตาข่าย โดยใช้อัตราตัวผู้ต่อตัวเมีย 1:3 ภายในกรงประกอบด้วยท่อนไม้หักกองรวมกันหรือใช้ท่อนไม้ไผ่รูกลวงวางสำหรับให้ตุ๊กแกหลบอาศัย
กรงตุ๊กแกอาจสร้างในโรงเรือนต่างหากหรือทำเป็นกรงขนาดพอยกไหว 1-2 เมตร วางไว้ด้านข้างบ้าน โดยด้านบนโรงเรือนหรือกรงเลี้ยงจะต่อหลอดไฟไว้ในเวลากลางคืน โดยเฉพาะหลอดสีม่วงที่ล่อแมลงมาได้ดี
หากต้องการให้ตุ๊กแกโตเร็ว ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องหาอาหารเสริมให้ ได้แก่ แมลงต่างๆ เช่น จิ้งหรีด ที่สามารถหาซื้อได้ตามเกษตรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดขายทั่วไป
การทำตุ๊กแกตากแห้ง
การเตรียมไม้
ไม้ไผ่สำหรับทำตุ๊กแกตากแห้ง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
– ไม้แป ทำจากไม้ไผ่บง ผ่าเป็นแผ่น และเหลาให้บาง (ประมาณ 0.1 เซนติเมตร) กว้าง 7 เซนติเมตร ยาว 12 เซนติเมตร ใช้สำหรับสอดรั้งแผ่นหนัง
– ไม้เสียบขา ทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นแท่งกลม ขนาด 0.3 เซนติเมตร ตามความยาวของช่วงขาหลังผ่า ซึ่งช่วงขาหน้ามักจะใช้ยาวกว่าขาหลัง ใช้สำหรับเสียบขึงขาให้แผ่ออก
– ไม้เสียบหาง ทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นแท่งกลมใหญ่กว่าไม้เสียบขา 2-3 เท่า ตามความยาวของตุ๊กแกแต่ละตัว ใช้สำหรับเสียบจากส่วนคอ แล้ววางพาดตามตามแนวหาง โดยมีเชือกพันรัดหางกับไม้ไว้
ขั้นตอนการทำ
1. ฆ่าตุ๊กแก โดยการฟาดกับพื้น ทำการผ่าท้องตามแนวยาวจากคอถึงโคนหางด้วยมีดปลายแหลม ควักอวัยวะภายในออกล้าง และผึ่งแดดให้แห้งพอเสล็ดน้ำ
2. วางตุ๊กแกให้หงายท้อง แล้วดึงรั้งขาหน้าซ้าย-ขวาให้แยกกัน พร้อมเสียบยึดด้วยไม้เสียบ
3. ดึงรั้งแผ่นท้องซ้าย-ขวาให้แยกกัน ขึงยึดด้วยไม้แป และหนีบด้วยตัวหนีบ
4. ดึงรั้งขาหลังซ้าย-ขวาให้แยกกัน พร้อมเสียบยึดด้วยไม้เสียบ
5. ใช้ไม้เสียบหางเสียบยึดบริเวณหัว และคอ วางพาดตามแนวยาวขนานกับหาง พร้อมใช้เชืออกรัดหางกับไม้ให้แน่น
6. หนังหรือหางตุ๊กแกที่ขาด จะทำการซ่อมแซมด้วยเข็มร้อย ยึดให้ติดกันใหม่
7. นำตุ๊กแกเข้าตู้อบ 1 วัน
8. ทำการคัดแยกขนาดตามขนาดที่ผู้รับซื้อกำหนด พร้อมบรรจุกล่อง
ขนาดตุ๊กแกตากแแห้งที่ผู้ซื้อกำหนด
– ขนาด 15 หมายถึง ส่วนอกกว้างตั้งแต่ 15 ซม. ขึ้นไป อายุตุ๊กแกตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป
– ขนาด 14 หมายถึง ส่วนอกกว้างตั้งแต่ 14 ซม.
– ขนาด 13 หมายถึง ส่วนอกกว้างตั้งแต่ 13 ซม.
– ขนาด 12 หมายถึง ส่วนอกกว้างตั้งแต่ 12 ซม.
– ขนาด 11 หมายถึง ส่วนอกกว้างตั้งแต่ 11 ซม.
– ขนาด 10 หมายถึง ส่วนอกกว้างตั้งแต่ 10 ซม.
– ขนาด 9 หมายถึง ส่วนอกกว้างตั้งแต่ 9 ซม. อายุตุ๊กแกประมาณ 1 ปี
ข้อมูลประกอบจาก : สีฟ้า ละออง, 2548. การผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้งในประเทศไทย.